คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Coronavirus, Explained เส้นทางขวากหนามของ ‘วัคซีนต้านโควิด-19’

ภาพประกอบ Netflix

คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Coronavirus, Explained เส้นทางขวากหนามของ ‘วัคซีนต้านโควิด-19’

โควิด-19 – หากคิดว่าโลกจะถึงจุดจบได้จากสิ่งใดบ้าง บางคนอาจจะนึกถึงภัยอย่าง อุกกาบาต หรือ ภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิด ปรมาณู ขีปนาวุธ รวมทั้ง ภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change แต่สิ่งที่ติดอยู่ในอันดับจุดสิ้นสุดของโลกเป็นประจำ คือ โรคระบาด นั่นก็เพราะโลกใบนี้มีไวรัสประมาณ 1.3-1.6 ล้านชนิด ที่เรายังไม่รู้จักอยู่ในสัตว์ป่า ซึ่งปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์รู้จักไวรัสเหล่านี้แค่ราว 3,000 ชนิดเท่านั้น เรียกว่าน้อยกว่าร้อยละ 0.1 ด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่าหนึ่งในไวรัสนั้นนับล้านนั้นอาจแพร่สู่มนุษย์ได้ตลอดเวลา กรณีโควิด-19 คือสิ่งที่บ่งบอกเราว่า การเกิดโรคระบาดนั้นง่ายดายมาก จากสัตว์สู่คนและแพร่เชื้อไปยังคนทั่วโลก

ในซีรีส์สารคดีไขความกระจ่างเรื่องดัง Explained” ที่ผลิตโดยสำนักข่าวออนไลน์ Vox ในชุด Coronavirus มีตอนหนึ่งที่เล่าถึง “การเร่งวิจัยหาวัคซีน” (The Race for a Vaccine) เพื่อป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ โควิด-19 เป็นการทำงานที่แข่งกับเวลาในจังหวะสถานการณ์ของโลกที่ผ่านมาราว 7 เดือน นับตั้งแต่การแพร่ระบาดระยะแรกๆ โดยขณะนี้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วกว่า 17 ล้านคน (สถิติถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563)

แม้หลายคนยังมองอย่างมีความหวังว่าโลกจะเป็นเหมือนดั่งที่ผ่านมา ที่ว่าเมื่อเกิดเหตุโรคติดต่อ หรือโรคระบาดใหญ่วงกว้างแต่ละครั้ง ตามประวัติศาสตร์เราก็มักจะเรียนรู้และคิดค้นผลิตวัคซีนออกมาได้เสมอ เช่นเดียวกับที่เราคิดค้น วัคซีนเข็มแรกของโลก จนถึงพัฒนายาปฏิชีวนะต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ใน “The Race for a Vaccine” พาเราไปดูเบื้องหลังวิธีการทำงาน และคาดคะเนว่ากว่าจะได้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โควิด-19 นั้น อาจจะต้องผ่านด่านที่ยากขึ้นไปอีก และเป็นความท้าทายใหม่ของนักวิทยาศาสตร์และบริษัทผู้ผลิตยาทั่วโลกที่กำลังตามล่าหาวิธียุติการระบาดครั้งนี้ด้วยการทดลองผลิตวัคซีน

Advertisement

โลกเริ่มทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ตัวแรก เมื่อราวมีนาคม 2563 แต่กว่าจะช่วยหยุดการแพร่ระบาดระดับโลกได้นั้นยังต้องใช้ระยะเวลาไปอีกหลายเดือนและบ้างก็มองกันถึงนับปี เพราะวัคซีนทุกตัวที่อาจจะได้ผลมีหนทางยากลำบากรออยู่ข้างหน้า เนื่องจากต้องผ่านการทดสอบกันหลายด่าน

ว่ากันตามสถิติเช่นในสหรัฐอเมริกาโดยทั่วไปวัคซีนหนึ่งตัวจะใช้เวลาประมาณหนึ่งทศวรรษในการเริ่มผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ สำหรับกรณีโควิด-19 โลกไม่ได้มีเวลามากขนาดนั้น การเร่งสรรพกำลังในการทดสอบวัคซีนทั่วโลกจึงเร็วขึ้น และถูกคาดหวังว่าวัคซีนจะถูกคิดค้นสำเร็จและแจกจ่ายในวงกว้างได้ในปีหน้า แต่จะทำได้นั้น สารคดีเรื่องนี้พาไปดูว่าวัคซีนจะต้องผ่านด่านอุปสรรคต่างๆ อย่างไรบ้าง

วันนี้วัคซีนทดลองต้านโควิด-19 กว่า 100 ตัว กำลังถูกต่อยอดจากงานพัฒนาดั้งเดิมตามมหาวิทยาลัยจนถึงยักษ์ใหญ่ในวงการผลิตยา วงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลกตื่นตัว ทั้งร่วมมือและแข่งขันกันที่จะผลิตวัคซีนเข็มแรกให้สำเร็จ เป็นการแข่งขันที่เดิมพันสูงสุดในประวัติศาสตร์โลกก็ว่าได้บนคำถามสำคัญที่ว่า วัคซีนต้านโควิด-19 จะทำออกมาได้เร็วแค่ไหน


The Race for a Vaccine” พาไปรู้จักรายละเอียดและกระบวนการของการผลิตวัคซีน และอุปสรรคต่างๆ ที่กว่าจะผลิตวัคซีนได้สำเร็จ โดยยกกรณีศึกษาวัคซีนในโรคติดต่อที่เคยเป็นผลกระทบระดับโลกมาก่อน เช่น โรคฝีดาษ (ไข้ทรพิษ) มาในกรณีของการพยายามคิดค้นวัคซีนต้านโควิด-19 นั้น พบว่าในบรรดาวัคซีนทดลองกว่า 100 ตัวที่กำลังเร่งพัฒนากันทั่วโลกนั้น เกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในประเทศแถบอเมริกาเหนือและจีน โดยผู้พัฒนาส่วนใหญ่ได้รับทุนจากเอกชน ซึ่งขั้นตอนการผลิตวัคซีนโดยทั่วไปจะเริ่มด้วยการออกแบบสร้าง “วัคซีนทดลอง” ขึ้นมา จากนั้นคือขั้นตอน “การวิจัยทางคลินิก” โดยขั้นตอนนี้จะมีการฉีดวัคซีนให้กับคนกลุ่มเล็กๆ รอดู 2-3 เดือน เพื่อดูรายงานผลข้างเคียง ถ้าผ่านขั้นนี้ไปได้วัคซีนก็จะได้ไปต่อ และจะเพิ่มการฉีดทดลองให้คน 200-300 คน จากนั้นใช้เวลารอดูว่าจะมีผลข้างเคียงอันตรายใดๆ หรือไม่ และดูด้วยว่าภูมิคุ้มกันของคนที่ได้รับวัคซีนนั้นเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ แปลว่าต้องรอนานกว่าเดิมซึ่งก็ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน หากผ่านไปได้ตัวยาก็จะเข้าสู่การทดลองขั้นที่สาม นั่นคือการฉีดให้คนหลายพันคนเพื่อตรวจหาผลข้างเคียงรอบที่สาม และดูว่ามันได้ผลดีแค่ไหน ทั้งหมดทำให้เราเห็นกระบวนการว่าต้องรอกันหลายเดือนกระทั่งถึงขั้นหลายปี

แต่เมื่อกรณีโควิด-19 คือความเร่งด่วนวาระสำคัญของโลก ทำให้นักวิทยาศาสตร์และผู้พัฒนาวัคซีนกำลังหวังว่ะทดลอบหลายขั้นตอนไปพร้อมๆ กัน เป็นต้นว่ายังคงทดสอบกับคนจำนวนเท่าเดิม แต่ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 18 เดือน เราจึงเห็นข่าวว่าวัคซีนบางตัวจึงคืบหน้าได้เร็วมากขึ้น และมาถึงขั้นตอนที่สองกันแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่เร็วขึ้นมาจากที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์เคยทดลองวิจัยวัคซีนโคโรนาที่เป็นสายพันธุ์ของโรคซาร์สกับโรคเมอร์สที่เคยระบาดเมื่อหลายปีก่อน ทำให้การต่อยอดเข้าสู่กระบวนการวิจัยทางคลินิกของโควิด-19 ทำได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องเริ่มต้นกันใหม่ทั้งหมด

แม้จะยังไม่มั่นใจนักว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนหรือไม่ แต่ทั้งโลกก็ยังมีความหวังต่อวัคซีนเข็มแรกในปีหน้า

อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาด้านวัคซีนเล่าว่า แม้ต่อไปวัคซีนจะได้รับใบอนุญาตให้ผลิตออกมาแล้ว แต่โดยทั่วไปวัคซีนก็ยังถูกตรวจสอบจับตาอยู่เสมอ ในฐานะที่ต้องรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ว่ากันตามจริงการผลิตวัคซีนจึงไม่สามารถใช้ทางลัดใดๆ ได้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยา

ทว่า หากวัคซีนเกิดขึ้นสำเร็จยังต้องใช้เวลาที่การจะทำให้การระบาดครั้งใหญ่นี้สิ้นสุดลง เพราะหลังแจกจ่ายวัคซีนให้ผู้คนแล้ว จะต้องทำให้เกิดภาวะ “ภูมิคุ้มกันหมู่” กรณีโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ประชากรโลกอย่างน้อยร้อยละ 60 หรือเกือบ 8 พันล้านคน จะต้องมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ

ภาพที่เห็นคือ การที่ทั่วโลกต้องผลิตวัคซีนเป็นพันล้านหน่วย ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะต้องใช้โรงงานมากมาย สถานการณ์วันนี้เอกชนยักษ์ใหญ่จึงเดิมพันท้าทายด้วยการสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไว้ล่วงหน้า และหากผ่านด่านผลิตวัคซีนนี้ไปได้ ยังมีอุปสรรคการแจกจ่ายวัคซีนไปให้ถึงมือคนทั่วโลก ที่ยังอาจเจอสถานการณ์ “ชาตินิยมจากวัคซีน” ที่ประเทศที่ผลิตวัคซีนได้จะต้องใช้วัคซีนกับคนในประเทศตัวเองก่อน ยังไม่นับรวมถึงประเด็นราคา ที่จะเข้ามากำหนดว่าจังหวะว่าประเทศไหนจะได้วัคซีนเร็วช้า ทางแก้เรื่องนี้จึงหวังว่าต้องมีผู้พัฒนาวัคซีนได้สำเร็จมากกว่าหนึ่งราย

ไม่ว่าวัคซีนเข็มแรกจะกำเนิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่โลกต้องเรียนรู้ประสบการณ์ครั้งนี้ ว่านี่ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างผู้ผลิตว่าใครจะคิดค้นวัคซีนได้ แต่เป็นการแข่งขันระหว่างมนุษยชาติกับไวรัสตัวนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image