จิตวิญญาณ ‘สตาร์ตอัพ’ : คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

แกร็บ (Grab) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มด้านการขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วเริ่มจากบริการ แกร็บแท็กซี่ ในเดือน มิ.ย.2012 หรือบริการเรียกรถแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่น ต่อมาขยายบริการออกไปอีกมากมาย เช่น แกร็บคาร์ (GrabCar) เปลี่ยนจากแท็กซี่มายังรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไปในเดือน ก.ค.2014, แกร็บไบค์ (GrabBike), แกร็บเอ็กซ์เพรส (GrabExpress) บริการรับส่งสินค้า และบริการต่างๆ และล่าสุด แกร็บนาว (GrabNow) บริการใหม่ที่กำลังจะเปิดบริการในเมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียเร็วๆ นี้ และคาดว่าจะนำมาให้บริการในประเทศไทยในลำดับถัดไปด้วย

โดย “แกร็บนาว” เป็นบริการที่เปลี่ยนการเรียกรถมอเตอร์ไซค์จากท้องถนนสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น โดยที่ผู้โดยสารสามารถเรียกใช้บริการแกร็บไบค์ (รถมอเตอร์ไซค์) ได้ทันทีด้วยวิธีปกติ ไม่ต้องรอเรียกผ่านแอพพลิเคชั่น แต่เมื่อเรียกได้แล้วจึงจะชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่นได้

ซึ่ง “แกร็บนาว” เป็นบริการใหม่ล่าสุดที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้บริโภคในการเรียกใช้บริการด้วยวิธีปกติที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้วแต่ไม่ต้องกังวลกับอัตราค่าโดยสาร เพราะกำหนดเป็นมาตรฐานไว้แล้ว ทั้งยังได้สะสมคะแนนผ่านแกร็บรีวอร์ด (Grab Rewards) เพื่อรับสิทธิพิเศษต่างๆ เพิ่มเติมด้วย

มากไปกว่านั้น “แกร็บ” ยังได้นำระบบเทเลเมติกส์ที่จะนำมาใช้ในการตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ของพันธมิตรผู้ร่วมขับด้วยทำให้ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้ไม่น้อย

Advertisement

จุดเริ่มต้นของ “แกร็บ” เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ก็ไม่ต่างไปจากบริษัทสตาร์ตอัพรายอื่นๆ ตรงที่เกิดขึ้นมาจากความต้องการที่จะแก้ “ปัญหา” ด้วยการใช้ประโยชน์จาก “เทคโนโลยี” ซึ่ง “แกร็บ” เลือกที่จะแก้ปัญหาเรื่องการใช้บริการขนส่งสาธารณะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปัจจุบัน เปิดให้บริการใน 55 เมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ในประเทศสิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, เวียดนาม, พม่า และประเทศไทย ถือเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม เรียกรถที่ใหญ่ที่สุด และได้รับความนิยมสูงสุด ทั้งในหมู่ผู้ขับขี่ และผู้โดยสารทั่วทั้งภูมิภาค

โดยมียอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นมากกว่า 45 ล้านดาวน์โหลด เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจากเดือนมิถุนายนปีที่แล้วถึง 3 เท่าตัว และให้บริการไปแล้วกว่า 2.5 ล้านครั้งต่อวัน เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจาก 6 เดือนที่ผ่านมา และมีผู้ขับขี่กว่า 9.3 แสนคน หารายได้ผ่านแกร็บ

Advertisement

แอนโทนี ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง “แกร็บ” กล่าวว่า “เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น แกร็บก็ได้ก้าวเข้าไปช่วยแก้ปัญหาในระดับที่ใหญ่ขึ้นเช่นกัน และถือเป็นผู้ช่วยสำคัญในการแก้ไขปัญหาหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจราจรติดขัด, ปัญหาด้านอาชีพ รวมไปถึงความเชื่อมั่น และการเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของภูมิภาค

โดยแกร็บตั้งใจจะลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจัง เพื่อส่งมอบบริการที่สำคัญต่อชีวิตประจำวันของผู้บริโภค อย่างการเดินทางและการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยแกร็บเพย์ (GrabPay) โซลูชั่นในการชำระเงินที่มีอัตราเติบโตสูงมาก และคาดว่าผู้ใช้แกร็บเพย์จะเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวทุกไตรมาสไปจนถึงสิ้นปีนี้

“เรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบริการใหม่ๆ เพื่อทำให้คนกว่า 620 ล้านคน ในภูมิภาคนี้มีความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเดินทาง และการเข้าถึงการชำระเงินแบบไร้เงินสดที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา เราเน้นการค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาในระดับท้องถิ่นที่ดีที่สุด และหาวิธีที่จะช่วยผู้คนหรือชุมชนให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด”

ถามว่า “แกร็บ” แก้ปัญหาท้องถิ่น และเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้ขับขี่และผู้โดยสารอย่างไรบ้าง

ในฝั่งของผู้ใช้บริการทำให้การเดินทางสะดวกและปลอดภัยขึ้น โดยผู้โดยสารประหยัดเวลาเดินทางไปได้โดยเฉลี่ย 52% เมื่อเทียบกับการเดินทางผ่านขนส่งสาธารณะอื่นในพื้นที่ ส่วนฝั่งของผู้ขับขี่ได้เพิ่มศักยภาพในการหารายได้ของผู้ขับขี่ทำให้มีรายได้ต่อชั่วโมงสูงกว่าค่าจ้างแรงงานทั่วไปโดยเฉลี่ยราว 1 ใน 3 หรือ 32% ในทุกประเทศที่มีบริการ

“เราโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ทั้งพนักงาน, ผู้ขับขี่, ลูกค้า และนักลงทุนที่ศรัทธา และคอยสนับสนุนให้เรากล้ามุ่งไปสู่เป้าหมายที่ท้าทายขึ้น ที่ไม่เพียงสร้างนิยามใหม่ของบริการเรียกรถเท่านั้น แต่ยังจะพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการที่สำคัญต่อชีวิตประจำวันอื่นๆ โดยเฉพาะด้านรูปแบบการทำธุรกิจที่ไม่เพียงสร้างสรรค์โซลูชั่นที่ปรับปรุงบริการที่มีอยู่แล้วในสังคมยังให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อหาทางบริการประชาชนให้ดีขึ้นด้วย”

การทำงานร่วมกับภาครัฐที่ว่า หมายรวมถึงการให้ความร่วมมือเกี่ยวกับการหาทางออกในบางบริการ เช่น “แกร็บคาร์” ที่ในบางประเทศรวมถึงในบ้านเราเองยังคงมีปัญหาเรื่องกฎระเบียนภาครัฐที่ผู้ให้บริการหรือผู้ขับขี่จะต้องมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สาธารณะ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะคลี่คลายลงได้ง่าย

ตัน โฮย หลิง อีกหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง “แกร็บ” เสริมว่า แม้จะไม่ง่าย แต่โดยส่วนตัวมีความเชื่อมาตลอดว่า “ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ ถ้ามีความมุ่งมั่นตั้งใจมากพอ เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ก่อตั้งแกร็บเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในฐานะบริษัทสตาร์ตอัพเล็กๆ ก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะก้าวมายืนถึงจุดนี้ได้ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งนักลงทุน และผู้บริโภคทำให้ขึ้นมาเป็นผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านการให้บริการแพลตฟอร์มด้านการขนส่ง ดังนั้นสำหรับตนเองอะไรก็เป็นไปได้”

จากบริษัทสตาร์ตอัพที่เริ่มมาจาก 2 ผู้ก่อตั้งมาเป็นบริษัทที่มีพนักงานกว่า 2 พันคน

“คุณอาจจะหาว่าเราบ้า แต่แกร็บคงจะเป็นสถานที่สำหรับคนที่เชื่อว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำจะสามารถยกระดับวิถีชีวิตผู้คนผ่านเทคโนโลยีได้”

สิ่งที่มากไปกว่าการผลักดันการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง คือการส่งต่อความมุ่งมั่นตั้งใจ และการรักษาจิตวิญญาณแห่ง “สตาร์ตอัพ” นี้ไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image