คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ความทรงจำดีๆ

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เหมือนเดิม

ปีนี้งานเริ่มแล้วเมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา

งานจะดำเนินเรื่อยไปจน ถึง 29 ตุลาคม

ดำเนินไปในห้วงเวลาแห่งความเศร้าโศก เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนไทยทั้งมวลน้อมใจส่งเสด็จรัชกาลที่ 9 สู่สรวงสวรรค์

Advertisement

ผู้จัดงานจึงตั้งธีมงานเอาไว้ว่า “ความทรงจำ”

ความทรงจำที่ระลึกถึง ความทรงจำที่สมควรเก็บเอาไว้ในหนังสือ

สำนักพิมพ์ต่างๆ เองก็ร่วมระลึกถึง และเก็บความทรงจำไว้ในหนังสือ

หนังสือเกี่ยวพระราชพิธี และหนังสือเกี่ยวกับความทรงจำของคนไทยที่น้อมระลึกถึงรัชกาลที่ 9 ชั่วนิรันดร์

สำนักพิมพ์มติชน เป็นหนึ่งในสำนักพิมพ์ที่ร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ

ทั้งครั้งนี้และทุกครั้งที่ผ่านๆ มา

หนังสือไฮไลต์ของสำนักพิมพ์มติชนก็เน้นที่ความทรงจำ

ความทรงจำที่ระลึกถึง และความทรงจำดีๆ ที่ควรเก็บเอาไว้

งานมหกรรมหนังสือครั้งนี้ สำนักพิมพ์มติชนได้รวบรวมเรื่องราวน่าบันทึกจากพระราชพิธีครั้งสำคัญมาเก็บไว้ภายในหนังสือเล่มใหญ่

ใช้ชื่อว่า “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์”

ภายในหนังสือบันทึกความทรงจำอันล้ำค่าแห่งห้วงเวลาประวัติศาสตร์ โดยรวบรวมเรื่องราวของพระเมรุมาศองค์สำคัญที่สุดแห่งสถาปัตยกรรมยุครัตนโกสินทร์

หลายคนคงทราบดีอยู่แล้ว และรอคอยได้อ่าน และนำไปเก็บไว้

นอกจากหนังสือ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” แล้ว ยังมีหนังสือชื่อ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย” ของนนทพร อยู่มั่งมี

ให้ความรู้ธรรมเนียมเกี่ยวกับพระบรมศพและพระศพเจ้านาย

หนังสืออีกเล่มชื่อ “งานพระเมรุ : ศิลปสถาปัตยกรรมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่อง”

เล่มนี้มี เกรียงไกร เกิดศิริ เป็นบรรณาธิการ

กล่าวถึงพิธีกรรม “งานพระเมรุฯ” ที่ประกอบขึ้นเพื่อส่งผู้วายชนม์ไปสู่ภพภูมิใหม่

เป็นคติความเชื่อที่มีอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วอุษาคเนย์

ยังมีหนังสือชื่อ “ชันสูตรประวัติศาสตร์ เมื่อคราวสวรรคต”

เขียนโดย รศ.นพ.เอกชัย โควาวิสารัช

เป็นการกล่าวถึงพระโรค พระอาการ และไขปริศนาต่างๆ ที่วินิจฉัยตามหลักวิชาแพทย์

ขณะที่นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม ทำฉบับวาระพิเศษ เพื่อน้อมส่งเสด็จรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะ

ส่วนหนังสืออื่นๆ ที่ถือเป็นหนังสือแห่งความทรงจำ

มีอาทิ “ความสุข ความทรงจำในรัชกาลที่ 9” โดย ธงทอง จันทรางศุ

หนังสือชื่อ “รอยพระยุคลบาท” โดย พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร หนังสือชื่อ “ใต้เบื้องพระยุคลบาท” โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

หนังสือชื่อ “บุญเหลือ เมื่อได้เกิดแผ่นดินนั้น” โดย ธงทอง จันทรางศุ

หนังสือชื่อ “ข้าแผ่นดินสอนลูก” โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

ขณะที่หนังสือใหม่ที่น่าสนใจ มีอาทิ ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ ผลงาน อเล็กซองด์ร์ ดูมาส์ ชาวฝรั่งเศส

ฝีมือการแปลโดย วัลยา วิวัฒน์ศร มี สุพจน์ แจ้งเร็ว เป็นบรรณาธิการ

หนังสือเล่มนี้ให้ความสนุกที่ผิดแผกจากภาพยนตร์

เพราะมีเสน่ห์ของตัวอักษรและสำนวนที่สร้างความเพลิดเพลินที่แตกต่าง

สำหรับหนังสือเชิงความรู้ ประกอบการท่องเที่ยวได้ มีอาทิ “รามเกียรติ์วัดพระแก้ว” เขียนใหม่สมัยรัชกาลที่ 7

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ได้รับทุนจากสถาบันพระปกเกล้าไปศึกษา และได้ผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน

เป็นงานวิจัยภาพจิตรกรรมฝาผนังรอบระเบียงคดวัดพระแก้ว

ใครที่เคยเดินชม ใครที่ยังชมไม่ครบ ถ้ามีโอกาสได้อ่านจะเพิ่มพูนความรู้ได้

ยังมีหนังสือชื่อ “วัด-เจดีย์ : ในและนอกเกาะกรุงศรีอยุธยา” ผลงาน ศาสตราจารย์เกียรติคุณฯ ดร.สันติ เล็กสุขุม

งานนี้ได้ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ อ่านแล้วอยากไปอยุธยาอีกหลายรอบ

และมีหนังสืออื่นๆ อีกเยอะแยะที่สามารถไปเลือกหาได้ภายในงาน

สำหรับหนังสือที่สำนักพิมพ์มติชนจัดทำขึ้นเป็นประจำกันทุกปีนั้น คราวนี้ก็ยังมีเฉกเช่นเก่า

ทั้งหนังสือ “บันทึกประเทศไทย ปี 2559” ที่ทำติดต่อกันมาหลายปี

ใครมีเก็บไว้ คงได้พลิกอ่าน และทบทวนความทรงจำที่เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น

ทั้ง “ศาสตร์แห่งโหร” ซึ่งทำนายชะตาดวงเมืองปีหน้าและชะตารายบุคคลตลอดปี

ทุกสรรพสิ่งที่กล่าวถึงเป็นเพียงแค่ “บางส่วน” จาก “ทั้งหมด”

หากต้องการได้ชม “ทั้งหมด” สามารถไปสัมผัสด้วยตัวเองได้ภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ

วันที่ 18-29 ตุลาคมนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ไประลึก “ความทรงจำ” และเก็บเกี่ยว “ความทรงจำ” มารักษาไว้

ผ่านหนังสือ ผ่านสิ่งพิมพ์ ผ่านงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ

งานหนังสือขนาดใหญ่อีกงานหนึ่งของเมืองไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image