คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ท้องถิ่นวิถีใหม่

ปีนี้น่าเสียดาย เพราะโอกาสจะได้ลงไปติดตามความก้าวหน้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องสะดุดเพราะโควิด-19 ระบาด

คณะกรรมการรางวัลพระปกเกล้า ปี 2563 ประกาศงดมอบรางวัลพระปกเกล้าไปเมื่อวันก่อน

เหตุที่ต้องงดรางวัลนี้ เพราะโรคโควิด-19 ระบาด จนทีมวิจัยเจาะลึกไม่สามารถลงไปทำงานในพื้นที่ได้ คณะกรรมการก็ลงไปตรวจทานไม่ได้

ที่สำคัญ ขณะนี้ท้องถิ่นต่างๆ กำลังมีภารกิจปกป้องชาวบ้านให้พ้นจากการติดเชื้อ

Advertisement

เกรงว่าถ้าลงไปพื้นที่จะรบกวนการทำงานของท้องถิ่น

ดังนั้น อย่าเพิ่งลงไปดีกว่า

ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ส่งชื่อเข้ามา และผ่านการคัดเลือกในรอบแรกแล้ว คณะกรรมการโอนสิทธิไปรวมกับการประกวดในปีหน้า

Advertisement

ปีนี้รางวัลพระปกเกล้า จึงมอบให้แต่เฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับ “รางวัลพระปกเกล้าทองคำ”

รางวัลพระปกเกล้าทองคำ เป็นรางวัลที่มอบแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เคยได้รับรางวัลพระปกเกล้ามาแล้วอย่างน้อย 2 ปี ในระยะเวลา 5 ปี

คณะกรรมการเห็นว่า หากเป็นเช่นนี้ ยังพอมีวิธีประเมินรางวัลที่ไม่เดือดร้อนท้องถิ่น และไม่ฝืนกฎ ศบค.

ปีนี้สถาบันพระปกเกล้า จึงมอบแค่รางวัลพระปกเกล้าทองคำเท่านั้น

บรรดาคณะกรรมการที่ตระเตรียมลงพื้นที่ก็ต้องร้องเพลงรอ

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้ลงไปดูการพัฒนาในท้องถิ่นกับตา แต่เมื่อการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระผ่าน พ.ร.ก. 4 ฉบับเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา

กลับได้เห็นความตั้งใจที่รัฐบาลจะทุ่มเงินลงไปยังท้องถิ่น

เป็นแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ ในวงเงิน 400,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ แนวคิดของรัฐบาลที่อยากจะทุ่มงบลงไปฟื้นฟูท้องถิ่นนั้น มีความฝัน และความหวัง

จากเอกสารกรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากเงินกู้ 400,000 ล้านบาท ระบุถึงแนวทาง “วิถีใหม่” หรือนิว นอร์มอล เอาไว้ 4 ข้อ

หนึ่ง แผนงาน Future Sustainable Growth หรือเกษตรอัจฉริยะ อุตสาหกรรมอาหาร ท่องเที่ยวคุณภาพ เศรษฐกิจสร้างสรรค์

หนึ่ง แผนงาน เศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชน คือ เกษตรพอเพียง สวนผสม โอทอป ท่องเที่ยวชุมชน

หนึ่ง แผนการกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน

อีกหนึ่ง แผนยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต

จากกรอบแผนงานดังกล่าว ท้ายเอกสารยังมีตัวอย่างที่รัฐบาลฝันไว้ให้ท้องถิ่นขับเคลื่อน

ที่เห็นโดดเด่นก็คือ เกษตรแปลงใหญ่

หัวใจสำคัญของเกษตรแปลงใหญ่คือให้เกษตรกร “รวมกลุ่ม”

แล้วบริหารจัดการ “ร่วมกัน” ทำให้เกิดผลผลิตรวม และมี “ตลาด” แน่นอน

คาดหวังว่า การรวมตัวกันของเกษตรกร จะช่วยให้ “ลดต้นทุน” การผลิต และมี “ผลผลิตเพิ่ม”
ผลผลิตที่ได้มามีคุณภาพได้มาตรฐาน

ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมเกษตรกรแปลงใหญ่ มีหลายท้องที่สามารถทำออกมาเป็นรูปธรรมได้แล้ว

อาทิ “แปลงใหญ่ทุเรียน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี”

แปลงใหญ่ทุเรียนนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวสวนทุเรียนจันท์ มีเกษตรกร 23 คน รวบรวมผลผลิตที่ตกไซต์มาแปรรูป จำหน่ายสินค้าระดับพรีเมียมด้วยระบบออนไลน์

ใช้พื้นที่รวม 326.5 ไร่ ผลิตทุเรียนส่งออกต่างประเทศ

ได้ราคากิโลกรัมละ 60 บาท รวมรายได้กลุ่ม 31.77 ล้านบาท

ต้นทุนการผลิตลดลง 9.99 เปอร์เซ็นต์

ผลผลิตเกรดคุณภาพส่งออกเพิ่มขึ้น จาก 70 เปอร์เซ็นต์ เป็น 80 เปอร์เซ็นต์

หรือ “แปลงใหญ่โคเนื้อ กำแพงเพชร” มีเกษตรกร 34 คน ใช้พื้นที่ 208 ไร่ ในตำบลหินดาด อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร

เลี้ยงโคขุนมีชีวิต และผลิตภัณฑ์เนื้อโคขุน เชื่อมโยงกับสหกรณ์เครือข่าย เพื่อส่งขาย

สามารถลดต้นทุนได้ 15 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์

แถมยังได้ราคาขายสูงกว่าตลาด 2 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ยังมี “ไร่นาสวนผสม” มีตัวอย่างที่ “สวนลุงใจ” ตำบลฝาละมี อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง หรือ “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์” ต.หนองบัวบาน อ.รัตนบุรี

ยังมี การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสับปะรด การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

ตัวอย่างการท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

นี่คือ ความฝันจากส่วนกลางที่อยากเห็น ท้องถิ่นวิถีใหม่

ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาณบอกต่อท้องถิ่น

บอกให้ทราบว่า รัฐบาลมีแนวทางการพัฒนาที่จะทุ่มลงไปยังภูมิภาคแล้ว

การพัฒนาดังกล่าว ถ้าท้องถิ่นเข้มแข็ง ย่อมเป็นโอกาสอันดีที่จะพัฒนาตัวเอง

แต่ถ้าท้องถิ่นไม่แข็งแรง อาจจะเสียโอกาส

เสียโอกาสพัฒนาตัวเอง และเสียโอกาสให้แก่กลุ่มทุน

ท้องถิ่นบนวิถีใหม่จึงต้องมีความเข้มแข็ง

ต้อง “มีส่วนร่วม” ต้องสร้าง “เครือข่าย” ต้องยืนได้ด้วยตัวเอง

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรับกับ “วิถีใหม่” ภายหลังจากโควิด-19 เริ่มหมดฤทธิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image