คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : โอกาสทองชีวิต

ภาพจาก MTEC

แวะเวียนไปงาน เฮลท์แคร์ 2020 กันหรือเปล่า

งานเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ใครได้ไปคงได้รับบริการตามแนวคิด “สุขภาพดี วิถีใหม่ ใจชนะ” ไปกันแล้ว

ส่วนใครที่พลาด ปีหน้าคอยสดับฟังกำหนดการต่อไป

ภายในงานปีนี้ บริเวณด้านหน้าคึกคักไปด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์

Advertisement

นวัตกรรมของจุฬาฯนั้น เคยเล่าให้ฟังแล้วว่ามีหุ่นยนต์ช่วยงานทางการแพทย์หลายตัว

ทั้งหุ่นยนต์นินจา หุ่นยนต์ปิ่นโต รวมไปถึงเครื่องกายภาพบำบัด

ไม่เพียงแต่จุฬาฯเท่านั้น ยังมีหน่วยงานอื่นได้ผลิตคิดค้นสิ่งประดิษฐ์เพื่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ

Advertisement

อย่างนวัตกรรของ MTEC อ่านว่า เอ็ม-เทค นี่ก็ไม่ธรรมดา

เอ็มเทค หรือศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติแห่งนี้ มีหน้าที่พัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีวัสดุให้แก่ภาครัฐและภาคเอกชน

มีผลงานการวิจัย การพัฒนาและวิศวกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี และอื่นๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย

ศูนย์แห่งนี้ได้วิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์หลากหลาย

เมื่อไทยเผชิญหน้ากับโรคโควิด-19 เอ็มเทคได้พัฒนาต้นแบบห้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ

ห้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยนี้ คือ แคปซูลสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้ออันตราย

แคปซูลดังกล่าวสามารถพับเก็บได้ เคลื่อนย้ายสะดวก ติดตั้งบนเตียง หรือเตียงเข็น หรือเปลได้

เมื่อติดตั้งแล้วสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทั้งภายในโรงพยาบาลหรือเคลื่อนย้ายด้วยรถพยาบาลได้อย่างปลอดโรค

โครงสร้างหลักของแคปซูลเป็นวัสดุที่สามารถนำเข้าเครื่องเอกซเรย์ และ CT Scanner ได้

แล้วยังมีแผ่นกรองอากาศก่อนเข้าแคปซูลเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อน มีระบบแสดงผลและควบคุมแรงดันลบ พร้อมแผ่นกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพ 99.995% และหลอด UV เพื่อฆ่าเชื้อก่อนปล่อยอากาศออกสู่ภายนอก

มีช่องสำหรับทำหัตถการและใส่สายอุปกรณ์จากภายนอก

แคปซูลนี้ใช้ได้กับไฟฟ้า 220 โวลต์ และมีแบตเตอรี่สำรอง

อีกไม่นานแคปซูลนี้จะกระจายไปให้โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศได้ใช้

หลังจากนี้คาดว่า การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้ออันตรายจะดำเนินการไปได้อย่างปลอดภัย

ทั้งผู้ป่วย ทั้งผู้ที่ทำหน้าที่เคลื่อนย้าย และบุคคลอื่นๆ

แคปซูลดังกล่าวทางเอ็มเทคนำมาจัดแสดงและแนะนำภายในงานเฮลท์แคร์ 2020

นอกจากแคปซูลที่เป็นการวิจัยที่จะใช้งานได้จริงๆ ในอีกไม่นานนี้แล้ว

ยังมีสิ่งประดิษฐ์อื่นอีก คือ เครื่องบังคับรถเข็นที่ช่วยให้ผู้ใช้รถเข็นสามารถขับเคลื่อนรถเข็นไปได้ด้วยตัวเอง

หลายคนคงเคยเห็นรถเข็นที่ผู้ใช้สามารถขับเคลื่อนได้เองแล้วใช่ไหม

รถเข็นแบบนั้น ต้องเสียเงินหลายหมื่นบาทไปซื้อหา

แต่ถ้าติดตั้งด้วยเครื่องบังคับรถเข็นนี้กับรถเข็นที่ผู้ป่วยหรือผู้สูงวัยมีอยู่แล้ว

ค่าใช้จ่ายจะลดฮวบลงมาอยู่ระดับไม่กี่พันบาท

แม้รูปทรงอาจจะไม่สวย แต่สามารถอำนวยความสะดวกได้ไม่แพ้กัน

เห็นตัวอย่างเช่นนี้แล้ว นึกถึงคำ “พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” ขึ้นมาอีกครั้ง

ความยากลำบากที่เกิดขึ้น หากใช้เป็นบันไดในการพัฒนา จะทำให้เราพัฒนา

ช่วงเวลาที่โลกทั้งใบเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากโควิด-19 ระบาด

ทุกหย่อมหญ้าย่อมได้รับความยากลำบากแสนสาหัส

ความลำบากนี้หากเรายอมจำนนก็เท่ากับ “ทำร้ายตัวเอง”

แต่ถ้าใช้ความยากลำบากเป็นโจทย์ แล้วหาวิธีการแก้โจทย์ที่เกิดขึ้น

เมื่อทำสำเร็จ สิ่งที่ปรากฏคือ “การพัฒนา”

ผู้ประกอบการร้านค้าที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคในช่วงนี้ไปได้ สมควรได้รับประกาศนียบัตร

เพราะการนำธุรกิจฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ คือ ความสำเร็จที่น่าปรบมือให้

ยิ่งธุรกิจใดสามารถพลิก “วิกฤต” โควิด เป็น “โอกาส” ขององค์กร

สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ และทำรายได้ใหม่ มาชดเชยรายได้เดิมที่สูญเสีย

ยิ่งควรได้รับการยกย่องในฐานะผู้พิชิตอุปสรรค

เช่นเดียวกับชีวิตทุกชีวิตที่ตกอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน

ถ้าสามารถพลิกวิกฤตเป็นบันไดก้าวข้ามอุปสรรค์ขึ้นไปสู่ความสำเร็จได้

หรือสามารถรักษาสถานภาพด้านต่างๆ ของตัวเองไว้ได้จนพ้นวิกฤต

ย่อมถือว่าชีวิตประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม

เมื่อกาลเวลาพ้นผ่าน กระทั่งโลกใบนี้มีวัคซีนป้องกันโควิด-19

เมื่อถึงวันที่เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศกลับคืนสู่สภาพปกติ

ชีวิตทุกชีวิต องค์กรทุกองค์กรเติบโตได้อีกครั้ง

ทั้งองค์กร และชีวิต ที่ผ่านพ้นวิกฤตมาได้ ย่อมแข็งแกร่ง และแข็งแรงมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสทองของทุกคน ทุกองค์กร

เป็นโอกาสในการฝึกฝน ทดสอบ และทดลอง

เป็นโอกาสการต่อสู้กับวิกฤต สั่งสมประสบการณ์ เพิ่มพูนความสามารถ และความอดทน

กระทั่งถึงวันเวลาที่สามารถยืนบนลำแข้งตัวเองได้อีกครั้ง

ความภาคภูมิใจจะเกิดขึ้น

และต้องขอบคุณวิกฤตที่เกิดขึ้น

เพราะวิกฤตช่วยเคี่ยวกลำให้ชีวิตเติบโตขึ้นมาได้อย่างเข้มแข็งอดทน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image