สุจิตต์ วงษ์เทศ : ปะทะพระยาตาก บางกง อ.วิหารแดง จ.สระบุรี

ปะทะพระยาตาก บางกง อ.วิหารแดง จ.สระบุรี : โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
เส้นทางพระเจ้าตากจากอยุธยาผ่านบ้านกง เป็นชื่อดั้งเดิมมีบอกในพระราชพงศาวดารฯ แต่ปัจจุบันเรียกบางกง (ต.วิหารแดง อ.วิหารแดง จ.สระบุรี) มีวัดบางกงเป็นศูนย์กลางของชุมชน (ในภาพ) ซุ้มประตูทางเข้าวัดบางกง ถนนทางขวาไป อ.หนองแค จ.สระบุรี ทางซ้ายไป อ.วิหารแดง จ.สระบุรี

พระเจ้าตากเมื่อยังเป็นพระยาตากออกจากอยุธยามุ่งฝั่งทะเลตะวันออก หลีกเลี่ยงกองกำลังอังวะโดยลัดเลาะเลียบทุ่งเชิงเขาเขตต่อเนื่องหินกอง หนองแค (จ.สระบุรี) ไปทางเขาชะโงก บ้านนา (จ.นครนายก) ต่อเนื่องเขาอีโต้ ประจันตคาม (จ.ปราจีนบุรี) เพื่อตัดทุ่งข้ามไปต่อจนถึงเมืองระยอง, เมืองจันทบุรี

เลียบทุ่งเชิงเขาซึ่งเป็นเส้นทางพระเจ้าตาก เห็นได้เมื่อออกจากค่ายวัดพิชัย (ปัจจุบันอยู่บริเวณสถานีรถไฟ อยุธยา) ไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือถึง บ้านพรานนก ต่อจากนั้นไปบ้านกง (ทั้งหมดมีบอกในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา)

บ้านพรานนก (อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา) เป็นปลายแดนที่ราบ “ทุ่งหลวง” อยุธยา ต่อเนื่องพื้นที่ราบเชิงเขาเขตหินกอง หนองแค (สระบุรี) พระเจ้าตากให้พักค้างไล่ตีกองตระเวนของอังวะแตกกระจาย แล้วตั้งหลักวางแผนมุ่งสู้รบมั่นคงแข็งแรง

บ้านกง ปัจจุบันเรียก บางกง (ต.วิหารแดง อ.วิหารแดง จ.สระบุรี พื้นที่ต่อเนื่องเขาชะโงก อ.บ้านนา จ.นครนายก) เป็นที่ราบเชิงเขาลาดลง “ทุ่งหลวง” มีทางน้ำน้อยใหญ่ไหลผ่านลงมาจากพืดเขาทางทิศเหนือ (พืดเขาใหญ่) ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์เลี้ยงชุมชนใหญ่

Advertisement

ขณะนั้นเป็นเดือนยี่ (เดือน 2) กรุงยังไม่แตก แต่กำลังถูกล้อมด้วยค่ายทัพอังวะ (ต่อไปข้างหน้าอีกไม่นานกรุงแตก เดือนห้า) ขุนหมื่นนายบ้านผู้นำบ้านกงขณะนั้นไม่วางใจจึงต้องป้องกันชุมชนตนเองไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใครในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน ทั้งไม่รู้จักพระเจ้าตาก (ขณะนั้นเป็นพระยาตาก) จึงไม่เป็นมิตร พระเจ้าตากเลยยกกองกำลังตะลุมบอนตีได้บ้านกง

บางกงปัจจุบัน คือ บ้านกงในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา มีถนนอย่างดีเข้าถึงได้ง่าย ถ้ายึดถนนพหลโยธินเป็นแกนก็เข้าได้ 2 ทาง ทางแรก ผ่าน อ.หนองแค ทางหลัง ผ่านบ้านหินกอง (อยู่เหนือ อ.หนองแค ไปทางสระบุรี) เมื่อถึงตัว อ.วิหารแดง มีทางแยกเลี้ยวขวาไปถึงบางกง

บางกงน่าจะกลายจากคำเดิมว่า “บ้านกง” มีหลักฐานสมัย ร.4 ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา เพราะคำว่า “บาง” หมายถึงชุมชนที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำน้อยไหลสบแม่น้ำใหญ่ (เช่น บางมังกง หรือ บางปะกง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา) แต่บางกงอยู่พื้นที่ดอนชายเขาจึงไม่เข้ากับคำว่าบาง ส่วนคำว่า “กง” ในชื่อ บ้านกง หรือ บางกง หมายถึงอะไร? ไม่พบนิยามหรือคำอธิบาย เลยชวนให้เชื่อว่าอาจมาจาก “ดง” (หมายถึง ป่าทึบ) แต่สมัยหลังเขียนคลาดเคลื่อนเป็น “กง”

Advertisement

บางกง (เดิมชื่อบ้านกง) อยู่บนเส้นทางท่องเที่ยวมีแหล่งเรียนรู้ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ที่เดินทางไปกลับได้ในวันเดียวเป็นวงกลมไม่ย้อนกลับทางเดิม เช่น ตามรอยเส้นทางพระเจ้าตาก (อย่างย่อ) กรุงเทพฯ-อยุธยา-บางกง (อ.วิหารแดง จ.สระบุรี)-นครนายก-ปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรา-กรุงเทพฯปะทะพระยาตาก บางกง อ.วิหารแดง จ.สระบุรี : โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

พระเจ้าตากเมื่อยังเป็นพระยาตากออกจากอยุธยามุ่งฝั่งทะเลตะวันออก หลีกเลี่ยงกองกำลังอังวะโดยลัดเลาะเลียบทุ่งเชิงเขาเขตต่อเนื่องหินกอง หนองแค (จ.สระบุรี) ไปทางเขาชะโงก บ้านนา (จ.นครนายก) ต่อเนื่องเขาอีโต้ ประจันตคาม (จ.ปราจีนบุรี) เพื่อตัดทุ่งข้ามไปต่อจนถึงเมืองระยอง, เมืองจันทบุรี

เลียบทุ่งเชิงเขาซึ่งเป็นเส้นทางพระเจ้าตาก เห็นได้เมื่อออกจากค่ายวัดพิชัย (ปัจจุบันอยู่บริเวณสถานีรถไฟ อยุธยา) ไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือถึงบ้านพรานนก ต่อจากนั้นไปบ้านกง (ทั้งหมดมีบอกในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา)

บ้านพรานนก (อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา) เป็นปลายแดนที่ราบ “ทุ่งหลวง” อยุธยา ต่อเนื่องพื้นที่ราบเชิงเขาเขตหินกอง หนองแค (สระบุรี) พระเจ้าตากให้พักค้างไล่ตีกองตระเวนของอังวะแตกกระจาย แล้วตั้งหลักวางแผนมุ่งสู้รบมั่นคงแข็งแรง

บ้านกง ปัจจุบันเรียก บางกง (ต.วิหารแดง อ.วิหารแดง จ.สระบุรี พื้นที่ต่อเนื่องเขาชะโงก อ.บ้านนา จ.นครนายก) เป็นที่ราบเชิงเขาลาดลง “ทุ่งหลวง” มีทางน้ำน้อยใหญ่ไหลผ่านลงมาจากพืดเขาทางทิศเหนือ (พืดเขาใหญ่) ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์เลี้ยงชุมชนใหญ่

ขณะนั้นเป็นเดือนยี่ (เดือน 2) กรุงยังไม่แตก แต่กำลังถูกล้อมด้วยค่ายทัพอังวะ (ต่อไปข้างหน้าอีกไม่นานกรุงแตก เดือนห้า) ขุนหมื่นนายบ้านผู้นำบ้านกงขณะนั้นไม่วางใจจึงต้องป้องกันชุมชนตนเองไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใครในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน ทั้งไม่รู้จักพระเจ้าตาก (ขณะนั้นเป็นพระยาตาก) จึงไม่เป็นมิตร พระเจ้าตากเลยยกกองกำลังตะลุมบอนตีได้บ้านกง

บางกงปัจจุบัน คือ บ้านกงในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา มีถนนอย่างดีเข้าถึงได้ง่าย ถ้ายึดถนนพหลโยธินเป็นแกนก็เข้าได้ 2 ทาง ทางแรก ผ่าน อ.หนองแค ทางหลัง ผ่านบ้านหินกอง (อยู่เหนือ อ.หนองแค ไปทางสระบุรี) เมื่อถึงตัว อ.วิหารแดง มีทางแยกเลี้ยวขวาไปถึงบางกง

บางกงน่าจะกลายจากคำเดิมว่า “บ้านกง” มีหลักฐานสมัย ร.4 ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา เพราะคำว่า “บาง” หมายถึงชุมชนที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำน้อยไหลสบแม่น้ำใหญ่ (เช่น บางมังกง หรือ บางปะกง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา) แต่บางกงอยู่พื้นที่ดอนชายเขาจึงไม่เข้ากับคำว่าบาง ส่วนคำว่า “กง” ในชื่อ บ้านกง หรือ บางกง หมายถึงอะไร? ไม่พบนิยามหรือคำอธิบาย เลยชวนให้เชื่อว่าอาจมาจาก “ดง” (หมายถึง ป่าทึบ) แต่สมัยหลังเขียนคลาดเคลื่อนเป็น “กง”

บางกง (เดิมชื่อบ้านกง) อยู่บนเส้นทางท่องเที่ยวมีแหล่งเรียนรู้ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ที่เดินทางไปกลับได้ในวันเดียวเป็นวงกลมไม่ย้อนกลับทางเดิม เช่น ตามรอยเส้นทางพระเจ้าตาก (อย่างย่อ) กรุงเทพฯ-อยุธยา-บางกง (อ.วิหารแดง จ.สระบุรี)-นครนายก-ปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรา-กรุงเทพฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image