คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง : ไทบ้านเดอะซีรีส์สอง ย้ำความสำเร็จของบันเทิงท้องถิ่น

จากความสำเร็จถล่มทลายของภาพยนตร์อีสานอย่าง ไทบ้านเดอะซีรีส์ ในปีที่แล้ว แสดงถึงโอกาสทางธุรกิจบันเทิงที่มีฐานจากผู้ชมในต่างจังหวัดเป็นหลัก

ผู้ผลิตสื่อสามารถทำสื่อบันเทิงที่เน้นภูมิภาคออกมาแล้วได้รับการตอบรับทั้งเสียงวิจารณ์และรายได้อย่างดีโดยจากทุนการสร้างเพียง 2 ล้านบาท ไทบ้านเดอะซีรีส์ภาคแรกเก็บรายได้รวมไปมากถึง 50 ล้านบาท และยังเปิดโอกาสความหวังให้ภาพยนตร์แนวท้องถิ่นตามออกมาอีกหลายเรื่อง

องค์ประกอบความสำเร็จของไทบ้านเดอะซีรีส์ อยู่ที่การนำเสนอภาพที่เป็นจริงของชีวิตคนในอีสานปัจจุบัน ไม่ใช่ภาพอีสานในความฝันอุดมคติของชาวกรุงเทพฯ หรือคนที่ทิ้งถิ่นอีสานออกมาทำงานในเมืองนานแล้วโหยหาภาพจำของอีสานในอดีต

และยังไม่มีทีท่าของการเทศนาสั่งสอนหรืออบรมศีลธรรม เพียงแค่สะท้อนความเจ็บปวด ความทุกข์ และความสุขของตัวละครในชีวิตที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับ “ผู้บ่าวไทบ้าน” ลูกอีสานทุกคนโดยถ้วนทั่ว

Advertisement

ภาพยนตร์ที่เน้นความเป็นท้องถิ่นเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ในสภาพแวดล้อมสื่อบันเทิงยุคก่อนที่ถูกผูกขาดด้วยค่ายหนัง ค่ายเพลง และนายทุนขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินทุนสร้างและกำกับ รวมถึงการโฆษณาเผยแพร่จากสื่อส่วนกลาง

แต่โมเดลของ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” หลังจากถูกนายทุนสื่อบันเทิงใหญ่ในกรุงปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า ได้อาศัยทุนในท้องถิ่นอย่างอดีต ส.ส. สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ของศรีสะเกษ ที่ตั้งใจจะใช้สื่อบันเทิงเพื่อโปรโมตจังหวัด โดยผู้สนับสนุนทุนไม่ก้าวก่ายแทรกแซงบท ขอแค่เพียงใช้จังหวัดศรีสะเกษเป็นฉากประกอบภายในเรื่องเท่านั้น

นอกจากนี้ทีมผลิตยังใช้การทำตลาดอย่างต่อเนื่องผ่านโซเชียลมีเดีย มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมตั้งแต่ขั้นคัดเลือกตัวละครและดำเนินการสร้าง ใช้เพลงประกอบจากศิลปินท้องถิ่นที่โด่งดังจากการทำเพลงผ่านอินเตอร์เน็ตและยูทูบ จนมีความผูกพันกับผู้ติดตามจำนวนกว่าล้านไลค์บนเฟซบุ๊ก เพลงและมิวสิกวิดีโอประกอบภาพยนตร์มียอดเข้าชมมากกว่าร้อยห้าสิบล้านครั้ง

Advertisement

ความเป็นอิสระจากระบบอุดหนุนทุนส่วนกลางยังทำให้บท การกำกับ และนักแสดงของ “ไทบ้าน เดอะ ซีรีส์” มีความโดดเด่นเพราะไม่จำเป็นต้องใช้ดาราดังมาดึงดูดคนให้เข้าชม

สามารถเขียนบทตามความเป็นจริงที่ต้องการ ซึ่งเข้มข้นมากขึ้นเมื่อผู้กำกับและทีมงานเติบโตจากประสบการณ์ภาคแรกมาถึงภาคสอง จนความสำเร็จนี้ต่อยอดไปกลายเป็นจักรวาลไทบ้านที่จะมีหนังอีกหลายเรื่องตามมาในอนาคต

การกระจายอำนาจเชิงสื่อบันเทิงเช่นนี้ทำให้การเติบโตของคนทำสื่อในท้องถิ่นเป็นไปอย่างรวดเร็ว หน่วยงานทั้งภาครัฐและองค์กรธุรกิจเอกชนในต่างจังหวัดหันมาพิจารณาการให้ทุนเพื่อทำสื่อบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ และโฆษณา แก่นักเรียนนักศึกษาและผู้ผลิตสื่อภายในท้องถิ่นตนเอง

โดยไม่จำเป็นต้องจัดจ้างบริษัทสื่อขนาดใหญ่จากภายนอกที่ใช้ต้นทุนสูงและยังอาจเข้าไม่ถึงวิถีชีวิตและจุดเด่นที่แท้จริงภายในจังหวัด

เช่น อุดรธานี ได้ให้ทุนแก่นักทำหนังมือรางวัลอย่าง อ.วรวุฒิ หลักชัย ทำภาพยนตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่มหาสารคามก็ได้มีการจัดเทศกาลหนังเมืองคาม นำเสนอผลงานภาพยนตร์ของนักศึกษาและผู้กำกับอิสระจัดฉายได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นตามลำดับมาเป็นปีที่สอง

เมื่อประกอบกับการกระจายตัวของทุนอีสานที่ทำโรงภาพยนตร์นอกกระแสสายหลัก อย่างโรงภาพยนตร์MVP ที่เป็นทุนท้องถิ่นที่เติบโตจากสายฉายหนังแบบเก่า และได้ผลงานภาพยนตร์ที่โดดเด่นติดใจชาวอีสานอย่าง “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” ก็ถึงกับทำให้รอบฉายสามารถเบียดหนังฮอลลีวู้ดฟอร์มยักษ์ของมาร์เวลอย่าง Black Panther ให้ลดรอบลงไปได้

ตลาดสื่อบันเทิงท้องถิ่นจึงเป็นตลาดที่เติบโตขึ้นมาอย่างน่าจับตามอง เพราะความ “เป็นจริง” ในชีวิต จะช่วยให้ผู้ทำสื่อเข้าถึงผู้ชมอย่างใกล้ชิดและพร้อมจะอุทิศเวลาและจ่ายเงินเข้าชม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image