ซีเนียร์ ลิฟวิ่ง คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน บ้าน

แฟ้มภาพ

ส.ว.ทั้งหลายโปรดฟังทางนี้

ประเทศไทยกำลังกระดึ๊บ กระดึ๊บ เข้าสู่ภาวะการเป็นสังคมประชากรผู้สูงวัย อยากหรือไม่อยากก็ต้องทำใจยอมรับ

มีคำกล่าวว่า มนุษย์ทุกคนที่เกิดมา มี 5 สิ่งเป็นของตนเอง ได้แก่ มีการเกิดเป็นของตนเอง, มีการเจ็บป่วยเป็นของตนเอง, มีการแก่เป็นของตนเอง, มีการตายเป็นของตนเอง และมีกรรมเป็นของตนเอง

ในเชิงสถิติ ตอนนี้ตามงานสัมมนาจะเจอข้อมูลนี้ บอกเลย เริ่มจากปี 2546 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงวัยสัดส่วน 10% ของประชากรรวมทั้งประเทศ

Advertisement

ในทางสากล เขาบอกว่า ถ้าประเทศใดก็ตามมีสัดส่วนประชากรผู้สูงวัย (นิยามคือประชากรวัยเกษียณ) ตั้งแต่ 8% ขึ้นไป ประเทศนั้นเริ่มต้นเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

สำหรับเมืองไทยอีก 8 ปีหน้าหรือปี 2568 ผู้สูงวัยเพิ่มเป็น 20% แนวโน้มปี 2578 เพิ่มเป็น 30% สาเหตุเพราะยุคเบบี้บูมเมืองไทยซึ่งเกิดล่าช้ากว่าญี่ปุ่นและอเมริกา หรือเกิดปี 2506-2526 เรียกว่าเป็นรุ่น 1 ปัจจุบันอายุ 55-80 ปี

แล้วผู้สูงวัยรุ่น 2 ล่ะ มีกูรูทั่นบอกว่าสิริอายุอยู่ระหว่าง 34-54 ปีน่ะสิ

Advertisement

บทบาทของภาครัฐ สถิติบ้านผู้สูงอายุ ณ ปี 2496-2498 มีบ้านบางแค บ้านธรรมปกรณ์, หลังจากนั้น ห่างกัน 41 ปีจึงเริ่มมีการพัฒนาโครงการในปี 2537 จนถึงปี 2548-2550-2554

ปัจจุบันมีสถานสงเคราะห์คนชรา 20 แห่ง รับได้แค่ 2,285 คน

พฤติกรรมเมืองไทยผู้สูงวัยชนบทชอบอยู่บ้านตัวเอง 92% ผู้สูงอายุในเมือง 72% (ติดบ้านน้อยกว่าคนชนบท) เทียบกับญี่ปุ่นมีสัดส่วนเกิน 75% อเมริกาเกิน 95% อยากอยู่บ้านตัวเองเพราะธุรกิจเฮลธ์แคร์บูมมาก

คำว่า เฮลธ์แคร์ (Health Care) ก็ดี เดย์แคร์ (Day Care) ก็ดี เป็นที่มาของธุรกิจปรับปรุงบ้านและทำเดย์แคร์บูมขึ้นมา จึงขอฝากให้บุตรหลานหันมาเน้นการปรับปรุงบ้านให้กับผู้สูงอายุในบ้าน

ถือโอกาสรณรงค์ เทศกาลวันพ่อปีนี้+ช่วงปลายปีถ้าหากรัฐบาลมีมาตรการช้อปช่วยชาติออกมาใช้ บรรดาลูกหลานทั้งหลายลองโฟกัสการจับจ่ายใช้สอยสำหรับปรับปรุงบ้านผู้สูงวัย ก็จะถือเป็นเรื่องน่ารักระดับ 10 กันเลยทีเดียว ใช้เงินครัวเรือนละ 2 แสนบาทก็เอาอยู่

มาถึงตรงนี้ก็จะมีคำถามตามมาอีกนั่นแหละ ออกแบบยังไง ดีไซน์แบบไหนที่ผู้สูงวัยจะชอบ มีคำพูดของ “หมอเนะ-รศ.พญ.ศิวาพร จันทร์กระจ่าง” เจ้าของมีสุข เรสซิเดนซ์ เชียงใหม่ บอกว่า สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงอายุ ให้เขาไปอยู่ในที่ชอบ ที่ชอบ(ฮา)

ไม่ได้แช่งชักหักกระดูกแต่อย่างใด ในทางวิชาการเรียกว่า Give what they need ปัจจัยพื้นฐานความต้องการของคนเราทุกคนคือต้องการบ้าน

ข้อแนะนำที่น่าสนใจคือ ทำเลสำคัญต้องเดินทางถึงโรงพยาบาลใน 10 นาที เผื่อไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน

ในด้านค่าใช้จ่าย ดูตัวอย่างจากโครงการสวางคนิเวศ สภากาชาดไทย เป็นห้องชุด ไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์แต่เป็นสิทธิการเช่า อยู่ได้ตลอดชีวิต เงินเพียง 1 ล้านบาท ค่าส่วนกลาง 2,500 บาท/ห้อง มีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 1.5-2 หมื่นบาท

อยากรู้ว่าต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่ คำนวณเอาเองนะคะ ถ้าเดือนละ 15,000 บาทต้องมีปีละ 180,000 บาท กะจะอยู่สิบปีต้องมีเงินเก็บ 1.8 ล้านบาท อะไรประมาณเน้

เก็บตกจากงาน ธอส.เอ็กซ์โป เมื่อเร็วๆ นี้ ไฮไลต์เขาอยู่ที่โปรโมตสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัย ก็เลยจัดเสวนาการลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยด้วย

มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาฝากค่ะ

ก่อนอื่นขอแนะนำ “ธอส.” ก็คือธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นแบงก์รัฐ หมายความว่ารัฐบาลเป็นเจ้าของ มีภารกิจเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้

เหตุผลเพราะผู้มีรายได้น้อยมีความสามารถในการซื้อบ้านต่ำมาก รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาดูแล (คนรวยให้เขาช่วยตัวเอง)

ปรากฏว่า บ้านสำหรับผู้สูงวัย หรือซีเนียร์ ลิฟวิ่ง (Senior Living) ช่วยผู้ซื้อบ้านขาเดียวไม่พอ ทาง ธอส.ต้องเข้าไปช่วยปล่อยสินเชื่อฝั่งผู้ประกอบการให้เขาพัฒนาบ้านผู้สูงอายุออกมาด้วย

เรื่องดอกบ้งดอกเบี้ยเราไม่ต้องไปสนใจมากนักหรอก ในที่นี้อยากชวนมาดูโครงการบ้านผู้สูงวัยว่ามีอะไรมั่งดีกว่า เพราะ ธอส.เขาทำเช็กลิสต์หรือทำรายการภาคบังคับ 10 ข้อ สำหรับบริษัทไหนก็ตามที่อยากขอสินเชื่อกับ ธอส. ต้องสร้างแบบบ้านตามนี้

รายละเอียด ได้แก่ 1.ทางเข้าอาคาร พื้นเรียบเสมอกัน ถ้าอาคารและพื้นถนนต่างระดับต้องมีบันไดหรือทางลาดที่สามารถขึ้น-ลงสะดวก 2.พื้นและวัสดุ ไม่ลื่น ไม่สะท้อนแสง ไม่มีพื้นต่างระดับ เช่น ห้องครัว ห้องนอน ห้องโถง ห้องน้ำ ฯลฯ

3.ประตู กว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร เป็นแบบบานเลื่อน 4.อุปกรณ์ไฟฟ้า อาทิ สวิตช์ ปลั๊กสูงจากพื้น 90 เซนติเมตร มีขนาดใหญ่กว่าปกติ มีแสงเมื่อเปิดสว่าง และมีระบบตัดไฟฟ้าลัดวงจรอัตโนมัติ 5.สัญญาณฉุกเฉิน ติดตั้งในพื้นที่สำคัญ เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ

6.ห้องน้ำ ขนาดกว้างคูณยาว 1.5×2 เมตร หรือมีพื้นที่ให้รถเข็นผู้สูงอายุหรือวีลแชร์เข้า-ออกสะดวก โถสุขภัณฑ์แบบนั่งราบ (ชักโครก) มีราวจับ ก๊อกน้ำแบบก้านโยกหรือก้านหมุนหรือระบบอัตโนมัติ มีที่นั่งอาบน้ำ มีราวจับตั้งแต่ประตูจนถึงโถส้วมและที่อาบน้ำ

7.ห้องนอน อยู่ชั้นล่าง มีพื้นที่วีลแชร์เข้า-ออกสะดวก มีห้องน้ำในตัว มีหน้าต่างระบายอากาศ

8.บันได กว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ลูกตั้งหรือความสูงขั้นบันได 18.5 เซนติเมตร มีราวจับ ถ้าเป็นคอนโดมิเนียมบันไดต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร ลูกตั้ง 18.5 เมตร ลูกนอนกว้าง 25 เซนติเมตร

9.บันไดหนีไฟ สำหรับโครงการแนวสูง กว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ลูกตั้งสูง 18.5 เซนติเมตร ลูกนอน 25 เซนติเมตร และ 10.ในขณะที่ถ้าอาคารสูงเกิน 3 ชั้นขึ้นไป ต้องมีลิฟต์อย่างน้อย 1 ตัว

เพราะฉะนั้น ลูกค้าผู้สูงวัยทั้งหลาย หรือแม้แต่ลูกหลานผู้สูงวัย ถ้าหากกำลังมองหาอสังหาริมทรัพย์สำหรับป๊ะป๋า-หม่ามี้ ไม่ต้องคิดอะไรมากแค่หยิบ 10 ข้อนี้ไปตรวจสอบดูว่ามีครบหรือปล่าว

ถ้าครบถ้วนแนะนำซื้อได้เลย ธุระกตัญญูซื้อของใหญ่-ได้ของดี บุญหนักแน่นอนค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image