ค่าเงินกีบร่วงสะเทือนชายแดน : คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง

นับตั้งแต่การขึ้นครองอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวของ ทองลุน สีสุลิด ได้นำเอานโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมใหม่เข้ามาใช้อย่างเร่งด่วนหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายทางการเงินเพื่อลดการพึ่งพาเงินตราต่างประเทศและลดภาวะขาดดุลการค้าของลาวที่ทำให้เงินสำรองต่างประเทศเหลือน้อยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้า ณ ด่าน 10% จนถึงมาตรการจำกัดการแลกเปลี่ยนเงินกีบเป็นเงินต่างประเทศในแต่ละวัน

ผลของนโยบายหลายอย่างไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ ประกอบกับภาวะขาดดุลการค้าและสูญเสียเงินตราต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศลาว ทำให้ค่าเงินกีบในระยะ 1 ปีที่ผ่านมาร่วงลงอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2017 ใช้เงินกีบเพียงประมาณ 230 กีบ ก็แลกได้ 1 บาท แต่ในปัจจุบันเดือนมีนาคม 2018 ต้องใช้มากถึง 260 กีบ คืออ่อนตัวลงถึงประมาณ 13% และอ่อนตัวลงกว่าอัตราแลกเปลี่ยนมาตรฐานเดิมที่ใช้คำนวณในท้องตลาดทั่วไปที่ 250 กีบ/1 บาท และยังมีแนวโน้มว่าค่าเงินกีบจะยังตกลงต่อเนื่อง

เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น เช่น ดอลลาร์สหรัฐ เยน ด่อง จะพบว่าการอ่อนค่าของงินกีบครั้งนี้เกิดจากตัวเงินกีบเอง แตกต่างจากภาวะค่าเงินกีบต่อเงินบาทที่ตกลงในครั้งก่อนที่มาจากการแข็งค่าของเงินบาท

ค่าเงินกีบที่ด้อยค่าลงส่งผลให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อ สปป.ลาว เป็นประเทศที่พึ่งพาสินค้าอุปโภคบริโภคนำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ สินค้าที่ขายในสกุลเงินบาทมักจะเป็นอาหารและเครื่องใช้ในครัวเรือน ทำให้กระทบต่อค่าครองชีพคนลาวจำนวนมาก จำเป็นต้องประหยัดและใช้จ่ายน้อยลงตามลำดับ

Advertisement

ผลกระทบอีกประการหนึ่งคือ การข้ามมาเที่ยวและซื้อของใช้ในฝั่งไทยตามเมืองชายแดน ไม่ว่าจะเป็นหนองคาย อุดรธานี มุกดาหาร หรืออุบลราชธานี พบว่ากำลังซื้อของคนลาวลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอุปโภคบริโภคระดับล่างราคาถูก ที่แม่ค้าตามตลาดจะข้ามมาซื้อไปขายต่อ เนื่องจากเมื่อซื้อเป็นจำนวนมากก็มีส่วนต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นสูงจนอาจไม่คุ้มค่าหากนำกลับไปขายต่อแล้วไม่สามารถขึ้นราคาได้สูงนัก รวมถึงการแลกเงินมาใช้จ่ายในฝั่งไทยก็มีความยากลำบาก แลกได้จำกัด หรือหากแลกในตลาดมืดก็อาจมีปัญหาหากแลกเป็นจำนวนมาก

ผลกระทบหลายระลอกภายหลังเงินกีบอ่อนค่า ทำให้เมืองชายแดนต้องเร่งปรับตัวเพื่อสร้างอุปสงค์และอำนวยความสะดวกในการซื้อขายสินค้ามากขึ้น พ่อค้าขายส่งบางรายจำเป็นต้องเข้าไปเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับเงินจากการซื้อขายในธนาคารลาวเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐหรือเงินกีบแทนที่จะรอรับเงินบาทที่เป็นเงินสด ห้างสรรพสินค้าเพิ่มแรงจูงใจในการซื้อสินค้าโดยเสนอเงื่อนไขการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและส่วนลดพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติคล้ายกับห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพมหานคร

ภาวะเงินกีบอ่อนยังคงจะส่งผลกระเทือนต่อจังหวัดชายแดนอย่างต่อเนื่องไปอีกระยะเวลาหนึ่งจนกว่าสมดุลของค่าเงินและความต้องการซื้อจะกลับมาเป็นปกติ แต่ผลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของการค้าข้ามแดนว่า

อ่อนไหวต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอย่างยิ่ง หากการค้าข้ามแดนภายในอินโดจีนสามารถซื้อขายและร่วมกันใช้สกุลเงินตราเดียวกันเป็นหลัก ก็จะช่วยลดความเสี่ยงและสร้างเสถียรภาพทางการค้าการลงทุนได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม อำนาจการควบคุมสกุลเงินถือเป็นความมั่นคงของชาติอย่างหนึ่ง ความคาดหวังที่จะได้เห็นสกุลเงินรวมของอาเซียน หรือแม้กระทั่งอินโดจีน จึงเป็นเรื่องอีกยาวไกลและมีอุปสรรคมากมายข้างหน้า พ่อค้าและนักธุรกิจชายแดนจึงพึงคาดคะเนผลกระทบที่เกิดจากค่าเงินไว้ล่วงหน้าและหามาตรการรองรับก่อนลงทุน เช่นเดียวกับการวางแผนของหน่วยงานภาครัฐท้องถิ่น ในกรณีที่ค่าเงินผันผวนจะได้ไม่ประสบวิกฤตจนธุรกิจหรือแผนการปฏิบัติงานต้องล้มไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image