นกกระเต็นป่า : คอลัมน์ประสานักดูนก

นกกระเต็นลาย เพศผู้

เมื่อพูดถึง “นกกระเต็น” นักดูนกคงนึกถึงนกน้ำ จับปลา จับปูกิน เกาะตามกิ่งไม้ชายน้ำ อาทิ แม่น้ำ ลำคลอง หรือชายทะเล อันเป็นภาพชินตาของนกกระเต็นบางชนิด เช่น นกกินเปี้ยว นกกระเต็นหัวดำ นกกระเต็นอกขาว แต่มีนกกระเต็นอีกกลุ่ม ที่พบเฉพาะในป่าดิบชื้น บางครั้งป่าดิบแล้งที่แทบจะหาแหล่งน้ำไม่ได้เลย ก็พบนกกระเต็นได้ นกกระเต็นป่ากลุ่มนี้จะมีสีสันฉูดฉาดกว่านกกระเต็นสามัญประจำบ้านที่พบได้ง่ายๆ ในพื้นที่โล่งใกล้แหล่งชุมชน

นกกระเต็นไทย 16 ชนิด มี 2 ชนิดเท่านั้นที่เป็นนกกระเต็นอพยพเข้ามาในฤดูหนาว คือ นกกระเต็นหัวดำ และนกกระเต็นเฮอร์คิวลิส นอกนั้น เป็นนกกระเต็นประจำถิ่น หรือนก 2 สถานภาพ คือ มีประชากรประจำถิ่นทำรังวางไข่ในบ้านเรา และอีกกลุ่มที่อพยพเขามาในฤดูหนาว หรืออาจจะอพยพเข้ามาทำรังวางไข่ในฐานะ breeding visitor เช่น นกกระเต็นแดง นกกระเต็นน้อยสามนิ้ว

ในเมื่อภาพจำของนกกระเต็นต้องกินปลา แล้วนกกระเต็นป่ากินอะไร?

มากมายหลายชนิดที่นกกระเต็นป่าล่าเป็นอาหาร เป็นหลักฐานชั้นดีว่าป่าดิบนั้นอุดมสมบูรณ์ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมากขนาดไหน จากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมการเลี้ยงลูกนกกระเต็นป่า ซึ่งนกจะขุดโพรงเป็นรูในตลิ่งสูงของเนินดินเละๆ อาจจะเป็นริมลำธาร เนินดินแห้งๆ หรือในรังดินก้อนมหึมาของมดป่าหรือปลวกก็ได้นั้น พบว่าเมนูอาหารของนกกระเต็นป่าหลายชนิด อาทิ นกกระเต็นสร้อยคอสีน้ำตาล นกกระเต็นลาย นกกระเต็นน้อยสามนิ้ว มีมากมายอย่างคาดไม่ถึง

Advertisement
นกกระเต็นลาย เพศเมีย

บางชนิดเป็นสัตว์มีพิษด้วย เช่น ตั๊กแตน ตะขาบ จิ้งจก กิ้งก่า กบ เขียด ปาด และงู สัตว์เหยื่อบางชนิด เป็นสัตว์ป่าหายากที่นักดูนกไม่เคยเห็น แต่ได้เห็นก็ขณะอยู่ในปากของนกกระเต็นนี่แหละ (ฮา) อาทิ ปาดต้นไม้สีสวยๆ บางชนิด ที่ปกติอาศัยอยู่บนกิ่งไม้ ใบไม้สูง ชั่วชีวิตแทบไม่ลงมาต่ำๆ บนพื้นป่าเลย

นกกระเต็นนับเป็นนกเซื่องๆ เวลาพบจะเกาะนิ่งบนกิ่งไม้โล่งๆ ในป่า กระดกหัวหรือหางขึ้นลง เมื่อเห็นเหยื่อค่อยบินไปจับด้วยปากที่ทำหน้าที่เหมือนปากคีบ อาวุธสำคัญของนกกระเต็น เพราะจะงอยปากอวบหนา ปลายเรียวแหลม ที่ขอบของปากคมดั่งมีดโกน แรงงับของนกเมื่อคาบเหยื่อไว้จึงแน่นหนาขนาดเหยื่อดิ้นไม่หลุด หลังจากนกฟาดเหยื่อกับกิ่งไม้แรงๆ หลายครั้ง ทำให้เหยื่อสลบหรือตายคาที่ นกจะกินเหยื่อทั้งตัว ไม่ต้องฉีกเป็นชิ้นๆ ต่างจากนกนักล่า อาทิ เหยี่ยว หรือ นกอินทรีที่มีกรงเล็บช่วยจับยึดเหยื่อไว้ในอุ้งตีนแล้วใช้จะงอยปากโค้งคมดุจตะขอ ฉีกทึ้งเหยื่อกินเป็นชิ้นๆ

เวลานกกระเต็นนำมาเหยื่อเข้าป้อนลูกในโพรง ก็สร้างความประหลาดใจให้นักดูนกอย่างยิ่ง เพราะบางครั้ง ขนาดหรือความยาวของเหยื่อ ใหญ่และยาวยิ่งกว่าตัวพ่อแม่นก เช่น งู ลูกนกที่ตัวเล็กกว่าพ่อแม่จะกลืนกินเหยื่อเหล่านี้เข้าไปทั้งตัวได้อย่างไร คงมีเหยื่อบางส่วนปล่อยเน่าเละภายในโพรงรัง

Advertisement

เพราะรังของนกกระเต็นขึ้นชื่อเรื่องกลิ่นเหม็นเน่า คงเป็นเพราะเศษเหยื่อที่ย่อยไม่ได้ อาทิ กระดูก เกล็ด ที่นกต้องคายทิ้งออกมาจากปาก ปล่อยให้ไหลเลื่อนออกไปทางลำไส้ไม่ได้ อาจจะอุดตันทางเดินอาหาร เป็นเหตุให้นกตายก็เป็นได้

1.นกกระเต็นลาย เพศผู้
2.นกกระเต็นลาย เพศเมีย
//////////////////////////

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image