คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : รางวัลที่ได้รับ

เสน่ห์อย่างหนึ่งของการประกวด set เยาวชนดนตรี คือการเดินไปข้างหน้า

การประกวดดังกล่าวดำเนินมาถึงปีนี้เป็นปีที่ 20

งานนี้มีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นสปอนเซอร์ มีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินการ

มีเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถด้านขับร้องและเล่นดนตรีเป็นพระเอก

Advertisement

มีเงื่อนไขเพียงแค่เครื่องดนตรีที่เล่นนั้นต้องไม่ใช้ไฟฟ้า

ส่วนจะเป็นกีตาร์โปร่ง ระนาด เปียโน ฆ้องวง แซกโซโฟน โปงลาง หรือโหวด ก็สุดแล้วแต่

ใครถนัดด้านไหน ใครเก่งด้านใด สามารถแสดงฝีมือแล้วส่งซีดีเข้ามา

ใครเข้าขั้นจนเข้าตากรรมการก็จะผ่านเข้ารอบมาเรื่อยๆ

จนในที่สุดเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ซึ่งในปีนี้ประกวดรอบสุดท้ายไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

รายชื่อเด็กเก่งคงได้ทราบกันไปแล้วทางสื่อ

ส่วนใครที่ไปร่วมฟังการประกวดก็คงรับความสุขกับบ้านกันไปเต็มที่

ข้อน่าสังเกตสำหรับปีนี้พบว่า ผู้เข้าประกวดที่ใช้วิธีการขับร้องเดินสู่เป้าหมายมากขึ้น

ทั้ง ด.ญ.ภัทรจารีย์ วาณิชย์วงศ์วาน จากโรงเรียนสารสาสน์เอกตรา

รับเหรียญทองระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

ทั้ง น.ส.ปริยฉัตร สิทธิดำรงการ จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รับเหรียญทองระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

ทั้ง น.ส.พิจาริน วิริยะศักดากุล จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รับเหรียญทอง อันดับ 1 ระดับอุดมศึกษา

หรือแม้แต่ น.ส.ธนภรณ์ พรมเวียง จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

นี่ก็รับเหรียญทอง อันดับ 4 ในระดับอุดมศึกษา

ส่วนเหรียญทองแต่ละระดับนั้นก็มีทั้งใช้เครื่องดนตรีตะวันตก และเครื่องดนตรีไทย

เหรียญทองระดับประถมศึกษา ได้แก่ ด.ช.กิตติคุณ เจริญพันธ์สุทธิ อายุ 10 ปี

จากโรงเรียนอนุบาลปทุมธานี เครื่องดนตรีระนาดเอก

เหรียญทองระดับอุดมศึกษา ได้แก่ นายกฤษฎา ชัยรัตนศักดิ์

จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เครื่องดนตรี โซปราโน แซกโซโฟน

ในจำนวนผู้เข้าประกวดนี้ มีหลายคนที่เคยเข้าประกวดรายการนี้มาหลายครั้ง

หลายคนทำได้ดีกว่าครั้งก่อน อีกหลายคนอาจทำได้ดีไม่เท่า

แต่ทุกคนรู้ว่าตัวเองทำดีแล้ว

กรรมการ ผู้ฟัง ครูอาจารย์ผู้สอน ก็รู้ว่าทุกคนทำได้ดีมาก

เพียงแต่เมื่อเป็นการประกวดก็ต้องมีการเรียงลำดับ

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะทุกคนรู้ดีว่า รางวัลเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิต

แต่สิ่งที่ได้รับ ซึ่งเป็นรางวัลที่แท้จริงนั้นคือ การพัฒนาฝีมือตัวเอง

เพราะการขึ้นเวทีเพื่อเข้าประกวดเพียงแค่ไม่กี่นาทีแต่ละครั้งนั้น จะต้องใช้เวลาเตรียมตัวกันนาน

ไหนจะต้องเลือกบทเพลงให้ตรงใจกรรมการ ไหนจะต้องฝึกฝนให้คล่องแคล่วเพื่อถ่ายทอดบทเพลง

ไหนจะต้องใส่อารมณ์ ความคิด เข้าไปในการถ่ายทอด

กว่าจะถึงเวลาประกวด ระดับฝีมือของแต่ละคนก็พัฒนาไปกว่าเก่า

ยิ่งสามารถเข้าสู่รอบลึกๆ โดยเฉพาะเข้ามาถึงรอบสุดท้ายได้

ฝีมือต้องพัฒนาจากที่เดิมมาไกลโข

ส่วนคนที่ไม่สามารถเข้ามาถึงรอบลึกๆ แต่ก็ได้เห็นฝีมือของคนอื่น วงอื่นที่บรรเลง

ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลคนใหม่ บอกว่า นี่แหละคือหมุดหมาย

เห็นทีมอื่นเก่งในปีนี้ ปีหน้าเราต้องพัฒนาฝีมือให้ดีกว่า

ในที่สุดผู้ที่ได้รับรางวัลก็ไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่คือคนที่หมั่นฝึกฝนตนเองนั่นเอง

เป็นรางวัลที่ไม่ได้มีใครมอบ แต่เราคือคนที่มอบให้ตัวเอง

ดังนั้น รางวัลจากการประกวดทุกครั้งจึงมี 2 อย่างเสมอ

อย่างแรก คือรางวัลที่ผู้อื่นมอบให้

ดั่งเช่น เหรียญทอง เหรียญทองอันดับ 1-2-3 รวมไปถึงคนที่ได้รับเหรียญเงินในการประกวด เซตเยาวชนดนตรีฯ

อีกอย่างหนึ่ง คือรางวัลที่เรามอบให้ตัวเอง

รางวัลนี้ทุกคนได้รับไปแล้วตั้งแต่วันที่ขึ้นเวทีประกวด

เป็นรางวัลที่ได้จากการพัฒนาฝีมือ

เป็นรางวัลที่ได้จากการพัฒนาตัวเอง

เป็นรางวัลที่น่าภาคภูมิใจไม่น้อยไปกว่ารางวัลที่ผู้อื่นให้มา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image