คอลัมน์ จิปาถะ : หนุมาน เทพแห่งสรรพวิทยา (137)

หนุมาน ภาพจาก http://johnyml.blogspot.com/2015/03/know-your-hanuman-before-you-attack.html

ได้เล่าเรื่องรามายณะของประเทศต่างๆ ตามที่ผู้อ่านต้องการทราบไปหลายประเทศจนเกือบลืมหนุมานว่าไปยืนคอยอยู่ที่ไหน ต้องย้อนรอยกลับไปดูตอนต้นใหม่แต่ยังไม่ทันได้ค้น มีผู้อ่านคนหนึ่งดูเรื่องหนุมานทางโทรทัศน์แล้วมีความสงสัยตามมาสองเรื่อง เรื่องหนึ่งถามว่าในอินเดียเรียกชื่อหนุมานว่าอย่างไรบ้าง ก็ตอบไปว่าเห็นจะไม่น้อยกว่า 30 ชื่อ จะกล่าวถึงก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้เรียกกันแพร่หลาย บางชื่อเรียกกันเฉพาะถิ่น เช่น ชาวเดกข่าน (Deccan) นิยมเรียกหนุมานว่า มรุตี (Maruti) เพราะเกิดจากมรุต (Marut) คือเทพแห่งลม ไทยนิยมเรียกว่า พระพาย บางแห่งก็เรียกว่า วายุบุตร (Vayu Putra) คือลูกลมซึ่งในวรรณคดีไทยก็เรียกอย่างเดียวกัน

อีกเรื่องหนึ่งที่คนถามสงสัยก็คือในโทรทัศน์กล่าวว่าหนุมานเป็นลูกของ เกสรี ซึ่งต่างไปจากที่เรารู้กัน และเรียกหนุมานว่า เกสรีบุตร (Kesari Putra) ชื่อนี้ไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย เรื่องในโทรทัศน์จะแต่งขยายความขึ้นอย่างไรก็ไม่ทราบ เท่าที่เคยอ่านพบก็ไม่ตรงกัน ตามเรื่องในหนังสือ Hanuman ของ Vanamali มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่ง นางอัญชนา บุตรสาวของหัวหน้าพวกวานรชื่อ กุญชร (Kunjara) ได้ไปเที่ยวป่า มีรากษสตนหนึ่งมายืนขวางหน้า นางอัญชนาตกใจจนตัวสั่น พอตั้งสติได้ก็ออกวิ่ง รากษสก็วิ่งตามพลางร้องว่า แม่คนสวยเหตุไฉนจึงวิ่งหนี เราไม่มีเจตนาจะทำร้ายเจ้า ตัวเรามีชื่อว่า ศัมพสาทน์
(Sham basaadana) เป็นราชาแห่งป่านี้ เราพร้อมจะแต่งงานกับเจ้า เราจะให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ตามที่เจ้าปรารถนา จงมาอยู่กับเราเถิด ชีวิตนั้นสั้นนัก อย่าปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์เลยŽ

แท้ว่ารากษสจะกล่าวหว่านล้อมด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน นางอัญชนาก็ไม่เออออด้วย ทำให้รากษสไม่พอใจกรากเข้ามาจะโอบกอด นางเห็นท่าไม่ดี จึงวิ่งหนีพลางร้องให้เทพาอารักษ์ช่วย นางวิ่งไปถึงอาศรมแห่งหนึ่งร้องขอให้ฤษีช่วย แต่ฤษีก็กลัวรากษสไม่รู้จะช่วยอย่างไร ได้แต่บอกว่า อาตมาก็ไม่รู้จะปราบมันได้อย่างไร เห็นแต่พญาวานรชื่อ เกสรี (Kesari) เท่านั้นที่พอจะปราบมันได้Ž

เกสรีที่ฤษีอ้างถึงนั้นว่ามีพละกำลังมากเคยฆ่าช้างมาแล้ว และด้วยความเก่งกล้าดังกล่าว จึงได้รับสมญานามว่า กุญชร สูทน (Kunjara Sudana) หมายถึงผู้ฆ่าช้าง แต่คนโดยมากยกย่องว่าผู้ที่ปราบช้างได้ก็มีแต่สิงโต (Lion) จึงได้มีชื่อว่า เกสรี ซึ่งหมายถึงสิงโต

Advertisement

นางอัญชนาหมดหนทางจำต้องอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ส่งพญาวานรเกสรีมาช่วย ด้วยเสียงอันดัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image