อาคันตุกะหน้าฝน : คอลัมน์ ประสานักดูนก

นกแต้วแล้วอกเขียว

ในฤดูฝน นกประจำถิ่นจะทำรังวางไข่ เลี้ยงลูก ส่วนใหญ่ไม่ได้อพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาลไปไหนไกล แต่จะมีนกอีกกลุ่ม ที่จะอพยพเข้ามาในฤดูฝน เพื่อทำรังวางไข่เช่นกัน แต่ในฤดูหนาว จะอพยพกลับไปทางใต้ ในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย กลับทิศตรงข้ามกับนกอพยพที่จะบินขึ้นไปทางเหนือในช่วงนี้

นกอพยพกลุ่มนี้ เรียกว่า “breeding visitor” เป็นอาคันตุกะบ้านเราแค่ 5-6 เดือน ไม่ได้อยู่ประจำตลอดปีเหมือนนกกระจาบ หรือนกกระปูด เพียงแค่เข้ามาอาศัยสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูก เนื่องจากมีอาหารมากขึ้นในฤดูฝน

ในกลุ่มนกแต้วแล้ว จะมี 2 ชนิด คือ “นกแต้วแล้วธรรมดา” และ“นกแต้วแล้วอกเขียว” ซึ่งจะบินข้ามทะเลอ่าวไทย จากคาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตราและชวา มาขึ้นฝั่งตามแนวจังหวัดริมทะเลในภาคกลางและภาคตะวันออก บางตัวจะบินขึ้นไปถึงภาคตะวันตก หรือประเทศเมียนมาร์ เพื่อทำรังในป่า

แต่ในภาคตะวันออก พบว่านกแต้วแล้วพวกนี้ทำรังในสวนผลไม้ได้เช่นกัน ถ้าสภาพดินอ่อนนุ่มมีไส้เดือนจำนวนมาก ซึ่งเป็นอาหารหลักที่นกจะเขี่ยคุ้ยด้วยจะงอยปากจากดิน นำไปป้อนลูกในรัง ซึ่งดินร่วนซุยย่อมสะดวกต่อนกที่จะหาไส้เดือนได้ง่ายกว่าดินหน้าแล้งที่แห้งผาก

Advertisement

ถ้าเดินดูนกในป่ายามนี้ จะได้ยินเสียง 2 พยางค์ของนกแต้วแล้ว ส่งเสียงร้องหาคู่ ไกลหลายร้อยเมตร เหมือนกับไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพราะจะได้ยินเสียงตลอดทั้งวัน ยามค่ำคืน นกก็ร้องเช่นกัน เมื่อหาคู่ได้ นกจะทำรังทรงกลม มีทางเข้าด้านข้าง ขัดคาไว้กับคบไม้อาจสูงแค่เรี่ยดิน บนพื้นมีใบไม้แห้งปิดบังไว้เป็นการอำพรางชั้นยอด เพราะนกแต้วแล้วทุกชนิดมีสีสันฉูดฉาดสะดุดตา หากสีของขนลำตัวส่วนใหญ่จะวาวเหลือบเด่นขึ้นมาเมื่อโดนแสงแดด

ดังนั้น ถ้านกอยู่ใต้เรือนยอดของป่า ในร่มไม้ทึบ จากนกสีสะท้านใจจะกลายเป็นนกสีตุ่นๆ กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวไปทันที กอปรกับนิสัยของนกแต้วแล้ว จะกระโดดไปมา แล้วหยุดนิ่งไม่ไหวติง นานนับนาที ดังนั้นสัตว์ผู้ล่า หากมองระยะไกลใช่ว่าจะพบเห็นนกแต้วแล้วได้ง่ายๆ ถ้าไม่ใช่ระยะประชิด

ด้วยเหตุนี้ รังของนกแต้วแล้วจึงกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของพื้นล่างของป่าเป็นอย่างมาก หากมองเผินๆ ไม่เห็นนกบินเข้าไปในรังอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นรังนก สิ่งเหล่านี้เป็นผลของวิวัฒนาการร่วมกันระหว่างนกแต้วแล้วในฐานะเหยื่อ และสัตว์ผู้ล่าที่เป็นตัวเร่ง หรือแรงขับ ให้นกแต้วแล้วต้องปรับตัว เลือกสรรวิธีการทำรัง และตำแหน่งการสร้างรังเช่นนี้ หากในอดีตนกบางตัวทำรังโดดเด่น สังเกตง่ายก็จะถูกสัตว์ล่ารัง อาทิ ลิง ค่าง งู เหี้ย ตะกวด หรือแม้กระทั่งนกด้วยกัน เช่น นกกระปูด นกสาลิกาเขียว กินไข่ กินลูกนกทำให้ฤดูผสมพันธุ์นั้นสูญเปล่าไป

Advertisement

สายเลือดหรือพันธุกรรมของนกแต้วแล้วที่แสดงพฤติกรรมดังกล่าว ก็ไม่ถูกเลือกให้ไปต่อ หรือแพร่ขยายพันธุ์ เป็นการคัดเลือดชนิด “คัดออก” หรือ negative selection นั่นเอง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image