ปฏิรูปการศึกษาไทย : คอลัมน์ โลกสองวัย

ประเทศไทยวันนี้เป็นยุค “ปฏิรูป” โดยพจนานุกรมฉบับมติชน 2547 ให้ความหมายว่า “ปรับปรุงให้สมควร” เช่น “ปฏิรูปบ้านเมือง”

หลังการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรัฐประหารจัดตั้งรัฐบาล มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อหมดวาระสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีการจัดตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เมื่อครบวาระ วันนี้จัดตั้งสภาปฏิรูปประเทศ

หนึ่งในการปฏิรูปประเทศคือปฏิรูปการศึกษา ในวาระแรกมีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาคณะหนึ่งและคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจอีกคณะหนึ่ง ส่วนอีก 11 คณะ หรือการปฏิรูป 11 ด้าน วันนี้จัดตั้งขึ้นแล้ว แม้ยังไม่ครบจำนวนตามที่ต้องการก็ตาม

คณะปฏิรูปการศึกษาประชุมกันหลายครั้ง ทั้งประชุมระหว่างคณะกรรมการด้วยกัน และเชิญผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษามาประชุมร่วมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในด้านที่เกี่ยวกับการศึกษา เช่น ด้านปฐมวัย ด้านการเรียนการสอน ด้านหลักสูตร และด้านการบริหาร

Advertisement

ขณะที่มีการพูดถึงระบบการศึกษาของต่างประเทศ มีการยกระบบการศึกษาของญี่ปุ่น ระบบการศึกษาของสิงคโปร์ และระบบการศึกษาของฟินแลนด์ ที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดในขณะนี้ ทั้งยังมีผู้บอกกล่าวว่า อันที่จริงระบบการศึกษาของเนเธอร์แลนด์ น่าจะดีที่สุด

วันนี้มีการเผยแพร่ระบบการศึกษาที่ว่าดีที่สุดในโลกคือของประเทศฟินแลนด์ World Economic Forum รวบรวม 7 เหตุผลที่ทำให้การศึกษาของฟินแลนด์ที่มีชื่อเสียงได้รับการยกย่องว่ามีการศึกษาดีที่สุดในปัจจุบัน จนสามารถเป็นต้นแบบของการพัฒนาการศึกษาในทุกประเทศได้

หัวใจสำคัญความสำเร็จของฟินแลนด์ คือการให้ความสำคัญกับการศึกษาของเด็กตั้งแต่ก่อนอนุบาล และอีกหลายปัจจัยที่ส่งเสริมคุณภาพการศึกษาให้เข้าขั้นสมบูรณ์แบบ ดังนี้

Advertisement

1.แข่งขันไม่สำคัญเท่าร่วมมือ

โรงเรียนในฟินแลนด์ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันสร้างชื่อเสียงเพื่อแย่งนักเรียน เพราะไม่มีโรงเรียนเอกชนในประเทศ ทุกสถาบันการศึกษาดำเนินการโดยงบประมาณจากภาครัฐ การร่วมมือระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจึงเป็นไปอย่างราบรื่น แต่การไร้การแข่งขันไม่ทำให้ครูสอนเด็กอย่างเฉื่อยชา หรือโรงเรียนจัดการเรียนการสอนอย่างด้อยคุณภาพแต่อย่างใด ตรงกันข้าม โรงเรียนและครูต่างมีพันธสัญญาในการทำหน้าที่อย่างดีที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องทดสอบมาตรฐานด้วยซ้ำ

2.ครูเป็นอาชีพมีศักดิ์ศรีและรายได้สูง

เหตุที่ครูในฟินแลนด์ไม่จำเป็นต้องถูกตรวจสอบมาตรฐานและมีการแข่งขันกันเพื่อให้ทำงานได้มาตรฐาน เพราะอาชีพครูในฟินแลนด์เป็นอาชีพที่ได้รับความเคารพและเงินเดือนสูง ทำให้มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น โดยอัตราผู้สอบเข้าบรรจุครูได้อยู่ที่ร้อยละ 7 เท่านั้น

ผลคือผู้ที่จะเป็นครูต้องเป็นบุคลากรระดับหัวกะทิของประเทศ ในฐานะที่ประเทศฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาทรัพยากรบุคคล ผู้ที่จะเข้ามาเป็นครูได้ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และนักศึกษาครูต้องผ่านการฝึกสอนกับโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยตนเองก่อน เช่นเดียวกับระบบการเรียนของคณะแพทยศาสตร์ที่ต้องให้นักศึกษาแพทย์ฝึกรักษาจริงก่อนจบการศึกษา

แม้ฟินแลนด์จะกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจหนักหน่วง แต่ไม่มีการประนีประนอมมาตรฐานในด้านการคัดเลือกและฝึกอบรมครู

เพียงสองข้อ ประเทศไทยยังไม่น่าจะทำได้ แม้มีความจำเป็นต้อง “ปฏิรูป” เพราะปัญหาของไทยคือ รัฐยังไม่พร้อมที่จะจัดตั้งสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ถึงอาชีวศึกษา ถึงอุดมศึกษา โดยใช้งบประมาณของรัฐทั้งหมด รวมถึงรายได้ของครู กระนั้น เราควรต้องรู้ถึงอีก 5 ข้อ อาจจะมองเห็นช่องทางบางประการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image