คอลัมน์ สุจิตต์ วงษ์เทศ : เมืองและการค้า อยุธยาทางสังคม

“สมัยอยุธยาตอนกลาง เป็นสังคมเมืองและการค้าเป็นหลัก” คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร บอกไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์อยุธยา บท 5 (สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2563 หน้า 267)

แล้วบอกอีกว่าหนังสือเล่มนี้เป็น “ประวัติศาสตร์สังคม” (หมายถึง “ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ราชวงศ์และสงครามวีรบุรุษที่ลอกพระราชพงศาวดาร” ซึ่งพบทั่วไปในตลาดหนังสือประวัติศาสตร์ไทย) โดยชี้ว่าอยุธยาสังคมเมืองและการค้าเป็นหลัก ไม่ใช่สังคมชาวนาเป็นหลัก ตามที่เคยเชื่อถือมานานมาก

ประวัติศาสตร์สังคมเกี่ยวข้องวิถีชีวิตของคนทุกระดับตั้งแต่เจ้าขุนมูลนายถึงไพร่บ้านพลเมือง และ “ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” คนอ่านเข้าถึงไม่ยาก แล้วกระตุ้นความคิดติดตามสะดวก ขณะเดียวกันก็มีคำถามแตกต่างอย่างเสรี

อยุธยา (ในเขตพระนคร) บริเวณเมืองมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 20-25 ตารางกิโลเมตร [ชาวยุโรปบางคนเทียบว่าใหญ่พอๆ กับลอนดอน แต่ใหญ่กว่าปารีส (หน้า 278)]

Advertisement

เมืองกับบ้าน สมัยอยุธยาหรือสมัยไหนๆ จนปัจจุบันอยู่ปะปนไม่แยกกัน ส่วนผู้คนมีวิถีหลากหลาย “ทำมาค้าขาย” เคล้าคละ “ทำมาหากิน” (โดยทั่วไปเข้าใจอย่างหลวมๆ ว่าทำมาค้าขายในตลาด ส่วนทำมาหากินในท้องนา แต่ในชีวิตจริงทำมาค้าขายเป็นอย่างหนึ่งของการทำมาหากิน หรือทำมาหากินด้วยการทำมาค้าขาย)

ผู้หญิงเป็นแม่ค้าในตลาด ทั้งตลาดในเมืองและตลาดในหมู่บ้าน ส่วนผู้ชายเข้าป่าล่าสัตว์และหาไม้ฟืนก่อไฟหุงข้าวในบ้านเรือน แต่ส่วนมากของบรรดาผู้ชายแต่ละปีมากกว่า 6 เดือนถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานให้มูลนาย

เมือง หมายถึง กลุ่มหมู่บ้านหรือชุมชนที่อยู่รวมกัน โดยมีศูนย์รวมอำนาจอยู่ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง แล้วมีผีเมือง (ศาลหลักเมือง) ปกป้องคุ้มครอง

Advertisement

สมัยอยุธยา บ้าน (หมายถึงชุมชน) ต้องมีนาอยู่ด้วยเพื่อเป็นพื้นที่ทำมาหากิน แม้มีเรือนทำมาค้าขายอยู่ในเกาะเมืองอยุธยาก็มักมีนาอยู่ที่ใดที่หนึ่งนอกเกาะเมืองเพื่อปลูกข้าวไว้กิน

เมืองต้องมีบ้าน จึงเรียกบ้านเมือง (คำว่าบ้าน สมัยก่อนหมายถึงชุมชน ถ้าสิ่งปลูกสร้างอยู่อาศัยเป็นหลังๆ เรียกเรือน) บ้านต้องมีเรือน จึงมีคำว่าบ้านเรือน

ขณะเดียวกันมีเรือนบนบก ปลูกเสาสูง ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ใต้ถุน ส่วนบนเรือนเอาไว้นอนตอนกลางคืน หนีสัตว์ร้าย เรือนแพ ค้าขาย ไม่เสาสูง แต่ปลูกบนแพลอยเหนือน้ำริมตลิ่ง บางครอบครัวมีเรือนแพค้าขายเชื่อมกับเรือนบนบกอีกหลังหนึ่ง

ทางทิศใต้ ไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่เมืองมีชุมชนต่อเนื่องสองฝั่งตั้งแต่บางกะจะ (วัดพนัญเชิง) ลงไปถึงบางปะอิน (ชื่อเดิมว่าบางขดาน) โดยดูจากโคลงกำสรวลสมุทร (กำสรวลศรีปราชญ์) ระบุตำแหน่งชุมชนเมืองตามลำดับลงไปราว 5 แห่ง ได้แก่ บางกะจะ, เกาะเรียน (เกาะขอม), ขนอนหลวง (วัดโปรดสัตว์), บางตะนาว (ปัจจุบันราวตลาดโก้งโค้ง), บางขดาน (บางปะอิน)

บางขดาน (บางปะอิน) เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาต้องเสด็จทางชลมารคเพื่อ “ไล่เรือ” (หมายถึง ไล่น้ำให้ลด) เมื่อถึงช่วงเวลาน้ำมากหลากท่วมข้าวในนา (ราวตุลาคม-พฤศจิกายน) แล้วมีพิธีกรรมสำคัญที่บางขดาน (สมัยต่อมาเรียกบางปะอิน มีต้นตอจาก “บางพระอินทร์” ตามพระนาม “อินทราชา” ของพระเจ้าทรงธรรมที่มีพระราชชนนีเป็นชาวบางขดาน และเป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระเจ้าปราสาททอง)

ต่อจากบางขดาน (บางปะอิน) ลงไปทางใต้ พบหลักฐานชุมชนเมืองในโคลงกำสรวลฯ เรียก “ทุ่งพญาเมือง” ซึ่งเป็น “เมืองเก่า” (ปัจจุบันอยู่เขต อ.สามโคก จ.ปทุมธานี)

ชุมชนเมืองใหญ่-น้อยมีกิจกรรมค้าขายดูได้จากวัดสมัยอยุธยาที่พบสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อจากพญาเมือง ลงไป ได้แก่ เมืองบางกอก (จ.นนทบุรี-กรุงเทพฯ) เมืองพระประแดง (คลองเตย กรุงเทพฯ-อ.เมืองฯ, อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ)

ประวัติศาสตร์อยุธยาในโครงสร้างอำนาจนิยม เน้นสงครามกับเพื่อนบ้านเพื่อความมั่นคงของชนชั้นนำในรัฐราชการ โดยไม่เคยพาดพิงการค้าทั้งภายในและภายนอก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญเกื้อหนุนผลักดันรัฐอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้าข้ามคาบสมุทร ทำให้มีรายได้มั่งคั่งสร้างวังและวัดขนาดใหญ่โต ด้วยเหตุผลดังนั้นจึงต้องยกย่องประวัติศาสตร์อยุธยาของคริส-ผาสุก

เป็นหนังสือบุกเบิกเรื่องเหล่านั้นในสมัยนี้

หนังสือ “ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image