คอลัมน์ แปดหมื่นหกพันก้าว : กฎของมัวร์

หลังพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีไปแล้ว “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีต รมว.คมนาคม ที่ปัจจุบันสวมหมวกนักธุรกิจ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์ ขึ้นเวทีพูดที่ไหน เสียงตอบรับดีเยี่ยม

“สไตล์ชัชชาติ” ไม่ต้องใช้ลีลาแบบนักพูดสร้างแรงบันดาลใจให้มากมาย แต่ใช้ความอยากถ่ายทอดความรู้ ข้อมูล ประสบการณ์ การประมวลผลจากการช่างสังเกต ที่สำคัญความเป็นอาจารย์เก่า ทำให้การขึ้นเวทีแต่ละครั้งของชัชชาติ นอกจากจะได้ฟังแง่มุมกระตุกต่อมคิดแบบเห็นภาพที่สนุกสนานแล้ว

ทุกครั้งเขาจะมี “กิมมิค” ในเรื่องเล่าบนเวทีด้วย

นั่นคือการใช้ภาพประกอบบนเวทีที่เจ้าตัวมักจะหามาเองเพื่อขยายเรื่องเล่า รวมทั้งแนะนำหนังสือน่าอ่านหลายเล่ม

Advertisement

เวทีล่าสุดที่ จ.เชียงใหม่ งานสัมมนา “เชียงใหม่ 2018 จุดเปลี่ยน…ประตูสู่โอกาส” เขาพูดถึงคือ “เชียงใหม่” ได้อย่างน่าสนใจ

มีการใช้กิมมิคภาพประกอบทำหน้าที่เป็นเรื่องเล่าเชื่อมโยงให้เห็นมุมมองของเขา และเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟัง

ระยะหลัง “ชัชชาติ” ให้ความสนใจเรื่องเทคโนโลยีในอนาคตมาก กระนั้นตัวเขายังเชื่อฐานรากที่แข็งแกร่งของประเทศไทย คือ การเกษตร และเอสเอ็มอี ที่ถ้าได้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้จะทำให้ “ปรับตัว” และรับความเปลี่ยนแปลงทัน

Advertisement

หนึ่งในรากความคิดที่ชัชชาติพูดถึงบ่อยๆ คือ “กฎของมัวร์” หรือ The Moore’s Laws นั่นคือ สิ่งที่โลกเปลี่ยนเร็วไม่ใช่เพราะมนุษย์ฉลาดขึ้น แต่มาจากเรามีเครื่องมือที่มีพลังมากขึ้น คือเทคโนโลยีที่มาเร็วและไปไกลไวขึ้น

“กฎของมัวร์” คือความคิดขั้นพื้นฐานที่นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า เมื่อองค์ความรู้ในโลกเปลี่ยนเร็วมากจากเทคโนโลยีที่ไวขึ้น สิ่งที่ต้องกลับมาคิดคือธุรกิจของเรา ตัวเรา ยังเกี่ยวกับโลกอยู่หรือไม่ เราต้องอัพเดตตัวเองอยู่ไหม และที่สุด คือ “คุณภาพ” ที่จะทำให้แข็งแกร่งได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนเทคโนโลยีต่อไปจะเป็นตัวเสริม

และไม่ต้องกลัวเรื่องเทคโนโลยีมา การจ้างงานจะลด เพราะงานไม่ได้หายไป แต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบ เปลี่ยนสถานที่

“ผมไม่เชื่อว่าจะตกงาน แต่งานภาพรวมเพิ่มข้น มันอาจเปลี่ยนรูปแบบ เปลี่ยนสถานที่ เพราะพอใช้เทคโนโลยีแล้วเรามีเงินเหลือไปทำอย่างอื่น เราสามารถขยายงานได้ ลงทุนออโตเมติกแล้วมีเงินเหลือไปขยายงาน ไปลงทุนส่วนอื่นมีการจ้างงานส่วนอื่นได้ เทคโนโลยีทำให้มีงานเพิ่มขึ้น”

“มองเฉพาะจุดเหมือนงานหายไป แต่มองเศรษฐกิจทั้งระบบงานไม่ได้ลดน้อยลง หัวใจสำคัญคือ แรงงานต้องปรับตัวให้ทัน เทคโนโลยีเมื่อบูรณาการแล้วภาพรวมงานเพิ่มขึ้นตลอด เราเพียงต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับมืออนาคต”

เขาย้ำว่า มนุษย์ยุคหน้าต้องมีคอนเซ็ปต์ ตัวที (T) คือ รู้ลึกและรู้กว้างในหลายมิตินอกเหนือจากอาชีพของตัวเอง การรู้ด้านใดด้านหนึ่งจะไม่รอดในโลกยุคหน้า

ใครอยากฟังแนวคิดธุรกิจผนวกเทคโนโลยีของชัชชาติฉบับเต็ม ลองไปหาฟังกันได้ในคลิปยูทูบที่ชื่อ กระตุกต่อมคิดกับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” บนยูทูบของ prachachat online

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image