คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง : Sitara : Let Girls Dream ขอให้สาวน้อยได้ฝันถึงดวงดาว

ขอบคุณภาพประกอบ Netflix

“ถ้าประตูบานนั้นยังไม่เปิดสำหรับคุณ นั่นก็เพราะคุณยังไม่ได้เตะมันให้แรงพอ…นี่คือวิธีที่ฉันใช้ชีวิต” Sharmeen Obaid-Chinoy เคยเขียนประโยคดังกล่าวไว้เมื่อหลายปีก่อน

เธอเป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าของรางวัลภาพยนตร์สารคดีสั้นออสการ์สองรางวัลในปี 2012 และ 2016 จากหนังสารคดีสั้น 2 เรื่อง คือ “Saving Face” และ “A Girl in the River : The Price of Forgiveness” นอกจากนี้เธอยังชนะรางวัลเอ็มมี่อีก 6 รางวัล

“Sharmeen Obaid-Chinoy” คือนักข่าว นักกิจกรรม และนักสร้างภาพยนตร์หญิงชาวปากีสถาน ที่มีผลงานโดดเด่นในด้านการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมในสตรี ผู้ลี้ภัย

“…ฉันมาเป็นนักสร้างหนังโดยบังเอิญ ตอนนั้นฉันตัดสินใจหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายหนังหลังเรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์และด้านการบริหารสาธารณะ…เพราะเชื่อในพลังของการเล่าเรื่อง และพยายามสื่อสารที่ช่วยทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ โดยเชื่อมโยงกับผู้ชม ผู้คน ที่กล้าเล่าเรื่องราวของพวกเขา…ฉันจึงเดินทางไปทั่วโลกเพื่อทำหน้าที่ฉายภาพชุมชนชายขอบ ผู้ลี้ภัย ผู้หญิงที่เผชิญความทุกข์ยาก ทั้งหมดเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันขยายเรื่องราวของพวกเขาออกมาเป็นภาพยนตร์สารคดี” Sharmeem Obaid-Chinoy เล่าไว้

Advertisement

ผลงานเรื่องล่าสุดของเธอ คือแอนิเมชั่นที่ชื่อ “Sitara : Let Girls Dream” โดยเป็นเรื่องราวของ “ปารี” เด็กหญิงวัย 14 ปี ในเมืองลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน ช่วงต้นทศวรรษที่ 70 ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักบินหญิง แต่ความฝันนั้นก็ถูกจำกัดด้วยค่านิยมและประเพณีความเชื่อทางศาสนาเรื่องการแต่งงานในวัยเด็กของผู้หญิง ซึ่งพ่อของเธอเตรียมการให้ได้แต่งงานกับชายที่อายุแก่กว่ามาก ที่ผ่านมาเราอาจเคยเห็นข่าวต่างประเทศที่เล่าถึงครอบครัวในหลายประเทศที่มีจุดยืนทางศาสนาให้ลูกสาวกลายเป็น “เจ้าสาววัยเด็ก” ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยที่เด็กๆเหล่านี้ยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของการแต่งงาน ไปจนถึงการไม่ได้เติมเต็มคุณค่าในชีวิตความต้องการของตัวเอง

“Sitara : Let Girls Dream” ใช้วิธีเล่าเรื่องผ่านแอนิเมชั่นแบบ “หนังเงียบ” ขนาดสั้นเพื่อขับเน้นให้เรื่องราวถูกตั้งคำถามอย่างใคร่ครวญ และทำหน้าที่เสมือนตัวแทนการเรียกร้องสิทธิให้กับปัญหาการบังคับแต่งงานในวัยเด็ก ซึ่งเป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงมาอย่างยาวนาน

องค์กร “Save the Children” เคยรายงานว่า แต่ละปีมีเด็กผู้หญิงแต่งงานก่อนอายุครบ 18 ปี ราว 15 ล้านคนทั่วโลก ในจำนวนนี้บางคนอายุเพียง 10 ขวบเท่านั้น

การแต่งงานตั้งแต่วัยเด็กเป็นประเด็นที่อ่อนไหว พอๆกับที่เป็นปัญหาระดับโครงสร้างที่ทาบเกี่ยวกับประเด็นจุดยืนทางศาสนาอีกด้วย เพราะส่วนใหญ่เป็นการจัดการของครอบครัวที่มีแนวคิดดังกล่าว และเปลี่ยนแปลงได้ยาก ซึ่งนั่นจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กหญิงเหล่านี้ เพราะเมื่อเด็กๆเหล่านี้ถูกบังคับแต่งงานทำให้ไม่สามารถได้เรียนหนังสือต่อ บางคนอาจมีบุตรตั้งแต่อายุยังน้อยมาก ซึ่งมีทั้งความเสี่ยงและอันตรายจากการตั้งครรภ์ในภาวะอายุน้อยมาก เป็นต้น

ยังไม่นับว่าเด็กหญิงเหล่านี้ถูกจำกัดรูปแบบการใช้ชีวิตไปโดยปริยาย เพราะสูญเสียทั้งโอกาสการศึกษาและการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเอง โดยมีสถิติรายงานว่าเด็กหญิงเหล่านี้และครอบครัวมีแนวโน้มสูงที่จะอยู่ในสภาวะยากจนต่อเนื่องเพราะเสียโอกาสต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นปัญหาสำคัญเชิงโครงสร้างที่ทำให้สหประชาชาติกำหนดให้การยับยั้งการแต่งงานของเด็กก่อนวัยอันควรต้องหมดลงภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ

ปัญหานี้จึงเกิดทั้งสองมิตินั่นคือการบังคับการแต่งงานในวัยเด็กที่ทำให้สูญเสียโอกาสในชีวิต อีกทั้งยังถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เมื่อชีวิตหนึ่งทุกคนมีเสรีภาพในการเลือกว่าจะสมรสหรือไม่และกับใครก็ตามได้

ในแอนิเมชั่น Sitara : Let Girls Dream ใช้วิธีเล่าที่ขยี้ใจคนดู ภาพเด็กหญิงสองพี่น้องในครอบครัวชนชั้นกลางในเมืองหลวงของปากีสถานแอบขึ้นไปเล่นบนดาดฟ้าที่บ้าน พับกระดาษเป็นเครื่องบินขว้างออกไปในอากาศให้สุดแรง ตัว “ปารี” พี่สาวนั้นมี “เอมิเลีย เอียร์ฮาร์ท” นักบินหญิงคนแรกของโลกที่บินเดี่ยวข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้สำเร็จเป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งความชอบนั้นส่งต่อถึงน้องสาววัย 6 ขวบที่เป็นคู่หูเล่นพับเครื่องบินกระดาษอยู่ด้วยกัน ภาพสองพี่น้องบนชั้นดาดฟ้าของบ้านราวกับความฝันของคู่หูนักบินที่ล่องลอยในท้องฟ้า

ก่อนที่จะตัดภาพกลับมาในโลกความจริงที่พ่อและวิถีของสังคมที่เธอเติบโตมากำลังลิดรอนความฝันนั้นไป
เราได้เห็นความฝันที่แตกสลายของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ถูกบังคับแต่งงาน ความฝันอยากเป็นนักบินของเด็กหญิงวัย 14 ปี จึงจบลงแค่ที่การได้พับกระดาษเป็นเครื่องบินเท่านั้น ทว่า Sharmeem ใช้วิธีเล่าเรื่องแบบคู่ขนานให้คนดูเห็นถึง ความเจ็บปวด กับความฝันว่าจะดีแค่ไหน ถ้าเด็กหญิงได้สานต่อความฝันนั้นให้เป็นจริง ผ่านตัวละครน้องสาวคนเล็กวัย 6 ปี ที่ได้รับโอกาสมากกว่าพี่สาว เมื่อพ่อพร้อมจะลองเปิดใจที่จะคลายความเชื่อเรื่องการแต่งงานในวัยเด็ก และยอมสานฝันให้ลูกสาวคนเล็ก เปิดโอกาสชีวิตให้ลูกสาวได้ไปเข้าเรียนจนสามารถเติบโตมาเป็นนักบินหญิงได้ในที่สุด

เมื่อตัวละครสองพี่น้องคือภาพแทนของเด็กที่ถูกบังคับและปิดกั้นโอกาสในชีวิต กับเด็กอีกคนที่ได้รับโอกาสนั้น

“Sharmeen Obaid-Chinoy” ไม่ได้ทำแค่แอนิเมชั่น แต่เธอใช้เรื่องราวของ “Sitara : Let Girls Dream” มาสร้างมูฟเมนต์ผลักดันประเด็นให้เหล่าพ่อแม่ผู้ปกครองกล้าที่จะยินยอมให้ลูกทำตามความฝัน รวมทั้งปลดปล่อยให้เด็กผู้หญิงได้มีอิสระเสรีภาพ ปราศจากโซ่ตรวนแห่งวิถีการถูกจับแต่งงานก่อนวัยอันควร โดย Sharmeen ยังทำงานคู่ขนานด้วยการใช้ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้เป็นตัวผลักดันแคมเปญยุติการให้เด็กหญิงแต่งงานก่อนวัยอันควรไปทั่วโลกด้วย

ด้วยเธอมุ่งหวังว่าแอนิเมชั่นความยาว 15 นาทีนี้จะช่วยจุดประกายให้เหล่าผู้ปกครองของเด็กกล้าที่จะมีมุมมองที่แตกต่างจากวิถีปฏิบัติดั้งเดิมในสังคม ทั้งหมดคือความพยายามของผู้หญิงคนหนึ่งที่ใช้พลังของการเล่าเรื่องมาสร้างแรงกระเพื่อมเพื่อเปลี่ยนความเชื่อฝังหัวของผู้ปกครองพ่อแม่ให้มากที่สุด เพราะเธอเชื่อเสมอว่า

“ถ้าประตูบานนั้นยังไม่เปิดสำหรับคุณ นั่นก็เพราะคุณยังไม่เตะมันให้แรงพอ”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image