สุจิตต์ วงษ์เทศ : ดนตรีในหัวใจ ไม่มีในรัฐ “พิลึก”

ดนตรีในหัวใจ ไม่มีในรัฐ “พิลึก” (บน) มิวเซียมสยาม จัดงาน “นั่งเล่น บนลานหญ้า” ชมฟรี มินิคอนเสิร์ต จากวงนั่งเล่น ร่วมกับ ธีร์ ไชยเดช ทั้งยังมีศิลปินรับเชิญพิเศษ อย่าง ปาน ธนพร และ เจี๊ยบ วรรธนา ร่วมแจม ณ ลานหน้าตึกมิวเซียมสยาม 100 ปี พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่าน เฟซบุ๊กเพจ Museum Siam (ภาพเมื่อเวลา 17.30 .วันที่ 11 มิถุนายน 2565 จาก https://mobile.twitter.com/museumsiam) (ล่าง) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรมดนตรีในสวน เขตคลองเตย และร่วมเวิร์กช็อป “ศิลปะจากคลองเตยดีจัง” พร้อมปลูกต้น “พะยูง” เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว คณะผู้บริหารเขตคลองเตย ร่วมกิจกรรม ณ ศูนย์เยาวชนคลองเตย เขตคลองเตย เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2565

โลกสากลให้ความสำคัญเพลงดนตรีหล่อหลอมกล่อมเกลาความรู้ความคิดของคนให้มีพลังสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของสังคมและของตนเอง ซึ่งเป็นที่รู้กว้างขวางในนานาชาติทั้งกลุ่มประชาธิปไตยและกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตย ได้แก่ ยุโรป, อเมริกา, ญี่ปุ่น, เกาหลี, สิงคโปร์ เป็นต้น

เพลงดนตรีเป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญาวิชาความรู้ เรื่องนี้สุนทรภู่รู้ดีมากกว่า 200 ปีมาแล้ว จึงแต่งเรื่องพระอภัยมณีด้วยการใช้เพลงดนตรี (เป่าปี่) เอาชนะฝ่ายตรงข้าม หมายถึงการใช้สติปัญญาวิชาความรู้แก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจนสำเร็จโดยไม่ใช้ความรุนแรง

Advertisement

ระบบการศึกษาไทยในรัฐราชการรวมศูนย์ไม่ให้ความสำคัญของเพลงดนตรีในแง่ที่เป็นตัวแทนของสติปัญญาวิชาความรู้และพลังสร้างสรรค์ แต่ให้ความสำคัญแก่เพลงดนตรีในแง่ของการสืบทอดอำนาจอนุรักษนิยมแบบต่อต้านประชาธิปไตย เริ่มจากเป็นปฏิปักษ์ต่อวัฒนธรรมป๊อป แล้ว “แช่แข็ง” ดนตรีไทยประเพณีให้เป็น “ดนตรีไทยเดิม” ขณะเดียวกันก็ไม่สนับสนุนดนตรีสากล “คลาสสิค”

ชนชั้นนำไทยใช้เพลงดนตรีเพื่อผดุงอำนาจของตนและเครือข่าย แต่ไม่ได้ใช้เพื่อหล่อหลอมและกระตุ้นสังคมไทยให้มีพลังสร้างสรรค์ ซึ่งสังคมไทยทั่วไป “หน่าย” ตั้งแต่เพลงปลุกใจชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” จนถึงเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ที่แสดงความไม่ซื่อตรงพร้อมกับเอาเปรียบเบียดเบียนประชาสังคมไทยจนทุกวันนี้

Advertisement

ดนตรีในสวน” ที่ผลักดันให้มีขึ้นอย่างตื่นตัวและตื่นเต้นโดยผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ กระตุ้นคนมีความหวังด้วยสติปัญญาวิชาความรู้และความรื่นรมย์ จึงพากันไปร่วมฟังเพื่อ “สื่อ” ความหวังและความเท่าเทียมอย่างคนมี “ดนตรีในหัวใจ” ถ้วนหน้า

ส่วน “ดนตรีจากกองทัพ” ถ้าพิจารณาทางปัจเจกแล้วมีนักดนตรีนักร้องฝีมือดีทั้งนั้น แต่ในแง่สังคมวัฒนธรรมและการเมืองแบบรวบอำนาจรวมศูนย์ที่เล่น “ดนตรีในสวน” ตามคำสั่ง “ไม่ชอบธรรม” ของเจ้าขุนมูลนาย คนไม่เท่ากัน เลยพาลเป็นดนตรี “ไม่เข้าหู” จนหาคนฟังไม่พบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image