สุจิตต์ วงษ์เทศ : ได้ชื่อ ‘มหาวิทยาลัย’ แต่หลายแห่งเป็นอย่างอื่น

อย่าผลักอนาคตของชาติเป็นศัตรู (สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย จัดงาน "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 (ภาพจาก https://www.matichon.co.th/politics/news_2301987)

“มหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่สำหรับการตั้งคำถามและแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติของสังคม” เป็นข้อความบรรทัดแรกของแถลงการณ์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563

คนส. แถลงต่อไปอีกว่ามหาวิทยาลัยเป็นแหล่งบ่มเพาะสมาชิกที่มีคุณภาพให้กับสังคม แต่การบ่มเพาะที่มีคุณภาพ “ไม่ได้หมายถึงทักษะในการท่องจำสิ่งที่สืบทอดกันมาในตำรา…” คุณภาพที่ได้จากการบ่มเพาะของมหาวิทยาลัย “หมายถึงความสามารถในการคิด, ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์อย่างอิสระ”

ตำราที่สืบทอดกันมาหลายเจเนอเรชั่นย่อมมีมากหลากหลาย จึงมีทั้งที่ยัง “ทันสมัย” ใช้การได้ กับส่วนมาก “พ้นสมัย” ใช้การไม่ได้แล้ว ควรโละทิ้งเท่านั้น แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายแห่งยังทู่ซี้ใช้ในการเรียนการสอนทำให้คุณภาพอ่อนด้อยจนไม่รู้เท่าทันโลก หรือตามความก้าวหน้าไม่ทันสากลโลก ทั้งหมดนี้นักศึกษารับเคราะห์

ความสามารถในการคิด, ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์อย่างอิสระตามที่แถลงการณ์ คนส. บอกไว้ เป็นเรื่องตลกขบขันที่หัวเราะไม่ออกของนักศึกษาทางมนุษยศาสตร์โดยเฉพาะวิชาที่ลงท้ายด้วยคำว่า “ไทย” เช่น ภาษาไทย, วรรณคดีไทย, นาฏศิลป์ไทย, ดนตรีไทย, ประวัติศาสตร์ไทย, โบราณคดีไทย ฯลฯ เพราะอาจารย์ผู้สอนด้านนี้เหมือนหลุดจาก “เบ้าหลอม” เดียวกันตั้งแต่ “เสื้อผ้าหน้าผม” อนุรักษนิยมสุดโต่ง ห้ามถาม ห้ามเถียง ห้ามคิดนอกกรอบที่อาจารย์สอนไว้ ซึ่งมักกะเบอะกะเบ้อกะเร่อกะร่า ตกๆ หล่นๆ ขาดๆ เกินๆ ผิดๆ ถูกๆ แต่นักศึกษาทักท้วงไม่ได้

Advertisement

มหาวิทยาลัยมิได้จำกัดบทบาทและหน้าที่จำเพาะการจัดการเรียนการสอนให้นิสิตนักศึกษาในสถาบัน “หากแต่หมายรวมถึงการเปิดพื้นที่ให้สมาชิกกลุ่มอื่นในสังคมได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนข้อเท็จจริงด้วยเหตุด้วยผลโดยมีประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง…”

แต่ในชีวิตจริงของมหาวิทยาลัยส่วนมากกีดกันคน “คิดต่าง” ทั้งจากคนกลุ่มเดียวกันและคนกลุ่มอื่น ดังจะพบว่าอาจารย์ไม่น้อยในบางมหาวิทยาลัยห้ามนักศึกษาอ่านหนังสือหรือตำราที่ “คิดต่าง” ซึ่งเท่ากับนักศึกษาเสียโอกาสเป็นผู้รับเคราะห์

ข้อมูลและแนวคิดล้าสมัยหรือพ้นสมัยเป็นอุปสรรคต่อพลังสร้างสรรค์เศรษฐกิจ ส่วนเครื่องมือล้าสมัยในการศึกษาอดีตย่อมบั่นทอนพลังสร้างสรรค์สังคมไทยในอนาคต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image