ทะล ป่า ภูเขา : คอลัมน์เดินไปในเงาฝัน

จริงๆแล้วมีโอกาสรู้จัก ”อาไมตรี ลิมปิชาติ” จากการอ่านหนังสือมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นความรักของคุณฉุย, ดร.ครก และอื่นๆ

ตอนหลังนวนิยายทั้งสองเรื่องถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ด้วย

จำได้ว่าตอนที่อ่านขณะนั้น รู้สึกได้ทันทีว่าผู้เขียนเป็นนักเขียนอารมณ์ดี เพราะสิ่งที่ถ่ายทอดผ่านตัวละคร ทำให้เราสัมผัสได้ว่านอกจากตัวละครจะมีมุมมองบวก หากยังมีเส้นทางชีวิตที่ชัดเจน

ขยันขันแข็ง

Advertisement

แสวงหาความก้าวหน้าให้ตัวเอง

สุดท้ายจึงประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา

โดยเฉพาะนวนิยายเรื่อง “คนอยู่วัด” น่าจะเป็นตัวแทนของการบอกเล่าเรื่องเหล่านี้ดีที่สุด ทั้งนั้น เพราะชีวิตของ “อาไมตรี” เคยเป็นเด็กวัดมาก่อน

Advertisement

เคยลำบากมาก่อน

เขาเข้าใจดีว่า “อดมื้อกินมื้อ” เป็นอย่างไร

ทั้งยังเข้าใจอีกว่า “ความยากจน” เป็นอย่างไร

ขณะเดียวกัน เขายังเข้าใจถึงความเพียรพยายาม เพราะรู้ดีว่าการศึกษาน่าจะเป็นโอกาสที่จะทำให้เขาไปทำงานอื่นๆ ได้ แม้วัยเด็กเขาจะชอบอ่านหนังสือ และเขียนหนังสือในเวลาต่อมา

แต่กระนั้นเขาก็มีความรัก ความชอบในวิชาศิลปะด้วย

แม้ระยะแรกๆ ของชีวิตจะมุ่งไปทางเขียนหนังสือ พร้อมๆกับสวมเครื่องแบบข้าราชการ แต่ตอนหลังรู้สึกว่าความเป็นนักเขียนเริ่มจะโด่งดังกว่าอาชีพข้าของแผ่นดิน

เพราะเขาสอบผ่านด่านบรรณาธิการนามอุโฆษสมัยนั้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประมูล อุณหธูป สยามรัฐรายวัน และสยามรัฐสัปดาวิจารณ์ ในยุคของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์, สตรีสาร ของอาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง, ฟ้าเมืองไทย ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ และลลนา ของสุวรรณี สุคนธา

จนทำให้ชื่อเสียงของ “อาไมตรี ลิมปิชาติ” เริ่มเป็นที่ถูกจับตามองในวงการนักเขียน โดยมีผลงานเรื่องสั้นกว่า 300 เรื่องกระจัดกระจายตีพิมพ์ในที่ต่างๆ

พร้อมๆ กันนั้นเขาก็มีผลงานนวนิยายออกมาอีกหลายเล่ม

ไม่นับบทความเกี่ยวกับท่องเที่ยว ปกิณกะ และสารคดีอีกนับไม่ถ้วนที่เขียนลงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์มาจนถึงทุกวันนี้

กล่าวกันว่าเหตุที่ “อาไมตรี” เขียนหนังสือได้หลากหลายแนวน่าจะเกิดจากมุมมองจากการอ่านหนังสือสมัยเด็ก เพราะเขาไม่ได้เพียงแค่อ่าน

แต่อ่านเอาเรื่อง

อ่านแล้วตีความ

อ่านแล้วจดจำ

จนทำให้ตัวอักษรทั้งหมดเข้าไปซึมซาบอยู่ในลิ้นชักแห่งความทรงจำ ดังนั้น เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องใช้เขียนหนังสือ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ลิ้นชักแห่งความทรงจำจะถูกเปิดออกมาโดยอัตโนมัติ

เพื่อนำมาสร้างผลงาน

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “อาไมตรี ลิมปิชาติ” เป็นที่ยอมรับของวงการนักเขียน บวกกับเป็นคนอารมณ์ดี มีมุมมองบวก จึงทำให้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2547 -2550

ผมมีโอกาสเจอ “อาไมตรี” ช่วงนี้

แม้จะไม่สนิทสนมมาก แต่ทุกครั้งที่เจอ ผมยกมือไหว้ทุกครั้ง เพราะรู้สึกว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือ ซึ่งเหมือนกับครั้งล่าสุดที่ผมมีโอกาสร่วมทริปไปสุโขทัยกับทางศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ

ผมมีโอกาสคุยกับอาหลายเรื่อง

และมีโอกาสทราบว่า “อาไมตรี” จะแสดงนิทรรศการศิลปะในช่วงเดือนพฤศจิกายน ทั้งเขายังเอ่ยปากชวนผมให้ไปร่วมเปิดงานนิทรรศการด้วย

พร้อมกันนั้น “อาไมตรี” ก็เอารูปจากสมาร์ทโฟนให้ผมดูประกอบกับเรื่องที่คุยกัน ผมบอกอาว่าสีจัดจ้านมาก เขาหัวเราะ และบอกผมว่า…มันเป็นเทคนิคที่ผมได้มาจากคุณถวัลย์ ดัชนี

แล้วเราก็หัวเราะพร้อมกัน

หลังจากผมกลับสุโขทัยไม่กี่วัน ซองจดหมายสีขาวจ่าหน้าถึงผมด้วยลายมือ พร้อมกับมีชื่อ”อาไมตรี”กำกับอยู่มุมซ้ายด้านล่างก็มาวางอยู่บนโต๊ะ

ผมเปิดออกดูทันที

การ์ดเรียนเชิญร่วมพิธีเปิดงานนิทรรศการศิลปะ ชุดทะเล ป่า ภูเขา ของ “ไมตรี ลิมปิชาติ” ระหว่างวันที่ 12-26 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

หลังการ์ดมีลายมือเขียนกำกับอย่างให้เกียรติด้วย

เสียดายวันนั้นผมติดธุระ ไม่สามารถไปร่วมงานได้ แต่ทราบจาก “อาไมตรี” ว่างานแสดงศิลปะครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 แล้ว และสำหรับครั้งนี้อาเขียนทั้งหมด 80 ภาพ

เทคนิคการเขียนภาพแตกต่างกันไปตามจินตนาการของผู้เขียน แต่โดยรวมแล้วถือเป็นงานศิลปะที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะชุดทะเล ป่า ภูเขา นอกจากจะเป็นงานศิลปะที่เกิดจาการเดินทางของ “อาไมตรี” ที่มีโอกาสเดินทางไปในที่ต่างๆ

ยังมาจากหนังสือพ็อกเก็ตบุคส์ในชื่อเรื่องเดียวกันด้วย

เพราะฉะนั้น ถ้าใครเป็นแฟนานุแฟน “อาไมตรี” ลองไปเสพอีกอรรถรสหนึ่งของงานศิลปะ แล้วจะรู้ได้ทันทีว่าสิ่งที่อาทำงาน ไม่ว่าจะเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย บทความ สารคดี

ล้วนผ่านกระบวนการคิดที่น่าสนใจทั้งสิ้น

แม้ตอนนี้จะอายุ 70 กว่าแล้ว

แต่ยังมีไฟฝันเพื่อทำงานศิลปะทุกแขนงอย่างมีความสุขเสมอ

ลองไปดูนะครับ

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 วันสุดท้ายแล้วครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image