สุจิตต์ วงษ์เทศ : “คนทวิภาษา” ยุคอยุธยา

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ไทยคุ้นเคยถ้อยความที่ว่า “สิบสองภาษา” มานานมากแต่ไหนแต่ไร จนสืบไม่ได้ว่านานเท่าไร?

แต่ไทยไม่ให้ค่าของสิบสองภาษา เพราะส่วนมากเหล่านั้นเป็นภาษาถิ่นที่ถูกกดทับโดยอคติจากประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย

ศิลปวัฒนธรรมที่เรียกว่าไทย โดยเฉพาะภาษาวรรณคดีและเพลงดนตรีไทย ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสิบสองภาษาในอุษาคเนย์ แต่ถูกตู่ว่าเป็นไทยแท้อย่างเดียว เลยส่งผลให้การศึกษาด้านนี้เรียวและแคบตีบ ดังเห็นและเป็นอยู่ปัจจุบัน อันมีต้นเหตุจากอคติต่อสิบสองภาษา

ทวิภาษาอาเซียน

ใจฟูขึ้นบ้างเมื่ออ่านบทความเรื่อง “ทวิภาษา นโยบายการศึกษาที่รัฐต้องกำหนด” ของ สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน และ พจนา อาภานุรักษ์ (คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ) (พิมพ์ในมติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2560 หน้า 15) สรุปสั้นๆ ว่า

Advertisement

เด็กเรียนรู้ได้ดี เมื่อได้เรียนรู้ผ่านภาษาแม่ ซึ่งหมายถึงภาษาถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ

แต่ภาษาถิ่นไม่ได้ถูกนำไปใช้การเรียนการสอนในระบบโรงเรียน เพราะอคติของคนชั้นนำของไทยยกตนเป็นใหญ่ แล้วใช้ความเป็นคนส่วนใหญ่กดทับอัตลักษณ์ของกลุ่มวัฒนธรรมอื่น

การเรียนการสอนระบบทวิภาษาเป็นการเรียนรู้ผ่านภาษาแม่ แล้วพัฒนารูปแบบการอ่าน-เขียนภาษาแม่ โดยใช้อักษรไทยบูรณาการเข้ากับวิธีการสอนที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่เพื่อการนี้

Advertisement

ทั้งครูและคนในชุมชนจำนวนหนึ่ง เห็นพ้องต้องกันว่าระบบทวิภาษาได้ผลดี แล้วตอบโจทย์นโยบายเศรษฐกิจในประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการค้ากับเพื่อนบ้าน

ยุคอยุธยา

ทวิภาษา น่าสงสัยว่าจะสอดคล้องกับคนพูดได้อย่างน้อย 2 ภาษา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ของคนในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะบริเวณสุวรรณภูมิ ซึ่งมีไทยอยู่ด้วย พบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีอย่างสั้นๆ ง่ายๆ ที่สุด ดังนี้

1.คนไทยเป็นชื่อสมมุติ มีขึ้นราวหลัง พ.ศ.1800 บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่มีรัฐอโยธยา (อยุธยา) เป็นศูนย์กลาง

ก่อนหน้านี้ไม่มีคนเรียกตัวเองว่า ไทย, คนไทย มีแต่คนพูดตระกูลภาษาไต-ไท แล้วเรียกตัวเองด้วยชื่อต่างๆ เช่น ลาว, ลื้อ, ผู้ไท, จ้วง ฯลฯ

2.รัฐอโยธยา (อยุธยา) เติบโตขึ้นจากการรวมกลุ่มของ คนไม่ไทย ดังนั้น ประชากรพื้นฐานรัฐอยุธยายุคแรกๆ ล้วนเป็น คนไม่ไทย ไม่พูดภาษาไทย

ต่อมาคนชั้นนำ เรียกตัวเองโดยรวมว่า ไทย, คนไทย พูดภาษาไทย

บรรดาคนไม่ไทยในอำนาจรัฐอยุธยาก็กลายตนเป็นไทย แล้วพูดภาษาไทยเพื่อประโยชน์ของตนทางเศรษฐกิจการเมือง

ก่อนหน้านั้น ภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้าดินแดนภายในของภูมิภาค บรรดาคนไม่ไทยต้องพูดภาษาไทยเพื่อสื่อสารกับคนอื่นที่พูดภาษาอื่นๆ โดยใช้ภาษากลางเหมือนกัน แต่เมื่อกลับเข้าอยู่ในบ้านเรือนของตนก็พูดภาษาแม่

3.คนไทย มีบรรพชนเป็นคนไม่ไทย เช่น ลาว, มอญ, พม่า, ขอม, เขมร, ชวา, มลายู, เวียดนาม, จาม, จีน, แขก, ม้ง, เมี่ยน ฯลฯ

คนไม่ไทยเหล่านี้ไม่ได้มาจากไหน? ล้วนเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมของภูมิภาคอุษาคเนย์และในดินแดนไทย คนไทยสมัยอยุธยาจึงพูดได้อย่างน้อย 2 ภาษา (เทียบปัจจุบันเรียกทวิภาษา) คือ ภาษาไทย และภาษาแม่

ต้องเลิกกีดกัน

ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยกีดกันคนไม่ไทยในวัฒนธรรมสิบสองภาษา ทำให้เข้าใจความเป็นมาวิปลาสคลาดเคลื่อน แล้วมีปัญหามากทุกด้านตั้งแต่การศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีและศิลปวัฒนธรรมโดยรวม จนถึงปัจจุบันการอยู่ร่วมกันในประชาคมอาเซียน

ถ้าไม่ลด ละ เลิก ก็มีปัญหารุนแรงไม่รู้จบ จนถึงความรู้ก็หลงทางเสียหายไปทั้งประวัติศาสตร์โบราณคดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image