มีคนจีนเป็นเพื่อนบ้าน : คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน บ้าน

ซ้ายก็จีน ขวาก็จีน เสียงดังมากเบย

นี่คือตัวอย่างบทสนทนาเจ้าของห้องชุดในยุคปัจจุบัน ตอนนี้ไม่ว่าจะซื้อโครงการที่ไหน ใกล้ไกล ถูกแพง ดูเหมือนร่วมชะตากรรมเดียวกัน มีเพื่อนบ้านเป็นคนจีน

ในที่นี้ หมายถึงนักท่องเที่ยวจีนก็ดี หรือจะเป็นคนจีนจากประเทศจีน พูดภาษาจีนกันเลยแหละ ซึ่งให้ความนิยมมาซื้ออสังหาริมทรัพย์เมืองไทยอยู่กันมากขึ้นทุกที

วันนี้ถือโอกาสชวนคุยเกี่ยวกับอุปนิสัยใจคอตลอดจนความนิยมชมชอบของลูกค้าอสังหาฯชาวจีนซะเลย ข้อมูลเก็บตกมาฝากจากการไปนั่งฟังงานเสวนาโบรกเกอร์อสังหาฯ “บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด”

Advertisement

เริ่มต้นที่เรื่องใหญ่ๆ ก่อน ประเทศที่นักลงทุนชาวจีนชอบมาก ไทยอยู่อันดับ 5 ในขณะที่ 2 อันดับแรกคือสหรัฐอเมริกากับออสเตรเลีย อันดับ 3-4 เป็นของแคนาดา นิวซีแลนด์

เราอยู่อันดับ 5 สูงกว่าอังกฤษ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สเปน และเยอรมนีเสียอีก อันนี้น่าปลื้มใจเหมือนกันนะ

จังหวัดที่ชาวจีนชอบมากที่สุด เรียงท็อป 5 พบว่ามหานครกรุงเทพฯนำโด่ง 29.3% เชียงใหม่ 21.8% ภูเก็ต 17.3% พัทยา 15.8% ที่เหลือหัวเมืองอื่นๆ เคล้ากันไปอีก 15.8%

เหตุผลที่นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนซื้ออสังหาฯ ในเมืองไทย มีทั้งมาพักผ่อนเอง กับซื้อไว้ปล่อยเช่าให้กันคนจีนด้วยกัน โดยกรุงเทพฯมองว่าเป็นตลาดใหญ่ มีความมั่นคง ที่สำคัญเชื่อกันว่าราคาอสังหาฯ ยังปั่น เอ้ย! ยังขึ้นได้อีก

เชียงใหม่ซื้อเพราะคิดว่าราคาอสังหาฯค่อนข้างถูก อากาศก็ดี๊ดี เหตุผลสำคัญไปกว่านั้นอีกคือมีบริการทางการแพทย์คุณภาพดี ราคาสมเหตุสมผล แถมมีโรงเรียนนานาชาติตั้ง 4-5 แห่ง ส่งลูกมาเรียนก็สบายใจ กินอยู่ถูกกว่าเมืองจีนเสียอีก

ส่วนภูเก็ตกับพัทยา มีลักษณะจำเพาะเนื่องจากมณฑลไหหลำ เป็นมณฑลเดียวที่ตั้งในเขตร้อน จึงเป็นที่หลบภัยอากาศหนาวเย็นทารุณของคนจีน ทำเลเมืองชายทะเลอย่างเมืองซานย่าคนแห่ไปซื้อจนราคาใกล้เคียงกับปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ราคาเฉลี่ยตก 25,743 หยวน หรือเฉลี่ย 128,715 บาท/ตารางเมตร

ภูเก็ต-พัทยาจึงกลายเป็นตัวเลือกใหม่ให้กับนักลงทุนจีนโดยอัตโนมัติ เพราะถัวเฉลี่ยราคายังถูกกว่า ยกตัวอย่าง คอนโดมิเนียมในเมืองพัทยามีราคาเฉลี่ย 81,500 บาท/ตารางเมตร

ในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 1.กฎหมายจำกัดการนำเงินเข้า-ออกประเทศ รัฐบาลจีนอนุญาตให้ 50,000 ดอลลาร์ หรือ 345,000 หยวน หรือ 1,735,000 บาท

อีกเรื่องที่ใหญ่กว่า รัฐบาลจีนออกนโยบายจำกัดการซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศจีน กลายเป็นแรงจูงใจสำคัญทำให้ออกมาหาซื้ออสังหาฯเมืองไทยก็ว่าได้

กรณีเข้ามาพำนักในเมืองไทยแบบกลุ่มวัยหลังเกษียณหรือรีไทร์เมนต์ การขอวีซ่าเกษียณอายุง่ายขึ้น หลักฐานสินทรัพย์ก็ต่ำเพียงแค่เปิดบัญชี

ธนาคารไทย เงินฝาก 8 แสนบาทก็ผ่านฉลุย ทำวีซ่าเสร็จเรียบร้อยเงินฝากสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ

ตอนนี้การขอสินเชื่อซื้ออสังหาฯยิ่งง่ายขึ้นไปอีกเพราะมีธนาคารจีนคือ ICBC เข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย โดยปล่อยกู้สูงสุด 70%

กลับมาพูดเรื่องใกล้ตัวกันดีกว่า ประเทศไทยมีต้นทุนค่าครองชีพหรือ cost of living ถูกกว่าในเมืองจีน โดยราคาสินค้าของกินของใช้เพียง 1 ใน 3 ของต้นทุนค่าครองชีพในเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง

ในด้านการศึกษาของบุตรหลาน เรามีโรงเรียนนานาชาติทุกระดับชั้น ตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย ค่าเทอมค่าใช้จ่ายก็ถูกกว่า ว่ากันว่าคุณภาพการศึกษาก็ดีกว่า

เขายังบอกด้วยว่าจบการศึกษานานาชาติในประเทศไทยเวลาไปเรียนต่อฝั่งยุโรปเข้าได้ง่ายกว่าจีนไปยุโรปอีกต่างหาก

ในแง่เงื่อนไขการซื้อขายก็ไม่ยุ่งยาก รู้หรือไม่

อสังหาฯ ในเมืองจีนจะต้องวางเงินดาวน์ 35% เทียบกับประเทศไทยอย่างมากก็เรียกเงินดาวน์ 10%

ในด้านการคืนทุน ไม่ทราบหลักเกณฑ์การคำนวณที่แน่ชัด แต่ตัวเลขที่ออกคือซื้อคอนโดฯในกรุงเทพฯปล่อยเช่าระยะยาว คืนทุนได้ภายใน 219 เดือน เปรียบเทียบกับซื้อคอนโดฯใจกลางเมืองปักกิ่งคืนทุน 623 เดือน เซี่ยงไฮ้ 656 เดือน กวางโจว 470 เดือน

โฟกัสราคาอสังหาฯ สัดส่วนถึง 63% ซื้ออสังหาฯ ราคา 1-2 ล้านหยวน หรือ 5-10 ล้านบาท, สัดส่วน 25% ซื้อลงทุนราคาต่ำกว่า 5 แสนหยวน หรือไม่เกิน 2.5 ล้านบาท และสัดส่วน 22% ซื้ออสังหาฯ ไทยราคา 5-7 แสนหยวน หรือ 2.5-3.5 ล้านบาท

แน่นอนว่าประเภทอสังหาฯ ตอนนี้ เท่าที่กฎหมายไทยอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ได้เลยคือคอนโดมิเนียม ซึ่งราคาถูกกว่าในเมืองจีน

สิ่งที่ต้องบอกต่อหากจะขายอสังหาฯให้กับคนจีน ต้องเป็นห้องชุดพร้อมเฟอร์นิเจอร์ อย่างที่เรียกว่า คอนโดฯฟูลลี่เฟอร์นิชนั่นเอง

เนื่องจากการขายคอนโดฯในจีนเป็นห้องเปล่า ซื้อไปแล้วต้องเสียค่าตกแต่งซื้อเฟอร์นิเจอร์เพิ่มเติมอีก 20-30% ของราคาคอนโดฯ ดังนั้น ถ้าหากขายเป็นห้องฟูลลี่เฟอร์นิช หมายถึงทำให้คนจีนรู้สึกว่าได้ส่วนลดถึง 20-30% แปลว่ารู้สึกดีนั่นเอง

การซื้ออสังหาฯ หรือซื้อคอนโดฯในเมืองไทย ผลตอบแทนค่าเช่าทำได้สูงกว่าในเมืองจีน (คงประมาณว่าค่าเช่าใกล้เคียงกันแต่ราคาอสังหาฯถูกกว่า)

ทั้งหมดทั้งมวลทำให้เมืองไทยตอนนี้เต็มไปด้วยผู้พักอาศัยชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นการเช่าแบบระยะยาว เช่ารายเดือน ตลอดจนเช่ารายวัน (ถ้าเช่ารายวันในคอนโดฯ แปลว่าเจ้าของห้องกำลังทำผิดกฎหมายโรงแรม ริจะทำก็อย่าให้ใครรู้ก็แล้วกันค่ะ มือกฎหมายเอื้อมถึงเมื่อไหร่โดนทั้งแพ่งทั้งอาญา)

ฝากข้อคิดไว้ 2 แง่มุมก็ละกัน ถ้าเป็นเจ้าของห้องแล้วปล่อยเช่าลูกค้าชาวจีน ต้องแนะนำกฎ กติกามารยาทในการพักอาศัยไม่ให้ไปรบกวนการอยู่อาศัยของคนอื่นในโครงการเดียวกัน

ส่วนเจ้าของห้องชุดอยู่อาศัยเองแต่มีเพื่อนบ้านห้องถัดไปเป็นคนจีน หรืออยู่ชั้นเดียวกัน ตึกเดียวกัน ฯลฯ เวลามีเหตุเดือดร้อนรำคาญขึ้นมาเราหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าได้ ด้วยการใช้บริการนิติบุคคลอาคารชุดให้เข้ามาแก้ปัญหาแทน

ซ้ายก็จีน ขวาก็จีน ใครที่เจอกับตัวไม่รู้จะปลอบใจยังไง ขอเอาใจช่วยทุกท่านก็แล้วกันค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image