วัฏจักรซารอส (Saros Cycle) : คอลัมน์ ฟิสิกส์ธรรมดาสาระมันส์

ธรรมชาติอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับสุริยุปราคาคือ วัฏจักรซารอส (Saros Cycle)

เนื่องจาก Line of Nodes จะหมุนมาครบรอบภายในเวลา 18.61 ปี ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี Line of Nodes จะหมุนไป 19.34 องศา ทำให้ eclipse seasons ไม่ได้เกิดที่ตำแหน่งเดิมในวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์

แล้วต้องรอนานเท่าใดกว่าสุริยุปราคาจะกลับมาเกิดซ้ำที่ตำแหน่งเดิมในวงโคจรรอบโลกรอบดวงอาทิตย์?

คำตอบคือ 6,585.32 วัน(18 ปี 11 วัน 8 ชั่วโมง)

Advertisement

กล่าวคือ เมื่อเกิดสุริยุปราคาขึ้นครั้งหนึ่งแล้ว รอจนเวลาผ่านไป ราวๆ 6,585 วัน สุริยุปราคาลักษณะใกล้เคียงกับเดิมมากๆ จะกลับมาเกิดอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้เกิดที่ตำแหน่งเดิมอย่างสมบูรณ์เนื่องจาก Line of Nodes ไม่ได้วางตัวในแนวเดิมเทียบกับดาวฤกษ์พื้นหลังเป๊ะ แต่ก็มีการเปลี่ยนตำแหน่งไปน้อยมากๆ

นักดาราศาสตร์เรียกสุริยุปราคาที่เกิดขึ้นห่างกัน 6,585.32 วันซึ่งเกิดในตำแหน่งใกล้เคียงกันมากๆเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์พื้นหลังว่าอยู่ในซารอสเดียวกัน

สุริยุปราคาที่อยู่ในซารอสเดียวกันเปรียบได้กับการเกิดในตระกูล (Family) เดียวกัน เนื่องจากสุริยุปราคาในซารอสเดียวกันไม่ได้เหมือนกันอย่างสมบูรณ์ แต่มันจะเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย ดังนั้นสุริยุปราคาในแต่ละซารอสจึงมีการเกิด, เติบโต และจบลงที่การหายไป

Advertisement

คำว่า ซารอส ถูกเรียกครั้งแรกในปี ค.ศ.1619 โดย เอ็ดมัน ฮัลเลย์ (Edmond Halley) นักดาราศาสตร์และนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ

หนึ่งในซารอสที่สำคัญและน่าจดจำที่สุดคือ ซารอส 136 (Saros 136)

ในปี ค.ศ.1360 สงครามร้อยปี (Hundred Years’War) ได้ดำเนินมาระยะหนึ่งแล้ว ส่วนในประเทศจีนจักรพรรดิหย่งเล่อ (Yongle Emperor) ได้ถือกำเนิดขึ้นและได้กลายเป็นฮ่องเต้องค์ที่ 3 ของราชวงศ์หมิง

ในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ.1360 สุริยุปราคาแรกในซารอส 136 เกิดขึ้นที่ทวีปแอนตาร์กติกาและมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ สุริยุปราคาในขณะนั้นเป็นสุริยุปราคาบางส่วนซึ่งดวงจันทร์ได้บังดวงอาทิตย์ไปน้อยมากจนไม่สามารถสังเกตเห็นการบังได้ด้วยตาเปล่า และที่สำคัญคือในขณะนั้นไม่มีใครได้เห็นสุริยุปราคานี้

ในภาพแสดงตำแหน่งการเกิดสุริยุปราคาบางส่วน โดยพื้นที่ปิดล้อมด้วยเส้นทึบสีเขียวคือบริเวณที่สังเกตเห็นสุริยุปราคาบางส่วนซึ่งอยู่บริเวณทวีปแอนตาร์กติกา

สุริยุปราคาแรกๆ ของแต่ละซารอสจะเป็นสุริยุปราคาบางส่วนที่การสัดส่วนการบังน้อยมากและเกิดที่ขั้วโลกเสมอ

สุริยุปราคาในซารอส 136 เกิดขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ.1378 จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1486 ล้วนแล้วแต่เป็นสุริยุปราคาแบบบางส่วนซึ่งในแต่ละครั้งคราสเกิดการกินพื้นที่มากขึ้นๆ และตำแหน่งที่เกิดบนโลกค่อยๆ ขยับขึ้นทางขั้วโลกทีละเหนือ

ในปี ค.ศ.1504 เกิดสุริยุปราคาวงแหวนขึ้นที่ชายฝั่งแอนตาร์กติก และสุริยุปราคาครั้งต่อมาที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1522 จนถึงปี ค.ศ.1594 ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสุริยุปราคาวงแหวน ทว่าในครั้งต่อๆ มา ดวงจันทร์ค่อยๆ เคลื่อนเข้าก็โลกทีละนิดๆ

ต่อมาในปี ค.ศ.1612 สุริยุปราคาเกิดขึ้นแบบผสม กล่าวคือ ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกเฉียงใต้เกิดสุริยุปราคาแบบวงแหวนขึ้น แต่ความโค้งของโลกทำให้ผิวโลกเข้าใกล้ดวงจันทร์มากขึ้นทำให้บางส่วนบนโลกเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ต่อมาสุริยุปราคาในปี ค.ศ.1630 จนถึงปี ค.ศ.1685 ก็เป็นสุริยุปราคาแบบผสมทั้งสิ้น

ในที่สุด ปี ค.ศ.1703 เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงขึ้นเป็นครั้งแรกของซารอส 136

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่าทำไมซารอส 136 จึงสำคัญ ครั้งหน้าจะเล่าให้ฟังถึงความสำคัญของสุริยุปราคาครั้งนี้นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image