สุวรรณภูมิในอาเซียน : ไม่เหมือนใครในโลก ก็เป็น ‘มนุษย์ต่างดาว’

รัฐสูญเสียอำนาจในการควบคุมความทรงจำของคนไทยรุ่นใหม่ [ขอทหาร - ม็อบราษฎรเคลื่อนจากวงเวียนหลักสี่มาหน้ากรม ร.11 บางเขน เผชิญหน้าเจ้าหน้าที่ที่ตรึงกำลังหนาแน่น ทั้งนี้แกนนำย้ายจุดชุมนุมจากเดิมกรม ร.1 ถนนวิภาวดีรังสิต สถานที่ตั้งบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาที่กรม ร.11 โดยเรียกร้องขอให้ทหารเป็นของประชาชน เมื่อวันที่ 29 พ.ย. (ภาพจาก https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-front-page/news_5430911)]

“ไทยไม่เหมือนใครในโลก”

เป็นประโยคที่ถูกเสกสรรปั้นแต่งขึ้นเมื่อไม่นานนี้โดยคนชั้นนำไทยใช้หลีกเลี่ยงวิถีประชาธิปไตยสากล แล้วใช้หล่อหลอมกล่อมเกลาครอบงำสังคมให้ยอมจำนนต่ออำนาจ เพื่อฉวยโอกาสเบียดเบียนเอาเปรียบตักตวงผลประโยชน์อย่างไม่ละอายและไม่สิ้นสุดเข้าตนเองและคณะด้วยการเชิดชูระบอบเผด็จการรูปแบบต่างๆ

“ไทยไม่เหมือนใครในโลก” เพื่อลดทอนคุณค่าคนอื่นฝ่ายอื่น แล้วโทษคนอื่นฝ่ายอื่นเพื่อปกปิดความผิดพลาดชั่วร้ายของตน “เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น” เช่น กรุงศรีอยุธยาแตกเพราะพม่ายกทัพแบบกองโจรปล้นสะดม โดยไม่ยอมรับโครงสร้างการเมืองการปกครองของอยุธยาเองที่ล้มเหลว

“ไทยไม่เหมือนใครในโลก” ถ้าจริงอย่างนี้ ไทยก็เป็น “มนุษย์ต่างดาว” ที่ดาวดวงนั้นปกครองโดย “มหาบุรุษ” (ไม่ใช่โดยประชาชน) ตามที่ อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนไว้

Advertisement

ไม่ใช่ ‘มนุษย์ต่างดาว’

ประเทศไทย มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาทั้งของพื้นที่และผู้คน เป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้จากอุษาคเนย์ ตั้งแต่ยุคหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว สืบเนื่องต่อมาจนสมัยปัจจุบัน

แต่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยวิปริตผิดพลาดคลาดเคลื่อน โดยกีดกันคนไม่ไทยออกไปพ้นๆ เพราะหลงเชื่อว่ามีจริงเรื่องชนชาติไทยเชื้อชาติไทย ตามที่เจ้าอาณานิคมยุโรปครอบงำไว้นานมากกว่า 100 ปีมาแล้ว

ชนชาติไทย เชื้อชาติไทย ไม่เคยมีในโลก แต่ถูกสร้างขึ้นเมื่อไม่นานนี้เอง (ปลายแผ่นดิน ร.5) เพราะตามหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีซึ่งพบทั่วไป คนไทยเป็นลูกผสมนานาชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” มีบรรพชนร่วม และมีวัฒนธรรมร่วม อยู่กับคนอุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว

Advertisement

1. ไม่ต่างจากเพื่อนบ้าน เพราะมีความเป็นมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว ทั้งผู้คนและดินแดนเป็นส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์อย่างแยกออกจากกันมิได้ จึงมีบรรพชนร่วมกันจากนานาชาติพันธุ์

ไทยไม่เป็นมนุษย์ต่างดาว ซึ่งตรงข้ามกับที่ชอบพูดยกตนว่า “ไทยไม่เหมือนใครในโลก” เท่ากับทำตนแปลกแยก หรือเป็น “มนุษย์ต่างดาว”

2. ไม่มาจากอัลไต เพราะคนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ ล้วนมาจากคนไม่ไทยที่มีในภูมิภาคอุษาคเนย์ ได้แก่ ตระกูลมอญ-เขมร, ชวา-มลายู, ม้ง-เมี่ยน, จีน, จาม พราหมณ์กุลา ฯลฯ

ต่อมาคนไม่ไทยเหล่านี้เลือกอยู่ในอำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต แล้วกลายตนเองเป็นไทย

3. ไม่เผ่าพันธุ์บริสุทธิ์ เพราะอุษาคเนย์พื้นที่มีมาก คนมีน้อย แต่ละบ้านเมืองต้องการคน เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเป็นแรงงานผลิตอาหารและกำลังพลสู้รบในสงคราม จึงมีประเพณีกวาดต้อนโยกย้ายถ่ายเทผู้คนอยู่เสมอ ให้เข้าสู่ระบบเกณฑ์แรงงาน ทำให้ประสมประสานมากขึ้นในหมู่นานาชาติพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่

4. ไม่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เพราะคุ้นเคยคนแปลกหน้าจากนานาชาติพันธุ์ที่อยู่ทั้งใกล้และไกล คือ แขกกับเจ๊ก ได้แก่ อินเดีย, อิหร่าน (เปอร์เซีย), อาหรับ, และจีนั้แล้วมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ โดยรับวัฒนธรรมจากคนกลุ่มนั้นๆ ประสมประสานกับประเพณีท้องถิ่น แล้วเกิดประเพณีใหม่ที่มีประสิทธิภาพสนองวิถีชีวิตดีกว่าเดิม

ทั้งนี้สืบเนื่องจากไทยอยู่เกือบกึ่งกลางของอุษาคเนย์ มีพื้นที่ทั้งภาคพื้นทวีปและคาบสมุทรซึ่งขนาบด้วยทะเล จึงเป็นจุดนัดพบหรือสะพานเชื่อมโยงโลกตะวันตก-ตะวันออก ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกหลายพันปีมาแล้ว

วัฒนธรรม ‘ไม่ไทย’

วัฒนธรรม “ไม่ไทย” ในทางสากล หมายถึง ระบบความสัมพันธ์ รวมถึงโลกทรรศน์และค่านิยมที่แฝงอยู่เบื้องหลังทั้งหมด

ระบบความสัมพันธ์ มีทั้งระหว่างคนกับธรรมชาติ รวมถึงสิ่งเหนือธรรมชาติ และระหว่างคนกับคนด้วยกัน (ตามวิถีชีวิต กิน ขี้ ปี้ นอน หรือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย) ซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่หยุดนิ่งตายตัว แต่แตกต่างไปตามเวลาและสถานที่ มีสืบเนื่องหลายหมื่นหลายพันปีมาแล้ว ผ่านยุคสมัยมากมาย โดยมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา พอพูดจบคำว่าวัฒนธรรม ทันใดนั้นวัฒนธรรมก็เปลี่ยนไปแล้ว

วัฒนธรรม ‘ไทย’ เพิ่งสร้างโดยคนชั้นนำ

วัฒนธรรมไทย คือ ความเป็นไทย ไม่มีอยู่จริง แต่เป็นสิ่งที่ถูกเสกสรรปั้นแต่ง หรือ เพิ่งสร้างขึ้นโดยคนชั้นนำ ราว 150 ปีมานี้ เพื่อผดุงโครงสร้างอำนาจตามอุดมคติของพวกตนให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นักปราชญ์ร่วมสมัยของไทยอธิบายโดยสรุปดังนี้

ความเป็นไทยของคนชั้นนำ มีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม คนไม่เท่ากัน ได้แก่ ที่สูง ที่ต่ำ, ผู้ใหญ่ ผู้น้อย, รุ่นพี่ รุ่นน้อง, สมบัติผู้ดี, ภาษาสุภาพ ฯลฯ แล้วหล่อหลอมกล่อมเกลา, ครอบงำ, ควบคุมคนทั่วไปให้ยอมจำนน

ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมของความเป็นไทย คนไม่เท่ากัน กลมกลืนกันได้ดีกับระบบโซตัส (ที่ “นำเข้า”) โซตัสเป็นต้นเหตุของความล้มเหลวระบอบประชาธิปไตยในไทย

ระบบราชการกับระบบโซตัส เข้ากันได้ดีอย่างยิ่ง ซึ่งสถาบันการศึกษาในไทยรับเข้ามา แล้วใช้ปูสำนึกพื้นฐานต่อต้านระบอบประชาธิปไตย ในอีกทางหนึ่ง ระบบโซตัสเฟื่องฟูแข็งแรงในสถานศึกษาไทย เพราะได้รับการสนับสนุนอย่างเคร่งครัดโดยวัฒนธรรมของรัฐราชการอำนาจนิยมเผด็จการทหาร


เพดานความคิด

โดย จิตร ภูมิศักดิ์

ประวัติศาสตร์ไทยถูกกดทับด้วย “เพดานความคิด” เรื่องกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย เมื่อ พ.ศ. 1800

จิตร ภูมิศักดิ์ ชี้แนะให้เลิก “เพดานความคิด” เรื่องกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก เพราะประวัติศาสตร์ไทยพบหลักฐานย้อนหลังกลับไปได้ไกลมากกว่านั้น จะคัดเฉพาะตอนที่สำคัญมาไว้ ดังนี้

“เราเชื่อตามฝรั่งว่าคนไทยเพิ่งอพยพหนีกุบไลข่านลงมาในราว พ.ศ. 1800 หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย.

มาบัดนี้ เราควรจะคิดกันใหม่. เลิกใช้ พ.ศ. 1800 อันเป็นกำเนิดกรุงสุโขทัยเป็นเพดานความคิดกันเสียที.” [หน้า 161]

“ทฤษฎีของฝรั่งที่ว่าไทยเพิ่งอพยพลงมาตั้งอาณาจักรสุโขทัยเมื่อราว พ.ศ. 1800 นั้น ต้องยกเลิกกันเสียที. ไม่มีชนชาติไหนหรอกในโลกนี้ที่หนีการรุกรานหัวซุกหัวซุนมา ก็สามารถรบชนะเจ้าของถิ่นเดิม ตั้งอาณาจักรใหญ่ และมีศิลปและวัฒนรรมชั้นสูงอย่างศิลปสุโทัยได้ทันทีชั่วข้ามคืนเหมือนเนรมิต.

อารยธรรมของไทยล้านนา ไทยสุโขทัย และไทยเชียงแสน จะต้องเป็นผลิตผลของสังคมไทยที่บริเวณนั้นซึ่งได้ตั้งมั่นสั่งสมกันมายาวนาน; กำลังพื้นฐานของคนไทยจะต้องฟักตัวที่บริเวณนี้มายาวนานจึงจะเป็นกำลังรบที่เกรียงไกรได้; ภาษาไทยจะต้องเข้ามามีบทบาทฟักตัวอยู่นานหลายชั่วคน จึงจะสามารถกลืนภาษาพื้นเมืองต่างๆ ลง จนได้เป็นภาษาที่มีฐานะปกครองได้.” [หน้า 166-167]

[จากหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ โดย จิตร ภูมิศักดิ์ มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2519]


ไดโนเสาร์ทางการศึกษา

กลุ่ม “นักเรียนเลว” ร่วมกับกลุ่ม “ม็อบเฟสต์” และภาคีนักเรียนทั่วประเทศ จัดกิจกรรม “บ๊ายบายไดโนเสาร์” มีผู้สวมชุดไดโนเสาร์เดินโชว์และเต้นบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม โดยระบุว่าถ้าสภาผู้แทนราษฎร รับบทไดโนเสาร์ ไม่รับ ไม่รู้ ไม่เปลี่ยนแปลง นักเรียนอย่างเราก็จะเป็นอุกกาบาต พุ่งชนความล้าหลังของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2563 (ภาพจาก มติชน ฉบับวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน 2563 หน้า 13)

“ถึงผู้ใหญ่ อย่าเป็นศัตรูกับอนาคต ไดโนเสาร์ในวันนี้ ไม่ใช่ไดโนเสาร์แต่กำเนิด หากแต่รัฐบ่มเพาะมากกว่า 50 ปี ไดโนเสาร์ไม่ใช่อายุ ไม่ใช่เจเนอเรชั่น แต่คือความคิดที่ไม่รับฟังเหตุผล

ถึงเพื่อนๆ เยาวชน การพุ่งชนของอุกกาบาต ไม่ใช่ด้วยอารมณ์แต่ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง เรามาสู้กับไดโนเสาร์ ออกมาตามหาอนาคตหวังว่ากลับบ้านจะได้รับการโอบกอด เข้าใจสิ่งที่เรามาตั้งใจทำและตั้งคำถาม พร้อมโอบกอดข้อเรียกร้องของเราไว้ด้วย”

กลุ่มการแสดงอย่าง B-Floor ก็ลุกขึ้นมาไล่ต้อนไดโนเสาร์เข้ามิวเซียม ขออย่าออกมาเพ่นพ่าน

“อยากเอาไดโนเสาร์เข้าพิพิธภัณฑ์เหลือเกิน เข้าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไปเลยดีกว่า หรือไม่ก็ พิพิธภัณฑ์ภูเวียง ขอนแก่น ไดโนเสาร์ทั้งหลาย ทั้งไดโนเสาร์ข้าราชการ ไดโนเสาร์องค์กรอิสระ ขอกลับไปอยู่พิพิธภัณฑ์ได้แล้ว อย่าเข้ามาวุ่นวายการเมือง”

[จากบทความเรื่อง “อย่าเป็นศัตรูกับอนาคต” ความในใจถึงไดโนเสาร์ เมื่อเยาวชนเลิกทนการศึกษาไทย ใน มติชน ฉบับวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน 2563 หน้า 13)


แย่งชิงพื้นที่ความทรงจำ

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

“เบื้องหลังความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ ไม่ได้อยู่ที่เผด็จการ, รัฐธรรมนูญ หรือสถาบันกษัตริย์ แต่อยู่ที่การแย่งชิงพื้นที่ความทรงจำของคนไทย เพราะความทรงจำใหม่หรือประวัติศาสตร์สำนวนใหม่ได้ครอบครองพื้นที่กว้างขวางขึ้นในสังคม จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากทนต่อระบอบเผด็จการในรูปต่างๆ ต่อไปไม่ได้”

“เรียกว่าความทรงจำใหม่อาจทำให้ไขว้เขว เพราะมันไม่ได้ใหม่ถอดด้าม แต่ได้สั่งสมเผยแพร่ผ่าน ‘สื่อ’ นานาชนิดมาตั้งแต่หลัง 14 ตุลาคม 2516 แล้ว ความทรงจำนี้ไม่ได้สืบทอดโดยตรงมาจากความทรงจำที่ชนชั้นนำได้สร้างสมไว้มาก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้สืบทอดจากสิ่งที่ฝ่ายซ้ายเช่น พคท. ได้สร้างสมไว้โดยตรงเช่นกัน

และด้วยเหตุดังนั้น เมื่อมันปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน จึงทำให้น่าตระหนกแก่ชนชั้นนำอยู่ไม่น้อย เพราะเหมือนสัตว์ประหลาดที่ซ่อนตัวอยู่ใต้น้ำมานาน แล้ววันหนึ่งมันก็โผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำ มีขนาดใหญ่กว่าที่ใครๆ เคยคาดการณ์เอาไว้ ซ้ำยังมามีชีวิตในพื้นที่ทั่วไป ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในวงวิชาการอย่างที่ผ่านมา

ความทรงจำนี้เข้ามาแย่งยึดพื้นที่ความทรงจำของ ‘ชาติ’ ซึ่งชนชั้นนำได้สถาปนาขึ้นไว้ในอดีต และสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน”

“รัฐสูญเสียอำนาจในการควบคุมความทรงจำของคนไทยรุ่นใหม่

คุมความทรงจำไม่ได้ ก็ย่อมคุมสำนึกต่อสังคมไม่ได้ไปพร้อมกัน

ความขัดแย้งที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้ จึงเป็นความแตกต่างของความทรงจำ ที่ทำให้มีสำนึกต่อสังคมที่แตกต่างกันไปด้วย

คนที่ยังมีความทรงจำแบบประวัติศาสตร์ของรัฐราชอาณาจักร ย่อมต้องการวางอำนาจเหนือรัฐไว้ในมือของบุคคลที่ตนเชื่อว่ามีคุณวิเศษต่างๆ ในขณะที่คนซึ่งมีความทรงจำแบบใหม่ ต้องการให้อำนาจรัฐอยู่ในมือของตนเอง นั่นคือ ใครจะเป็นผู้ถืออำนาจรัฐควรมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยังต้องอยู่ในความควบคุมของประชาชน

ความทุกข์ยากเดือดร้อนของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม ไม่ได้เป็นธรรมดาที่เราต้องยอมรับ อย่างที่ประวัติศาสตร์แบบเก่าไม่พูดถึงไว้เลย แต่เป็นสิ่งที่อาจแก้ไขหรือบรรเทาลงได้ หากจัดการให้ระบบมีความเป็นธรรม

อำนาจปกครองเป็นเรื่องที่ต้องกระจายไปยังคนทุกกลุ่ม เพื่อให้ต่อรองกันได้ ไม่มีใคร ไม่ว่าจะมีคุณสมบัติที่ได้จากกำเนิด, การศึกษา หรือกำปั้น ควรหวงอำนาจไว้เพียงกลุ่มเดียว แต่การต่อรองที่เท่าเทียมกันและอำนาจที่กระจายไปยังคนหลายกลุ่ม ย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้งไม่ราบรื่นเป็นธรรมดา ในบรรดาผู้มีความทรงจำแบบเก่าเห็นว่าเป็นอันตราย เพราะประวัติศาสตร์ที่ตนเรียนรู้มาบอกว่าสภาพเช่นนี้ คือความเสื่อม ตรงกันข้าม ผู้มีความทรงจำแบบใหม่ต่างเชื่อว่า สภาพเช่นนี้เป็นธรรมดาในทุกสังคม ในบางช่วงของประวัติศาสตร์ เราอาจมองไม่เห็น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไม่มีอยู่ ในท้องทะเลที่สงบ ย่อมแฝงศักยภาพที่จะเกิดคลื่นลมได้เสมอ

เฉพาะความต่างในด้านความทรงจำเพียงอย่างเดียว ก็เสี่ยงที่ความขัดแย้งครั้งนี้จะนำไปสู่ความรุนแรงได้ เพราะสังคมไทยภายใต้ระบอบเผด็จการหลายรูปแบบ ไม่เคยมีประสบการณ์ของการแลกเปลี่ยนสังสันทน์ของความเห็นต่าง”

(จากบทความเรื่อง “ยุทธภูมิประวัติศาสตร์” ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 2101 ประจำวันที่ 20-26 พฤศจิกายน 2563 หน้า 28-29)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image