อาศรมมิวสิก : วงทีพีโอได้ร่วมแสดงในงานฉายภาพยนตร์นานาชาติ โดย สุกรี เจริญสุข

การเตรียมรายการแสดงในฤดูกาลที่ 14 ของวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2562 นั้น ต้องใช้เวลาเตรียมตัวก่อนล่วงหน้า 1-2 ปี เพราะว่าการประสานงานการจัดแสดงของนักดนตรีนั้นเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก

บทเพลงที่จะใช้ในการแสดงแต่ละรายการก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากในการประสานงาน ทั้งผู้ควบคุมวง (Conductor) นักเดี่ยวเครื่องดนตรี (Soloist) นักประพันธ์เพลง (Composer) ทั้งหมดเป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลา

นอกจากนี้ การเซ็นสัญญาพร้อมข้อตกลงก็เป็นเรื่องที่ยาก รวมถึงงบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินการด้วย

ตลอดเวลา 13 ฤดูกาลที่ผ่านมาแล้ว ทำให้วงทีพีโอเป็นวงดนตรีคลาสสิกที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นในทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุน คณะกรรมการวง นักดนตรีในวง ฝ่ายจัดการ ผู้ฟัง รวมทั้งนักดนตรีที่เป็นแขกรับเชิญจากต่างประเทศด้วย ซึ่งมีข้อมูลที่น่าศึกษาและติดตามการพัฒนาดนตรีคลาสสิกในสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

ความเปลี่ยนแปลงรายการดนตรีในฤดูกาลที่ 13 โดยการเพิ่มรายการออกไปจากดนตรีคลาสสิก ให้วงดนตรีได้เล่นร่วมกับวงดนตรีประเภทอื่น โดยเฉพาะเพลงป๊อป เพื่อขยายฐานผู้ฟังให้กว้างขวางมากขึ้น ไปเล่นดนตรีกับนักร้องสมัยนิยม เพลงยอดนิยม ดารายอดนิยม และไปร่วมเล่นกับเพลงประกอบภาพยนตร์ (พรจากฟ้า) ปลายปี พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกิจกรรมดนตรีและอาชีพใหม่สำหรับวงดนตรีคลาสสิกของไทย

เพื่อว่าในอนาคตวงทีพีโอจะมีโอกาสร่วมบันทึกเพลงประกอบภาพยนตร์ได้บ้าง ซึ่งจะเป็นโอกาสหรือเป็นอาชีพใหม่ให้กับนักดนตรีของไทยด้วย

สําหรับการจัดรายการแสดงในฤดูกาลที่ 14 ก็มีกระแสกิจกรรมดนตรีจากมุมคนข้างนอก โดยมองเห็นว่าผลงานการแสดงของวงทีพีโอมีฝีมือสามารถที่จะแสดงร่วมกับงานภาพยนตร์นานาชาติได้ ก็ได้เสนอให้เปิดตลาดดนตรีให้กว้างมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีบริษัทได้ติดต่อเพื่อให้วงทีพีโอเล่นเพลงประกอบเสียงสดกับการฉายภาพยนตร์ โดยเริ่มทดลองเป็นโครงการกับภาพยนตร์ดัง 4 เรื่องก่อน คือ เรื่องเดอะก๊อดฟาเธอร์ (The Godfather) แสดงในเดือนธันวาคม 2561 เรื่องอมาเดอุส (Amadeus) แสดงในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เรื่องไททานิก (Titanic) แสดงในเดือนมิถุนายน 2562 และเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter) จะแสดงในเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งทั้ง 4 เรื่องเป็นภาพยนตร์นานาชาติที่ได้รับความนิยมมาแล้วในอดีต

Advertisement

หากจะศึกษาการทำธุรกิจแนวใหม่ โดยนำของเก่าที่เคยประสบความสำเร็จมาขายในรูปแบบใหม่ เป็นการฉายภาพยนตร์เรื่องเดิมและใช้เสียงเหมือนเดิม ยกเว้นการบรรเลงดนตรีสดประกอบภาพยนตร์ ซึ่งเป็นธุรกิจแบบใหม่ ในการทำงานซ้ำ วิธีแบบนี้ได้ประสบความสำเร็จมาแล้วเมื่อจัดในประเทศที่เจริญแล้ว อาทิ ในอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน และจีน ส่วนตลาดในอาเซียนก็ยังเป็นตลาดที่มีขนาดเล็กและไม่ค่อยมีกำลังซื้อ

ปัญหาของตลาดในอาเซียนนั้น เรื่องแรก ไม่มีหอแสดงดนตรีที่สามารถฉายภาพยนตร์ไปพร้อมๆ กับการแสดงดนตรีสดได้ ซึ่งโอกาสก็จะมีที่เมืองไทยและที่สิงคโปร์ สำหรับตลาดในสิงคโปร์ก็เชื่อว่าเขาทำได้ก่อนประเทศไทยอยู่แล้ว เพราะสิงคโปร์ใช้เงินซื้อความสำเร็จ ส่วนในประเทศอื่นๆ ในอาเซียน อาทิ ลาว กัมพูชา พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน คงต้องคอยกันต่อไป เพราะหอแสดงดนตรีและวงดนตรีตามความต้องการในมาตรฐานนานาชาติยังไม่มี ส่วนคนที่มีฐานะในประเทศเหล่านั้น ก็ต้องบินไปดูภาพยนตร์ที่ประเทศอื่น
เรื่องที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การไม่มีวงดนตรีที่มีคุณภาพสูงพอที่จะใช้งานระดับนานาชาติได้ ฝ่ายบริษัทผู้ประกอบจะต้องขนนักดนตรี ขนเครื่องดนตรี ขนอุปกรณ์ไปแสดง ประเทศอาเซียนที่ยังไม่พร้อม คำนวณแล้วไม่คุ้มทุน เขาจึงไปตระเวนแสดงที่อื่นซึ่งมีความพร้อมมากกว่า พูดง่ายๆ ว่าพวกด้อยพัฒนาก็เอาไว้ทีหลัง คอยให้พร้อมเสียก่อน

สำหรับประเทศไทยนั้น ในอดีตที่ผ่านมา โอกาสการทำงานประเภทนี้ก็ทำได้ยากเหมือนกัน เพราะปัญหาเรื่องคุณภาพและพื้นฐานที่มีของสังคมไทยต่ำกว่ามาตรฐานนานาชาติ อาทิ หอแสดงดนตรีที่ดี วงออเคสตราที่ดี การขนส่งลำบาก ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะเชื่อถือได้ เครื่องมืออุปกรณ์ไม่ดี ความสะดวกไม่มี กระบวนการ ขั้นตอน การเข้าเมือง เรื่องภาษีก็ยากลำบากไปหมด

บุคลากรมืออาชีพในด้านต่างๆ ก็มีน้อย รวมทั้งเครื่องมือในการสื่อสารกับนานาชาติ ไทยเราอยู่ในฐานะที่ต่ำกว่ามาตรฐานนานาชาติเกือบทุกหัวข้อ ซึ่งก็เชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็น่าจะดีขึ้น เพราะธุรกิจและสังคมต้องพึ่งพิงมาตรฐานโลกมากขึ้น

วันนี้ ประเทศไทยมีอาคารมหิดลสิทธาคาร มีวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทยที่ถือว่ามีคุณภาพมาตรฐานทัดเทียมกับนานาชาติได้ รวมถึงการมีอุปกรณ์ต่างๆ ระบบเสียงที่ดี ทำให้การรับงานในระดับนานาชาติใกล้ความจริงได้มากขึ้น ที่สำคัญก็คือประเทศไทยมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากนานาชาติมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านดนตรีและด้านศิลปะการแสดง เรื่องรสนิยมและทำให้ภาพลักษณ์ของไทยเป็นประเทศที่เจริญขึ้นมาทันที

การที่บริษัทในระดับนานาชาติยอมรับและอนุญาตให้นำภาพยนตร์เหล่านี้เข้ามาแสดงในประเทศไทย ก็เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับสังคมไทยด้วย เพราะว่า “ราคาของความน่าเชื่อถือ” นั้น เป็นเรื่องของคุณค่า เป็นเรื่องรสนิยม เป็นเรื่องเสน่ห์ ไม่สามารถจะหาซื้อได้ด้วยเงิน หากประเทศไทยและคนไทยสร้างความน่าเชื่อถือได้มากขึ้น ก็เป็นต้นทุนที่สำคัญในการพัฒนาให้ประเทศไทยไปอยู่ในโลกอนาคตได้
การฉายภาพยนตร์มาตรฐานนานาชาตินั้น บริษัทเขาจะต้องนำเข้าผู้ควบคุมวงดนตรี นักดนตรีเอกหรือหัวหน้าผู้นำวง ผู้กำกับเวที หรือผู้กำกับอุปกรณ์สำคัญที่จะต้องใช้ จะต้องส่งโน้ตเพลงต้นฉบับมาให้วงดนตรีซ้อมก่อน ต้องกำหนดขนาดของจอภาพยนตร์ที่ใช้ ขนาดของเวที
ขนาดของไฟแสงสว่าง เมื่อได้ตามมาตรฐานที่กำหนดแล้วจึงจะทำงานด้วยกันได้

ก่อนที่บริษัทจะตกลงทำงานร่วมกัน ก็จะขอข้อมูลในด้านศักยภาพและประสิทธิภาพทุกเรื่องไปให้เขารับรองและตรวจสอบมาตรฐานเสียก่อน เมื่อคุณภาพผ่านการรับรองและมีการยอมรับแล้วจึงจะเซ็นสัญญาทำงานร่วมกัน หากมีสิ่งใดที่ต้องเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนให้ตามเขา หากมีคุณภาพไม่ถึงขั้น เขาก็จะนำเข้ามาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรหรืออุปกรณ์ก็ตาม และหากมีส่วนที่ต่ำกว่ามาตรฐานมากเกินไป อันนี้เขาก็เลือกไปทำที่ประเทศอื่นที่มีความพร้อมก่อน

แม้จะเป็นการทำงานกับบริษัทเอกชน (ฝรั่ง) ที่มีมาตรฐานสูง เพราะเขาขายความมีมาตรฐานให้แก่ประชาคมโลก (ลูกค้า) โดยเฉพาะธุรกิจบันเทิงและกีฬา เขายืนอยู่ได้และทำธุรกิจอยู่ได้ก็เพราะเขามีมาตรฐานที่ต่อรองไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเมืองไทยได้รับการรับรองที่จะร่วมงานกัน ก็คือผ่านมาตรฐานนานาชาติ

การที่วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทยได้ร่วมแสดงในงานดนตรีกับภาพยนตร์ครั้งนี้ เท่ากับผ่านมาตรฐานนานาชาติได้ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นการบอกให้โลกทราบว่าไทยเราก็สามารถที่จะทำงานคุณภาพในระดับนานาชาติได้เช่นกัน อย่างน้อยหอแสดงดนตรี วงดนตรี อุปกรณ์ดนตรีของไทย ก็อยู่ในมาตรฐานของประเทศที่เจริญแล้วด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image