‘เด็กเสิร์ฟ’ในความเปลี่ยนไป คอลัมน์ หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน

ช่วงหลังๆ นี้ได้ยินได้ฟังบ่อยมากเรื่องพนักงานร้านอาหารมารยาทแย่ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ โซเชียลเน็ตเวิร์ก บางร้านเป็นร้านดัง คนส่วนใหญ่ที่ไปจะถ่ายรูปมาโชว์กัน กลับกลายเป็นถูกถล่มเละเรื่องความไม่เข้าท่าของพนักงานในร้าน

อย่างเช่นหน้าบึ้งตึง และใช้น้ำเสียงไม่ดีเมื่อลูกค้าสั่งอาหารช้า เอาแต่อ่านเมนู วนไปเวียนมาตัดสินใจไม่ได้

หรือบางครั้งเป็นเรื่องของ “คุณภาพอาหาร” เช่น ทอดปลาไม่สุก เนื้อบางส่วนยังดิบแดง เมื่อเรียกมาให้ช่วยจัดการ กลับไม่รู้จะจัดการอย่างไร

บางร้านเป็นเรื่องที่เถียงกันในราคา

Advertisement

ในโลกออนไลน์ที่ดูเหมือนว่าทุกคนพร้อมจะแชร์ประสบการณ์ที่ทำให้อารมณ์เสียให้ได้รับรู้กันทั่ว แถมมีคนจำนวนมากที่พร้อมจะช่วยถล่มตาม

ทำให้หลายครั้งเรื่องเล็กน้อยกลายเป็นเรื่องใหญ่ สร้างความเสียหาย ชนิดหากเจ้าของร้านได้มาอ่านแล้วควันออกหูได้ง่ายๆ

การแก้ปัญหาเรื่องแบบนี้ บางร้านตอบโต้ไปตามอารมณ์ที่รู้สึกโกรธในความหยุมหยิมของลูกค้า โดยเห็นว่าพนักงานก็เป็นคน ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องดีบ้าง ไม่ดีบ้าง มีทั้งวันอารมณ์ดี และอารมณ์ไม่ดี ไม่ต่างอะไรกับคนทั่วไป

Advertisement

บางร้านใช้วิธีติดเบอร์โทรศัพท์เจ้าของร้าน หรือผู้บริหารร้านไว้เพื่อให้ลูกค้าติดต่อแจ้งพฤติกรรมของพนักงานได้โดยตรง

แล้วแต่ใครจะใช้วิธีไหน

แต่มีบางร้านที่พยายามมองให้เห็นต้นเหตุของปัญหา

เรื่องหนึ่งที่พูดกันอยู่คือ พฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไปของคนที่ไม่ว่าจะทำอะไรจะต้องสื่อสารให้คนอื่นได้รับรู้ อาหารจะต้องถูกถ่ายรูปก่อนกิน ยิ่งเป็นร้านดังๆ ยิ่งถูกถ่ายถี่ยิบ แทบจะสแกนทุกจาน บางทีไม่เว้นแม้แต่แก้วน้ำ หรือถ้วยน้ำจิ้ม น้ำปลา

และบ่อยครั้งพนักงานจะถูกเรียกช่วยถ่ายรูปให้ เพื่อให้รู้ว่ามีใครร่วมโต๊ะบ้าง

ว่ากันว่า เพราะพฤติกรรมถ่ายภาพเช่นนี้เองที่ทำให้เกิดเรื่องได้ตลอด

เพราะสแกนละเอียดยิบ จึงเห็นหมดทั้งเรื่องดี เรื่องไม่ดี แก้วน้ำมีคราบสกปรกไปหน่อย น้ำจิ้มดันมีบางสิ่งบางอย่างปะปนอยู่โดยไม่น่าจะเกี่ยวกับส่วนผสม หรือปลาที่ไม่สุก เนื้อบางส่วนยังแดง หรืออะไรก็ตามจะถูกโชว์และพูดถึงไปหมด

บางครั้งพนักงานที่ไม่ได้รับการอบรมมาให้มีจิตบริการที่เพียงพอ ในเวลายุ่งๆ แล้วถูกเรียกให้ช่วยถ่ายภาพจึงทำแบบเสียไม่ได้ หรือถ่ายไม่เป็น หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นมา

โอกาสที่จะโดนถล่มเกิดขึ้นได้ง่ายมาก และแค่ไม่พอใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะลามไปมองเห็นเรื่องเลวร้ายอื่นๆ อีกมากมาย จากโต๊ะอาหารเข้าไปถึงห้องน้ำกันเลย ทำนองนั้น
วิธีการจัดการเรื่องนี้ที่ถูกต้องที่สุด ผู้มีประสบการณ์แนะนำว่า หากยังให้ความสำคัญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต้องเริ่มต้นยอมรับความเปลี่ยนแปลงของโลกการสื่อสาร

จากนั้นหาทางเตรียมพนักงานให้พร้อมกับการรับมือความเปลี่ยนแปลง อย่างเช่นให้นึกไว้ตลอดเวลาว่าเป็นการทำงานโดยถูกบันทึกด้วย “กล้อง” อยู่ตลอดเวลา เหมือนกับกำลังแสดงหนังที่ถูกถ่ายทำไปนำเสนออย่างกว้างขวางได้ทุกเมื่อ

จะทำอย่างไรไม่ให้ภาพที่ออกไปเสียหาย

ทุกคนจะต้องตั้งสติเตือนใจตัวเองตลอด

นอกจากนั้น จะต้องให้พนักงานได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าเป็นงานในหน้าที่ ให้คิดใหม่ว่าเป็นงานในหน้าที่ อย่างเช่นความรู้ในเรื่องการถ่ายภาพจากกล้องโทรศัพท์ ยิ่งรู้ขนาดว่ายี่ห้อไหนถ่ายอย่างไรยิ่งดี

ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีใจที่จะบริการ ให้รู้ว่าทุกคนมีหน้าที่ช่วยประชาสัมพันธ์ร้าน เพราะลูกค้าทุกคนเป็นสื่อที่พร้อมจะนำเสนอทั้งเรื่องดีและไม่ดีของร้านออกไปได้ทุกเมื่อ ระหว่างการลงโทษพนักงาน กับการทำให้พนักงานเข้าใจหน้าที่ในสังคมยุคใหม่ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเสิร์ฟอาหารเท่านั้นแล้ว

เป็นเรื่องที่ต้องอบรม และบอกกล่าวให้ทุกคนได้รับรู้ถึงความสำคัญของตัวเอง ที่จะต้องควบคุมให้มีสติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคใหม่

โลกยุคที่มนุษย์เราไม่พร้อมที่จะเข้าใจกันและกัน เคยชินกับความคิดโทษคนอื่น

สื่อสารให้เห็นความเลวร้ายของคนอื่น เพื่อให้เห็นความดีงาม หรือน่าเห็นใจของตัวเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image