สุวรรณภูมิในอาเซียน : NEW NORMAL สุนทรภู่ ไม่ใช่ไพร่ แต่เป็นเซเลบ ‘ผู้ดีบางกอก’

สุวรรณภูมิในอาเซียน : NEW NORMAL สุนทรภู่ ไม่ใช่ไพร่ แต่เป็นเซเลบ ‘ผู้ดีบางกอก’ : รายงานโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ทําไมต้องสร้าง “เฟคนิวส์” ใส่ร้ายป้ายสี สุนทรภู่ เสียๆ หายๆ มากมายขนาดนั้น? เป็นไปได้ไหมพลังความคิดสมัยใหม่ในงานกลอนสุนทรภู่ ส่งผลสะเทือนอำนาจของคนชั้นนำ ทำให้ต้องสร้าง “เฟคนิวส์” ใส่ร้ายป้ายสีเพื่อลดทอนคุณค่าหรือด้อยค่า สุนทรภู่?

แต่ถึงขณะนี้ไม่พบคำอธิบายจากงานวิจัยของนักวิชาการด้านใดๆ จึงยิ่งทำให้ “เฟคนิวส์” ทรงพลังตราบจนปัจจุบัน

งานกวีนิพนธ์ทั้งนิทานกลอนและเพลงยาวนิราศของสุนทรภู่ มีพลังสูงมากเข้าถึงความคิดของคนหลายระดับตั้งแต่คนชั้นนำถึงคนรากหญ้า โดยผ่านการอ่านทั้งด้วยตนเองและคนอื่นอ่านดังๆ ให้ได้ยิน รวมถึงผ่านการแสดงละครกับหุ่นกระบอก

ละครเรื่องพระอภัยมณี เล่นงานฉลองเจ้าอาวาสวัดสามปลื้ม สมัย ร.5 มีชาวบ้านย่านนั้นและย่านอื่นตื่นเต้นแย่งกันนั่งๆ ยืนๆ ดูละครแน่นขนัด “แออัดอลหม่านงานฉลอง” (นิราศจันทบุรี-กรุงเทพฯ แต่ง พ.ศ.2418)

Advertisement

การสร้าง “เฟคนิวส์” ใส่ร้ายป้ายสีผู้มีพลังทางสังคมและการเมือง เคยพบบ่อยๆ ในคำบอกเล่าประเภทตำนานและพงศาวดาร ได้แก่ ท้าวศรีสุดาจันทร์, พระเพทราชา, พระเจ้าเสือ เป็นต้น

New Normal สุนทรภู่

สุนทรภู่ถูกใส่ร้ายด้วยการเสกสรรปั้นแต่งแล้วครอบงำสังคมให้เชื่ออย่างเหลวไหลว่า อยู่อย่างไพร่, ไร้เคหา, อาลักษณ์ขี้เมา, เจ้าชู้หลายเมีย ต้องลอยเรือร่อนเร่พเนจรไปตามหัวเมืองและที่ต่างๆ

แต่แท้จริงสุนทรภู่มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างกระฎุมพี มีสังคมชั้นสูงอยู่กับชนชั้นนำตั้งแต่ ร.1-ร.4 โดยมีหลักฐานวิชาการยืนยันทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่ตรวจสอบได้ทุกอย่าง ล้วนตรงข้ามข้อความใส่ร้ายที่กล่าวหาลอยๆ โดยไม่มีหลักฐานวิชาการ จะสรุปย่อดังนี้

Advertisement

แผ่นดิน ร.1 สุนทรภู่เกิดในวังหลัง ปากคลองบางกอกน้อย (ปัจจุบันคือบริเวณโรงพยาบาลศิริราช) เป็นผู้ดีบางกอกในตระกูลพราหมณ์นักปราชญ์ทางอักษรศาสตร์และพิธีกรรม

เล่าเรียนเขียนอ่านในวัดชีปะขาว (ปัจจุบัน คือ วัดศรีสุดาราม บางขุนนนท์ กรุงเทพฯ) ซึ่งเป็นสำนักเรียนสำหรับลูกหลานข้าราชบริพาร “ผู้ดี” วังหลัง

เติบโตรับใช้เจ้านายวังหลังซึ่งเป็นนัดดา (หลาน) องค์โปรดของ ร.1 (ต้นราชวงศ์จักรี)

สุวรรณภูมิในอาเซียน : NEW NORMAL สุนทรภู่ ไม่ใช่ไพร่ แต่เป็นเซเลบ ‘ผู้ดีบางกอก’ : รายงานโดย สุจิตต์ วงษ์เทศสุนทรภู่ เป็นผู้ดีบางกอก เกิดที่วังหลัง ปากคลองบางกอกน้อย กรุงเทพฯ (ภาพ) ปากคลองบางกอกน้อย เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (ซ้าย) อู่เรือพระราชพิธี (ขวา) โรงพยาบาลศิริราช บนพื้นที่เคยเป็นวังหลัง สมัย ร.1 (ภาพโดย ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน 2563)


แผ่นดิน ร.2
รับราชการวังหลวงในตำแหน่ง “อาลักษณ์” (สมัยนั้นไม่ใช่เสมียนคัดลายมือ) มีภารกิจหลักเป็นงานการเมืองเกี่ยวข้องหนังสือ, เอกสาร, พระบรมราชโองการ, งานนักปราชญ์ค้นคว้าศิลปวิทยาการทั้งมวลอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษต่อ ร.2 ดังมีกลอนนิราศภูเขาทองว่า “เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตรหลบ ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา”

แผ่นดิน ร.3 ออกบวชเป็นภิกษุ (อายุ 38 พ.ศ.2367) แล้วรับนิมนต์จำพรรษาแต่งหนังสือถวายอยู่วัดเทพธิดาราม (อายุ 53 พ.ศ.2382) ซึ่งเป็นวัดทรงสร้างของ ร.3 ร่วมกับราชธิดาองค์โปรดปราน คือ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

ช่วงจำพรรษาวัดเทพธิดารามได้แต่งหนังสือสำคัญอย่างยิ่ง ได้แก่ พระอภัยมณี และรำพันพิลาป นอกนั้นเป็นเพลงยาวนิราศต่างๆ ได้แก่ เพลงยาวถวายโอวาท, นิราศสุพรรณ เป็นต้น ครั้นปลายแผ่นดินได้ลาสิกขา (อายุ 56 พ.ศ.2385)

แผ่นดิน ร.4 ทำราชการวังหน้ากับสมเด็จพระปิ่นเกล้า ได้รับพระราชทานไปอยู่ในวังเดิม (วังพระเจ้าตาก) แล้วแต่งเสภาพระราชพงศาวดารถวาย ร.4 ถึงแก่กรรมราวอายุ 69 พ.ศ.2398


ร.3 ไม่รังแกสุนทรภู่ ‘บวชการเมือง’

ในแผ่นดิน ร.2 สุนทรภู่เป็นขุนนางมีอภิสิทธิ์และเข้าข้างทางการเมืองในราชสำนัก โดยฝักใฝ่ใกล้ชิดเจ้าฟ้ามงกุฎ (โอรส ร.2 ต่อไปข้างหน้า คือ ร.4) เท่ากับเป็นฝ่ายตรงข้ามกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (โอรส ร.2 ต่อไป คือ ร.3) แล้วมีความขัดแย้งสูงมาก

ครั้นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสวยราชย์เป็น ร.3 ทำให้สุนทรภู่ร้อนตัวกลัวราชภัยต้องหนีไปพึ่งผ้าเหลืองรีบออกบวชทันทีเป็นภิกษุ พ.ศ.2367 (อายุ 38) แต่ ร.3 ไม่รังแก แม้ทำได้ด้วยการลงโทษจับสึกจำคุกหรือประหาร แต่กลับทรงยกย่อง ดังนี้

1.โปรดให้เป็นครูสอนหนังสือโอรสธิดาน้อยๆ ซึ่งสุนทรภู่เขียนบอกในเพลงยาวถวายโอวาท

2.โปรดให้อยู่ในอุปถัมภ์ของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (ราชธิดาองค์โปรด) นิมนต์ไปจำพรรษาอยู่วัดเทพธิดาราม เป็นวัดทรงสร้าง (มีศิลปกรรม “พระราชนิยม”) ซึ่งสุนทรภู่พรรณนาไว้ในหนังสือรำพันพิลาป

ร.3 กับสุนทรภู่ มีความสัมพันธ์อย่างไร? ยังไม่พบงานวิจัยเป็นทางการจริงจัง จึงไม่ควรด่วนสรุปแบบใส่ร้ายสุนทรภู่ตามที่มีสืบต่อมานาน เพราะรายละเอียดลึกซึ้งมีมากเนื่องจากทั้งสองสนิทสนมด้วยวัยไล่เลี่ยกัน แล้วรับใช้ใกล้ชิด ร.2 มาด้วยกันเป็นที่รับรู้ทั่วไป

ด้วยเหตุนี้เอง ร.3 จึงโปรดปรานสุนทรภู่ในความเป็นเลิศทางเพลงยาวกล่าวกวีนิพนธ์แม้สุนทรภู่แข็งข้อไม่เข้าข้างเมื่อก่อนเสวยราชย์ก็ตาม


ประวัติย่อที่ยกมาจะเห็นว่า สุนทรภู่ในชีวิตจริงมีหลักฐานรองรับไม่เป็นไปตามคำใส่ร้าย จำแนกเป็นเรื่องๆ ดังนี้

ไม่อยู่อย่างไพร่

สุนทรภู่ไม่อยู่ชนชั้นไพร่ แต่เป็น “ผู้ดีบางกอก” เกิดในวังหลัง แล้วเติบโตในวังหลัง เพราะตั้งแต่ยังอยู่กรุงเก่าบิดามารดารับใช้ใกล้ชิดตระกูลเจ้านายวังหลัง (ซึ่งเป็น “หลานชาย” ของ ร.1 ต้นราชวงศ์จักรี) แล้วติดสอยห้อยตามกันมาอยู่กรุงธนบุรี

ไม่ร่อนเร่ไร้เคหา

สุนทรภู่เป็น “ผู้ดีบางกอก” มีฐานะทางสังคมสูงระดับ “กระฎุมพี” (กลุ่มคนชั้นนำทางเศรษฐกิจ-การเมืองในเศรษฐกิจการตลาดแบบส่งออก ได้แก่ เจ้านาย, ขุนนางข้าราชการ, พ่อค้าวาณิช หรือเศรษฐีมีทรัพย์) ได้รับยกย่องเสมือนเซเลบสมัยนั้น จึงมีหลักแหล่งระดับเหนือชาวบ้านทั่วไป ดังนี้

1. อยู่เรือนหลวง ท่าช้างวังหลวง รับพระราชทานจาก ร.2
2. อยู่วัดหลวง คือวัดเทพธิดาราม เมื่อเป็นภิกษุได้รับพระราชทานจาก ร.3
3. ใช้พาหนะหลวง เพราะเป็นงานราชการ เช่น ไปเมืองแกลงด้วยเรือหลวงโดยมีบ่าวไพร่ร่วมเดินทางเป็นคนมีสังกัดราชการอยู่กับหลวง คอยปรนนิบัติรับใช้ตลอดทาง มีกรมการแต่ละเมืองดูแลต้อนรับและจัดที่พักค้าง เช่น บางปลาสร้อย (ชลบุรี), บ้านเก่า (ระยอง) เป็นต้น

การเดินทางไม่ปิดบังซ่อนเร้น แต่มีเป้าหมายชัดเจนตามลักษณะของ “กระฎุมพี” ในเศรษฐกิจการตลาดโลกการค้ากึ่งเสรีที่เพิ่งเริ่ม

เมื่อบวชเป็นพระสงฆ์ก็จำพรรษาวัดหลวงอยู่ในอุปถัมภ์ของเจ้านายชั้นสูง ครั้นเดินทางไปที่ต่างๆ ตามหัวเมืองได้แต่นั่งๆ นอนๆ ในเรือ เพราะมีคนรับใช้แจวหัวเรือท้ายเรือล้วนเป็นลูกศิษย์ลูกหาสาวกบ่าวไพร่

แต่ในนิราศบางตอนมีรำพึงรำพันความทุกข์ยากและตัดพ้อต่อว่า (เช่น ไม่มีพสุธาจะอาศัย เป็นต้น) ล้วนเป็นโวหารของมหากวีอย่างสุนทรภู่ ซึ่งมีความหมายทางการเมืองในราชสำนักครั้งนั้นที่กระทบถึงตน แต่ไม่หมายถึงร่อนเร่ไร้หลักแหล่งจริงๆ เหมือนยาจกวณิพกทั่วไป

ไม่อาลักษณ์ขี้เมา

สุนทรภู่เคยกินเหล้า ราว 20 ปี (ระหว่างอายุ 18-38) ช่วงวัยหนุ่มทำงานรับใช้เจ้านายวังหลัง, วังหลวง หลังจากนั้นเป็นภิกษุมีสังคมแคบๆ อยู่วัดหลวงในอุปถัมภ์ของเจ้านายชั้นสูง เท่ากับอยู่ในสายตาของรัฐอย่างเข้มงวด ดังนั้นโอกาสนอกลู่นอกทางทำผิดพลาดไม่มีเลย เพราะถ้ามีก็ถูกลงโทษจับสึก

ระหว่างรับราชการเป็นอาลักษณ์นักปราชญ์ประจำราชสำนัก สุนทรภู่อยู่สังคม “ผู้ดี” คนชั้นสูงกับคนต่างชาติภาษาโดยเฉพาะฝรั่งตะวันตก ย่อมมีกิจกรรมทางสังคมคือสุราดีมีระดับ ประกอบกับอาชีพส่วนตัวอยู่ในวงการบันเทิงมหรสพ ได้แก่ ละครชาตรีกับปี่พาทย์เสภา ย่อมเสพเหล้าร้องรำทำเพลงตีกรับขับเสภาสนุกสนานเป็นครั้งคราวซึ่งสุนทรภู่รู้สึกตนเหมือนคนบ้า

ดังนั้น ตอนเป็นภิกษุจะไปนมัสการเจดีย์ภูเขาทอง (อยุธยา) นั่งเรือทวนแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านโรงเหล้าบางยี่ขัน (ย่านสะพานพระราม 8 กรุงเทพฯ) จึงแต่งกลอน “นิราศภูเขาทอง” พรรณนาเยี่ยงคำพระสงฆ์เทศนาถึงโทษของการดื่มสุรายาเมา (เหมือนน้ำนรก) ซึ่งตนเคยดื่มกินมาบ้างแล้วเคยเมาเหมือนคนบ้าน่าอาย แต่ไม่ขอแตะต้องอีกแล้ว เพราะมุ่งพระโพธิญาณ ตอนท้ายแสดงกวีโวหารเป็นความเปรียบว่าแม้เลิกแล้วไม่กินเหล้าเมาอีก แต่ยังเมารักต่อ “นางในนิราศ” นั้น (“นางในนิราศ” คือหญิงในจินตนาการอาจมีหรือไม่มีจริงก็ได้ โดยไม่หมายถึงใครคนใดคนหนึ่ง)

ข้อใส่ร้ายป้ายสีรุนแรงสืบจนบัดนี้มีว่าสุนทรภู่กินเหล้าเมาเกเรอาละวาดทำร้ายคนใกล้ตัวและคนอื่นๆ จนถูกจับติดคุก แต่เลี้ยงตัวรอดได้ด้วยการแต่งเรื่องพระอภัยมณีเป็นนิทานกลอนทยอยเป็นตอนๆ มีคนอ่านติดงอมแงมรอซื้อไปอ่าน ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องเท็จ ดังนี้

(1.) ไม่เคยพบหลักฐานว่าสุนทรภู่ติดคุกข้อหาเมาเหล้าอาละวาดทำร้ายคนใกล้ตัวหรือคนอื่น (2.) พระอภัยมณี โดยสุนทรภู่ทยอยแต่งเป็นตอนๆ ถวายเจ้านาย ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่รับรู้ทั่วไป (3.) สุนทรภู่ไม่เป็นกวีแต่งกลอนขายเลี้ยงชีพ เพราะอาชีพกวีไม่เคยมีในสมัยนั้น และไม่มีใครซื้อเพราะคนส่วนมากเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก

สุนทรภู่แต่งกลอนตอนกินเหล้า เพราะเชื่ออย่างเหลวไหลว่ากวีจะแต่งกาพย์กลอนเก่งต้องกินเหล้า เมื่อเหล้าออกฤทธิ์จะกระตุ้นอารมณ์คิดคำกลอนคล่องแคล่ว และมีจินตนาการบรรเจิดเลิศล้ำกว่าใคร ซึ่งเป็นเรื่องเพิ่งสร้างเพื่อสนับสนุนการใส่ร้าย แต่ในโลกจริงของคนแต่งหนังสือดีทุกยุคทุกสมัย ไม่มีใครทำงานได้ตอนกินเหล้าเมา เมื่อเมาก็นอนเหมือนหมดสติ ไม่ทำงานแต่งหนังสือ

วรรณกรรมร้อยกรองของสุนทรภู่เท่าที่พบแล้ว ถ้ารวมสมุดข่อยเข้าด้วยกันก็เป็นกองพะเนินเทินทึก นับว่ามีมากเกินประมาณ (ยังไม่พบต้นฉบับสมุดข่อย แต่พบชื่อก็อีกหลายเรื่อง) ล้วนประณีตบรรจงด้วยถ้อยคำเลือกสรรเป็นวรรณศิลป์วิจิตรพิสดารอย่างมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และไม่พบกลิ่นอายหรือร่องรอยของเหล้ายาสิ่งเสพติดอื่น

งานกวีนิพนธ์เกือบทั้งหมดของสุนทรภู่ (ยกเว้นนิราศเมืองแกลง) เป็นสิ่งสร้างสรรค์ขณะบวชเป็นภิกษุในสายตาของอำนาจรัฐที่ไม่เปิดโอกาสให้ละเมิดศีลข้อใดๆ ทั้งนั้น

ไม่เจ้าชู้หลายเมีย

สุนทรภู่ “อยู่นอกวัฒนธรรมผัวเดียว-เมียเดียว” สังคมสมัยนั้นผู้ชายมีเมียหลายคนในคราวเดียวกันแล้วได้รับการนับหน้าถือตาว่ามีบุญบารมี

นิราศบางเรื่องสุนทรภู่บอกว่ามี “กิ๊ก” หลายคน หมายถึงมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้หญิงหลายนาง ทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย จึงไม่ควรเหมารวมหญิงทุกคนที่มีเซ็กซ์เพื่อหฤหรรษ์ตามธรรมชาติประสาสาวหนุ่มล้วนเป็น “เมีย” สุนทรภู่

ความเป็นผู้ดี มีวิชาความรู้ มียศถาบรรดาศักดิ์ มีชื่อเสียง (ก่อนออกบวช) มีฐานะทางสังคมสูงด้วยคุณวุฒิ ย่อมเป็นที่ปรารถนาของหญิงสาวสมัยนั้นที่ต้องการ “ผัว” ที่มีความมั่นคงในชีวิตครอบครัวโดยสุนทรภู่ไม่ต้องทำเจ้าชู้

นอกจากนั้นผลงานเป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะตั้งแต่วัยหนุ่ม เพราะเป็นคนบอกบทอยู่หน้าม่านโรงละครชาตรี (ละครชาวบ้าน) เทียบสมัยนี้เป็นดาราหน้าโรง เท่ากับมีเสน่ห์อย่างยิ่งดึงดูดบรรดาหญิงสาววัยรุ่นและสาวแก่แม่หม้ายเข้าพัวพันไม่น้อย ดังมีบอกในกลอนเพลงยาวนิราศเรื่องต่างๆ อย่างรับผิดชอบ และไม่ดูถูกดูแคลน

ไม่แต่งสอนหญิง

สุนทรภู่ไม่ได้แต่งสุภาษิตสอนหญิง (สุภาษิตสอนสตรี) คนแต่งจริงบอกว่าชื่อ “ภู่” แต่เป็นคนอื่นที่ไม่ใช่สุนทรภู่ เพราะสำนวนกลอนอ่อนแอมากเมื่อเทียบกลอนสุนทรภู่

เรื่องนี้ กรมศิลปากรมีเชิงอรรถบอกนานแล้วว่า “ปัจจุบันมีนักวรรณคดีหลายท่านเชื่อว่าสุนทรภู่ไม่ได้แต่งสุภาษิตสอนสตรี”

ไม่มีนามสกุล

สุนทรภู่ไม่มีนามสกุล เพราะสมัยนั้นยังไม่ใช้นามสกุล และไม่พบลูกหลานสืบสายตระกูลจนถึงสมัยมีนามสกุล รวมทั้งไม่ได้เกิดบ้านกร่ำ เมืองแกลง จ.ระยอง สุนทรภู่จึงไม่เกี่ยวข้องกับนามสกุลใดๆ ของที่นั่น


อนุสรณ์สถานแห่งความเข้าใจคลาดเคลื่อน


อนุสาวรีย์สุนทรภู่ บ้านกร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง

สุนทรภู่ไม่มีเชื้อสายเกี่ยวข้องกับบ้านกร่ำ เมืองแกลง (จ.ระยอง) ท่านเขียนกลอนบอกไว้เองในนิราศเมืองเพชร (ฉบับตัวเขียน) ว่าบรรพชนทั้งสายพ่อ (คือ ย่า) กับสายแม่ (คือ ยาย) เป็นตระกูลพราหมณ์เมืองเพชรบุรี

อนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่บ้านกร่ำ (อ.แกลง จ.ระยอง) สร้างด้วยเหตุผลทางการเมือง จึงเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องถิ่นกำเนิดสุนทรภู่ ซึ่งไม่ใช่หลักฐานประวัติศาสตร์ว่าสุนทรภู่มีบิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง

เริ่มสร้าง พ.ศ.2498 ครบรอบ 100 ปี สุนทรภู่ แต่ชะงักไปเพราะมีปฏิวัติรัฐประหาร 2500

พ.ศ.2513 สร้างต่อจนเสร็จแล้วทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์สุนทรภู่แห่งแรก วันที่ 25 พฤษภาคม

 


พระอภัยมณี make love, not war

เกาะแก้วพิสดารไม่ได้อยู่เกาะเสม็ด (จ.ระยอง) อ่าวไทย ในทะเลจีน แต่อยู่บริเวณกลุ่มเกาะนิโคบาร์ อ่าวเบงกอล ในทะเลอันดามัน

พระอภัยมณีเป็นวรรณกรรมการเมืองต่อต้านการล่าอาณานิคมของยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษ สุนทรภู่ใช้ฉากอ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย แต่งนิทานกลอนแสดงเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างเมืองผลึก (จ.ภูเก็ต) กับ เมืองลังกา (ศรีลังกา) ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกัน

พระอภัยมณีเป็นฝ่ายเมืองผลึก ส่วนนางละเวงวัณฬาเป็นฝ่ายเมืองลังกา ทำสงครามข้ามทะเลสมุทรมีคนล้มตายก่ายกอง พระอภัยมณีออกปากชวนนางละเวงเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามรัก เข้ากันได้กับความเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวในสหรัฐสมัยต่อต้านสงครามเวียดนามมีคำขวัญว่า “make love, not war”

แผนที่แสดงตำแหน่งชื่อบ้านนามเมืองในพระอภัยมณีของสุนทรภู่ ใช้ฉากอยู่ทะเลอันดามัน อ่าว เบงกอล มหาสมุทรอินเดีย [ปรับปรุงจากแนวคิดของ “กาญจนาคพันธุ์” (ขุนวิจิตรมาตรา) ในหนังสือ ภูมิศาสตร์สุนทรภู่ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2490]

 


กุฏิสุนทรภู่ ‘บ้านกวี’

หลัง พ.ศ.2500 (ราว 60 ปีมาแล้ว) สมัยนั้นวงการศึกษาวรรณคดีไทยเคลื่อนไหวโหยหา “บ้านกวี” ต้องการให้ไทยมีเหมือนบ้านเชคสเปียร์ มหากวีของอังกฤษ ที่ประเทศอังกฤษเก็บรักษาเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวรรณกรรมแล้วเปิดให้คนเข้าชม

ด้วยเหตุนี้ “บ้านกวี” ของสุนทรภู่ควรหมายถึงทั้งหมดของวัดเทพธิดาราม ไม่ใช่เฉพาะกุฏิสุนทรภู่ที่ถูกสมมุติขึ้นเมื่อไม่นานนี้ แต่กุฏิสุนทรภู่ขณะนี้ควรให้เป็นศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับสุนทรภู่ ซึ่งมีทั้งเรื่องจริงมีหลักฐาน และที่เป็น “เฟคนิวส์” ใส่ร้ายป้ายสี ทั้งนี้เพื่อให้รู้ว่าสุนทรภู่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบการศึกษาไทย ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลความรู้เรื่องวัดเทพธิดารามไว้ด้วย


       กุฏิสุนทรภู่ที่บูรณปฏิสังขรณ์แล้ว (ภาพเมื่อวันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน 2563)


กุฏิสุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม
(ถนนมหาไชย ประตูผี สำราญราษฎร์ กรุงเทพฯ) ถูกสถาปนาขึ้นโดยกรมศิลปากร (ขณะนั้นสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ) เมื่อ พ.ศ.2504 (ราว 59 ปีมาแล้ว) เพื่อเป็น “บ้านกวี” ตามที่ตรวจสอบจากหนังสือ “รำพันพิลาป” กลอนเพลงยาวแต่งโดยสุนทรภู่ขณะเป็นภิกษุจำพรรษาอยู่วัดเทพธิดาราม ตั้งแต่ พ.ศ.2385 แต่สุนทรภู่ไม่ได้บอกว่าอยู่กุฏิหลังไหน? ตั้งตรงไหน?

รำพันพิลาป ต้นฉบับเป็นสมุดข่อย กรมศิลปากรได้มาเมื่อ พ.ศ.2480 [จากพระยาราชสมบัติ (เอิบ บุรานนท์) ผู้เก็บรักษาเป็นมรดกตกทอด] เมื่อทางการบูรณปฏิสังขรณ์ “กุฏิสุนทรภู่” ไม่เคยพบหลักฐานเกี่ยวกับสุนทรภู่ ไม่ว่าสมุดข่อย, เครื่องอัฐบริขาร หรืออื่นๆ เป็นพิเศษกว่ากุฏิต่างๆ ในวัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image