สุจิตต์ วงษ์เทศ : ไทยนอกสายตาจีน แต่ไม่พ้นอำนาจจีน

“one belt one road” โครงการของจีนปัจจุบัน ไม่มีไทยอยู่ในสายตา

[one belt one road บางคนเรียก เส้นทางสายไหมทางทะเล หรือ เส้นทางสายไหมใหม่]

แต่ไทยอยากอยู่ในสายตาของจีน

ดูจากโครงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในไทยโดยจีน ทีมเจรจาของไทยไม่อาจจะต่อรองใดๆ กับฝ่ายจีนได้เลย การเจรจา 18 ครั้งในรอบ 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา มีสภาพเหมือนการรับข้อเสนอของจีนมาปฏิบัติแต่ฝ่ายเดียว โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ บอกไว้อีกดังนี้

Advertisement

“การที่จีนไม่ยอมลดราวาศอกอะไรให้กับไทยเลย ก็เห็นได้ชัดว่าไทยเราไม่มีความสำคัญในทางภูมิรัฐศาสตร์ต่อจีนแม้แต่น้อย”

“ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งเป็นหัวใจต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจนั้น ไทยเราไม่ได้อยู่ในสายตาของจีนเลย”

(มติชน ฉบับวันพุธที่ 28 มิถุนายน 2560 หน้า 16)

Advertisement

ไทยอยู่นอกสายตาจีน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะรอดพ้นอำนาจเศรษฐกิจการเมืองของจีน และหนียังไงก็ไม่พ้น จึงไม่ต้องคิดหนี เพราะรัฐบาลนำเข้าอาวุธหลักจากจีน แถมด้วย ม.44 ให้ “สิทธิพิเศษ” แก่จีน เสมือน “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ยุคใหม่ ตามที่ สุรชาติ บำรุงสุข บอกไว้ (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 30 มิ.ย.-6 ก.ค. 2560 หน้า 51)

ปัญหาอยู่ที่ไทยจะปรับตัวอยู่กับจีนยังไงถึงจะไม่ถูกกลืนทั้งตัว ต้องศึกษาทางหนีทีไล่จากประวัติศาสตร์

จีนล่าอาณานิคม

ต้นแบบการล่าอาณานิคมทางทะเลสมุทร คือ นโยบายการเดินเรือของจีนไปยังน่านน้ำทั่วอุษาคเนย์ และที่อื่นๆ ตั้งแต่เรือน พ.ศ.1900 (พุทธศตวรรษที่ 20 ตรงกับคริสต์ศตวรรษที่ 15)

โดย เจิ้งเหอ (ซำปอกง) แม่ทัพขันทีของกองเรือมหาสมบัติราชสำนักจีน กับขุนนางขันทีอื่นๆ อีกหลายคน

จีนใช้กำลังทหารเข้าจัดการตามรายทางกับบรรดาประเทศและชุมชนการเมืองต่างๆ ทำนองเดียวกับชาติมหาอำนาจตะวันตกกดดันข่มขู่ชาติที่อ่อนแอกว่าทางทหาร หรือเรียก “นโยบายการทูตแบบเรือปืน”

ข้อมูลเรื่องนี้ทั้งหมด ผมอ่านจากบทความเรื่อง

“เจิ้งเหอกับการทูตแบบสันถวไมตรี หรือเพื่อกดขี่บีฑา” ของ เจฟ เวด [(แปลโดย ทรงยศ แววหงษ์) เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ เรื่อง 30 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน 600 ปี ซำปอกง/เจิ้งเหอ กับอยุธยาและ

อุษาคเนย์ เมื่อวันศุกร์ 25 พฤศจิกายน 2548]

จีนเคยทำกับสยาม มีตัวอย่างเมื่อเข้าถึงอยุธยา ดังนี้

ความรุนแรงที่อยุธยา

ในตงซีหยางเกา จ้างซี่ได้บันทึกโดยอ้างถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับเจิ้งเหอ ว่า เมื่อตอนต้นศตวรรษที่ 15 เจิ้งเหอได้ออกคำสั่งให้รื้อถอนพระสถูปในอยุธยาอย่างน้อย 1 องค์

ในบันทึกนี้ระบุ (ภายใต้หัวข้อ “ทำเลที่ตั้ง”) ว่า

“เป็นพระสถูปที่ปราศจากยอด และอยู่ทางเบื้องทิศตะวันตก มีการกล่าวว่าพวกชนป่าเถื่อน (ชาวอยุธยา) เหล่านี้ สร้างพระสถูปได้จนสำเร็จอยู่ก่อน

อย่างไรก็ตามเจิ้งเหอได้บัญชาให้ปราบพระสถูปนี้จนราบเรียบ จนแม้ต่อมาถึงจะมีความพยายามที่จะสร้างสถูปขึ้นอีก ก็ไม่เป็นที่สำเร็จอีกเลย”

ขณะนั้นอยู่ช่วงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย เมื่อเจ้านครอินทร์ (เชื้อสายรัฐสุพรรณภูมิ เมืองสุพรรณบุรี) ยึดอำนาจจากพระรามราชา (เชื้อสายรามาธิบดี เมืองละโว้) ขึ้นครองราชสมบัติรัฐอยุธยาโดยอาศัยการกดดันสนับสนุนสำคัญจากจีน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image