สุจิตต์ วงษ์เทศ : เที่ยวทุ่งหันตรา อยุธยา นาหลวงของพระเจ้าแผ่นดิน

ทุ่งหันตรา บริเวณเคยเป็นนาหลวงสมัยอยุธยา ภาพจากบริเวณหน้าวัดหันตรา ข้างหน้าเป็นแนวถนนสายเอเชีย (พฤษภาคม 2563)

ทุ่งหันตรา (อยุธยา) น่าเที่ยว แต่ถูกทอดทิ้งจนไม่มีคนไปเที่ยว เดิมเรียกทุ่งอุทัย มีเรื่องราวเก่าแก่ตื่นเต้นเป็นประวัติศาสตร์สังคม ของผู้คนที่ต่อไปเรียกตนเองว่าไทย ดังนี้

ก่อนสมัยอยุธยา

1.ทุ่งหันตราเป็นที่ตั้งเมืองอโยธยาศรีรามเทพ ซึ่งเป็นเมืองบรรพชนต้นกำเนิดกรุงศรีอยุธยาสืบเนื่องความเป็น “ทวารวดี” จากเมืองละโว้ (จ.ลพบุรี) อยุธยาจึงมีนามเป็นทางการในเอกสารว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา”

2.คลองหันตรา คือ แม่น้ำป่าสักสายเก่า ไหลผ่านทุ่งหันตรา เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญเชื่อมโขง-ชี-มูลกับอ่าวไทย ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์หลายพันปี

Advertisement

หลังสมัยอยุธยา

3.พิธีเบิกโขลนทวาร มีที่ทุ่งหันตรา (เดิมเรียกทุ่งอุทัย) เป็นพิธีกรรมของพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาตัดไม้ข่มนามก่อนยกทัพทำสงครามเมื่อ 500 ปีที่แล้ว

4.ทุ่งหันตราคือทุ่งอุทัยเป็นสถานที่ประสูติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อครั้งพระราชบิดาคือเจ้าสามพระยาทำพิธีเบิกโขลนทวารก่อนยกไปตีเมืองนครธมราว 500 ปีที่แล้ว (มีบอกในโคลงยวนพ่าย แต่งสมัยอยุธยาตอนต้น) เชื่อกันว่าขณะนั้นพระมเหสีทรงพระครรภ์เสด็จส่งเจ้าสามพระยาไปในพิธีที่ทุ่งหันตราพอดีครบกำหนดมีประสูติกาล

Advertisement

5.สมเด็จพระเจ้าบรมโกศเสด็จพิธีนวดข้าวทุ่งหันตราซึ่งเป็นนาหลวง เมื่อนวดข้าวเสร็จแล้วมีการละเล่นร้องรำทำเพลงสนุกสนาน (มีบอกไว้ในคำให้การชาวกรุงเก่า) ต่อมาเสด็จฉลองวัดหันตราหลังปฏิสังขรณ์สำเร็จ (มีในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา)

6. วัดหันตรา อยู่ริมคลองหันตรา เป็นวัดเก่าแก่ก่อนแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ จึงพบบานประตูแกะสลักไม้ฝีมือช่างรุ่นเก่าเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา แล้วยังพบศิลปวัตถุรุ่นอยุธยาก่อนเสียกรุงครั้งแรกอีกหลายอย่าง

คลองหันตรา หรือแม่น้ำป่าสักเดิม ไหลผ่านวัดหันตรา เขตนาหลวง ทุ่งหันตรา (ทุ่งอุทัย) อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา

7.นาหลวง หมายถึง ที่นาของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา อยู่นอกเกาะเมืองทางทิศตะวันออก บริเวณทุ่งหันตราซึ่งอยู่ทางตะวันออกของวัดมเหยงคณ์ (มีวัดหันตราริมคลองหันตรา เป็นแลนด์มาร์ก) ใกล้ถนนสายเอเชีย อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา

ชาวกรุงเก่ามีความทรงจำว่านาหลวงเป็นพื้นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำนา ซึ่งเป็นนาฏกรรมแห่งรัฐเพื่อขอความเจริญในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหารของราชอาณาจักร แล้วบอกต่อกันว่าสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเสด็จทุกปี ไปพิธีนวดข้าวในนาหลวงมีการละเล่นสนุกนักหนา เสร็จนวดข้าวได้ข้าวใส่เกวียนขนเข้าวัง แล้วทำสำรับกับข้าวถวายพระสงฆ์ในอาราม ขณะเดียวกันมีงานฉลองพร้อมการละเล่นต่างๆ ในพระนคร

ขนมหันตรา หรือขนมฝอย เป็นขนมโบราณ ที่นำถั่วกวนมาตกแต่งให้ดูน่ากินมากขึ้น ใช้ได้ทั้งถั่วดำ ถั่วแดง แต่นิยมคือถั่วเขียว โดยนำไข่มาห่อให้เป็นตารางสวยงาม รสของขนมหวานมัน หอมกลิ่นไข่และกลิ่นถั่วกวน (รูปและข้อมูลจาก https://sites.google.com/a/chs.ac.th/kanhomthai/khnm1)


หันตรา หมายถึงขนมอย่างหนึ่งคล้ายขนมเม็ดขุนน มีไข่ฝอยหุ้ม ส่วนในสารานุกรมฯ ภาคอีสาน มีคำว่า หันตา มาจากคำบาลี-สันสกฤต แปลว่าผู้ฆ่า แต่ยังไม่พบคำแปลในภาษามอญและภาษาเขมร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image