คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : พลังวัยรุ่นของ ‘ทวิตเตอร์’

ประเทศไทยยังคงติดกลุ่มประเทศมหาอำนาจในโลก(โซเชียล) เช่นเดิม อ้างอิงข้อมูลจากงาน Thailand Zocial Awards 2017 โดยโซเชียลมีเดียที่ยังครองความเป็นผู้นำในตลาดบ้านเรา หนีไม่พ้น “เฟซบุ๊ก” ด้วยยอดผู้ลงทะเบียนใช้งานทะลุ 47 ล้านบัญชี หรือกว่า 70% ของประชากรไทย คิดเป็นอันดับ 9 ของโลก

โดยจังหวัดที่มีการใช้งานมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ ที่ 27 ล้านคน ชลบุรี 1.6 ล้านคน เชียงใหม่ 1.1 ล้านคน นครราชสีมา

1 ล้านคน และสงขลา 7.8 แสนคน) จากจำนวนคนใช้เฟซบุ๊ก

ทั่วโลกที่ 1.93 พันล้านคน เติบโต 7% จากปีที่แล้ว

Advertisement

อีกบริการของ “เฟซบุ๊ก” ที่มาแรงไม่แพ้กัน คือ “เฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์” ด้วยยอดผู้ใช้งานในประเทศไทย 26 ล้านคน คิดเป็นอันดับ 5 ของโลก จากจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลกอยู่ที่ 724 ล้านคน

ตามด้วยแอพพลิเคชั่นแชต “ไลน์” ที่จำนวนคนใช้งาน 41 ล้านบัญชี

ขณะที่ “อินสตาแกรม” มีจำนวนผู้ใช้งานในไทย 11 ล้านบัญชี สูสีกับ “ทวิตเตอร์” ที่มาแรงเกินคาด เพราะเติบโตมากถึงกว่า 70% เทียบกับปีที่ผ่านมา

Advertisement

โดยบัญชี ผู้ใช้ “ทวิตเตอร์” เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจาก 5.3 ล้านบัญชี มาเป็น 10.1 ล้านบัญชี แต่ที่น่าสนใจกว่า คือนอกจากประชากรคนใช้ทวิตเตอร์กว่า 65% จะมีอายุต่ำกว่า 34 ปีแล้ว กลุ่มใหญ่ที่สุดที่มีการใช้งานคิดเป็นกว่า 35% มีอายุระหว่าง 16-24 ปี

ทำไม “ทวิตเตอร์” จึงพลิกกลับขึ้นมาได้รับความนิยมอีกครั้งในกลุ่มเด็กวัยรุ่น?

การเติบโตของ “ทวิตเตอร์” มีสาเหตุมาจากกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีในไทยเป็นสำคัญ ก่อนที่จะขยายมายังแฟนคลับดาราศิลปินไทย เนื่องจากทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มโซเชียล

มีเดียที่ศิลปินเกาหลีใช้ติดต่อสื่อสารกับกลุ่มแฟนคลับของพวกเขา ต่อมาจึงมีดาราศิลปินไทยนำมาใช้บ้าง

นั่นทำให้ “ทวิตเตอร์” กลายเป็นช่องทางที่น่าสนใจสำหรับแบรนด์หรือสินค้าต่างๆ ที่ต้องการสื่อสารหรือเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็น “วัยรุ่น”

ถ้าเจาะไปที่พฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียของคนไทยจะพบว่าจะมีการใช้งานหลังเลิกงานและวันหยุดมากขึ้น โดยคนไทยใช้ “เฟซบุ๊ก” มากที่สุดในช่วงหลังเลิกงาน (ระหว่างหกโมงเย็นถึงห้าทุ่ม) ของวันทำงาน ส่วนในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่เดิมจะใช้งานในวันอาทิตย์มากกว่าวันเสาร์ แต่ปัจจุบันใช้วันเสาร์มากกว่าวันอาทิตย์

“อินสตาแกรม” ก็ไม่ต่างกันที่ในวันธรรมดาจะใช้งานช่วงหกโมงเย็นถึงห้าทุ่ม แต่ถ้าเจาะจงลงไปที่ “พ่อค้าแม่ค้าไอจี” จะนิยมใช้งานในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ส่วน “ทวิตเตอร์” จะมีความแตกต่างไปจากโซเชียลมีเดียอื่นๆ ตรงที่มีการใช้งานมากที่สุดในช่วง 2 ทุ่มถึงเที่ยงคืน โดยเฉพาะในวันพฤหัสฯ ศุกร์ และเสาร์

พเนิน อัศววิภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วันบิต แมทเทอร์ จำกัด อธิบายว่า กลุ่มเด็กใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางในการพูดคุยสื่อสารกับศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบ และที่มีการใช้งานมากที่สุดช่วง 2 ทุ่ม-เที่ยงคืน ในวันพฤหัสฯ, ศุกร์ และเสาร์ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่รายการโทรทัศน์ของเกาหลีมีการเปิดโหวตให้ดาราศิลปินเกาหลีผ่านทวิตเตอร์ส่งผลถึงพฤติกรรมการใช้งานของคนไทยเพิ่มขึ้นมากในช่วงเวลาดังกล่าว

“ทุกคนรู้ว่าข้อมูลโซเชียลมีเดียนำมาช่วยธุรกิจได้ แต่แบรนด์ต่างๆ ไม่รู้ว่าจะนำดาต้าหรือข้อมูลมาใช้ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งในบ้านเรามีแบรนด์เครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่งนำมาใช้เพิ่มยอดขายได้ เริ่มจากดูว่ามี 50 อันดับร้านอาหารไหนบ้างที่มีการพูดถึงและกำลังได้รับความนิยมในทวิตเตอร์ในเดือนนั้นๆ บ้าง พอรู้แล้วก็ใช้ทีมเซลส์เข้าไปทำกิจกรรมการตลาด ทำโปรโมชั่นอะไรต่างๆ ด้วยทำให้สร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้เป็นหลักล้านบาท”

อีกโซเชียลมีเดียสุดฮอตในบ้านเราที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ “ยูทูบ” ที่เพิ่งฉลองครบรอบ 3 ปีในประเทศไทยไปเมื่อไม่กี่วันก่อน

ไมเคิล จิตติวาณิชย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดด้านธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยติดอันดับท็อปเท็นของโลกในแง่จำนวนชั่วโมงในการดูยูทูบ จาก 3 องค์ประกอบสำคัญ

1.มีผู้ชม (User Viewer) มากกว่า 2 ใน 3 ดูผ่านโทรศัพท์มือถือ และมีจำนวนชั่วโมงในการดูเพิ่มขึ้นกว่า 90% เทียบปีต่อปี

2.ผู้สร้างคอนเทนต์หรือยูทูบเบอร์ (Youtuber) ในไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมีช่องยูทูบระดับโกลด์ ที่มีผู้ติดตามเกิน 1 ล้านราย มากกว่า 55 ช่อง มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หรือเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า จากปีที่แล้ว โดยภายใน 1 ปี มีการอัพโหลดคลิปวิดีโอขึ้นยูทูบเกินกว่า 1 ล้านชั่วโมง หรือเพิ่มขึ้นถึง 170%

องค์ประกอบสุดท้ายคือ นักโฆษณา เริ่มมีแบรนด์สร้างคอนเทนต์เองบนยูทูบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันมีช่องของแบรนด์สินค้าที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 แสนราย (ระดับซิลเวอร์) มากกว่า 10 ช่อง

“อย่างที่รู้กันว่าคอนเทนต์บนยูทูบเป็นแพลตฟอร์มที่ใครๆ ก็เป็นครีเอเตอร์ได้แล้ว แต่ในไทยคอนเทนต์ที่มาแรงมาก คือทีวี เราพบว่าคนไทยมากกว่า 80% ชอบดูทีวีบนยูทูบผ่านมือถือ อย่างรายการ the mask singer มีคนดูพร้อมกันมากกว่า 8 แสนคน เป็นต้น จะเห็นว่ายูทูบในไทยมีอีโคซิสเต็มที่ค่อนข้างแข็งแรง” ผู้บริหารกูเกิลย้ำ

การเลือกใช้ประโยชน์จากพลังของ “โซเชียลมีเดีย” แพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ช่วงเวลา งบประมาณ และเป้าหมายของแบรนด์จึงนับเป็นความท้าทายสำหรับนักการตลาดในยุคนี้ที่ตัวเลือกมีมากมาย ท่ามกลางมหาสมุทรข้อมูลที่ถาโถมเข้ามาจากทุกทิศทุกทาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image