คอลัมน์ เริงโลกด้วยจิตรื่น : เหตุผลกับความรู้สึก

การอยู่ร่วมกันของ “เหตุผล” กับ “ความรู้สึก” อย่างประนีประนอมต่อกัน มีความสำคัญต่อความสงบสุข

การได้อ่าน ได้ยิน ได้สัมผัสสะสมเป็นความรู้ เมื่อประเมินและตัดสินใจเลือกก่อประสบการณ์ซึ่งแปรเปลี่ยนเป็นเครื่องกำหนดความคิด

ความรู้ผนวกความคิดสร้างเหตุผล

เหตุผลที่อธิบาย วิเคราะห์ ประเมินสิ่งต่างๆ

Advertisement

พบเห็น ได้ยินได้ฟังมาจากผู้มีประสบการณ์มาก จะยิ่งเป็นการอธิบาย วิเคราะห์ ประเมินได้น่าเชื่อถือศรัทธา เป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้เหตุผลสำหรับสัมผัสสัมพันธ์กับโลก

แต่สิ่งที่สัมผัสสัมพันธ์กับโลกมีอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ “ความรู้สึก”

ขณะที่เหตุผลเป็นผลึกของความรู้และประสบการณ์ก่อให้เกิดความคิด

Advertisement

“ความรู้สึก” เป็นผลึกที่ประกอบด้วยปัจจัยซึ่งดูลึกลับกว่า

บางเรื่องเห็นอยู่ทนโท่ด้วยเหตุด้วยผลว่า “ไม่ยุติธรรม” แต่กลับก่อความรู้สึก “ชื่นชมยินดีที่เกิดขึ้น” บางครั้งระดับ “สะใจ” จนต้องเฉลิมฉลอง

เช่นเดียวกัน ในบางเรื่องในเชิงเหตุผล “ชัดเจนยุติธรรม” แล้ว แต่กลับสร้างความรู้สึกผิดหวัง โกรธแค้นที่ผลออกมาเช่นนั้น

ผู้คนมากมายสัมผัสเรื่องราวต่างๆ ด้วยท่าทีที่ขัดแย้งในตัวเอง ระหว่างเหตุผลกับ “ความรู้สึก”

“ถูกต้อง” แต่ “ผิดหวัง”

“ผิดพลาด” แต่ “สมปรารถนา”

โลกของใครที่ดำเนินไปเช่นนี้ ย่อมไม่มีความสงบ

ขณะที่ไม่ว่าใครก็ตาม “สิ่งที่อธิบายได้” สอดคล้องกับ “ที่รู้สึก” ความสงบจะเกิดขึ้นใจจิตใจ

ด้วยเหตุนี้เอง การทำความเข้าใจที่มาของ “ความรู้สึก” จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ในมิติของเหตุผลต้องทบทวนความรู้ และใช้เวลาคิดวิเคราะห์

แต่ “ความรู้สึก” เกิดขึ้นทันทีเมื่อได้สัมผัสสัมพันธ์

ดูประหนึ่งว่ามีกลไกอัตโนมัติที่สร้างความรู้สึกขึ้นมา

สัมผัสกับสิ่งใด “ความรู้สึก” ชอบหรือชิงชังเกิดขึ้นทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาทบทวนความรู้ ค่อยๆ ก่อความคิด

คล้ายกับว่า “ความรู้สึก” เกิดขึ้นจาก “ดีเอ็นเอ-โครโมโซม-ผลของกรรมเก่า-ปมในใจต่างๆ-หรือกระทั่งปรารถนาลึกๆ ที่ตั้งเป้าหมายปณิธานไว้นมนานจนลืมเลือนไปแล้ว และอื่นๆ อีกมากมายที่เพ่นพ่านอยู่ในจิตใจ” และทุกสิ่งอย่างนั้นผสมผสานปรุงแต่งเป็น “ผนึกวิญญาณ” ที่พร้อมแสดงปฏิกิริยาทันทีต่อสิ่งหรือเรื่องราวที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิต

มนุษย์เราถูกเสี้ยมสอนความมี “เหตุผล” สำคัญกว่า “อารมณ์ความรู้สึก” แต่ส่วนใหญ่ของชีวิตกลับถูกตัดสินใจเลือกด้วย “ความรู้สึก”

เหมือนกับว่า “เหตุผลนั้นเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่จากความรู้และความคิด” แต่ “ความรู้สึกกลับเกิดขึ้นด้วยสิ่งที่มีอยู่แล้วในชีวิตไม่ว่าเราจะรับรู้การมีอยู่หรือไม่ก็ตาม”

เพราะ “เหตุผล” คือสิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่ เราจึงสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายถึงการมีอยู่ ทว่า “ความรู้สึก” แม้เกิดจากปัจจัยที่ฝังราก หยั่งลึกในความเป็นชีวิตมายาวนาน แต่กลับทำความเข้าใจหรือเห็นได้ยากกว่า เนื่องจากเราหลงลืมไปแล้ว

เพียงแต่ว่า มีอยู่ก็คือมีอยู่ ไม่ว่าจะหลงลืมหรือไม่ว่าเกิดขึ้นจากอะไร “ผลึกที่เกิดจากปัจจัยเหล่านั้น” ที่แสดงออกมาเป็น “ความรู้สึก” ก็มีอิทธิพลต่อความเป็นไปของชีวิต

ไม่ว่าเรื่องใดก็ตามที่ “เหตุผล” ขัดแย้งกับ “ความรู้สึก” ชีวิตก็ยากจะสุขสงบ

ทำอย่างไรให้ “เหตุผล” กับ “ความรู้สึก” ไม่ปะทะกัน เป็นเป้าหมายการฝึกฝนของชีวิต

ชีวิตที่ “เหตุผล” กับ “ความรู้สึก” อยู่ร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว

คือ “ภาวะแห่งความสงบ” อันเป็นความสุขที่แท้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image