‘ใครก็อยากอยู่ในสังคมปลอดภัย’ ปิยนุช โคตรสาร และวิสัยทัศน์ ‘แอมเนสตี้’

ปิยนุช โคตรสาร

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นองค์กรที่ถูกพูดถึงมากในช่วงที่ผ่านมา หลังมีการประหารนักโทษในรอบ 9 ปี ซึ่งขัดต่อหลักการของแอมเนสตี้ฯที่ทำงานรณรงค์เรื่อยมา

สปอตไลต์ฉายไปที่องค์กรนี้ทันที โดยเฉพาะ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯประเทศไทย ที่เปิดหน้ายืนยันจุดยืนคัดค้านอย่างสันติ แต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย รุนแรงถึงขนาดกลุ่มผู้สนับสนุนใช้โทษประหารโพสต์ขู่ฆ่าด้วยถ้อยคำหยาบคายและเชียร์ให้เกิดความรุนแรงกับคนเห็นต่าง

เป็นช่วงเวลาที่ความเกลียดชังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปราศจากการรับฟังเหตุผลซึ่งกัน

ทั้งที่จริงแล้วคนในสังคมล้วนมุ่งหวังสิ่งเดียวกัน คือ ชีวิตที่ปลอดภัย ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง และหวังจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Advertisement

ท่ามกลางอารมณ์โกรธเกลียดเสียใจ สิ่งที่สังคมต้องยึดถือคือหลักการที่จะปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยและสิทธิของทุกคนในสังคมอย่างเสมอภาค

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคีอยู่ระบุว่า “ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล” และ “บุคคลใดจะถูกกระทำการทรมานหรือการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้”

ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิตอยู่ ซึ่งผู้อื่นจะล่วงละเมิดมิได้ การฆาตกรรมถือเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรง เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายและนำคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม

Advertisement

แต่ในการปกป้องชีวิตและความเป็นธรรมของผู้สูญเสีย หลักการที่จะต้องรักษาคือต้องไม่มีการทรมานหรือลงโทษอย่างโหดร้ายไร้มนุษยธรรม เพราะการฆ่าไม่ว่าเหตุผลใด นั่นคือการทำลายชีวิตเช่นเดียวกัน

ข้อถกเถียงว่าควรคงไว้หรือยกเลิกโทษประหารชีวิตในสังคมไทยนั้น ต้องมีการศึกษารอบด้าน โดยเฉพาะหากจะยกเลิกโทษประหาร กระบวนการยุติธรรมและระบบราชทัณฑ์ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้สังคมได้

สิ่งสำคัญคือการถกเถียงกันด้วยเหตุผล เปิดใจยอมรับความแตกต่าง ไม่ข่มขู่คุกคามหรือชี้นำให้เกิดความรุนแรงเช่นเดียวกับที่อาชญากรกระทำ


‘ช่วยเหยื่อ-คนถูกละเมิด’ เส้นทางสิทธิมนุษยชน องค์กรรางวัลโนเบลสันติภาพ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นกลุ่มคนเคลื่อนไหวรณรงค์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ที่มีผู้สนับสนุนกว่า 7 ล้านคนใน 150 ประเทศ

เริ่มต้นจากทนายความชาวอังกฤษ ปีเตอร์ เบเนนสัน เขียนบทความเรียกร้องปล่อยตัวนักศึกษาชาวโปรตุเกส 2 คนที่ถูกรัฐบาลเผด็จการจับเข้าคุกเพียงเพราะดื่มเหล้าและชนแก้วสดุดีเสรีภาพ

เขาเขียนบทความเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันส่งจดหมายประท้วงผู้มีอำนาจทั่วโลก และพัฒนาเป็นการเคลื่อนไหวระดับสากล จนองค์กรได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากการรณรงค์ต่อต้านการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ในปี 2520

แอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย เริ่มเป็นที่รู้จักจากการรณรงค์ “ปลดปล่อยนักโทษทางความคิด” ในเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 จดหมายนับแสนฉบับทั่วโลกส่งมาเรียกร้องให้ปล่อยประชาชนและนักศึกษาที่ถูกจับ จนมาดำเนินงานในไทยอย่างจริงจังในปี 2536

ปิยนุชเล่าว่า งานที่ทำตอนนี้เน้นเรื่องการปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิมนุษยชนศึกษา ต่อต้านการทรมาน และเรื่องผู้ลี้ภัย ส่วนเรื่องโทษประหารทำมานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่ทำงานร่วมกับภาครัฐ

แอมเนสตี้ฯเป็นองค์กรที่อยู่ได้ด้วยสมาชิกและผู้บริจาค โดยมีกรรมการจากสมาชิกซึ่งเป็นคนทั่วไปมากำกับดูแลทิศทางองค์กรและกำหนดยุทธศาสตร์แต่ละปีที่เปลี่ยนตามเทรนด์สถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยมีงานวิจัยและรายงานสถานการณ์สิทธิฯเป็นฐานในการทำงานรณรงค์

งานรณรงค์ส่วนใหญ่ของแอมเนสตี้ฯไทยที่ผ่านมาจะเรียกร้องให้ช่วยเหลือผู้โดนละเมิดสิทธิในประเทศต่างๆ ด้วยข้อจำกัดว่าการรณรงค์เรื่องในประเทศจะมีความเสี่ยงและความอ่อนไหว จนถึงกระทบความปลอดภัยของคนทำงาน

ระยะหลังมีการปรับยุทธศาสตร์หันมาทำเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาในไทยมากขึ้น เพื่อให้คนเรียนรู้การเคารพสิทธิ

“เรายังทำงานร่วมกับระดับสากล งานเรื่องสิทธิอื่นๆ ตอนนี้เราก็ยังทำอยู่ เช่น พ.ร.บ.ปราบปรามทรมาน หรือเคสนักปกป้องสิทธิในไทย อยากให้เห็นว่าเรื่องสิทธิในสังคมไทยเกี่ยวข้องกับประเด็นที่เขาเคลื่อนไหวกันทั่วโลก” ปิยนุชกล่าว


 

– เหตุที่ครั้งนี้ออกมาคัดค้านโทษประหารชีวิตอย่างเปิดเผย?

แอมเนสตี้ต่อต้านโทษประหารชีวิตมา 40 ปีกว่าปีแล้ว วิสัยทัศน์แอมเนสตี้คือทุกคนต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิ สิทธิการมีชีวิตอยู่รอดในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิของทุกคน ไม่ว่าเป็นนักโทษประหารหรือไม่ ทุกคนต้องมีสิทธิมีชีวิตอยู่รอด ซึ่งโทษประหารขัดสิทธินี้ และเป็นการที่รัฐใช้ความรุนแรงเพื่อยุติความรุนแรง

แน่นอนว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวมาก จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราได้รับกระแสตอบกลับจากสังคมสูง เราไม่อยากให้คดีเหล่านี้เกิดขึ้นกับใคร เราไม่ได้อยู่ฝั่งตรงข้ามกับสังคม เราอยากเห็นสังคมที่ปลอดภัย ไม่อยากเห็นคนทำผิด และไม่ได้เข้าข้างคนทำผิด แต่โทษประหารไม่ใช่คำตอบ

– มองเหตุผลที่สังคมไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง?

เราพยายามเข้าใจว่าที่สังคมไม่เห็นด้วยเพราะกำลังหวาดกลัวหรือไม่มั่นใจในความปลอดภัยจากระบบที่เป็นอยู่ คิดว่าโทษประหารเป็นยาแรงที่จะหยุดยั้งปัญหานี้ได้

แอมเนสตี้ก็ต้องการให้สังคมปลอดภัย ไม่ต้องการให้เกิดคดีสะเทือนขวัญ แต่การใช้ความรุนแรงยุติความรุนแรงไม่ใช่ทางแก้ปัญหา เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรายืนยันจุดนี้ร่วมกับโลกสากล ไทยเป็นประเทศส่วนน้อยที่ยังประหารชีวิตอยู่ เรารู้ว่ากระแสส่วนใหญ่ยังต่อต้าน แต่อยากให้มองเห็นอีกมุมหนึ่ง

– คนบอกว่าไทยมีลักษณะเฉพาะ บริบทไม่เหมือนที่อื่น เอางานวิจัยต่างประเทศมาใช้ไม่ได้?

เรื่องความเป็นมนุษย์ การเคารพสิทธิ และการให้โอกาสเป็นเรื่องสากล หลายประเทศก็มีความเสี่ยงหรือปัญหาอาชญากรรมร้ายแรงเหมือนกัน แม้กระทั่งประเทศที่เจริญแล้ว แต่สัปดาห์ที่ผ่านมาเราเห็นถึงระดับของความโกรธเกลียด อารมณ์ ความกลัว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับปัญหาอาชญากรรมคดีสะเทือนขวัญและคิดว่าการใช้โทษประหารชีวิตเป็นคำตอบ แอมเนสตี้ต้องกลับมามองว่ามีวิธีพูดคุยกับสังคมอย่างไร เราไม่ได้หยุดทำแต่ต้องหาวิธีอธิบายพูดคุยและทำงานกับภาครัฐต่อไป

– หลังออกไปรณรงค์เจอผลกระทบอะไรบ้าง?

มี 2 ระดับ ผลกระทบกับองค์กร มีการบิดเบือนข้อมูลการทำงาน หาว่าฟอกเงิน รับเงินจอร์จ โซรอส รับเงินทักษิณ มีเฮทสปีช โทรศัพท์มาขู่ เอาพวงหรีดมาวางที่ออฟฟิศ ส่วนระดับปัจเจก เจ้าหน้าที่โดนโทรขู่ เราก็โดนเอาภาพไปตัดต่อ กรรมการโดนตัดต่อภาพหรือใช้คำพูดเหยียดคุกคามหยาบคาย ขู่แช่งต่างๆ นานา คนที่ออกมาแสดงจุดยืนเหมือนเราก็พลอยโดนไปด้วย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นน่าตกใจแต่เราไม่ได้โต้ตอบ เพราะไม่ต้องการให้ความโกรธระงับด้วยความโกรธ พยายามเข้าใจที่เขาโกรธเพราะคิดว่า 1.เราทำร้ายจิตใจครอบครัวเหยื่อหรือเปล่า 2.เขารู้สึกไม่ปลอดภัยกับสิ่งที่เป็นอยู่ คิดว่าเราเข้าข้างโจร อยากให้ผู้ร้ายกลับมา เขาคิดว่าไม่มีวิธีอื่นแล้วที่จะทำให้สังคมสงบสุขได้ ต้องใช้โทษประหารมาขู่

อยากบอกว่าเราอยู่ข้างเดียวกับเขา เราเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวเหยื่อ แต่ควรมองกันว่าอะไรเป็นต้นตอของปัญหาความรุนแรงต่างๆ มากกว่าจะโยนไพ่ใบเดียวคือโทษประหารเป็นไพ่ใบสุดท้าย

– คนพูดว่ารับเงินจอร์จ โซรอส แล้วมีที่มาแหล่งทุนจากไหน?

เรื่องรับเงินจอร์จ โซรอส เป็นแพตเทิร์นที่โดนมาเรื่อยๆ ตามบทความต่างๆ เราเป็นองค์กรอาสาสมัครนอกจากมีสมัครสมาชิกรายปีแล้ว ยังมีผู้สนับสนุนรายย่อยให้เงินบริจาค เรารับเงินองค์กรเอกชนใหญ่ๆ ที่มีประวัติไม่ดีเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ได้ กว่าจะรับทุนที่ไหนต้องสืบประวัติเยอะมาก ส่วนเงินจากภาครัฐจะรับได้เฉพาะงานสิทธิมนุษยชนศึกษาเท่านั้น

มีผู้บริจาคให้แอมเนสตี้ที่ต่างๆ ทั่วโลก ในไทยก็มีผู้บริจาค บางประเทศมีสมาชิกและผู้บริจาคกว่า 80% ของประชากร เช่น ประเทศทางยุโรป อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย ที่มีบรรยากาศสนับสุนนสิทธิมนุษยชน สำนักงานเลขาธิการใหญ่ก็เอามาแบ่งให้แอมเนสตี้ประเทศที่มีสมาชิกและผู้บริจาคน้อยอย่างประเทศไทย

– สังคมกล่าวหาว่าช่วยเหลือฆาตกร-นักโทษ?

จุดยืนคือเราไม่อ่อนข้อให้กับผู้กระทำผิดอยู่แล้ว เราไม่อยากให้มีคดีสะเทือนขวัญเกิดขึ้นกับครอบครัวไหน ไม่ได้เข้าข้างผู้กระทำผิดแต่ต้องมีกระบวนการจัดการคดีอย่างเป็นธรรม เจตจำนงของกฎหมายคือป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำผิดหรือความรุนแรง ก็ควรตั้งคำถามว่าโทษประหารช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า

ทุกคนตั้งคำถามว่าคุณไม่ได้เป็นเขาคุณไม่รู้หรอก เราไม่สามารถทดแทนความสูญเสียของใครได้ แต่ในภาพรวม ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบต้องการให้ทางการเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษถูกคน กระบวนการต้องโปร่งใสเป็นธรรม มีระบบช่วยฟื้นฟูเยียวยาสนับสนุนครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ

ส่วนผู้ต้องหาได้รับสิทธิอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมหรือเปล่า อะไรเป็นสาเหตุที่เขาทำ มีโอกาสกลับตัวกลับใจไหมหรือเขาป่วย และมีระบบอะไรช่วยให้ไม่กลับไปทำผิดอีก เราไม่ได้เข้าข้างโจร รัฐและสังคมต้องช่วยกันป้องกันการกระทำผิด แต่ยืนยันว่าวิธีตาต่อตาฟันต่อฟันหรือให้ตายตกไปตามกันไม่ทำให้แก้ปัญหาอะไรได้

– ที่ผ่านมาส่วนใหญ่รณรงค์ให้เหยื่อด้วยซ้ำ?

ใช่ค่ะ อยากให้คนมองหลายด้าน เราทำงานเรื่องต่อต้านการทรมานมาตลอด เพราะคนที่โดนเจ้าหน้าที่รัฐทรมานอุ้มหายไปไม่มีการเอาผิดเกิดขึ้น กระบวนการไม่เป็นธรรมไม่โปร่งใส เราพยายามผลักดันให้มี พ.ร.บ.ทรมานจะได้มีการสอบสวนที่เป็นอิสระ โปร่งใส และยุติธรรม มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัว จนถึงการทำงานปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและงานสิทธิมนุษยชนศึกษาทำให้คนเห็นว่าไม่ควรละเมิดสิทธิหรือใช้ความรุนแรงต่อกัน เคารพความเป็นมนุษย์กัน เรื่องโทษประหารนี่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น

– การเลิกโทษประหารในไทยจะเป็นจริงได้ไหม เมื่อคนยังไม่ยอมรับมากๆ?

เราอาจต้องทบทวนและปรับยุทธศาสตร์การทำงาน สัปดาห์ที่ผ่านมาถ้อยคำเฮทสปีชต่างๆ ไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbully) ที่เกิดขึ้น มาจากความไม่มั่นใจในความปลอดภัยของสังคม ความโกรธคิดว่าเราเข้าข้างคนผิด

ที่น่าสนใจคือเหมือนเราโดนรุมโยนหินใส่เพราะเห็นต่าง เราตั้งคำถามว่าสังคมไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ไม่อยากให้เกิดคดีสะเทือนขวัญ แต่ได้ช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่เกิดความรุนแรงหรือเปล่า หรือสิ่งที่ทำอยู่ก็เป็นส่วนหนึ่งเหมือนกัน

ตอนแรกคิดว่าต้องก้มหน้ารับก้อนหินไปก่อน แต่มันทำให้คิดได้ว่าเพราะก้อนหินเหล่านี้ทำให้ไม่สามารถก้มหน้ารับและปล่อยให้เงียบไปได้ เราควรลุกขึ้นมาทำให้คนเห็นถึงความสำคัญในการเคารพกันมากขึ้น ต้องมีวิธีการสื่อสารที่ทำให้สังคมเปิดใจ ควบคู่กับงานสิทธิมนุษยชนศึกษา เพื่อจะได้ไม่มีคดีสะเทือนขวัญอีก ถ้าเริ่มที่การเคารพและเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์กัน อาจดูโลกสวยแต่ต้องเริ่มที่จุดใดจุดหนึ่ง

– คนคิดว่ายังไม่พร้อม เพราะระบบราชทัณฑ์ที่คนออกมาแล้วยังก่อเหตุซ้ำๆ?

ถ้าไม่พร้อมเลยและไม่เคยเริ่มเลยก็ไม่มีการแก้ปัญหา เห็นด้วยว่าหลายอย่างต้องทำพร้อมกันทั้งระบบ ยังมีระบบกฎหมาย การคุ้มครองความปลอดภัยสังคมจากอาชญากรรมร้ายแรง สร้างความรู้ความเข้าใจคนในสังคมร่วมกัน ศึกษาว่าอะไรเป็นปัญหาของความรุนแรง ทำยังไงให้คนไม่กลับไปทำผิดอีก ที่สำคัญครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบควรได้รับการเยียวยาช่วยเหลือสนับสนุน ไม่ใช่ปล่อยให้เขาต้องสู้โดยลำพัง

ส่วนสังคมและสื่อจะช่วยอะไรได้บ้าง มีการโปรโมตดราม่า-ความรุนแรงหรือเปล่า เรามีหน้าที่ช่วยอะไรได้แค่ไหน ทั้งปัจเจก ชุมชน หรือรัฐเอง ถ้าคิดว่าไม่พร้อมก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น

– คำถามเกิดขึ้นว่าถ้าไม่ประหารจะทำยังไง เมื่อไม่อยากให้คนเหล่านี้กลับมาในสังคม?

เขาไม่อยากให้กลับมาอยู่ในสังคม เพราะความกลัว ในฐานะที่เป็นผู้เสียภาษีคนหนึ่ง คิดว่ารัฐควรมีการจัดการให้ดีขึ้น มีที่ให้เขายืน มีการรองรับเขา เคยมีข้อเสนอตั้งแต่ระดับการฟื้นฟูเยียวยารักษา การให้โอกาส หรือควรจำคุกไม่ต่ำกว่า 20 ปีก่อนปล่อยออกมาไหม ก่อนปล่อยจะมีกระบวนการอะไร อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ที่ต้องทำงานทั้งกับชุมชนผู้ต้องหาและครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ เรายังไม่เห็นสิ่งเหล่านี้จากทางรัฐ อาจเป็นเหตุหนึ่งที่คนไม่มั่นใจและไม่อยากให้โอกาสคนเหล่านี้

– ที่ผ่านมาทำงานเรื่องโทษประหารกับภาครัฐยังไงบ้าง?

มีการปรึกษาหารือผลักดันนโยบาย เราออกรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตทุกปี ภาครัฐมีแผนสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 3 ที่จะยุติโทษประหารชีวิต ก็คุยกันว่าถ้าจะไปถึงตรงนั้นโรดแมปเป็นยังไง เริ่มจากการลดโทษร้ายแรงที่เป็นโทษประหารชีวิตก่อนไหม เช่น โทษยาเสพติด ภาครัฐบอกต้องทำเป็นขั้นตอน เราก็ยินดีพูดคุย จัดเสวนาร่วมกันมาหลายครั้ง กรมคุ้มครองสิทธิฯก็เป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีมากในการทำงานร่วมกัน

– กระทรวงยุติธรรมกำลังมีแผนเลิกโทษประหาร แต่กลับมีการประหารชีวิต?

เป็นคำถามที่อยากทราบจากภาครัฐเหมือนกัน เราทำงานด้วยกันตลอดมา แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ก็มีคำถาม อาจต้องหาทางเข้าไปพูดคุยหารือว่าต้องทำงานด้วยกันต่อไปยังไง

– จะสื่อสารยังไงกับคนที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะคนที่เข้ามาข่มขู่?

อยากบอกว่าเราอยู่ข้างเดียวกันกับสังคม เราไม่ต้องการเห็นคดีสะเทือนขวัญ ไม่ต้องการเห็นคดีหั่นศพข่มขืนเกิดขึ้นต่อไป อยากเห็นความปลอดภัยและอยากให้คนเคารพความเป็นมนุษย์กัน และเราไม่ได้เข้าข้างคนผิด ต้องการให้มีการลงโทษ แต่ควรมีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมและระบบที่จัดการให้มีความปลอดภัยกับทุกคน เราไม่อยากให้เกิดขึ้นกับครอบครัวไหน แต่โทษประหารเป็นใบอนุญาตที่รัฐใช้ความรุนแรงแก้ไขความรุนแรง แล้วจะเป็นวงจรอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ

อยากให้เปิดใจลองรับฟัง เมื่อไม่อยากเห็นความรุนแรงเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ทำต่อกันตอนนี้เป็นสัญญาณน่ากลัวว่าเราไม่เคารพกันและใช้ความรุนแรงต่อไป เรายินดีรับฟังความเห็นที่แตกต่าง ถ้ามีคำแนะนำอะไรเรายินดีรับฟังอย่างสร้างสรรค์ การเห็นต่างก็คุยกันได้บนพื้นฐานที่ไม่คุกคามกัน

สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตกใจและน่าสนใจ อยากฝากภาครัฐและคนที่เกี่ยวข้องว่าจะทำยังไงเมื่อคนหวาดกลัวถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิต ไม่ควรมีใครมาโดนโยนหินอยู่คนเดียว ไม่ใช่หน้าที่ใครคนหนึ่งแต่เป็นหน้าที่ทุกคน นี่เป็นการบ้านฝากให้รัฐด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image