‘อารมณ์’ขับเคลื่อนโลก : คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

งานสัมมนา “เปลี่ยน…ให้ทันโลก New World, New Opportunity, New Business” จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ในโอกาสครบรอบ 40 ปี เมื่อ 25 พ.ค.2560 ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจเข้าร่วมรับฟังคับคั่งกว่า 500 คน ทั้งที่คืนก่อนเริ่มงานฝนตกหนักต่อเนื่องถึงเช้าวันงาน หลายพื้นที่น้ำท่วมหนักมาก เป็นอุปสรรคในการเดินทางมากกว่าปกติ

แต่ใครที่มีโอกาสมาฟังด้วยตนเอง เชื่อว่าคงเต็มอิ่มกับข้อมูลที่ทั้ง 5 วิทยากรนำมาถ่ายทอดกันแบบจัดเต็ม

ตั้งแต่ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มาพูดถึง “โรดแมป อีอีซี คลื่นลูกใหม่ลงทุนไทย” ร่วมด้วย4 ซีอีโอ คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) คุณฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์ มาพูดถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และธุรกิจจากเทคโนโลยี “ดิจิทัล” ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) กล่าวว่า ยุคปัจจุบันเป็นยุคของการเชื่อมโยงข้อมูลกับเทคโนโลยีทำให้เกิดความเร็วในการเข้าถึงตลาดได้ทั้งโลก และโทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากที่สุด

Advertisement

จึงไม่แปลกที่บริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก 5 อันดับแรกในปัจจุบันจะเป็นบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งสิ้น ตั้งแต่ “แอปเปิล” ที่มีกำไรจากการขายโทรศัพท์มือถือ และแอพพลิเคชั่น มีมาร์เก็ตแคปสูงถึงกว่า 7.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ถัดมาเป็น “แอลฟาเบท” (บริษัทแม่ของกูเกิล) ตามด้วยยักษ์ไมโครซอฟท์, “อเมซอน” และ “เฟซบุ๊ก”

“ศุภชัย” มองว่าการแข่งขันในโลกธุรกิจยุค “ดิจิทัล ไม่ใช่ “ปลาใหญ่ กินปลาเล็ก” แต่เป็น “ปลาเร็วกินปลาทุกชนิด”

“อุตสาหกรรม 4.0 เป็นเรื่องการเชื่อมโยงออโตเมชั่นกับนวัตกรรม เมื่อทุกคนมีมือถือก็ไม่ต่างอะไรกับมีคอมพิวเตอร์ติดตัวทำให้เชื่อมโยงกับทุกสรรพสิ่งได้ไม่จบสิ้น และอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การมีเทคโนโลยีทำให้การประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่สร้างการตัดสินใจขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว การวางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำเช่นกันกับที่หลายบริษัทกำลังทำอยู่”

Advertisement

ในภาพรวมของประเทศไทย “จีดีพี” ยังเติบโตได้ดีแต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน ซึ่งเวิลด์แบงก์มีคาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่ปี ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียจะแซงหน้าไทย เพราะประชากรไทยไม่โตแล้ว ขณะที่ฟิลิปปินส์ยังโตต่อเนื่อง ส่วนมาเลเซียก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างชัดเจน มีเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นไฮเทคอินดัสทรีจึงอาจแซงเราไปในมิติของไฮเทคโนโลยี

การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษจึงไม่ควรมีแค่ภาคตะวันออก แต่ควรมองไปยังเหนือ อีสาน และพื้นที่อื่นด้วย ทั้งไม่ควรเน้นแค่อุตสาหกรรมเทคโนโลยี, การค้า, การเงิน, ท่องเที่ยว และการเกษตรก็สำคัญ หรือแม้แต่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ

การส่งเสริมอุตสาหกรรมอวกาศในมุมมองของ “ศุภชัย” คือ การส่งเสริมผลักดันให้ “มนุษย์” คิดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้มากขึ้น

ไม่มีใครปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยี

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ กล่าวว่า บริษัทต่างๆ ต้องเผชิญหน้ากับการปฏิวัติรูปแบบของข้อมูลที่เปลี่ยนไปจากเดิมทุกวันนี้มีบริการใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น แอพพ์เรียกรถ “อูเบอร์” เว็บไซต์จองห้องพัก “airbnb” ที่เสนอรูปแบบการให้บริการที่พักที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้ทั่วโลก

“airbnb” มีห้องพักให้เช่ารวมกันกว่า 3 ล้านห้อง กลายเป็นเครือข่ายห้องพักที่ใหญ่กว่าเครือข่ายโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว

แต่ไม่ว่า “เทคโนโลยี” จะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ยังรับมือได้ง่ายกว่า “คน” เพราะความต้องการขั้นพื้นฐานของ “คน” ในอดีตถึงปัจจุบัน ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก

“เราเคยกินแฮมเบอร์เกอร์เมื่อ 50 ปีที่แล้ว วันนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน ห้องแถว 50 ปีก่อนกับทาวน์โฮมวันนี้หน้าตาก็ไม่เปลี่ยนไปมาก แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ อารมณ์ และความรู้สึกของคน และจะเป็นสิ่งที่มีผลต่อการขับเคลื่อนโลกในอนาคต”

การสำรวจล่าสุดบอกว่าคนจะจดจ่ออยู่กับอะไรสั้นลง จาก 12 วินาที เหลือ 8 วินาที (น้อยกว่าปลาทอง)

ถ้าทำคลิปวิดีโออะไรออกมา ไม่น่าสนใจภายใน 8 วินาทีแรก คนจะไม่ดูแล้ว

“ธุรกิจอสังหาฯชัดเจน เราขายอารมณ์กับความรู้สึก ทำภาพบ้านสวยๆ ให้คนเห็น เป็นมิติของการค้า แต่ในมิติของประเทศจะยากยิ่งกว่า เราจะเจอการชนกันระหว่างอารมณ์กับวิทยาศาสตร์ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ จะเจอกับอารมณ์คนในพื้นที่ ที่ไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อเทคโนโลยีที่บอกว่าสะอาด”

และถึงจุดหนึ่ง “อารมณ์” จะชนะ “เทคโนโลยี”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image