ไม่ใช่ใครๆ ก็เป็น”สตาร์ตอัพ”ได้ คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

7 ปีก่อน ถ้าพูดถึง “สตาร์ตอัพ” แทบไม่มีใครรู้จักว่า คืออะไร เพราะเวลานั้นแม้แต่ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้บุกเบิกสตาร์ตอัพ” ในปัจจุบัน วันนั้นก็ยังเรียกตนเองไม่ถูกเหมือนกันว่าเป็นอะไร รู้แค่ว่า ไม่อยากทำอะไรเหมือนเดิม ไม่อยากเจอปัญหาเดิมแบบที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เจอมาตลอดหลายสิบปี

“Builk” เป็นหนึ่งในนั้น

ก่อนผันตัวเองมาเป็นสตาร์ตอัพ “ไผท ผดุงถิ่น” รับช่วงธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจากครอบครัว แต่ทำไปสักพักก็รู้สึกว่าหลายปัญหาที่ประสบพบเจอล้วนเป็นเรื่องซ้ำๆ ซึ่งเขาเห็นมาตั้งแต่เด็กจึงคิดว่า ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลง

นำมาสู่การตั้งบริษัท บิลด์เอเชีย จำกัด พัฒนาซอฟต์แวร์ (Builk.com) ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้กับธุรกิจก่อสร้าง

ไม่เฉพาะธุรกิจของตนเอง แต่หมายรวมถึงวงการก่อสร้าง และไม่เฉพาะในประเทศไทย

Advertisement

“งานก่อสร้างมีปัญหาหลักๆ คือความเสี่ยงกับความไร้ประสิทธิภาพ ผมทำก่อสร้างมา ไม่เคยรู้เลยว่ากำไรขาดทุนเท่าไร โดนโกง จ่ายเงินร้านวัสดุช้า เพราะเจ้าของงานจ่ายช้า เป็นทอดๆ ไป เป็นปัญหาสะสมในวงการนี้ 40-50 ปี ตั้งแต่รุ่นพ่อ ก็คิดว่า ทำไมไม่แก้ปัญหานี้ ถ้าผู้รับเหมาห่วยทำไมต้องทน ผู้รับเหมาดีๆ ก็มี อะไรที่ทำให้ผู้รับเหมาดี ก็ไปหาโซลูชั่นมาแก้ให้ผู้รับเหมาห่วย เป็นผู้รับเหมาดี”

เขาไม่ได้เห็นภาพ “BUILK” วันนี้ ตั้งแต่วันแรกที่ทำ แต่ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

จากความต้องการที่จะแก้ปัญหา และหาโมเดลธุรกิจใหม่ที่ยั่งยืนกว่าทำให้ “เขา” พาตนเองออกจากไซต์งานก่อสร้างไปพรีเซ็นต์แผนธุรกิจที่เวียดนาม และได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันชิงชนะเลิศในเวทีสตาร์ตอัพ

Advertisement

ที่สิงคโปร์ทำให้ได้ไปหาความรู้เพิ่มเติมใน “ซิลิกอน

วัลเลย์” เมืองแห่งสตาร์ตอัพโลก

“สมัยก่อนผมไม่มีที่ยืน ปรึกษาใครก็ไม่ได้ ไม่มีลมใต้ปีกมาซัพพอร์ตสตาร์ตอัพเหมือนทุกวันนี้ ต้องไปหาเวทีสตาร์ตอัพที่เวียดนาม แต่ที่เปลี่ยนจริงๆ คือตอนชิงชนะเลิศที่สิงคโปร์ มีเมนเทอร์ต่างๆ มาสอน มาบอกว่า โมเดลโฆษณาเขาเลิกพูดไปตั้งนานแล้ว ผมก็ครับๆ พี่ ผมเพิ่งมาจากป่า เขาก็ช่วยคิดกันมาว่า มีอะไรที่ดีกว่า มีเรื่อง บิ๊กเดต้า มีนั่นนี่ เราก็เอาไปโม้ต่อ การพิตช์ คือการขายฝัน ผมขายฝันได้ มีคนคิดว่าพอเป็นไปได้ก็ค่อยๆ ประกอบฝันไป”

เขาเล่าว่า ฝรั่งบอกว่า โปรแกรมอย่างที่ Builk ทำควรเก็บตังค์คนใช้บริการอย่างน้อยคนละ 50 เหรียญ เพราะเข้าไปช่วยธุรกิจได้จริงๆ แต่เขาเชื่อว่า นี่คือ

“เซาท์อีสต์เอเชีย” ที่ฝรั่งไม่เข้าใจว่า คนไม่จ่ายเงิน

และถ้าอยากเปลี่ยนวงการนี้ ต้องทำเหมือน “ไลน์” เหมือน “เฟซบุ๊ก” คือ ให้ใช้ฟรีไปก่อน

พัฒนาการของเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน และเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุมทำให้การเข้าถึงการใช้โปรแกรมฟรีของ “Builk” ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

“ธุรกิจยุคนี้ต่างจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่มีใครเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ไม่มีใครถือสมาร์ทโฟน กดสมาร์ทโฟนเรียกแท็กซี่ เรื่องนี้ไม่เกิดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ธุรกิจกับเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ผสมผสานกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

โดย Builk เป็นแพลตฟอร์มสำหรับวงการก่อสร้าง ซึ่งเปรียบได้กับ “นั่งร้าน” เป็นที่ให้คนมาเหยียบเพื่อให้ไปได้ไกลขึ้น

“ผมได้แรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัว เอาโซเชียล

มีเดียมาผสมกับการคุมต้นทุน เอาเรื่องที่อ่านเจอมาลองทำ โปรแกรมของเราช่วยลดต้นทุน เพิ่มกำไร และทำให้ผู้รับเหมามีชีวิตที่ดีขึ้น”

หลังจากมีผู้รับเหมาก่อสร้างกว่า 5,000 บริษัท เข้ามาใช้งาน Builk ก็เริ่มทดสอบบริการ “อีคอมเมิร์ซ” โดยเปิดหน้าร้านออนไลน์ให้ผู้รับเหมาสั่งซื้อสินค้าได้ ทำไปสักพักก็คิดว่า ถ้าขายอยู่คนเดียวก็ได้ไม่เยอะจึงสร้างเครือข่ายดึงร้านค้าวัสดุก่อสร้างทั่วไปให้ขึ้นมาขายของได้ เป็น “มาร์เก็ตเพลสสำหรับร้านวัสดุก่อสร้าง”

“ฝรั่งเรียกเราว่า เวิร์กโฟลว์อินทิเกรเต็ด มาร์เก็ตเพลส คือเป็นมาร์เก็ตเพลสที่วางเวิร์กโฟลด์ไว้ให้แล้ว โดยการทำโปรแกรมฟรี แปลว่าชีวิตของผู้รับเหมาก่อสร้าง ตั้งแต่ 8 โมงเช้า-5 โมงเย็น จะอยู่บนนี้ เขาแค่จิ้มไม่กี่คลิกก็สั่งของได้ เช็กราคาวัสดุได้ เปลี่ยนเกมการสั่งซื้อไปหมด”

แน่นอนว่า การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้รับเหมารุ่นเก่าให้มาใช้เทคโนโลยี “ดิจิทัล” ไม่ง่ายเลย “ไผท”จึงใช้วิธีลงพื้นที่จัดเวิร์กช็อปกับผู้รับเหมาในพื้นที่ต่างๆ

ทั่วประเทศ

“ปีที่แล้วจัดไป 70 ครั้ง แปลว่า ทุกสัปดาห์มี 1.4

อีเวนต์ ไปมุกดาหาร ไปจังหวัดโน้นนี่ เพราะต้องเทิร์น

พฤติกรรมเขาจากออฟไลน์มายังออนไลน์ให้ได้”

เพราะคนทำสตาร์ตอัพ มีสูตรสำเร็จ 2 ขั้นตอน

ขั้นที่ 1 เปลี่ยนนิสัยหรือพฤติกรรมเดิมคนให้ได้ ซึ่งยากมากจึงต้องใช้เวลาและความอดทน

ขั้นที่ 2 เมื่อเปลี่ยนได้แล้วจะรักษาเอาไว้ให้นานที่สุดอย่างไร เพราะจะมีคู่แข่งมาเปลี่ยนนิสัยเสมอ

“ชีวิตลูกค้ามี 24 ชั่วโมงเท่านั้น แปลว่า ถ้า 8 ชม. นอน 8 ชม.ทำงาน และอีก 8 ชม.เป็นเรื่องไลฟ์สไตล์ เราจะแบ่งพายตรงนี้ยังไง ถ้าในนั้น 2 ชั่วโมงเขาหมดไปกับเฟซบุ๊กอีก 2 ชั่วโมงกับไลน์ และอื่นๆ คนไหนที่แบ่งพายชีวิตคนได้ นั่นคือธุรกิจ คนไหนทำแอพพ์ออกมาแล้วแบ่งพายไม่ได้ ไม่มีทางเป็นธุรกิจเลย”

และ Builk อยู่ใน 8 ชม.ในการทำงานของผู้รับเหมาก่อสร้าง จากเดิมเคยทำงานบนกระดาษปากกาเปลี่ยนมาอยู่บนโปรแกรม

“ชีวิตผู้รับเหมาเป็นหมื่นรายอยู่กับเรา นี่คือธุรกิจผม คิดเป็น 6% ของอุตสาหกรรม อีกกว่า 90% ยังไม่ได้ใช้ปีที่แล้วบริษัทที่ใช้ Builk ทำงานก่อสร้างคิดเป็นมูลค่า 3 หมื่นล้าน ปีนี้น่าจะถึง 6 หมื่นล้าน และโตอีกเท่าตัวปีหน้า”

ใครที่อยากเป็น “สตาร์ตอัพ” ในฐานะรุ่นพี่ “ไผท” ย้ำว่า สตาร์ตอัพไม่ใช่ที่ที่ทุกคนควรมาเป็น และไม่ใช่เวทีของคนไร้ประสบการณ์ จึงควรไปหาประสบการณ์ในสตาร์ตอัพอื่นสัก 2-3 ปี จะย่นระยะเวลา 5-10 ปีมาแน่นๆ ใน 1-2 ปีแรก

“ถ้าคุณไม่เกี่ยงงาน ไม่เกิน 25 คุณจะมีความพร้อมที่จะเป็นสตาร์ตอัพเยอะมาก และไม่แก่เกินที่จะล้ม มีแรงที่จะเสี่ยง มีความรู้ และวุฒิภาวะ อย่าคิดว่าสตาร์ตอัพ

เป็นเรื่องของเด็กอายุน้อยร้อยล้าน คำพูดแบบนี้นำไปสู่ความเข้าใจผิดๆ

คนสำเร็จก็มี คนไม่สำเร็จก็เยอะมาก เด็กที่ออกมาไม่สำเร็จจะมีแผล เป็นการทำร้ายทรัพยากรมนุษย์ของไทย ถ้าชวนมาแล้วเขาต้องมาเจ็บในสิ่งที่ไม่ควรเจ็บ”

อายุเฉลี่ยของ “สตาร์ตอัพ” ที่ดึงนักลงทุนมาได้ คือ 31 ปี ทั้งในซิลลิคอนวัลเลย์ ในไทยเองก็อายุเกิน 30 ปี

“เราเกิดในยุคที่มีอินเตอร์เน็ต ขอแค่ตั้งเป้าเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ แต่ความรู้ที่ฟังมา อาจเป็นเพียงความรู้มือสอง จะไม่มีประโยชน์ หากไม่ลงมือทำ การลงมือทำจริง คือการเอาสมมุติฐานไปทำให้เป็นความจริง ซึ่งไม่ถูกก็ผิด”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image