‘เอเชี่ยนเกมส์’ ก้าวใหม่ ‘อีสปอร์ต’ คุยกับ ‘สันติ โหลทอง’ ผู้ดันเกมเมอร์ สู่นักกีฬาอาชีพ

เพิ่งจะเฮกันไปหมาดๆ หลังจาก “อีสปอร์ต” (E-Sport) ได้รับการยกระดับเป็น “ชนิดกีฬา” พร้อมจดทะเบียนจัดตั้ง “สมาคมกีฬา” ได้เกือบปี

ตอนนี้คงต้องเฮอีกรอบ เพราะอีสปอร์ตได้เข้าเป็น 1 ใน “กีฬาสาธิต” ของมหกรรมกีฬา “เอเชี่ยนเกมส์ 2018” ที่ประเทศอินโดนีเซียปลายปีนี้

งานนี้คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย และการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ไฟเขียวให้ สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ส่งนักกีฬาชิงชัยเหรียญรางวัลแล้วเรียบร้อย!

ที่สำคัญ ที่ประชุมได้เคาะโผรายชื่อ “เกมประวัติศาสตร์” มาแล้ว 6 รายการ ประกอบด้วย League of Legends หรือ LoL, Arena of Valor หรือ RoV StarCraft II, Hearthstone, Pro Evolution Soccer 2018 และ Clash Royale

Advertisement

สันติ โหลทอง นายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย เปิดใจกับ “มติชน” ว่า ไม่พร้อม

ความไม่พร้อมดังกล่าวเกิดจากการส่งรายชื่อทัพนักกีฬาทีมชาติร่วมการแข่งกันเอเชี่ยนเกมส์ 2018 กระทำกันแล้วในเดือนธันวาคมปีกลาย ต่อเนื่องมกราคมปีนี้ แต่ “อีสปอร์ต” เพิ่งประกาศเป็นกีฬาสาธิตราวเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

แต่ด้วย “ทรัพยากร” ที่มีความพร้อม เนื่องจากอีสปอร์ตมีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา จึงไม่เป็นเรื่องหนักใจใดๆ แถมแฟนๆ กีฬาอีสปอร์ตอาจได้เฮกันแบบนอนสต๊อปก็เป็นได้

“การที่ผมเป็นนายกสมาคมอีสปอร์ตฯไม่ได้หมายความว่าผมเล่นเกมเก่ง หรือมีสูตรทำให้เด็กไทยเก่งขึ้น เพราะถ้าเก่ง ผมเป็นนักกีฬาไปแล้ว (หัวเราะ) ตอนนี้ผมอยู่ในฐานะบริหาร คอยวางแผนและซัพพอร์ตนักกีฬา และพยายามทำให้ดีอย่างต่อเนื่อง”

อย่างไรก็ตาม ทั้งโลกมีประมาณ 22 ประเทศที่รับรองอีสปอร์ตเป็นกีฬา แต่ละประเทศมีกลยุทธ์ต่างกัน ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงอยู่กับมุมมองรัฐบาลแต่ละประเทศ แน่นอนว่าสำหรับประเทศไทยแล้ว อีสปอร์ต “เป็นเรื่องอ่อนไหว”

เพื่อลด “เรื่องอ่อนไหว” ลง การจะเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตจึงต้องพึ่งตำรับยา “ยุทธศาสตร์การกีฬา” 4-8-8 ของ กกท. นั่นคือ 4 โครงสร้าง บริหารองค์กร นักกีฬา บุคลากร และการจัดการแข่งขัน ส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักกีฬาโดยตรงมี 16 ข้อ แบ่งเป็น 8 ยุทธศาสตร์ คือ วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ ประเด็นยุทธศาสตร์ เป้าหมายการบริหาร ผลผลิต และกลยุทธ์ และ 8 วิทยาศาสตร์ คือ กายวิภาค สรีระ ชีวกล ทักษะ โภชนาการ จิตวิทยา เวชศาสตร์ และเทคโนโลยี

หากใช้ตำรับยา 4-8-8 ดังกล่าว สันติรับรองว่าเพอร์เฟกต์แน่นอน!

เมื่อรับรองอีสปอร์ตเป็นชนิดกีฬาแล้ว ทำให้เกิดเวทีแข่งขันแทบทุกเมื่อเชื่อวัน จนนายกสมาคมกีฬา

อีสปอร์ตฯเองยังงุนงง สังเกตจากรายชื่อผู้จัด หรือห้างสรรพสินค้าหลายแห่งเริ่มสร้างสเตเดียมรองรับ นั่นแสดงให้เห็นว่า “กีฬาอีสปอร์ต” เป็นหลายสิ่งหลายอย่างที่คนกำลังเรียนรู้ไปกับมัน

ภาพของสมาคมอีสปอร์ตฯตอนริเริ่มเทียบกับตอนนี้?

คนละเรื่อง (ยิ้ม) คือดีขึ้น แต่สิ่งที่อยากทำกลับไม่ได้ทำ เดิมทีเราฮาร์ดคอร์ เป็นอีสปอร์ต เป็นเกมเมอร์แบบฮาร์ดคอร์ เราคือตัวพ่อของเด็กติดเกมที่อายุมาก อยากทำในสิ่งรักซึ่งมั่นใจว่าดี ผมอยู่กับเกมมาจนอายุ 54-55 ปีแล้ว ยังกินได้ นอนหลับ เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว เกมไม่ได้ทำร้ายผม

อยากทำให้อีสปอร์ตมันเฟี้ยว ต้องแกรนด์ เราคิดแบบนี้ ขึ้นมาบนดินได้แล้ว เราคิดแค่นั้น อยากไปเอเชี่ยนเกมส์ ไปโอลิมปิก สุดท้ายในมหกรรมกีฬาต้องมีอีสปอร์ตอยู่ในนั้นแน่นอน

เมื่อยื่นเรื่องขอจัดตั้งสมาคมมาเรื่อยๆ คุณสกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการ กกท.ก็แซวว่าทำได้อยู่แล้ว เพราะผมเอาจริงเอาจัง แต่เขารับรองพวกผมมากไม่ได้ ต้องดูว่าสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) เป็นอย่างไร เนื่องจากในภูมิภาคเริ่มขานรับอีสปอร์ตแล้ว เขาเรียกผมไปคุยแล้วบอกว่าต่างประเทศเริ่มขยับกันในระดับองค์กรแล้ว ถ้าเราทำจะส่งทันไหม ผมบอกไปตรงๆ ว่าทัน แต่จะดีหรือไม่ ไม่ทราบ แต่เราควรได้ประสบการณ์ เมื่อวันที่เขาเดโม่กัน แล้วเราไม่เดโม่บ้าง ถึงวันจริงๆ เรามีสิทธิร่วง คือทำผิดกฎ ไม่เข้าใจธรรมเนียม ซึ่งเราไม่ได้อยากเรียนรู้เพียงการแข่ง แต่อยากรู้วิธีปฏิบัติ ก็เลยเปลี่ยนไป เราเปลี่ยนไปหมด ต้องห่วงในทุกบริบท ทุกมุมทุกด้าน

เรื่องฝีไม้ลายมือ พอเป็นสากลเจอกันเมื่อไหร่ เราสู้เขาไม่ค่อยได้ เพราะ 7 ปีที่ผ่านมาเราอยู่ในสภาวะยุติการพัฒนา เติบโตแค่ในกลุ่ม เป็นคอมมูนิตี้ หรือตามบริษัทเกมมากกว่า แต่พอเป็นรายการที่จัดโดยระดับนานาชาติ เรายังเป็นรองนิดหน่อย ส่วนพัฒนาการทางโครงสร้างหรือเชิงกีฬานั้นเราไปไกลมาก แต่ปัญหาเด็กติดเกมของไทยเองยังเป็นเรื่องอ่อนไหว เราใช้ยาหลายขนาน แต่เมื่อประเทศไทยรับรองอีสปอร์ตเป็นกีฬา กลายเป็นว่า นี่เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้เกมเมอร์เข้าแถวอยู่ในกรอบ ทำงานตามระบบ ปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น

สมาคมดูแลนักกีฬาอีสปอร์ตที่มีทีมของตัวเองอย่างไร?

เชิญให้เข้ามาอยู่ในระบบของรัฐบาล เราเป็นสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ทำงานให้ กกท.ซึ่งคือรัฐบาล

เราต้องชวนให้นักกีฬาที่อยู่ในกลุ่มก้อนต่างๆ หันมาสนใจด้านกีฬาเป็นเลิศของ กกท. หากไม่ได้รับความร่วมมือ แสดงว่านักกีฬาเหล่านั้นไม่ได้สนใจสิ่งเหล่านี้ เท่ากับว่าเขาไม่ได้อยู่ในข่าย ต้องไปหาอีกมาตรการหนึ่งไปครอบ

เกมเมอร์บ้านเรามีจำนวนกว่า 20 ล้านคน เป็นโปรเพลเยอร์เพียงไม่กี่คน มีอยู่ไม่กี่ทีม เราจึงชวนอีกกว่า 19 ล้านคนเข้าสู่ระบบ ดังนั้นเราเป็นกลุ่มใหญ่ที่แมสกว่า ถามว่าเรามีแนวทางสนับสนุนกลุ่มโปรไหม มี แต่ไม่ใช่แผนแรก เนื่องจากแผนแรกใช้สำหรับผู้ได้รับผลกระทบ อย่าลืมว่ากลุ่มโปรเสมือนพนักงานบริษัท มีกฎระเบียบ ต้องเข้างานเช้า ต้องซ้อม ต้องมีวินัย ถ้าลูกพี่สั่งแล้วลูกน้องไม่ทำตามก็ตกงาน นั่นคือสถานะของนักกีฬาอีสปอร์ตที่เป็นโปร

เมื่อโปรเพลเยอร์มีรายได้ มีความเข้มแข็ง น้องๆ เยาวชนมองเป็นตัวอย่าง แต่สุดท้ายหลงทาง ไปไม่ถึง โกหกที่บ้านว่าเป็นนักกีฬา แต่ตัวเองแค่เล่นสนุก แสดงว่าระบบที่มีอยู่ไม่สมบูรณ์แบบ โดยหัวหมากเองอาจมีที่สำหรับออดิชั่น ทดสอบฝีมือ จัดทุกเดือนหรือทุกซัมเมอร์ เปิดโอกาสให้เด็กๆ ที่อยากเป็นทีมชาติมาเล่นให้ดู ถ้าเล่นได้ก็สนับสนุน โดยอิงจากกรอบของ กกท.

 

นักกีฬาอีสปอร์ตคือนักกีฬาอาชีพ?

กำลังจะเป็น และผมไม่กล้าไปบัญญัติกลุ่มโปร เนื่องจากอำนาจไปไม่ถึง ต้องให้ผู้ใหญ่ทางนี้ชี้ว่าใครเป็น หน้าที่ของผมตอนนี้คือคัดนักกีฬาอีสปอร์ตทีมชาติไปแข่งเอเชี่ยนเกมส์ และต้องพยายามทำให้สำเร็จเพื่อในอนาคต อำนาจหรือขอบเขตของผมจะกว้างขึ้น จนสามารถตอบคำถามได้ว่า นักกีฬาอีสปอร์ตคือนักกีฬาอาชีพหรือไม่

อย่าลืมว่านักกีฬาสมัครเล่นก็มีเป้าหมายของเขาอยู่ หากเขาเป็นข้าราชการ สามารถลางานไปแข่งเอเชี่ยนเกมส์ได้ ถือว่ารับใช้ชาติ หากสร้างผลงานที่ดีก็มีเงินอัดฉีดให้ เพราะเขาไม่ต้องการไปโฟกัสที่การไล่ล่ารางวัลหรือไล่ล่าเงิน แต่เงินตอบแทนที่ให้ไปเสมือนเป็นการขอบคุณที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ

มั่นใจว่า ถ้านักกีฬาอีสปอร์ตแสดงฝีมือดี ความประพฤติดี บุคลิกภาพดี คุณสมบัติผ่าน แล้วได้แชมป์กลับมาด้วย กกท.ไม่เพิกเฉยแน่นอน เพราะเขาเหล่านั้นจะเป็นแบบอย่างที่สามารถนำมาทำตามได้ชั่วลูกชั่วหลาน

เป้าหมายสูงสุดของนายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตฯ?

ระบบนิเวศที่แข็งแรง ได้นำเสนอกับทาง กกท.ไปแล้วและรอการอนุมัติอยู่ เป้าหมายของผมไม่ได้อยู่ที่เด็กต้องเก่งเกม แต่องค์กรต้องแข็งแรง มีทีมงาน มีคู่มือการกีฬาอีสปอร์ตที่ดี

เป้าหมายต่อไปคือการสร้างบุคลากร นักกีฬาต้องมีวินัย แข็งแรง กินเป็น อยู่เป็น แบ่งเวลาเป็น ควบคุมอารมณ์ในการแข่งขันได้ ถ้าทำสำเร็จก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร ความคิดแบบนี้หมายความว่าเราไปไกลกว่าประเทศอื่นมาก ซึ่งประเทศอื่นจะเน้นด้านการทำธุรกิจ แต่ของเราเน้นไปที่พื้นฐานของสังคม หากระบบแข็งแรง คนที่อยู่ในระบบก็จะแข็งแรงได้อย่างยาวนาน และธุรกิจก็จะมีรากฐานที่แข็งแรงไปด้วย

ตลาดอีสปอร์ตที่ใหญ่ที่สุด?

อเมริกาคือเบอร์หนึ่ง แต่ทวีปที่ตลาดใหญ่สุดคือเอเชีย ซึ่งมีทั้งเบอร์ 2, 3, 4 แต่ถ้าศักยภาพของนักกีฬาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยเราอยู่อันดับ 5 และระบบเศรษฐกิจการหมุนเวียนเม็ดเงินเราอยู่อันดับที่ 2

พูดถึงอัตราการใช้เงินเรื่องการลงทุนในเกมสำหรับคนไทยคือใจปล้ำมาก เด็กไทยยอมเสียเงินเพื่อซื้อไอเท็มเสริม และให้ความสำคัญกับดีไซน์ของเกมมิ่งเกียร์ตัวท็อปๆ อย่างเก้าอี้ โต๊ะ หูฟัง คีย์บอร์ด เมาส์ เรายอมจ่ายหมดไปทุกอย่าง ซึ่งตัวท็อปของหูฟัง คีย์บอร์ด เมาส์ 3 อย่างนี้ก็หลายบาทแล้ว ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในไทยเกี่ยวกับเกมมีประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

เราโม้ได้ว่าประเทศเรารวยมากในการใช้จ่ายเกี่ยวกับเกม แต่ฝีมือกับเกียรติประวัติในระดับทัวร์นาเมนต์ทางการ เราสู้ไม่ได้จริงๆ เราได้แชมป์แต่เล็กๆ รวมทั้งเราไม่ได้อยู่ในมาตรฐานของผู้ผลิตเกม หากลองสร้างเกมหนึ่งไปขายเกาหลี เขาจะบอกว่านี่คืองานของนักศึกษา แต่ความจริงคนไทยลงทุนไปเกือบ 10 ล้านบาท (ยิ้ม)

 

 

“…ช่วงอายุของนักกีฬาอีสปอร์ตคือ 18 ปีขึ้นไป
ถ้าน้อยกว่านั้นจะไปแข่งที่ไหน ต้องพาผู้ปกครองไปด้วย
เราไม่ได้จะไปดูแลเด็ก แต่เราดูแลนักกีฬา…
สมาคมเราไม่ได้ยิ่งใหญ่ เรามาเพื่อรับใช้นักกีฬา ไม่ได้มาเพื่อตีกรอบ
แต่เอากรอบของ กกท.ที่มีคุณภาพอยู่แล้วมาใช้งาน…”

 

ไทยเป็น 1 ในสนามแข่งกีฬาอีสปอร์ตด้วย เช่น Overwatch World Cup 2018 เท่ากับว่าเราพร้อมจัดแข่งขันกีฬาอีสปอร์ตแล้ว?

เราพร้อมเรื่องการจัดแข่งอยู่แล้ว เราถนัดเรื่องการจัดงานเอ็กซิบิชั่น งานรื่นเริง งานเอ็นเตอร์เทนต้อนรับขับสู้ ปรับนิดหน่อยก็ได้เลย เพียงหาออร์แกไนซ์ที่เข้าใจอีสปอร์ตก็สามารถจัดแข่งได้ทันที

ด้านเทคนิคเราพร้อม แต่ในแง่หลักการต้องเกิดความร่วมมือระหว่างเจ้าของเกมกับเรา เราที่หมายถึงตัวผมเอง สมาคม กกท. และกลุ่มคอมมูนิตี้ในไทยว่าต้องการให้ไปทางไหน อยากได้แบบไหน ถ้าอยากได้การแข่งแบบสนุกสนาน มัน สะใจ ไม่มีขีดจำกัด เราสามารถจัดแข่งเองได้เลย

เกมทุกเกมเป็นอีสปอร์ตหมด?

เป็นอีสปอร์ตหมด แต่เป็นกีฬาไม่หมด เนื่องจากเวลาเกิดการแข่งขันระดับนานาชาติ เราต้องประชุมระดับทวีปหรือระดับโลกก่อน อย่างเอเชี่ยนเกมส์เลือกมา 6 เกม ถูกใจหรือไม่ ผิดกฎไหม ไม่ทราบ แต่ผ่านห้องประชุมมาแล้ว แสดงว่า 6 เกมนี้ได้รับการรับรองให้แข่งขันในระดับนานาชาติได้ และจะเป็นตลอดไป ต่อให้ปีหน้าไม่มีก็ตาม

หากปีหน้าที่ซีเกมส์มีเพิ่ม 4-5 เกม โดยไม่ซ้ำกับ 6 เกมดังกล่าว แสดงว่าเอเชียหรือชาวโลกรับรู้ว่ากีฬาอีสปอร์ตมีอยู่ 11 เกม ฉะนั้นจึงมีเงื่อนไขต่อท้าย เช่น เกม ก.ไก่ ถูกบรรจุอยู่ ท้ายที่สุดถูกถอดออกเนื่องจากผิดระเบียบ ก็หักออกไป ดังเห็นได้จากจำนวนชนิดกีฬาในมหกรรมกีฬาที่ระบุไว้ครบถ้วน แต่กีฬาที่แข่งระดับนานาชาติได้มีมากกว่านั้น 2 เท่า เขาโหวตทุกรอบว่า รอบนี้จะเลือกอะไรบ้าง อีสปอร์ตก็เช่นกัน ถูกบรรจุไว้มากมาย แต่แข่งขันกันแต่ละครั้งก็เลือกไปไม่กี่เกม

ถ้าถามเรื่องความนิยม ในระดับโลก เกมที่ฮิตที่สุดและถูกบรรจุอยู่ในกีฬาอีสปอร์ต คือ LOL และ ROV ส่วนในไทยคนนิยมเล่น ROV มากที่สุด

 

ได้อะไรจากการเป็น ‘นักกีฬาอีสปอร์ต’?

ก่อนอื่นนั้น ช่วงอายุของนักกีฬาอีสปอร์ตคือ 18 ปีขึ้นไป ถ้าน้อยกว่านั้นจะไปแข่งที่ไหน ต้องพาผู้ปกครองไปด้วย เราไม่ได้จะไปดูแลเด็ก แต่เราดูแลนักกีฬา ถ้าเด็กอ้างว่าจะไปแข่ง แต่พ่อแม่ไม่เห็นด้วย ไม่รู้เรื่อง ก็ไม่ได้ (ยิ้ม)

ฉะนั้น การเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตทำให้เขาเป็นคนมีวินัย ห่วงใยสุขภาพ สร้างเกียรติให้ครอบครัว สถาบันการศึกษา และประเทศชาติ แต่สิ่งเหล่านี้พวกเขาไม่ได้ทำคนเดียว เพราะเราคือบ้านหลังที่ 2 เราคอยผลักดันให้เขาประสบความสำเร็จ

หน้าที่ของนักกีฬา คือ การแข่งขัน แต่หน้าที่เรา คือ พี่เลี้ยง คอยตักเตือน คอยสอน ดูแลนักกีฬาทุกอย่าง ตรงนี้คือสูตรสำเร็จของการดูแลนักกีฬาตามที่ กกท.ต้องการ อยากได้อะไร เรามีให้ หรือถ้าไม่มี ก็ขอมา จะหาให้ นักกีฬาอีสปอร์ตก็จะภูมิใจในสิ่งที่เขาเป็น และเขาต้องรักษามันไว้ วิธีการรักษาคืออย่าเหลวไหล เพราะความไม่รับผิดชอบคือสิ่งที่จะฆ่านักกีฬาอีสปอร์ตเอง

สมาคมอย่างเราไม่ได้ยิ่งใหญ่ เรามาเพื่อรับใช้นักกีฬาอีสปอร์ต ไม่ได้มาเพื่อตีกรอบ แต่เรามาเพื่อเอากรอบของ กกท.ที่มีคุณภาพอยู่แล้วมาใช้งาน เราไม่ได้มีอำนาจไปทำอะไร แต่ถ้าเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตในระบบแล้วก็ต้องทำตามกฎ ต้องฟังกติกา ถ้าไม่ฟังก็ถือว่า คุณไม่มีวินัย และไม่เหมาะสมที่จะเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต (ยิ้ม)

ภาพของกีฬาอีสปอร์ตในอนาคต?

กลุ่มที่ไม่มีวันรับก็ไม่รับ ผู้ปกครองที่ยังไม่มีทางรับอีสปอร์ต ก็ไม่รับอีสปอร์ต ต้องใช้ยาอีกขนานหนึ่ง ครอบครัวที่มีปัญหาลูกเล่นเกมมากเกินไป พ่อแม่ไม่สนับสนุนเรื่องอีสปอร์ตก็ใช้อีกหลักการหนึ่ง ซึ่งเรามีหลายวิธี หากครอบครัวที่สนับสนุนก็มาทางนี้ เขาจะได้ไม่โตผิดที่

ต้องเข้าใจว่าทุกคนใช้ยาขนานเดียวกันไม่ได้ เราต้องแยกให้ออกว่าแต่ละคนต้องการอะไรเยียวยา ต้องจ่ายยาให้ถูกประเภท ฉะนั้นสิ่งที่เราทำคือ ต้องแสดงศักยภาพให้ประเทศไทยเห็นว่าเราสามารถเจียระไนเป็นเพชรเม็ดงามได้

โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว กีฬาอีสปอร์ตที่ใครหลายคนไม่ยอมรับในตอนนี้ ในวันข้างหน้ามันจะถูกหลอมรวม ขัดเกลาใหม่ และหาด้านดีได้ และไม่ได้หมายความว่าหลอกลวงคนข้างๆ ว่าดี แล้วจะเสพติดการเล่นเกม แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถสร้างประโยชน์จากเกมได้หรือไม่

ผมว่าเทคโนโลยีไม่เคยทำร้ายใคร มีแต่เราที่ใช้ผิด นิยามแบบผิดๆ ว่าเป็นยาเสพติด เป็นบาป เป็นพิษ (ยิ้ม)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image