สุจิตต์ วงษ์เทศ : พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่ แต่งในวัดเทพธิดาราม

“เล่น” ได้ แต่ต้องไม่ทิ้ง “หลัก” บริเวณกิจกรรมรอบนอกหลังกุฏิสุนทรภู่และหลังอุโบสถ วัดเทพธิดาราม (ประตูผี) กรุงเทพฯ

พระอภัยมณีเป็นวรรณกรรมต่อต้านการล่าเมืองขึ้นของยุโรป ซึ่งเชื่อกันว่าสุนทรภู่ทยอยแต่งเป็นตอนๆ ขณะเป็นภิกษุจำพรรษาอยู่วัดเทพธิดาราม (ประตูผี)

ไม่พบหลักฐานทางตรงยืนยันเรื่องนี้ แต่มีหลักฐานทางอ้อมอยู่ในเพลงยาวรำพันพิลาปที่สุนทรภู่แต่งเมื่ออยู่วัดเทพธิดาราม พรรณนาการเดินทางในความฝันท่องทะเลสมุทรสุดทวีปไปสถานบ้านเมืองต่างๆ นอกกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งใช้เป็นฉากเรื่องพระอภัยมณี ได้แก่ ทะเลอันดามัน และมหาสมุทรอินเดีย ถึงอินเดียภาคใต้ และศรีลังกา [พระอภัยมณีไม่เกี่ยวกับอ่าวไทย ส่วนเกาะแก้วพิสดารไม่อยู่เกาะเสม็ด (ระยอง) แต่อยู่ทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล อินเดีย] มีดังนี้

(1.) สะดือสมุทร อยู่ทางทะเลอันดามัน (2.) เกาะชวา ในอินโดนีเซีย (3.) มะละกา ในมาเลเซีย สมัยนั้นเป็นเมืองมลายู (แขก) ในปกครองของฝรั่ง (4.) เมืองสุหรัด ในอินเดีย ต่อมาเป็นต้นตอชื่อ จ. สุราษฎร์ธานี (5.) เบงกอล เป็นชื่ออ่าวเบงกอล แต่สมัยนั้นหมายถึงบริเวณเมืองกัลกัตตาในปกครองอังกฤษ (6.) ลังกา ปัจจุบันคือศรีลังกา แต่สมัยนั้นเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ มีประมุขคือพระราชินีวิกตอเรีย ต้นตอชื่อนางละเวงวัณฬาในพระอภัยมณี

รำพันพิลาป หมายถึง คร่ำครวญพรรณนาไปตามอารมณ์ สุนทรภู่แต่งเป็นกลอนเพลงยาวเมื่อเป็นภิกษุจำพรรษาอยู่วัดเทพธิดาราม (ราว 178 ปีมาแล้ว) พ.ศ. 2385 มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้

Advertisement

1.เล่าความหลังของสุนทรภู่เองที่มีเหตุเภทภัย แล้วเล่าการเดินทางไปที่ต่างๆ ภายในประเทศทั้งทางบก-เรือ และทางเหนือ-ใต้

2.เล่าความฝันเมื่อนอนหลับในกุฏิวัดเทพธิดาราม เป็นเรื่องราวพิสดาร แล้วตอนท้ายเล่าว่าปรารถนาพา “นางในเพลงยาว” เดินทางท่องทวีปภายนอกประเทศตลอดทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย

พื้นที่เหล่านั้นเป็นเส้นทางเชื่อมกันของอารยธรรมโลกตะวันตก-ตะวันออก, เส้นทางการค้าโลกสมัยเริ่มแรก และเส้นทางล่าอาณานิคมของยุโรป

Advertisement

ขณะนั้นสุนทรภู่อยู่ในสถานการณ์เศรษฐกิจแบบใหม่ “กึ่งตลาดเสรี” (ต่อไปจะเป็นตลาดเสรีสมัย ร.4) มีโลกทัศน์แบบปัจเจกนิยม ตั้งแต่ความรักชาย-หญิง “ไม่คลุมถุงชน” แต่สนองอารมณ์ตนเองเป็นสำคัญ รวมถึงท่องเที่ยวแบบใหม่ “ไม่แสวงบุญ” แต่แสวงความต้องการส่วนบุคคลผจญประสบการณ์ด้วยตนเอง

กุฏิสุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม ถ้าจะดียิ่งขึ้นควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษในเรื่องราวของ รำพันพิลาป กับ พระอภัยมณี แม้การจัดแสดงบางทีต้องพลิกแพลง “เล่น” กับคนดูบ้าง แต่ต้อง “เล่นมีหลัก” โดยไม่ทิ้งข้อมูลหลักอันเป็นแก่นสาร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image