คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : ‘บิ๊กดาต้า’ รู้เขารู้เรายุคดิจิทัล

ปัจจุบันองค์กรธุรกิจน้อยใหญ่ทั้งหลายต่างตื่นตัวเรื่องการจัดเก็บ และการบริหารจัดการ “ข้อมูล” กันเป็นอันมาก เพราะตระหนักดีว่า “ข้อมูล” เป็นสินทรัพย์ล้ำค่า หากรู้จักนำมาใช้ประโยชน์ แต่ท่ามกลางมหาสมุทร “ข้อมูล” ที่ไหลบ่ามาจากทุกทิศทุกทาง ถ้าไม่มีการบริหารจัดการที่ดี “ข้อมูล” ก็พร้อมแปลงร่างกลายเป็น “ขยะ” ได้ทันที ซึ่งการจัดระบบระเบียบเพื่อให้นำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

ในระดับประเทศ รัฐบาลเริ่มตื่นตัวมาพักใหญ่แล้ว

สัปดาห์ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลนี้พยายามผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้คือ “ฐานข้อมูลภาครัฐ” สำหรับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เพื่อให้สามารถนำไปวิเคราะห์ ใช้ประโยชน์ได้ในลักษณะ “บิ๊กดาต้า” (Big Data) โดยในปีนี้ (2560) รัฐบาลจะใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท พัฒนา “Big Data” ใน 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่

1.การสร้างบุคลากร ด้วยการเร่งผลิต “นักวิเคราะห์ข้อมูล”

Advertisement

2.การบริหารจัดการข้อมูลในกรณีที่มีข้อมูลอยู่แล้ว และจัดทำข้อมูลใหม่ๆ

และ 3.การพิจารณาระบบซอฟต์แวร์สำหรับใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการสร้างแบบจำลอง “Data Model” ให้เหมาะสมกับประเภทข้อมูล และปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์โลก

“ประโยชน์ที่จะได้รับอาจประเมินค่าเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจไม่ได้ แต่ถ้าทำได้จริงจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม และทำให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขัน และผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ทันต่อการแข่งขันในอนาคตได้” นายกรัฐมนตรีย้ำ

Advertisement

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิทยสิริเมธีได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อ DATA Science & Engineering Seminar “How Data Science Can Help Improve Business” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับหัวกะทิด้านข้อมูลมาให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจยุคเศรษฐกิจ 4.0 เพื่อตอกย้ำความสำคัญของ “บิ๊กดาต้า” และกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจอัจฉริยะด้วยเช่นกัน

ดร.สรณะ นุชอนงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Data Engineering & Scalable Machine Learning จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า ข้อมูลบิ๊กดาต้ามาจากหลายแหล่งจากเครื่องมือ, ระบบ และทรานแซคชั่นที่มีอยู่มาก ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่เข้าไปเกี่ยวข้อง หรือจากโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงระบบเซ็นเซอร์ วิดีโอ หรือ voice data และเมื่อหลอมรวมสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน จะเห็นว่า “บิ๊กดาต้า” สัมพันธ์กับกระบวนการวิเคราะห์ ระบบธุรกิจอัจฉริยะ

“องค์กรควรเตรียมพร้อมรองรับบิ๊กดาต้าโดยทำให้เกิดความเข้าใจระบบ และทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนบิ๊กดาต้า หรือรู้วิธีจัดเก็บ ซึ่งควรเรียนรู้ระบบ หรือรูปแบบของบิ๊กดาต้าแบบใหม่ๆ ต้องเตรียมคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ”

จริงอยู่ที่ “บิ๊กดาต้า” เป็นเรื่องใหญ่ แต่การเริ่มต้นสามารถเริ่มจากโครงการขนาดเล็กเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ไปก่อนได้

สิ่งสำคัญที่ประกอบกันเป็น “บิ๊กดาต้า” แบ่งออกได้เป็น 4 Vs

1.Volume ปริมาณข้อมูลมากมาย เพียงองค์กรเดียวก็มีข้อมูลมากมายที่ต้องประมวลผล

2.Variety มีความแตกต่างหลากหลายรูปแบบ เช่น ข้อมูลสุขภาพทั่วโลกปี 2554 คาดว่ามีปริมาณ 150 เอ็กซาไบต์ ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก 3 หมื่นล้านข้อมูล ข้อมูลทวิตเตอร์ 400 ล้านทวีตที่ส่งต่อวันจากผู้ใช้ประมาณ 200 ล้านราย เป็นต้น

3.Velocity เร็วมากและเปลี่ยนแปลงแบบเรียลไทม์ ซึ่งต้องสตรีมมิ่งข้อมูลเข้าด้วยกัน เช่น ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก 1 เทราไบต์ต่อ 1 ช่วงเวลาเทรด หรือรถรุ่นใหม่มีเซ็นเซอร์กว่า 100 จุด ไว้ตรวจสอบสถานะพลังงานเชื้อเพลิง เป็นต้น

และ 4.Veracity มีความคลุมเครือ ไม่แน่นอน

นักธุรกิจ 1 ใน 3 ไม่เชื่อถือในข้อมูลที่นำมาใช้ในการตัดสินใจ โดยในประเทศสหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายของข้อมูลคุณภาพต่ำสูงถึง 3.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ดังนั้น การที่องค์กรธุรกิจจะใช้ “บิ๊กดาต้า” มาทำให้การตัดสินใจดีขึ้น พัฒนาประสิทธิภาพ และเพิ่มกำไรได้ จำเป็นต้องจัดการข้อมูลมหาศาล และซับซ้อนเหล่านี้ให้ได้ก่อน

จากการสำรวจยังพบด้วยว่า ทุกวันนี้ น้อยกว่า 0.5% ของดาต้า (data) เท่านั้น ที่มีการนำมาวิเคราะห์และใช้งาน ฉะนั้นเมื่อ “บิ๊กดาต้า” มีจำนวนมหาศาล หลากหลายรูปแบบ ทั้งที่มีการจัดโครงสร้าง (Structured) ไม่จัดโครงสร้าง (Unstructured) และกึ่งจัดโครงสร้าง (Semi structured) ทำให้การจะนำข้อมูลมหาศาลเหล่านี้มาใช้ได้ต้องผ่านกระบวนการวิเคราะห์ธุรกิจอัจฉริยะ ซึ่งช่วยทำให้การตัดสินใจดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างผลกำไรได้

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการบริหารจัดเก็บข้อมูลที่จะช่วยในการตัดสินใจ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ 1.การสรุปและอธิบายข้อมูล (Descriptive Analysis) เช่น ยอดขายและรายได้ต่อเดือน 2.ตัวเลขคาดการณ์ และการประเมินรายได้ในอนาคต (Predictive Analysis) และ 3.เป็นการให้คำแนะนำ (Decision Analysis) เช่น คำแนะนำตัดสินใจลงทุน

ดร.สรณะทิ้งท้ายด้วยว่า “ทุกวันนี้โอกาสของ ?บิ๊กดาต้า? มีมากขึ้นมากจากความง่ายในการจัดเก็บข้อมูล ทั้งจากสมาร์ทโฟนผ่านโซเชียลมีเดีย, ข้อมูลภายในหน่วยงานองค์กร, ข้อมูลลูกค้า อีกทั้งปัจจุบันอุปกรณ์จัดเก็บต่างๆ ยังมีราคาถูกลงมาก เช่น ฮาร์ดไดรฟ์ มีราคาต่อกิกะไบต์ ลดลงต่อเนื่อง จากปี 2552 มีราคาอยู่ที่ 11 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปี 2556 ลดเหลือ 0.5 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น”

คำกล่าวที่ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”ยังคงใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย แม้จะไม่ต้องสู้รบกับใคร การรู้ความต้องการของลูกค้าของผู้บริโภค รู้จักเข้าใจคู่แข่งก็ยังคงมีความสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image