‘O2O ฟู้ดดิลิเวอรี’ เรื่องกินเรื่องใหญ่ : คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

เพิ่งครบรอบ 1 ปีไปเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมานี้เอง สำหรับบริการ “ไลน์ แมน” (LINE MAN) อีกหนึ่งบริการในตระกูลเดียวกันกับ “LINE”

“LINE MAN” นิยามตนเองเป็น “ผู้ช่วยในชีวิตประจำวัน” ของผู้บริโภคที่ให้บริการครอบคลุมไลฟ์สไตล์ใน 4 ด้านด้วยกัน

คือ 1.บริการสั่งซื้ออาหาร (Food Delivery) 2.บริการรับ-ส่งสิ่งของ (Messenger) 3.บริการสั่งสินค้าผ่านร้านสะดวกซื้อ (Convenience Goods) และ 4.บริการรับส่งสิ่งของผ่านไปรษณีย์ (Postal) ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

1 ใน 4 บริการที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ “บริการสั่งซื้ออาหาร” ด้วยสถิติการใช้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากกว่า 500,000 ครั้งต่อเดือน หรือคิดเป็น 70% ของการใช้บริการทั้งหมดใน LINE MAN

Advertisement

อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา คนไทยเข้าถึงการใช้งานสมาร์ทโฟนมากถึง 44 ล้านคนหรือประมาณ 70% ของประชากรในประเทศ และใช้เวลาอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟนโดยเฉลี่ยสูงถึงวันละ 234 นาที หรือประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวัน และกว่า 94% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนเป็นผู้ใช้งาน LINE

การรับส่งข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่ในประเทศไทยได้ย้ายมาอยู่บน “สมาร์ทโฟน” เป็นหลักแล้วเรียบร้อย หรือที่เรียกว่า “Mobile at the center”

แต่ถึงแม้ว่าสมาร์ทโฟนจะมีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้นมาก แต่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) และธุรกิจบริการสั่งซื้ออาหารออนไลน์ (Online Food Delivery) ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่บนโลกออฟไลน์เป็นหลัก

Advertisement

โดยธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 3.8% ในธุรกิจค้าปลีก ขณะที่ธุรกิจบริการสั่งซื้ออาหารออนไลน์มีส่วนแบ่งทางการตลาด 4.9% ในธุรกิจร้านอาหารทั้งหมดในประเทศไทย

จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่คิดจะสร้างโมเดลธุรกิจแบบ O2O (Online to Offline) ขึ้นมาด้วยการนำข้อดีด้านการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็ว และสะดวกสบาย ผ่านช่องทางออนไลน์มาแก้ปัญหา ทั้งข้อจำกัดด้านเวลา และงบประมาณ รวมถึงอำนวยความสะดวก และสร้างทางเลือกในการเข้าถึงสินค้าและบริการในชีวิตประจำวันได้

ไม่ว่าจะเป็นด้านร้านอาหาร, การค้า, สินค้าอุปโภคบริโภค, การรับ-ส่งสินค้า, การเดินทาง หรือการท่องเที่ยว

“ปีนี้ มีแอพพลิเคชั่น O2O เปิดให้บริการมากกว่า 40 แอพพ์ จากที่เคยมีไม่ถึง 5 แอพพ์ ในปี 2012 ด้วยเหตุนี้ LINE ประเทศไทยจึงนำปัญหาของผู้ใช้ชาวไทยที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมาพัฒนาแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ในรูปแบบ O2O และความต้องการทางธุรกิจ”

โดย “LINE MAN” เป็นบริการที่เปิดในประเทศไทยเป็นประเทศแรก และประเทศเดียวในโลก เพื่อเป็น “ผู้ช่วยส่วนตัว” ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค และตอบโจทย์ทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ

“อริยะ” เล่าว่า จากการทำรีเสิร์ชพบว่าคนไทยใช้บริการรับจ้างเยอะ เช่น ใช้วินมอเตอร์ไซค์ซื้ออาหาร, ส่งของ แต่อาจยังไม่ได้รับบริการที่ดีพอ เนื่องจากไม่สามารถการันตีได้ว่าจะมีคนให้บริการหรือไม่ หรืออาจทำได้ไม่ดี เพราะไม่ได้ฝึกมาก่อน และไม่น่าเชื่อถือ

“LINE MAN” เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ เริ่มจากเรื่องอาหารก่อน เนื่องจากคนไทยมักเจอปัญหาเรื่องที่จอดรถหรือรถติด ขณะที่บริการที่มีในตลาดยังไม่มีใครตอบโจทย์ได้ครบ

“อริยะ” เชื่อว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ LINE MAN ได้รับการตอบรับที่ดีมาก เพราะออกแบบบริการเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน (User friendly) และใช้งานได้ง่ายด้วยการ LOG IN ผ่าน LINE ID ได้ ทั้งยังตรวจสอบสถานะการให้บริการได้แบบเรียลไทม์ รวมเข้ากับการมีความร่วมมือพันธมิตรชั้นนำต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นวงใน (Wongnai) เว็บไซต์ค้นหาและรีวิวร้านอาหาร, ลาล่ามูฟ (Lalamove) ผู้ให้บริการรับส่งสินค้า, อัลฟ่า ฟาสต์ (Alpha Fast) บริการส่งเอกสารและพัสดุ และไปรษณีย์ไทย ในการส่งจดหมาย พัสดุ และ EMS

“ไลน์แมนมีผู้ใช้งานเติบโตโดยเฉลี่ยเกิน 10% ทุกเดือน และถือเป็นอันดับ 1 ในตลาดแอพพลิเคชั่นดิลิเวอรี ไลน์แมนจะเป็นผู้ช่วยซื้อที่คิดค่าขนส่งเริ่มต้น 55 บาท และคิดเป็นกิโลเมตรละ 7.2 บาท แต่ถ้าไม่ใช่ร้านของคู่ค้าจะคิดกิโลเมตรละ 9 บาท ซึ่งการนำลูกค้าในโลกออนไลน์มายังออฟไลน์ ไม่เพียงตอบโจทย์เพนพอยต์ของลูกค้าแต่ยังช่วยเพิ่มยอดขายให้ร้านอาหารด้วย”

และด้วยความที่ LINE MAN ประสบความสำเร็จมากในฐานะเป็นบริการที่คิดขึ้นมาโดยคนไทย ทำให้ LINE ในประเทศเกาหลี และญี่ปุ่นมองว่าควรมีบริการที่คิดค้นขึ้นโดยทีมงานในแต่ละประเทศให้มากขึ้น ซึ่งประเทศเกาหลีได้มาศึกษาโมเดลธุรกิจ LINE MAN ในไทยเพื่อนำไปให้บริการในประเทศอื่นๆ แล้ว

“ปัญหาที่ผ่านมาของไลน์แมน คือการจัดส่งล่าช้า เพราะมียอดการใช้งานสูงมากจึงต้องเพิ่มพนักงาน และขยายพื้นที่ในการให้บริการเพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องการชำระค่าบริการยังคงเป็นเงินสดเท่านั้น แต่อีกไม่นานจะชำระผ่านออนไลน์ได้ และคาดว่าภายในปีหน้า จะมียอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 1 ล้านคนต่อเดือน”

เป้าหมายที่ยอดผู้ใช้บริการต่อเดือนทะลุ 1 ล้านคน ภายในปีหน้าอาจดูมาก เพราะเท่ากับอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเป็นเท่าตัว แต่ถ้าเทียบกับจำนวนผู้ใช้บริการ LINE ที่มีอยู่มากถึง 41 ล้านคน นับว่าเล็กน้อยมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image