สุวรรณภูมิในอาเซียน : สาดนํ้าไล่ความร้อนรุ่ม ทางการเมืองและเศรษฐกิจ

สุวรรณภูมิในอาเซียน : สาดนํ้าไล่ความร้อนรุ่ม ทางการเมืองและเศรษฐกิจ สาดน้ำสงกรานต์เป็นประเพณีเพิ่งมีใหม่เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทางสังคมด้วยการละเล่นเชิงสัญลักษณ์ขับไล่สิ่งร้อนรุ่ม
สาดน้ำสงกรานต์ ถนนสีลม พ.ศ.2562 (ภาพจาก http://www.khaosod.co.th/special-stories/news_104345)

สาดน้ำสงกรานต์เป็นประเพณีเพิ่งมีใหม่เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทางสังคมด้วยการละเล่นเชิงสัญลักษณ์ขับไล่สิ่งร้อนรุ่มจากความเหลื่อมล้ำทางการเมืองและเศรษฐกิจ

สาดน้ำจริงๆ แม้ทำไม่ได้ ก็ทำได้เชิงสัญลักษณ์ด้วยการทำความเข้าใจ

สงกรานต์เป็นประเพณีต่างกัน 2 ระดับ คือ แบบผู้ดี กับแบบไพร่

1. แบบผู้ดี เป็นมรดกของชนชั้นเจ้าขุนมูลนายรัฐจารีต แปลงสงกรานต์พิธีพราหมณ์ มีในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ให้เป็นพิธีพุทธมีในวัดหลวง ด้วยการทำบุญถวายข้าวสุกแด่พระสงฆ์ พบในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก พระนิพนธ์เจ้าฟ้ากุ้ง

Advertisement

2. แบบไพร่ สืบเนื่องกิจกรรมทางศาสนาผีจากชาวบ้านในชุมชนทั่วไป ดังนี้
พิธีเลี้ยงผีหน้าแล้ง เป็นช่วงว่างงานทำนาทำไร่ เพราะไม่มีฝนและไม่มีน้ำ โดยมีการรดน้ำ ดังนี้

(1.) รดน้ำล้างกระดูกคนตายที่ฝังดินไว้จนเนื้อหนังเปื่อยเน่าโดยขุดเอากระดูกล้างน้ำชำระใหม่ แล้วบรรจุภาชนะ (เช่น ดินเผา, หินที่เจาะเป็นโพรง เป็นต้น) เอาวางบนหอผีกับสถานที่เฮี้ยนของชุมชน

(2.) รดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ และผู้อาวุโสของชุมชน

(3.) รดน้ำทำขวัญญาติสนิทมิตรสหายในชุมชน

ความตึงเครียดจากกฎเกณฑ์ทางสังคม ทำให้รดน้ำถูกทำเป็นสาดน้ำเพื่อระบายไล่ความร้อนรุ่มเหลื่อมล้ำทางการเมือง พบหลักฐานเก่าสุดในพม่าขณะเป็นอาณานิคมของอังกฤษมากกว่า 130 ปีมาแล้ว เป็นลายเส้นคนพื้นเมืองในเมืองมัณฑะเลย์ใช้กระบอกฉีดน้ำใส่ทหารอังกฤษที่ขี่ม้าไปในหมู่บ้าน

พม่าฉีดน้ำสงกรานต์ใส่อังกฤษ เจ้าอาณานิคม ฝรั่งอังกฤษเจ้าอาณานิคมขี่ม้า ทำท่าปิดป้องน้ำสงกรานต์จากกระบอกฉีดของผู้หญิงและเด็กพื้นเมืองชาวพม่า ท่าทางฝรั่งขี่ม้าไม่สนุก แต่ผู้หญิงและเด็กสนุกมากได้แสดงออกทางการเมืองต่อต้านอังกฤษเจ้าอาณานิคม

กระบอกฉีดน้ำที่เห็นในรูปลายเส้นมี 2 แบบ คือ แบบหนึ่งเป็นกระบอกไผ่ทั่วไป อีกแบบหนึ่งเป็นกระบอกน้ำเต้าสลักเป็นรูปนกหรือไก่ มีลูกสูบดูดน้ำเข้ากระบอก (ใช้วิธีเดียวกับหลอดเข็มฉีดยา) แล้วอัดฉีดน้ำพุ่งไปที่เป้าหมาย

กระบอกฉีดน้ำสงกรานต์ที่กรุงมัณฑะเลย์ในพม่ามากกว่า 130 ปีมาแล้ว [THE BURMESE NEW YEAR เมื่อ พ.ศ.2431 (ตรงกับไทยสมัย ร.5)
ภาพจาก THE GRAPHIC (ฉบับวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1888 หน้า 13)]

สาดน้ำใส่ความเหลื่อมล้ำ

สาดน้ำสงกรานต์ ปัจจุบันถูกผลิตเป็นสินค้าการท่องเที่ยว แต่ลึกลงไปในน้ำที่ถูกสาดเพื่อความสนุกสนาน ยังมีแฝงไว้ด้วยอารมณ์และความรู้สึกเพื่อกำจัดช่องว่างที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนเรื่อง “สาดน้ำใส่ความเหลื่อมล้ำ” ไว้นานหลายปีแล้ว (มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 17 เมษายน 2560 หน้า 16) จะคัดบางตอนมา ดังต่อไปนี้

“สงกรานต์เป็นเทศกาล ‘แหกกฎ’ ของไทยอันหนึ่ง ที่ปล่อยหรือแม้แต่สนับสนุนให้ผู้คนละเมิดกฎเกณฑ์ทางสังคมและประเพณี การรดน้ำขอขมาแก่ผู้หลักผู้ใหญ่ของตระกูลก็มีจริงอย่างที่แบบเรียนว่าไว้แหละครับ หรือการขนทรายเข้าวัดก็มีจริงเหมือนกัน แต่ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ยังมีการกินเหล้าเมา ร้องรำทำเพลง เอะอะมะเทิ่งในที่สาธารณะ สาดน้ำและละเมิดบุคคลซึ่งประเพณีถือว่าต้องให้ความเคารพ เช่นพระภิกษุอีกด้วย

การเล่นสาดน้ำกันในหมู่หนุ่มสาว เป็นปฏิสัมพันธ์ที่ข้ามสถานะทางชนชั้นและเพศอย่างเปิดเผย ลูกไพร่เล่นกับลูกนายได้อย่างเท่าเทียม ผู้หญิงสาดน้ำผู้ชายก่อนก็ได้ และผู้ชายก็มักลวนลามผู้หญิงในการเล่นน้ำนิดๆ หน่อยๆ เป็นธรรมดา

การเล่นสาดน้ำจึงเป็นการดึงผู้คนในชุมชนหนึ่งให้กลับลงมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน ถอดหัวโขนที่ต้องแบกไว้ตะปีตะชาติลงเป็นการชั่วคราว——-

แต่ประเพณี ‘แหกกฎ’ เหล่านี้ ไม่สอดคล้องกับ ‘วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย’ ในจินตนากรรมของผู้แต่งแบบเรียน จึงตัดทิ้งออกไปจากคำบรรยายเรื่องเทศกาลสงกรานต์ จนทำให้ผู้ลากมากดีไทยที่ได้เรียนหนังสือมา เข้าใจว่าสงกรานต์มีแต่วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทยอยู่อย่างเดียว

นักมานุษยวิทยารุ่นเก่า เช่น พระยาอนุมานราชธน อธิบายเทศกาล ‘แหกกฎ’ เช่นนี้ว่ามีในทุกสังคม ทำหน้าที่ระบายความดันไอน้ำที่เกิดจากความเครียดของผู้คนในสังคมนั้นๆ ปล่อยมันออกมาเสียบ้าง จะได้กลับไปอยู่ร่วมกันด้วยความเครียดที่น้อยลงและสงบสุขขึ้น

ผมไม่มีความรู้พอจะทราบได้ว่า นักมานุษยวิทยาปัจจุบันอธิบายเรื่องนี้อย่างไร จึงยังเชื่อทฤษฎีโบราณนั้นอยู่สืบมา และขอมองเรื่องนี้จากทฤษฎีโบราณนั้น

ผู้คนในสังคมโบราณนั้นเครียดจากอะไร หากดูการละเมิดนานาชนิดที่มักทำกันในเทศกาล ‘แหกกฎ’ ก็จะพบว่ามักละเมิดสิ่งที่ถือว่าต้องห้ามในสังคม
นั้นๆ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งต้องห้ามทั้งหมด เช่น ในอีสาน คงไม่มีใครคิดจะไปจ้วงจาบศาลปู่ตาในวันสงกรานต์ หรือกระโดดลงไปอาบน้ำในบ่อน้ำสาธารณะของชุมชน การละเมิดดูจะมุ่งไปที่ละเมิดระเบียบกฎเกณฑ์ในความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกัน เช่น —-การละเมิดสถานะอันสูงของพระภิกษุ (ถูกผู้หญิงถูกเนื้อต้องตัว, ต้องยอมสนับสนุนการกินเหล้าซึ่งผิดศีล, ถูกถลกจีวรคือแสดงเครื่องเพศแก่ผู้อื่น ซึ่งเท่ากับแสดงความเป็นมนุษย์ธรรมดาของนักบวช-เครื่องเพศคือสัญลักษณ์ของมนุษย์ การไม่ใช้จนเหมือนไม่มีเครื่องเพศคือความเป็นนักบวช-) ทำให้สถานะของพระภิกษุเท่าเทียมกับคนอื่น

ไม่แต่เพียงพระภิกษุเท่านั้น คนที่ถูกถือว่า ‘สูง’ ทั้งหลายล้วนถูก ‘พิธีกรรม’ ในเทศกาล ‘แหกกฎ’ ต่างๆ ทำให้ต่ำลงมาจนเท่าเทียมกับคนอื่น ปลัดขิกอันใหญ่ที่ใช้แห่ในการแห่นางแมว จะถูกนำไปทิ่มตำบ้านเรือนหรือแม้เรือนร่างของคนที่ถือว่า ‘สูง’ ในชุมชน ไม่ต่างจากที่ใช้หยอกล้อระหว่างคนระดับล่างๆ ด้วยกัน

เทศกาล ‘แหกกฎ’ จึงเป็นช่วงเวลายกเว้นในชีวิตของผู้คน นั่นคือยกเว้นจากกฎระเบียบอันเคร่งครัดของความสัมพันธ์ทางสังคมของคนที่ต่างสถานภาพกัน ยกเว้นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมให้กลายเป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมชั่วคราว หากจะอึดอัดขัดข้องใจอย่างไรกับความสูง-ต่ำทางสังคม ก็ได้รับการปลดปล่อยออกไปในเทศกาล ‘แหกกฎ’ บ้าง

ผมไม่ได้หมายความว่า คนในสังคมโบราณมีความเครียดเพราะเรื่องความไม่เท่าเทียมกันเพียงอย่างเดียว ความเครียดจากเหตุอื่นๆ ก็ต้องมีเป็นธรรมดา เช่นฝนจะแล้งหรือไม่, แมลงจะลงนาข้าวหรือไม่, จะได้ข้าวไว้พอกินครบปีหรือไม่ ฯลฯ ความเครียดจากเหตุเหล่านี้ย่อมถูกบรรเทาไปด้วยกลวิธีอีกหลายอย่าง ที่ไม่เกี่ยวกับเทศกาล ‘แหกกฎ’ เช่น มีหมอลำหรือการแสดงอย่างอื่นผ่านมาให้ชม หรือไปร่วมบุญในวัดใหญ่ที่มีเทศน์มหาชาติ, บนบานศาลกล่าว ฯลฯ

เมื่อสังคมสมัยใหม่มาถึง อันเป็นสภาพที่คนชั้นกลางระดับกลางและบนคุ้นเคย ความไม่เท่าเทียมถูกนำไปซ่อนไว้ในชีวิตส่วนตัว ใครจะเห็นใครสูงกว่าหรือต่ำกว่าตน ก็เป็นเรื่องของคนนั้น กฎหมายและแบบปฏิบัติของรัฐไม่รับรองอย่างเป็นทางการ และอย่างโจ่งแจ้ง

ความเครียดจากความไม่เท่าเทียมกลายเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน ไม่ใช่ธุระของชุมชนหรือสังคม เทศกาล ‘แหกกฎ’ จึงไม่จำเป็น และถูกทำให้รับหน้าที่อื่น เช่น ต้อนรับนักท่องเที่ยว, แสดงให้เห็นวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของชาติ, เป็นวันหยุดยาวที่ต่างคนต่างหาการพักผ่อนคลายเครียดของตนเอง

เสียงเรียกร้องความเป็นระเบียบเรียบร้อยในงานสงกรานต์จึงเป็นเรื่องของคนชั้นกลางระดับกลางและบน เพราะไม่ได้มองสงกรานต์เป็นเทศกาล ‘แหกกฎ’ อีกแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นเพราะมีอำนาจกำกับควบคุมสูงกว่าคนกลุ่มอื่น คนชั้นกลางดังกล่าวยังต้องการแทรกเข้าไปจัดเทศกาล ‘แหกกฎ’ ของคนอื่น ให้ตรงตามจินตนากรรมของตนเองซึ่งเกิดจากแบบเรียนที่ได้เรียนมา และวิถีชีวิตของตน”

ละอองน้ำลดความร้อนรุ่มในไทยและในโลก (ภาพสงกรานต์นครปฐมหลายปีมาแล้วจาก https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_3704303)

ละเมิดข้อห้าม“ลด”ความตึงเครียด

สงกรานต์เป็นช่วงเวลาปลดปล่อยผ่อนคลายความตึงเครียดด้วยการละเล่นละเมิดข้อห้ามและขบถจารีตประเพณี ที่คนเราต้องเคร่งครัดทั้งปีที่ผ่านมา

การละเล่นสนุกสนานละเมิดข้อห้ามต่างๆ ได้โดยไม่ถือว่าเป็นความผิด แต่ต้องมีขอบเขตไม่ทำร้ายบุคคลอื่นให้บาดเจ็บล้มตายและเดือดร้อน

เสฐียรโกเศศบันทึกเรื่องวันสงกรานต์ที่เชียงตุง (พม่า) ดังนี้

เจ้าฟ้าเชียงตุงจะต้องออกขุนนางประทับนั่งขัดสมาธินิ่งคล้ายพระพุทธรูปอยู่บนอาสนะ พวกขุนนางก็เข้าเฝ้าถวายบังคมโดยลำดับ เมื่อเจ้าฟ้าอวยพรเสร็จประตูด้านหลังที่นั่งก็ค่อยแย้มออก เจ้าฟ้าเชียงตุงจะเสด็จหายเข้าไปในประตู ทันใดนั้นพวกข้าราชการซึ่งเฝ้าอยู่อย่างสงบเสงี่ยมต่างก็ลุกขึ้นแย่งกันหนีออกจากที่เฝ้าอย่างสับสนอลหม่าน เพราะขณะนั้นมีราษฎรยกพวกแห่กันมาสาดน้ำสงกรานต์

พฤติกรรมอย่างนี้ถ้ายามปกติจะมีโทษถึงตาย

ผู้หญิงกับพระสงฆ์

สังคมแต่ก่อนอนุญาตให้พระสงฆ์ในหมู่บ้านร่วมเล่นแข่งขันกับชาวบ้านได้ เช่น พระสงฆ์แข่งเรือ แข่งเกวียน แข่งจุดบั้งไฟ ฯลฯ

ขณะเดียวกันผู้หญิงชาวบ้านที่มีข้อห้ามรุนแรงว่าถูกเนื้อต้องตัวพระสงฆ์ไม่ได้ในยามปกติ แต่ในช่วงสงกรานต์บางชุมชนอนุญาตให้ผู้หญิงทำได้ เช่น ผู้หญิงร่วมกันอุ้มพระสงฆ์ (ที่นิมนต์มาฉันอาหาร) โยนลงไปในแม่น้ำลำคลองหนองบึงได้ และอาจละเมิดกฎเกณฑ์ได้มากกว่านี้ด้วย แต่ไม่ถึงขั้นผิดทางเพศ

ผู้หญิงจะมีบทบาทสำคัญในการเล่นสาดน้ำและเล่นมอมหน้า การสาดน้ำนั้นไม่จำเพาะแต่จะสาดกันเองระหว่างหนุ่มสาว แม้สาดพระสงฆ์ก็ได้ เสฐียรโกเศศเล่าว่า “ถือขันน้ำ เร่ขึ้นกุฏิเพื่อสรงน้ำหลวงพี่ด้วยปะเหมาะหลวงพี่ไม่ทันรู้ตัว ได้ยินเสียงโครมครามเหมือนมีโจรขึ้นปล้น ยังไม่ทันรู้ว่าเรื่องอะไรก็พอดีถูกสาดน้ำเข้าโครมใหญ่ ดีมิดีที่นอนหมอนมุ้งถูกน้ำสาดเปียกหมด… ตอนนี้ไม่ใช่สรงน้ำพระ แต่เป็นเรื่องสาดน้ำพระ”

ยิ่งหนักขึ้นไปอีกก็คือการแห่พระสงฆ์ด้วยเกวียนโดย “ชาวบ้านช่วยกันตกแต่งเกวียน คาดผ้าสีแพรเป็นเพดานหลังคา และประดับประดาด้วยสิ่งต่างๆ ตามแต่จะเห็นงาม….แล้วนิมนต์พระสมภารเจ้าวัดหรือพระสงฆ์ที่นับถือขึ้นนั่งบนเกวียนมีขบวนแห่อย่างครึกครื้น เวียนประทักษิณอุโบสถสามรอบ แล้วก็ชักเกวียนไปยังที่ซึ่งจัดไว้ แต่ว่าไม่ได้ชักอย่างตรงไปตรงมา เขาเล่นชักเย่อกันด้วย โดยแบ่งพวกชาวบ้านออกเป็นพรรคบ้านเหนือ และพรรคบ้านใต้ หรือตลาดบ้านเหนือและตลาดบ้านใต้

พวกที่ชักล้วนเป็นคนหนุ่มคนสาวกำลังฉกรรจ์ทั้งนั้น ชักเย่อกันไป ชักเย่อกันมา ไม่ไปถึงไหน ลางทีนานตั้งชั่วโมงก็ไม่มีแพ้ ไม่มีชนะกัน ถ้านานถึงเช่นนั้นก็ต้องหยุดพักเอาแรงกันเสียพักหนึ่ง แล้วจึงลงมือชักเย่อกันใหม่ต่อไป จนกว่าใครจะแพ้ลงข้างหนึ่ง ฝ่ายที่ชนะก็เต้นรำทำเพลงเยาะเย้ยฝ่ายที่แพ้อย่างสนุกสนาน”

พระสงฆ์เองก็ถือเป็นสนุกไปกับฆราวาส โดยไม่ยึดว่าเป็นอาบัติ

ไล่ความร้อนรุ่มทางการเมืองด้วยการสาดน้ำสงกรานต์ (ภาพเก่า พ.ศ. 2559 จาก https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_104345)

ผู้หญิง ผู้ชาย

การเล่นกันเองระหว่างหนุ่มสาวผู้เฒ่าผู้แก่ก็ถึงขนาดฉุดกระชากลากถูกันจนเสื้อผ้าขาดกะรุ่งกะริ่งไปทั้งหมด พวกผู้หญิงดูจะจงใจแก้แค้นผู้ชาย หรือผู้หญิงมักจะเล่นสนุกกับผู้ชายมากกว่าจะเล่นกับผู้หญิงด้วยกันเอง

บางทีพวกผู้หญิงก็รวมกลุ่มกันจับผู้ชายมาเล่นแผลงๆ ด้วยการมัดไว้กับต้นเสาเพื่อเรียกค่าไถ่เป็นเหล้าหรือของกินต่างๆ สุดแต่จะหาซื้อได้ หากผู้ชายที่ถูกจับมัดเรียกค่าไถ่ไม่ยอมปฏิบัติตามสิ่งที่ผู้หญิงต้องการก็อาจจะถูกทำประจาน เป็นต้นว่าถูกจับถอดเสื้อกางเกงล่อนจ้อนเปลือยกาย และอาจจะถูกทำพิเรนทร์ๆ กับของลับฝ่ายชาย บางรายถึงขนาดเอาใบสับปะรดซึ่งมีความหยาบจนสากมาแกล้งถูที่ของลับผู้ชายให้เจ็บปวด

สาดน้ำด้วยความเท่าเทียมที่ภูเก็ตเมื่อหลายปีมาแล้ว (ภาพจาก https://favforward.com/lifestyle/31065.html)

ขบถจารีตประเพณี

จากการแสดงออกในเทศกาลสงกรานต์ จะเห็นว่าเป็นพิธีกรรมที่ต้องการขบถต่อจารีตประเพณีดั้งเดิมของสังคม โดยได้รับการอนุมัติหรือได้รับการยอมรับจากสังคมแล้ว

อาการขบถมีลักษณะต่อต้านความสัมพันธ์ทางสังคม ที่เน้นความแตกต่างทางเพศ เน้นระบบอาวุโส และเน้นการเคารพนับถือพระสงฆ์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ในชีวิตประจำวันแล้วสังคมจะเคร่งครัดมากต่อการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ เห็นได้จากการอบรมสั่งสอนว่าเป็นประเพณีต้องปฏิบัติตาม

ความกดดันที่สังคมไทยมีต่อผู้หญิง จะได้รับการผ่อนคลายและแสดงออกในวันสงกรานต์ ดูจากผู้หญิงกินเหล้า เล่นการพนัน สนุกทั้งวันทั้งคืน ไม่สนใจงานบ้าน แสดงกิริยาก้าวร้าวข่มขู่ผู้ชาย การยอมให้ชายอื่นถูกเนื้อต้องตัวได้ เพราะในยามปกติ สถานภาพของผู้หญิงในสังคมไทยต่ำกว่าผู้ชาย ต้องทำงานหนัก รับภาระในครอบครัว ในขณะที่ผู้ชายมักจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งปีหรือมากกว่าถูกเกณฑ์แรงงานรับใช้ราชการ ผู้หญิงไทยจึงมีภาวะค่อนข้างกดดันที่ต้องรับภาระหลังการแต่งงาน ทั้งในการอบรมเลี้ยงดูลูก ทำมาหากิน

นอกจากนี้ความสัมพันธ์ทางสังคมอีก 2 ด้านก็ได้รับการปลดปล่อย ซึ่งแสดงถึงข้อขัดแย้งลึกๆ ในสังคมที่สมาชิกในสังคมเก็บกดไว้และแสดงออกในวันสงกรานต์ เช่น เด็กล้อเล่นกับผู้ใหญ่ได้ ยั่วเย้าได้ โดยไม่ถือว่าเสียมรรยาทหรือเป็นการล่วงละเมิด

สถาบันสงฆ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพยกย่องและพึงปฏิบัติต่อพระสงฆ์ด้วยความเคารพ ก็ถูกต่อต้านด้วยพฤติกรรมที่ไม่คำนึงถึงข้อห้ามหรือความเหมาะสมที่ผู้หญิงพึงสำรวมต่อสงฆ์ ทั้งพระสงฆ์เองตามประเพณีความเชื่อก็ต้องประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และมีข้อห้ามมากมายที่ไม่สมควรวิสาสะกับผู้หญิง

กฎเกณฑ์ข้อห้ามต่างๆ ได้รับการอะลุ้มอล่วยให้ละเมิดได้ในวันสงกรานต์ ถือเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดเพื่อให้กลับไปอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดต่อไปได้

สาดน้ำไล่ปีศาจอำนาจรวมศูนย์ในพม่าเมื่อหลายปีมาแล้ว (ภาพจาก hotelminmyanmar.com)

คืนสู่ปกติ

การละเล่นในวันสงกรานต์ จึงเป็นพิธีกรรมต่อต้านข้อห้ามระเบียบกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดไว้ โดยเฉพาะระหว่างความสัมพันธ์ของผู้หญิง-ผู้ชาย, ผู้น้อย-ผู้ใหญ่ และพระสงฆ์-ฆราวาส เป็นการต่อต้านที่ไม่เพียงเป็นที่ยอมรับจากสังคมเท่านั้น ยังได้รับการสนับสนุนให้ปฏิบัติอีกด้วย

พิธีกรรมที่ขบถต่อระเบียบทางสังคมนี้ มีบทบาททางสังคมอย่างยิ่งที่ทำให้ความกดดันและความขัดแย้งในสังคมคลี่คลายระบายออก เพื่อสังคมจะกลับสู่ภาวะปกติสุขเช่นเดิมได้อีก

มักพบในกลุ่มสังคมดั้งเดิมหลายเผ่าพันธุ์ที่สังคมเน้นความแตกต่างของเพศชาย เพศหญิง ที่สถานภาพของผู้หญิงถูกกดว่าต่ำกว่าชาย และในกลุ่มที่มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ให้อิสระแก่ปัจเจกชนอย่างจำกัด

พิธีกรรมดังกล่าวจึงทำหน้าที่ผ่อนคลายปัญหาต่างๆ ในแง่ความขัดแย้งในสังคม

เพื่อรักษาดุลของสังคมให้อยู่โดยปกติสุข

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image