คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : สุขที่ได้สร้าง

วงไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิก ออเคสตรา หรือวง ทีพีโอ ได้ปิดฤดูกาลการแสดงที่ 12 ไปแล้ว

เดือนพฤศจิกายน ฤดูกาลการแสดงปีที่ 13 จะเริ่มขึ้น

สำหรับฤดูการแสดงปีที่ 12 ที่เพิ่งปิดไปนั้น มีโปรแกรมส่งท้าย คือ บทเพลงซิมโฟนี หมายเลข 9 ของ ลุดวิจ ฟาน บีโธเฟน (Ludwig van Bethoven) นักประพันธ์ชาวเยอรมัน (ค.ศ.1770-1827)

ดาวเด่นประจำคอนเสิร์ตครั้งนั้นคือ พิจาริน วิริยะศักดากุล น้องร้องเสียงโซปราโน (Soprano) ศิษย์ดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Advertisement

เธอขึ้นขับร้องเพลง Ode to Joy ในท่อนที่ 4 ของซิมโฟนี หมายเลข 9

ขับร้องร่วมกับนักร้องชาวต่างประเทศที่มีระดับเสียงแตกต่าง ทั้งเสียง Mezzo Soprano ทั้งเสียง Tenor ทั้งเสียง Bass

การบรรเลงบทเพลงในท่อนที่ 4 ของซิมโฟนี หมายเลข 9 ดังกล่าว ยังใช้คอรัสจากมหาวิทยาลัยมหิดล

วงนี้ชื่อวง MU Choir มี ดร.ฤทธิ์ ทรัพย์สมบูรณ์ เป็นผู้ควบคุม

ใครเคยได้ฟังจะนิยมชมชอบ เพราะเสียงร้องที่ประสานทรงพลังอย่างมาก

สัปดาห์ต่อมา วงทีพีโอจัดคอนเสิร์ตรายการพิเศษ “Requiem for King Rama IX” มี ดร.ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน

การจัดครั้งนี้ วงทีพีโอร่วมกับชาวคริสตจักรที่ขับร้องบทสวดของพระเจ้าในโบสถ์ เปิดแสดงบทเพลง Requiem เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

บทเพลง Requiem ที่นำมาบรรเลงและขับร้องที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างวันที่ 30 กันยายน และ 1 ตุลาคมนั้น คัดเอาบทประพันธ์ของนักประพันธ์เพลงคลาสสิกระดับโลก 3 คน

หนึ่ง คือ โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมสาร์ต (Wolfgang Amadeus Mozart) ชาวออสเตรีย (ค.ศ.1756-1791)

หนึ่ง คือ กาเบียล ฟอเร (Gabriel Faure) ชาวฝรั่งเศส (ค.ศ.1845-1924)

หนึ่ง คือ จูเซปเป แวร์ดี (Giuseppe Verdi) ชาวอิตาเลียน (ค.ศ.1813-1901)

เนื้อร้อง Requiem ได้นำบทสวดภาษาละตินมาใช้

วันนั้นยังมีบทเพลง “ขวัญ” ที่ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลคนใหม่ ประพันธ์ดนตรี อีกด้วย

โดยใช้บทกวีของ สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นเนื้อร้อง

การบรรเลงและขับร้องใช้ทั้งนักร้องเดี่ยวและคอรัส

นักร้องคัดมา 4 คน เสียง 4 ระดับ คอรัสแบ่งเป็นกลุ่ม จำแนกเป็น 4 ระดับเสียงเช่นกัน

ในจำนวนนักร้องเดี่ยวมี ศัศยา ชวลิต ศิษย์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขับร้องเสียงโซปราโน

ดูเหมือนเสียงร้องของเธอจะสะกดผู้ฟังได้ตั้งแต่การแสดงครึ่งแรก

ขณะที่คอรัสที่มาร่วม นอกจากวงคอรัสจากมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ยังมีนักร้องประสานเสียงชาวคริสตจักรมาร่วมด้วย

เสียงนักร้องจากโบสถ์คริสต์ฟังแล้วขลัง ส่วนนักร้องประสานเสียงจากวงมหาวิทยาลัยมหิดลนั้นเข้มข้นและทรงพลัง

การได้ฟังคอนเสิร์ตปิดท้ายทั้งสองของวงทีพีโอ ทำให้นึกถึงการแสดงของวงทีพีโอในรอบปีที่ผ่านมา

สรุปว่า ฤดูกาลการแสดงปีที่ 12 วงทีพีโอได้ทำให้นักร้องเดี่ยวและคอรัสจรัสแสง

ใครได้ไปฟังบทเพลงที่ พิจาริน ขับร้อง ใครได้ไปชม ศัศยา ขับกล่อม คงปฏิเสธไม่ได้

เธอทั้งสองร้องเพลงได้ดี ชวนให้ฟัง

ใครเคยได้ฟังวงคอรัสของมหาวิทยาลัยมหิดล ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเข้าขั้น

ใครได้ฟังคอนเสิร์ตบทเพลงการ์ตูนญี่ปุ่น คงได้เห็นศักยภาพของวงคอรัสวงนี้

ได้เห็นความสามารถในการขับร้องที่ทำให้บทเพลงมีชีวิต

หากได้ฟัง ซิมโฟนี หมายเลข 3 ของ กุสตาฟ มาห์เลอร์ (Gustav Mahler) นักประพันธ์เพลงชาวออสเตรีย (ค.ศ.1860-1911)

จะพบว่าวงคอรัสวงนี้ เมื่อรวมกับวงประสานเสียงของนักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนแล้ว สามารถสะท้อนจิตวิญญาณของบทเพลงออกมาได้

ถ้าย้อนเวลากลับไปตลอด 12 ฤดูกาลแสดงของทีพีโอ จะพบว่าวงดนตรีคลาสสิกวงนี้ได้สร้างนักร้องนักดนตรีชาวไทยให้เกิดขึ้นมาแล้วหลายคน

ย้อนกลับไปดูประวัติวงทีพีโอ พบว่ามีความเกี่ยวพันกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อย้อนกลับไปดูต้นกำเนิดของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเจอชื่อ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข

รศ.ดร.สุกรี ก่อนหน้านี้เคยทำงานกรมการฝึกหัดครู จากนั้นได้รับการชักชวนให้ไปอยู่มหาวิทยาลัยมหิดล

อยู่ไปสักพัก เห็นว่าการอยู่เฉยๆ ไม่ได้สร้างประโยชน์โภชผลอะไรขึ้นมา จึงยื่นใบลาออก

แต่อธิการบดีสมัยนั้นยับยั้ง และสอบถามถึงสาเหตุ

เมื่อรู้ว่าเหตุที่อยากออก เพราะอยู่ไปก็ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร อธิการบดีท่านนั้นจึงให้โอกาส

เมื่อคนอยากทำ ได้รับโอกาส จึงก่อเกิดเป็นวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ โดยมี รศ.ดร.สุกรี เป็นคณบดี

เผลอแผล็บเดียว วิทยาลัยแห่งนี้เปิดการเรียนการสอนด้านดนตรีมาแล้ว 23 ปี

ขณะที่วงทีพีโอเปิดการแสดงมาแล้ว 12 ฤดูกาล

ทั้งวิทยาลัย และวงทีพีโอ ได้สร้างคน สร้างงาน และสร้างผลงานทางดนตรีมาตลอด

กระทั่งล่าสุดวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถูกจัดอันดับให้ติดอันดับ 1 ใน 100 ของสถาบันดนตรีของโลก

ส่วนวงทีพีโอก็ได้รับการยอมรับจากนักดนตรีต่างประเทศ และวงดนตรีชั้นนำ

เมื่อใดที่ไปชักชวนให้มาแสดงในไทย ทั้งนักดนตรีและวงดนตรีต่างตอบรับ ไม่อิดเอื้อนเหมือนเก่า

ที่ผ่านมาจึงปรากฏวง BBC SO จากอังกฤษมาเปิดการแสดง

ฤดูกาลหน้ามีกำหนดวง Berlin Philharmonic จากเยอรมนี และวง London จากอังกฤษมาแสดง

ได้เห็นความก้าวหน้าที่ปรากฏแล้วน่าภาคภูมิใจ

ขนาดคนนอกยังรู้สึกภูมิใจ คนในคงไม่ต้องพูดถึง

ยิ่งคนบุกเบิก ริเริ่ม ก่อตั้ง และพัฒนา ยิ่งต้องภาคภูมิใจ

ผลงานการสร้างสรรค์ที่ปรากฏ อาจารย์สุกรี ต้องภูมิใจไม่มากก็น้อย

นี่เป็นตัวอย่างของการสร้างสรรค์

การสร้างสรรค์นำมาซึ่งความภาคภูมิใจ

ความภาคภูมิใจนำมาซึ่งความสุข

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสุข

สุขที่ได้สร้างสรรค์สิ่งดีงามให้งอกงามในสังคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image