เพชรบุรีมีเจ๊กกับแขก โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

เพชรบุรีมีเจ๊กกับแขก เพราะอยู่บนเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรระหว่างจีนกับอินเดีย

เจ๊ก หมายถึง เจ้าสัวมากับสำเภาจีน (สำเภา แปลว่า เรือจีน) แล่นเลียบชายฝั่งจากจีน ผ่านญวนเข้าอ่าวไทย มีร่องรอยเก่าแก่เป็นนิทานเรื่องท้าวม่องไล่ เจ้ากงจีน และเจ้าลาย

ทุกวันนี้มีเขาเจ้าลายใหญ่ (ชื่อใหม่ว่า เขานางพันธุรัต) อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

เขาเจ้าลาย มีลายมือภาษาอังกฤษกำกับว่า Cholai Peak (ไม่เรียกเขานางพันธุรัต ซึ่งเป็นชื่อสมัยหลัง) ลายเส้นวาดในเรือจากทะเลชะอำ เมืองเพชรบุรี ฝีมือ H. Warington Smyth ผู้เขียนหนังสือ Five Years in Siam from 1891 to 1896 พิมพ์ครั้งแรกในนิวยอร์ก สหรัฐ 1898 (ลายเส้นฉบับพิมพ์ซ้ำ โดย White Lotus Bangkok 1994)

แขก หมายถึง พราหมณ์พ่อค้ามากับสลุบแขก (สลุบ แปลว่า เรือแขก) จากอินเดียใต้เข้าทะเลอันดามัน ถึงเมืองมะริด ขนสินค้าผ่านช่องสิงขร ไปเมืองเพชรบุรี

Advertisement

สุนทรภู่ เขียนบอกในนิราศเมืองเพชร ว่ามีบรรพชนทั้งสายแหรกข้างพ่อและแม่ เป็นตระกูลพราหมณ์รามราช ว่า “เป็นถิ่นฐานบ้านพราหมณ์รามราช ล้วนโคตรญาติย่ายายฝ่ายวงศา”

พราหมณ์รามราช คือ พราหมณ์จากเมืองราเมศวรัม รัฐทมิฬ อินเดียใต้ (ต่อลงไปมีถนนพระรามข้ามไปเมืองลงกาของทศกัณฐ์ คือ ศรีลังกา)

เมืองเพชรบุรีมีเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ (เหมือนกรุงเทพฯ มีเสาชิงช้าหน้าโบสถ์พราหมณ์ วัดสุทัศน์) สุนทรภู่เขียนบอกอีกว่า “เทวฐานศาลสถิตอิศวรา เสาชิงช้าก็ยังเห็นเป็นสำคัญ”

Advertisement

ประเพณีอย่างนี้ยังมีที่นครศรีธรรมราช ดังนั้น พราหมณ์เมืองเพชรกับพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช จึงเป็นญาติกัน แล้วเกี่ยวดองถึงนายทองด้วง (ร.1) ตั้งแต่ก่อนกรุงแตก 2310 (มีบอกในหนังสือการเมืองไทย สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์)

เสาชิงช้า หน้าโบสถ์พราหมณ์ เมืองเพชรบุรี ถูกรื้อทิ้งหมดนานแล้ว ปัจจุบันมีป้ายบอกไว้ในวัดเพชรพลี อ. เมืองฯ จ. เพชรบุรี (ภาพเก่านานหลายปีแล้ว)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image