คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : เริ่มต้น ‘ปรองดอง’

ช่วงนี้บ้านเมืองวุ่นๆ จึงแวะเวียนเข้าไปอ่านฟังธรรมเทศนาหาแนวทางดับทุกข์

หลังจากเรียนรู้กฎไตรลักษณ์ อนิจจัง-ทุกสรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลง ทุกขัง-ทุกสรรพสิ่งย่อมแตกสลาย อนัตตา-ทุกสรรพสิ่งไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเราแล้ว

ได้รับทราบ ปฏิจจสมุปบาท ปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์ และปัจจัยที่ทำให้ทุกข์ไม่เกิด

ประกอบด้วย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี

Advertisement

แล้วสังขารก็ทำให้เกิดวิญญาณ วิญญาณทำให้เกิดนามรูป

นามรูปเป็นปัจจัยทำให้เกิดสฬายตนะจึงมี สฬายตนะทำให้เกิดผัสสะ

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี เวทนาเป็นปัจจัยทำให้เกิดตัณหา

Advertisement

ตัณหาเป็นปัจจัยทำให้เกิดอุปาทาน อุปาทานทำให้เกิดภพ

เพราะภพเป็นปัจจัย ทำให้เกิดชาติ

และเพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจมีพร้อม

หากต้องการดับทุกข์ ก็ต้องเริ่มต้นจากการละอวิชชา

ส่วนอวิชชาจะหายไปก็มีโรดแมปให้ก้าวเดิน

เดินตามหนทางการละสังโยชน์ 10 หรือ เครื่องผูกมัด 10 ประการ

เริ่มจะละ “สักกายทิฏฐิ” หรือความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นของเรา

ข้อแรกนี้หลายคนเริ่มเข้าใจแล้วว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา

เราไม่สามารถบังคับให้หยุดแก่ หยุดเสื่อมได้

ดังนั้น ร่างกายจึงไม่ใช่ของเรา

เมื่อละ “สักกายทิฏฐิ” ได้ ก็ละ “วิจิกิจฉา” หรือความข้องใจในคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้

จากนั้นเข้าสู่ขั้นการละ “สีลัพพตปรามาส” หรือละความงมงาย เช่น ถือศีลเพื่อให้ได้ลาภ หรือถือศีลเอาเท่ เอาไว้ข่มคนอื่น

ความจริงแล้วศีลที่บัญญัติ มีไว้เพื่อช่วยให้ใจบริสุทธิ์ เกิดเป็นกุศล

และผลจากกุศลจะช่วยให้ละกิเลสในขั้นสูงๆ ต่อไป

ขั้นต่อมาคือ การละ “กามราคะ” คือ ความชอบใจ และ ละ “ปฏิฆะ” หรือความขัดใจ

ถ้าละได้ทั้ง 5 ประการ ถือว่าสามารถละสังโยชน์เบื้องต่ำได้แล้ว

แค่ 5 ข้อนี้ก็ถือว่าทำได้ยาก โดยเฉพาะเรื่อง “กามราคะ” หรือ ความชอบ และ “ปฏิฆะ” หรือความขัดใจ

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยัง “ก้าวไม่ข้าม”

ยิ่ง “ปฏิฆะ” ที่จะกลายเป็นความโกรธและความพยาบาทต่อไปนั้น กำลังแพร่พิษอยู่ในสังคมไทย

บ้านเมืองที่กำลังวุ่นวายกันอยู่ก็มาจากกิเลสตัวนี้

ส่วนใครสามารถละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ ก้าวต่อไปคือการละสังโยชน์เบื้องสูงอีก 5 ข้อ

นั่นคือ ละ “รูปราคะ” ความติดใจในรูปฌาน ละ “อรูปราคะ” ความติดใจในอรูปฌาน คือ พอใจในนามธรรมทั้งหลาย

ละ “มานะ” ความยึดมั่นถือมั่น ละ “อุทธัจจะ” ความฟุ้งซ่าน

และสุดท้าย คือ ละ “อวิชชา” หรือ ความไม่รู้จริง

โอ้ กว่าจะก้าวไปถึงข้อที่ 10 ชาตินี้ไม่รู้จะทำได้ไหม

แต่ถ้าใครทำได้ พระท่านว่ามาถูกทาง ดับทุกข์ได้แน่นอน

เพราะเมื่อละอวิชชาได้ สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็ดับไป

กลับไปพิจารณาเรื่อง “กามราคะ” และ “ปฏิฆะ” มีข้อเสนอแนะในการละทิ้ง ด้วยการ “หยุดคิด”

ขณะที่กำลังหลงในกามราคะก็หยุดคิด หรือเปลี่ยนไปคิดเรื่องอื่น

หรือถ้าเกิดปฏิฆะ หรือขัดใจ และกำลังขยับไปสู่ความโกรธก็ให้หยุดคิด

แต่ถ้าหยุดความคิดไม่ได้ พระท่านแนะนำให้เปลี่ยนความคิดไปคิดเรื่องอื่น

เปลี่ยนไปคิดในเรื่องอันเป็นกุศล

ใช้ “กุศล” สยบ “อกุศล”

ใช้ “คิดดี” ชนะ “คิดชั่ว”

ส่วนใครที่คิดดีอยู่แล้ว ชีวิตมีความสุขแล้ว แต่หากจะก้าวข้าม “ความสุข” ไปสู่ “ความสงบ” พระท่านแนะนำให้ใช้ “อุเบกขา”

ความสำเร็จในการละกิเลส “กามราคะ” กับ “ปฏิฆะ” นี้ได้ ต้องใช้ทั้งศีล สมาธิ และปัญญา

ศีล เป็นพื้นฐานที่ทำให้เราคิดดี มีกุศลกรรม

สมาธิ ช่วยในการละจาก “ความคิด” ให้กลับมาสู่ “ลมหายใจ”

ส่วนปัญญา ต้องมีเวลาฟังธรรมเทศนา และอ่านหนังสือธรรมะ เพื่อทำความเข้าใจในธรรม

การพยายามเข้าใจพระธรรมในปัจจุบันมีสื่อหลายสื่อช่วยเผยแพร่อยู่แล้ว

มีหนังสือให้อ่าน มีซีดีให้ดูและฟัง มีออนไลน์ให้ค้นหา

ต้องการศึกษาเรื่องใดสามารถคลิกเข้าไปตรวจค้นได้ไม่ยาก

และหากทำได้ครบกระบวนธรรม ท่านว่ามีโอกาสได้ละกิเลส

เมืองไทยเรานี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธ

การที่บ้านเมืองวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ฝ่ายหนึ่งโทษอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นต้นเหตุ

กระทั่งเกิดความขัดเคือง และเกลียดชัง

ที่ผ่านมาหลายฝ่ายพยายามนำเสนอหนทางสู่ความปรองดอง

บรรเทาความขัดใจ และลดความเกลียดชัง

แต่สุดท้าย ยังไม่สามารถทำได้ เพราะความเกลียดชังยังติดค้างอยู่ในใจของคู่กรณี

ทางที่จะทำให้ความเกลียดชังลดลงได้ คือต้องรู้จักละ “ปฏิฆะ”

ใช้ “กุศลกรรม” เข้ามาแทนที่ “อกุศลกรรม”

ใช้ “การคิดดี” แทนที่ “การคิดชั่ว”

ถ้า 1 คนคิดได้ดั่งนี้ก็จะไม่เผลอตัวไปเกี่ยวพันกับปฏิฆะ

ถ้าหลายคนคิดได้ดั่งนี้ ก็จะมีคนเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่ละความขัดใจลงได้

แล้วถ้าทั้งประเทศละทิ้งความเกลียดชังลงได้ล่ะ

ดังนั้น การปรองดองไม่ต้องไปรอใครเริ่ม

เพราะเราทุกคนสามารถเริ่มได้ด้วยตัวเอง

เริ่มละความขัดใจ สกัดความโกรธ

ถ้าสิ่งแวดล้อมในบ้าน ในชุมชน ในเมืองเราเป็นเช่นนี้

สังคมนั้นย่อมปลอดภัย เพราะทุกคนมีความปรองดองอยู่กับตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image