ทำไมโลกนี้มีแต่คนเจ้าปัญหา คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีโอกาสได้ไปสอนวิชาการจัดการความขัดแย้งในห้องเรียนที่มีนักศึกษาหลายคณะร่วมเรียนค่ะ ความที่แต่ละคนมาจากต่างคณะกันจึงนั่งห่างกันเป็นหย่อมๆ ที่น่าสนใจคือมีนักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งนั่งอยู่หน้าสุด แยกตัวโดดเดี่ยวไม่ใกล้กับกลุ่มใดเลย เขาดูสนใจเป็นพิเศษเลยค่ะและเป็นคนเดียวที่ยกมือถามบ่อยมาก ในตอนท้ายเขาบุกขึ้นมาถามถึงบนเวทีด้วยท่าทางกระตือรือร้นสนใจเต็มที่ แต่ติดปัญหานิดหน่อยตรงที่…ยังสอนไม่จบน่ะค่ะ เล่นเอาชะงักกันทั้งห้องทีเดียว

“ผมเจอพวกคนเจ้าปัญหาแบบที่เรียนวันนี้บ่อยมากเลย”

นักศึกษาหนุ่มบอกด้วยเสียงห้วนแต่ก็สีหน้ายิ้มแย้มค่ะ วันนี้สอนเรื่องลักษณะนิสัยประเภทหนึ่งของคนที่มักเป็นตัวก่อความขัดแย้ง ไม่ค่อยคำนึงถึงคนรอบข้าง เรียกคนกลุ่มนั้นว่า HCP (High-Conflict People) ซึ่งมักสื่อสารกับผู้อื่นด้วยคำพูดที่ทำให้รู้สึกอึดอัด มีการแสดงอารมณ์สุดโต่งในวงสนทนา เช่น โกรธก็จะตะโกนเสียงดัง ไม่พอใจก็จะวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง พฤติกรรมก็ออกมาสุดโต่งเช่นกัน เช่น กระจายข่าวลือ ขู่กรรโชก ในเนื้อหาของการสนทนา คน HCP เหล่านี้มักจะโฟกัสที่ความพยายามกล่าวโทษผู้อื่นและต้องการคำตอบประเภทขาว-ดำ ซ้าย-ขวา ถูก-ผิด ไม่สามารถยืดหยุ่นได้ เราจะพบว่าเขามักก่อความขัดแย้งกับคนอื่นไปทั่วแต่ตัวเขาเองกลับไม่เคยรับรู้เลยว่าตัวเองเป็นสาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองและโยนความรับผิดชอบต่อการรับรู้ความผิดของตัวเองรวมถึงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปให้ผู้อื่น ความที่ HCP มีลักษณะแบบนี้มาตลอดชีวิตจึงยากที่เราจะไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเขา การอยู่ร่วมโลกกับ HCP จึงทำได้ด้วยการหาวิธีสื่อสารที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้คำพูดของเรากลายเป็นเอาไม้ไปแหย่รังผึ้งให้แตก วิธีสื่อสารสำหรับ HCP เรียกว่า BIFF ซึ่งจะเล่าให้ฟังต่อไป

สอนเรื่องนี้เสร็จก็ได้ดูแอนิเมชั่นแบบเดียวกันเลยค่ะ คิดว่าครั้งหน้าอยากเอาไปใช้ประกอบการสอนด้วยจริงๆ “March Comes in like a Lion” (Sangatsu no Lion) เป็นแอนิเมชั่นที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนเรื่องเดียวกัน ปัจจุบันมีแอนิเมชั่นซีซั่นที่ 2 และฉายถึงตอนที่ 8 แล้วทางช่อง NHK G ในญี่ปุ่น ในตอนนี้แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกกล่าวถึง “ฮินาตะ” เด็กสาวที่พยายามช่วยเพื่อนร่วมห้องที่ถูกรังแกแต่กลายเป็นว่าเธอต้องตกเป็นเป้าหมายของการรังแกไปด้วย ครูประจำชั้นเรียกเธอไปพบและกล่าวโทษว่าเธอทำตัวดื้อดึงไม่ยอมผ่อนปรนเข้ากับเพื่อนกลุ่มใหญ่ในห้องในระหว่างที่เธอเองก็ยังเชื่อว่าการเป็นเพื่อนกับคนที่ตกเป็นเหยื่อกลั่นแกล้งเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วแม้จะต้องเป็นศัตรูกับทั้งห้องก็ตาม ช่วงที่สองกล่าวถึงการแข่งขันโชงิ (หมากรุกจีน) ระหว่าง “คิริยามะ” เด็กหนุ่มมัธยมปลายนักแข่งโชงิมืออาชีพกับ “ฮาจิยะ” ที่อายุมากกว่ากันเล็กน้อยแต่ขึ้นชื่อในด้านไม่ดีว่าเป็นคนทำอะไรรีบร้อนตูมตาม เดินก็เสียงดัง วางของหรือปิดประตูก็โครมคราม เวลาแข่งก็มักจะเคาะนิ้ว ดีดพัด หรือจุ๊ปากส่งเสียงรบกวนผู้เล่นคนอื่นเสมอ เป็นตัวทำลายสมาธิก็ว่าได้ คิริยามะคิดว่าฮาจิยะทำแบบนี้โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกอึดอัดของคนรอบข้างเลย เป็นคนที่ “คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล” หลังจบเกม คู่แข่งอาวุโสที่นั่งแข่งอยู่ข้างกันกลับตำหนิคิริยามะในเชิงล้อเล่นว่า

Advertisement

“ทำไมเอาไม้ไปเขี่ยรังผึ้งแบบนั้น! ที่เล่นอย่างนั้น (แบบกวนประสาทคู่แข่ง) ก็เหมือนทำให้ฮาจิยะยิ่งรำคาญและส่งเสียงดังรบกวนมากขึ้น มีอีกตั้งหลายวิธีที่จัดการรังผึ้งได้โดยไม่จำเป็นต้องเอาไม้ไปเขี่ย แค่หยิบใส่ถุงอย่างสงบแล้วรมควันภายหลังก็ได้ (หมายถึงเล่นอย่างสงบไม่ไปกวนประสาทคู่แข่ง)”

คิริยามะน้อยใจว่าทำไมกลายเป็นความผิดของเขาไปได้ คู่แข่งอาวุโสจึงบอกว่าฮาจิยะเขาส่งเสียงน่ารำคาญแบบนี้มาตั้งแต่ประถมแล้ว ป่านนี้เขาอายุ 23 ปี ไม่มีประโยชน์ที่จะหาทางเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาหรอก ยิ่งกว่านั้นคิริยามะเองก็เหมือนฮาจิยะตรงที่คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักวาล เชื่อมั่นในความถูกต้องของตัวเองและคิดว่าทุกคนต้องหมุนตามความต้องการของเขาโดยไม่คำนึงถึงคนที่อยู่รอบนอก

ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งเป็น HCP อย่างคนที่แกล้งเพื่อนในห้องหรือฮาจิยะ การสื่อสารเพื่อป้องกันไม่ให้บทสนทนารุนแรงเต็มไปด้วยอารมณ์เพิ่มขึ้นกว่าเดิมเรียกว่าเทคนิค BIFF ค่ะ เปรียบได้กับการเก็บรังผึ้งเขาถุงแทนที่จะเอาไม้ไปเขี่ยรังผึ้งให้แตกรังแล้วก่อความเดือดร้อนภายหลัง BIFF ย่อมาจาก Brief-Informative-Friendly-Firm หมายถึงลักษณะบทสนทนาควรสั้นที่สุด-มีแต่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องและจำเป็นเท่านั้น-มีคำที่แสดงความเป็นมิตร-และมีโทนหนักแน่น วิธีนี้เหมาะกับการสื่อสารทางอ้อมที่ไม่ต้องเผชิญหน้าอย่างอีเมล์หรือไลน์ เช่น “ขอบคุณสำหรับความเห็นของเธอนะ (Friendly) ฉันจะส่งข้อมูลที่เธอต้องการให้ตามที่ขอ (Informative) เธอได้รับแล้วช่วยตอบยืนยันด้วย (Firm) นะจ๊ะ (Friendly)” ทั้งหมดนี้สั้น (Brief) และช่วยป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายตอบโต้กลับหากเทียบกับ “นี่น่ะเหรอวิธีขอร้องคนอื่นของเธอ แบบนี้ฉันเรียกขู่ ถ้าไม่ใช่หน้าที่รับรองฉันไม่ส่งให้เธอหรอก ถ้าคอมเมนต์แย่ๆ อีกครั้งหน้าก็อย่าหวังว่าฉันจะช่วยเธอ!” ซึ่งแม้จะสั้นและหนักแน่นแต่มีข้อมูลที่ไม่จำเป็นมากมายรวมถึงไม่เป็นมิตรด้วย เขียนตอบไปก็ทะเลาะกันเปล่าๆ ค่ะ

ฮินาตะไม่ได้ทำผิดที่เข้าข้างเพื่อนที่โดนแกล้งแต่เธออาจมีวิธีที่คุยกับเพื่อนคนอื่นในห้องอย่างเป็นมิตรมากกว่ากล่าวโทษคนอื่นที่แกล้ง ฟังดูแล้วการเดินตามความถูกต้องชอบธรรมของตัวเองกับการเข้าใจสังคมรอบข้างไปพร้อมๆ กันเป็นเรื่องยาก เรื่องนี้เป็นสิทธิพิเศษของเด็กที่แม้ยังทำไม่ได้ก็ยังได้รับโอกาสให้แก้ตัวแต่สำหรับผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะแล้วควรจะทำให้ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่ที่ยังไม่มีวุฒิภาวะก็ถือว่ามีอีกไม่น้อยเลยล่ะค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image