คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง : สินค้าเกษตรตกต่ำ การค้ายังเพิ่มรายได้อีสาน

เมื่อโครงการรับจำนำข้าวสิ้นสุดหลังจากการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ราคาข้าวและสินค้าเกษตรแทบทุกรายการก็ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาข้าวเปลือกพันธุ์ปทุมธานีอยู่ที่ประมาณเกวียนละ 5,000-6,000 บาท ในขณะที่ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิอยู่ที่เกวียนละ 9,000-10,000 บาท แต่ราคาข้าวสารบรรจุถุงกลับไม่แตกต่างจากเดิมนัก ส่วนค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพก็ยังสูงขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจรายได้และหนี้สินครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติใน พ.ศ.2558 พบว่า รายได้ครัวเรือนของภาคอีสานยังเพิ่มขึ้น แตกต่างจากภาคเหนือและภาคใต้ที่รายได้ครัวเรือนลดต่ำลง โดยเมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของอาชีพประชากรพบว่า เกษตรกรส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงมาประกอบอาชีพด้านอุตสาหกรรมและการค้าปลีกค้าส่ง รวมถึงมีการย้ายถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพในหัวเมืองใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดตามแนวชายแดนที่มีการค้าข้ามแดนอย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็นชายแดนลาว หรือชายแดนกัมพูชา

จากตัวเลขรายได้ครัวเรือนจังหวัดชายแดนพบว่ามีรายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาก จังหวัดหนองคาย เพิ่มจากครัวเรือนละ 18,058 บาท เป็น 21,207 บาทต่อเดือน จังหวัดบุรีรัมย์ จาก 15,624 เป็น 18,408 บาทต่อเดือน จังหวัดมุกดาหาร จาก 16,494 เป็น 22,870 บาทต่อเดือน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จังหวัดในที่ราบตอนกลางของภาคที่มีการเกษตรนาข้าวเข้มข้น เช่น สุรินทร์ กาฬสินธุ์ มีรายได้ลดต่ำลงส่วนหนึ่ง แต่เมื่อเทียบกับสภาพรายได้ครัวเรือนของภาคใต้ที่ลดต่ำลงเกือบหนึ่งในสามบางจังหวัด เช่น สตูล ตรัง ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มากนัก

อีกประเด็นหนึ่งที่สมควรต้องนำมาพิจารณาในการเพิ่มขึ้นของรายได้ครัวเรือน คือปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้คนที่เคยทำงานในภาคการเกษตรเพียงอย่างเดียว ต้องดิ้นรนออกไปหารายได้จากทางอื่นเข้ามาจุนเจือครอบครัวมากขึ้น แต่ยังไม่ทิ้งการทำนาปีที่ต้องนำมากินใช้ในครอบครัวเหมือนเดิม ทำให้กลุ่มจังหวัดที่ไม่ได้เน้นหนักการทำนาแบบเข้มข้นมีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้นประมาณ 2-3 พันบาท/เดือน สัมพันธ์กับรายได้รับจ้างรายวันหารระยะเวลานอกช่วงการทำนาราวปีละ 6 เดือน

Advertisement

นโยบายของรัฐที่เน้นการหว่านเงินลงท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นโครงการ SML โครงการกองทุนพอเพียงหมู่บ้านละ 500,000 บาท จนถึงล่าสุดโครงการ 9101 ถือว่าช่วยเพิ่มความคึกคักให้กับเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นได้บ้างบางส่วน โดยเงินทุนที่เทลงตามโครงการดังกล่าวต้องผ่านการพิจารณาหลายชั้นหลายขั้นตอนจากทางราชการ และใช้เวลานานกว่าจะดำเนินการได้ บางส่วนก็ไม่ได้ตกถึงมือชาวบ้านเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเกิดการรั่วไหลตามขั้นตอนต่างๆ กว่าจะดำเนินการตามเป้าหมายได้ครบถ้วน

เช่นเดียวกับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ตัวเลขหนี้สินครัวเรือน และตัวเลขหนี้เสีย ที่เป็นไปในทางเดียวกัน คือมีการค้าการลงทุนและการผลิตเพิ่มขึ้น เงินออมเพิ่มขึ้น และหนี้เสียคงตัวถึงลดลงตามจังหวัดแนวชายแดน ทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานและการขยายตัวของเมืองในรูปแบบที่อิงการบริโภคของประเทศเพื่อนบ้านเป็นสำคัญ ในขณะที่หลายจังหวัดสามารถพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ได้สำเร็จกลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สร้างงานและกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นได้ เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดเลย

อย่างไรก็ตาม การพึ่งพาเพียงการค้าส่งออกระหว่างชายแดน ไม่ใช่การเพิ่มรายได้และการสร้างงานที่ยั่งยืน หากเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจหรือการเปลี่ยนแปลงในนโยบายของประเทศเพื่อนบ้านเกิดขึ้น ย่อมมีผลกระทบต่อสภาพการค้าและรายได้โดยรวมทันที ตัวอย่างคือ ภายหลัง สปป.ลาวประกาศใช้กฎหมายเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าที่ซื้อข้ามด่าน 10% ทำให้ห้างสรรพสินค้าในเมืองหนองคายและอุดรธานีซบเซาลงทันตาเห็น ร้านค้าที่ลงทุนเปิดใหม่ก็ต้องทยอยปิดตัวเพราะผู้คนและกำลังซื้อลดลงกะทันหัน การพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้เกิดความต่อเนื่องหลังจากการค้าเฟื่องฟู จำเป็นต้องมีอุตสาหกรรมการผลิตและการตลาดเพื่อการบริโภคภายในที่แข็งแรงรองรับอยู่ด้วยเสมอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image