ศิลปะ ‘ดอกไม้สด’ บนข้อพระกร พิสิทธิ์ ไพโรจน์ ถักทอความฝันจากหนังสือ

ขณะที่ข่าวสาร ความรู้แทบทุกศาสตร์สามารถหาได้ชั่วนิ้วสัมผัสบนโลกโซเชียล พื้นที่ของร้านหนังสือทุกวันนี้จึงหดแคบลงทุกที และค่อยๆ หายไปจากสายตา

กระนั้นบทบาทของร้านหนังสือในฐานะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่คนทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ยังคงมีอยู่….

ทุกวันพระที่บริเวณอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี จังหวัดลำพูน จะมีคนเฝ้ารอคอยการมาถึงของมาลัยพวงพิเศษ

พวงมาลัยช่อยาวขนาดเมตรเศษที่คล้องบนพระหัตถ์ ทิ้งสายอุบะยาวลงจรดฐานอนุสาวรีย์ ดึงดูดสายตาของผู้คนรอบข้าง รวมทั้งผู้ที่เดินผ่านไปผ่านมาให้หยุดชื่นชมความงามประณีตของดอกไม้เล็กๆ เป็นพันดอกที่จับมา

Advertisement

กรองมาร้อยต่อกันกลายเป็นงานศิลปะชิ้นเอกที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก

นับตั้งแต่วันพระแรกเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมปีกลาย เรื่อยมานานปีเศษ มาลัยที่ร้อยอย่างวิจิตรเป็นสายยาวสารพันดีไซน์ถูกนำมาถวายทุกวันพระ เป็นจำนวนมากกว่า 50 พวง 50 แบบ

แม้กระทั่งดอกหงส์เหินที่แสนจะบอบบางก็เคยจัดช่อเป็นพวงอุบะเมื่อวันเข้าพรรษาปีกลาย

Advertisement

“จริงๆ เห็นเธอบอบบางขนาดนั้น ในการเอาเธอมาวางไว้ เธอยังสามารถทรงตัวไว้อย่างนั้นได้เป็นวันถึงสองวัน เฉพาะกลีบของเธอดูอ่อนแอ แต่จริงๆ แล้วเธอแข็งแรง เราตัดมาเสร็จ ถ้าเธออยู่ในที่เย็นหรือไม่อบร้อนเธอก็จะสามารถคงอยู่ได้”

ความช่างสังเกต ใส่ใจในทุกรายละเอียดเกี่ยวกับดอกไม้ รวมทั้งใบไม้ทุกชนิด เป็นคุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของช่างดอกไม้ อย่างดอกชบา ถือเป็นดอกไม้อวมงคลก็จะไม่นิยมนำมาร้อยมาลัย หรือดอกรักเอาน้ำแข็งทับได้ แต่จะไม่แช่น้ำ เพราะจะอมน้ำแล้วกลีบจะเปลี่ยนเป็นสีใส เป็นต้น

พิสิทธิ์ ไพโรจน์ หรือ “เอ” ผู้เรียกขานตนเองว่า “ชาวดอกไม้” เจ้าของงานศิลปะดอกไม้สดบนข้อพระกร เล่าถึงที่มาของการคิดประดิษฐ์ว่า ทุกอย่างมาจากการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง อาศัยซื้อตำรับตำรามาแกะแบบเอง อาศัยครูพักลักจำบ้าง ถามจากน้องๆ เพื่อนๆ ที่มีฝีมือ รวมทั้งได้ความเมตตาและคำแนะนำจากครูในวงการ ค่อยๆ หัด ค่อยๆ ลองพัฒนาฝีมือขึ้นมาเรื่อยๆ

“ไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อนเลยค่ะ จบการบริหารเลขานุการ ชอบเกี่ยวกับพวงมาลัย ทำได้แค่พื้นฐานเบาๆ แต่พอเห็นคนอื่นทำได้สวย เลยมีแรงบันดาลใจอยากจะทำได้สวยเหมือนคนที่เรียนมาบ้าง จึงซื้อหนังสือมาค่อยๆ หัดทำทีละหน่อย จนได้โจทย์จากคุณแม่ตุ๊กมาจึงได้พัฒนาความสามารถตัวเอง (หัวเราะ) เลยพยายามหัดทุกลายที่พอจะทำได้ ให้มันเก่งขึ้น”

“คุณแม่ตุ๊ก” ที่ว่าคือ เกศนี จิรวัฒน์วงศ์ นำภาพ “มาลัยชายภูษามาลา” ฝีมือ ครูตวงครูกลอฟ (วสุกิจ พักเรือนดี/ศุภชัย ชานนท์ “บายศรีวิจิตร”) ต้นทางของการประดิษฐ์มาลัยอุบะยาว มาไหว้วานให้ร้อยเพื่อสักการะอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี เป็นการเปิดโอกาสให้เธอ-จากจุดเริ่มต้นที่งานบายศรี ร้อยมาลัยพวงละ 5 บาท 10 บาท ค่อยๆ ฝึกปรือฝีมือจนรับงานมาลัยบ่าวสาว-ได้มีที่ทางมีเวทีสำแดงฝีมือการคิดประดิษฐ์ได้อย่างเต็มที่

“แม่ตุ๊ก” เองเล่าความรู้สึกผ่านพิสิทธิ์ว่า เป็นความปรารถนาที่สุดที่ได้ถวายมาลามาลัยที่งดงามประณีตพิเศษเป็นที่สุด ถวายพระนางฯ แต่การได้น้อมถวายต่อเนื่องมากว่า 1 ปี สิ่งที่ประจักษ์และปิติมีความสุขทุกวันพระคือ การได้เห็นศิลปินดอกไม้รังสรรค์งานวิจิตร เพราะศิลปินย่อมต้องมีพื้นที่ ต้องมีเวทีและแรงสนับสนุน ดีใจที่ได้ทำหน้าที่นำความงามจากมือจากใจศิลปินดอกไม้ออกสู่สายตาผู้คน

พิสิทธิ์ เป็นชาวลำพูน เป็นเด็กบ้านนอกธรรมดาๆ พ่อเป็นข้าราชการ แม่ขายอาหารตามสั่ง

ชีวิตวัยเยาว์ไม่ต่างจากเด็กทั่วไปในละแวก เรียนโรงเรียนจักรคำคณาทร โรงเรียนประจำจังหวัดซึ่งเป็นโรงเรียนชายล้วน จนถึง ม.3 จึงศึกษาต่อที่วิทยาลัยเทคนิคลำพูน คณะบริหารการเลขานุการ สาขาการเลขานุการ และไปสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี คณะการจัดการ เอกจัดการสำนักงาน ในปี 2542

หลังสำเร็จการศึกษา พิสิทธิ์สมัครเข้าทำงานเป็นรีเซฟชั่น ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท 11 อยู่ 2 ปี ก็ลาออกรับงานอิสระ งานเอกสารต่างๆ นานา ค้นหาตัวเอง แต่ที่สุดก็กลับบ้านที่ลำพูน กลับมาหางานดอกไม้ที่ตนเองรัก

พิสิทธิ์ย้อนความให้ฟังว่า เริ่มหยิบจับงานดอกไม้ตั้งแต่อายุ 8-9 ขวบ ความที่ชอบของสวยๆ งามๆ อยู่แล้ว พอมีเวลาว่างก็จะไปช่วยคุณน้าเพื่อนบ้าน

“มีความรู้สึกว่ามันสวย เขาทำอะไร เราก็อยากช่วย ให้หัดทำอะไรก็ทำ ส่วนใหญ่จะสอนพวกบายศรีก่อน แต่ก็ยังไม่ได้สนใจอะไรมากมาย เหมือนได้ช่วยงานเรื่อยๆ และได้หัดทำเอง จนมาเรียน ปวช. พอมีความสามารถบ้าง ได้ทำให้ห้องตัวเองจัดดอกไม้เอง …พานไหว้ครูนี่ทำตลอดค่ะ ตั้งแต่เด็ก ตอนนั้นเรายังไม่มีความสามารถด้านอื่น ก็จะบอกเพื่อนว่าอยากได้เป็นรูปมือพนมบ้าง เขาก็ไปหาคนปั้นมือเอามาวาง และเราก็จัดดอกไม้ใส่

“อยากหาอะไรแปลกๆ ที่มันไม่เหมือนคนอื่น อย่างพานเป็นรูปหงส์ คนอื่นไม่ทำ เราจะทำ (หัวเราะ) คือเราอยากให้มันมีความเป็นของห้องเรา”

ทำงานกรุงเทพฯ อยู่กี่ปี?

เกือบ 10 ปี หลังลาออกจากงานโรงแรมแล้วไปทำจ๊อบอย่างอื่น ไม่เกี่ยวกับดอกไม้โดยตรง ไม่ได้ทำเป็นจริงเป็นจัง มีแต่ช่วยงานเพื่อน งานพิมพ์เอกสารบ้าง ด้วยความที่เลขานุการผู้ชายค่อนข้างเปิดกว้างน้อยกว่า งานด้านออฟฟิศพอทำๆ แล้วมันไม่ค่อยโอเค เราเป็นคนชอบงานฟรีแลนซ์ เป็นอิสระ แล้วก็เดินทางไปเรื่อย จนสุดท้ายมีความรู้สึกว่าน่าจะอยู่สักที่หนึ่ง ก็กลับมาอยู่บ้านที่ลำพูน แล้วไปทำงานที่เชียงใหม่ ร้าน “อ้อย&อ่ำ ดอกไม้สด” ตอนนั้นประมาณปี 2555 เป็นการเริ่มทำงานครั้งแรกเกี่ยวกับการจัดดอกไม้ ก็จะมีงานใบตอง มาลัย แซมเข้ามาเบาๆ งานบายศรี ก็เริ่มจากตรงนี้

ตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยจนกลับมาบ้านที่ลำพูนไม่ได้ค่อยแตะงานดอกไม้ ได้วิชาจากไหน?

ชอบไปเดินซีเอ็ดบุ๊คค่ะ เวลาว่างหรือได้เดินผ่านห้างจะต้องแวะเข้าไปซื้อเก็บหนังสือที่สนใจเกี่ยวกับงานใบตอง งานดอกไม้ งานมาลัย ขอเก็บสะสมไว้ก่อน พอวันไหนรู้สึกว่ามีงานนี้ ก็เปิดตำราทำหน่อย อย่างพี่สาวแต่งงาน ญาติแต่งงาน เพื่อนจะทำพานไหว้ครู ก็จะงัดตำราออกมาทำ มาหัดร้อย

คนรอบข้างจะรู้จักฝีมือดี?

เขาคิดว่าเรามีฝีมือตั้งแต่เด็ก คนแถวบ้าน คนใกล้ชิดจะรู้ว่าถ้าเป็นงานประเภทนี้ก็จะมาหาเรา ขอตัวไปช่วยจัดดอกไม้งานศพบ้าง พอโตขึ้นมาแล้วก็ไหว้วานให้ช่วยจัด ก็ให้เงินมา แต่งานมาลัยมาเริ่มจริงๆ ที่ร้านคุณตู่ (วีระศักดิ์ ละลิตจรูญ) ร้านบาบิลอน ใน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ปี 2558 น้องบ๊อบบี้ (พจนารถ เทพวงศ์ เจ้าของร้านเวดดิ้งที่ลำพูน) รู้จักกันที่ร้านดอกไม้ที่เชียงใหม่ ไปทำงานที่อุบลฯอยากได้ช่างดอกไม้เพิ่ม เลยชวนไปทำงาน ทำมาลัยบ่าวสาว เพราะทางอีสานต้องสั่งจากกรุงเทพฯ พอรู้ว่าเราทำเป็น เราก็เลยมีหน้าที่โดยตรง อยู่อุบลฯ ได้ปีกว่าก็ย้ายกลับมาลำพูน เลยได้พื้นฐานส่วนหนึ่งกลับมา พี่ๆ ที่ร้านเดิมที่เชียงใหม่พอรู้ว่าเรากลับมาแล้ว พอมีงานก็ส่งงานมาให้เรื่อยๆ จนปัจจุบัน รับงานเป็นชิ้นๆ ไม่มีหน้าร้านค่ะ

ที่ลำพูนมีร้านดอกไม้?

มีค่ะ แต่เป็นร้านเล็กๆ แต่เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ เป็นแหล่งที่คนปลูกดอกไม้จะมาลงที่เชียงใหม่ก่อนแล้วค่อยกระจายไปกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นที่ปากคลองตลาดก็จะมีดอกไม้ของเชียงใหม่ ใบไม้จากทางเหนือ ส่วนกล้วยไม้ก็มาจากนครปฐม ฉะนั้นเชียงใหม่จึงเป็นแหล่งส่งดอกไม้ ถ้าเราอยากทำงานร้านดอกไม้ก็ต้องไปเชียงใหม่

ก่อนจะขึ้นแบบคิดออกแบบอย่างไร?

จะดูว่าวันนี้ที่จะร้อยมาลัยมีความสำคัญอย่างไรบ้าง เกี่ยวเนื่องกับอะไรบ้าง ส่วนใหญ่เราเลือกจากสี อย่างบางครั้งมีความรู้สึกว่าสัปดาห์นี้หน้าจะทำสีฟ้า หรืองานลอยกระทงน่าจะเกี่่ยวกับ “น้ำ” ก็ออกแบบเป็น “มาลัยสายน้ำ” (ชายอุบะร้อยด้วยดอกพุดเรียงต่อกันเหมือนสายน้ำ/สายฝน) ได้ความคิดจากกระทงที่ลอยเป็นสายๆ หรือใกล้วันพระใหญ่ก็อาจจะใช้สีเหลือง คือดูตามงานที่กำลังจะเกิดขึ้น

อย่างวันออกพรรษานึกถึงพญานาค ซึ่งพวงแรกที่ทำเป็นพญานาคยากมากๆ ตอนนั้นเห็นจากภาพของเพื่อน ก็ไปเปิดหาจากหนังสือเสิร์ชหาบ้างแล้วลองทำไปก่อน-รื้อค่ะ (หัวเราะ) เฉพาะหน้านาค ทำมา 3 หน้า พอดูแล้วทรงแปลกๆ ก็แช่น้ำ พักไปก่อน พอพวงที่ 2 ได้น้องคนอีสานซึ่งเก่งเรื่องกนก เรื่องงานใบตอง ส่งแพตเทิร์นมาให้ และใช้วิธีที่ถนัด อย่างการขดกลีบกล้วยไม้ เราไม่เป็นก็จะใช้วิธีการยิงปืนกาวพร้อมกับดอกรัก ซึ่งเวลาร้อยมาลัยสิ่งที่จะทำก่อนคือ ทำหน้านาคกับอุบะก่อน อย่างอื่นค่อยว่ากันทีหลัง เพราะอุบะยากมาก

อุบะก็ยาวและหนัก ทราบได้อย่างไรว่าจะรับน้ำหนักไหว?

(หัวเราะ) เฉพาะอุบะน้ำหนักเกือบ 5 กิโล เราใช้ด้ายทั้งหมด แต่เราจะรู้ว่า พวงหนึ่งจะหนัก 3-4 ขีด ตัวมาลัยจึงต้องมัดให้แน่นที่สุด ให้แข็งที่สุด เวลายกขึ้นจะไม่เสียทรงเพราะต้องรับน้ำหนักมาก ถึงบอกว่าต้องหาเทคนิคจากการสั่งสมประสบการณ์

ดอกไม้สดอายุสั้น เตรียมงานอย่างไร?

ค่ะ อย่างดอกไม้เชียงใหม่ดอกไม้มี แต่บางทีคุณภาพไม่ได้ดังใจ ฉะนั้นบางอย่างก็ต้องสั่งจากกรุงเทพฯ ก็ต้องคำนวณระยะเวลาที่สั่งจากกรุงเทพฯด้วย รวมทั้งการเตรียม และชั่วโมงการทำงาน จึงต้องวางแผน เพื่อให้เมื่อร้อยเสร็จแล้วดอกไม้ยังคงสดสวยอยู่

บางคนบอกว่าดูเหมือนง่าย แต่การกรอง (คัด) ดอกพุด กรองดอกบานไม่รู้โรย ต้องมีเทคนิคการกรอง เช่น พวงดอกพุดทั้งหมดต้องมีการตัดหัวพุดออก ตัดก้านออก ต้องใช้เวลาเตรียมชั่วโมงสองชั่วโมง ซึ่งสิ่งที่ยากที่สุดคือ อุบะ ความยาวขั้นต่ำเกือบ 1 เมตร ยาวที่สุดตั้งแต่หัวถึงปลายอุบะที่เคยทำประมาณ 1.60 เมตร

เฉพาะเวลาที่ใช้ร้อยไม่ต่ำกว่า 16 ชั่วโมง ถ้ารวมการออกแบบ?

2 วันค่ะ ถ้าเป็นพวงพิเศษประมาณ 3 วัน คือวันไหนนึกได้ก็สเกตช์แบบไว้ก่อน แต่บางพวงวาดแล้วพอลงมือทำแล้วมีการพลิกแผนกลางอากาศก็มี เพราะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ พอทำแล้วลองประกอบดูแล้วไม่โอเค ก็รื้อออก แก้งานใหม่ บางทีจึงต้องทำตุ้งติ้งส่วนเกินไว้เผื่อใส่ แต่ถ้ารู้สึกไม่ว่าสวยก็ไม่ใส่ หาตัวอื่นมาใส่แทน คือต้องรู้สึกว่าเราชอบ เราใช่ แล้วคนอื่นก็จะชอบและใช่กับเรา

ใครเป็นคนตัดสินใจในการออกแบบแต่ละครั้ง?

มีตัวเองเป็นบรรทัดฐานค่ะ ถ้าเรารู้สึกว่ามันไม่สวยตั้งแต่หัวยันปลาย คนที่อื่นเห็นก็คงไม่โอเค คือต้องผ่านจากความรู้สึกของตัวเองก่อน อย่างมีอยู่พวงหนึ่งที่มีตุ้งติ้ง 2 ข้าง มานั่งมองนั่งถ่ายรูปเป็นชั่วโมงแล้วรู้สึกว่ามันไม่สวยสักที เหมือนขาดอะไรบางอย่างไป ก็ลองร้อยชายอุบะใส่เข้าไปทั้งสองข้าง เท่านั้นแหละ ใช่เลย ที่แท้ขาดชาย 2 ข้าง แล้วก็รู้สึกโล่งใจ พรุ่งนี้เตรียมถวายได้

รับงานตกแต่งสถานที่ในงานเวดดิ้ง?

มีบ้าง อย่างงานไทย (มาลัย พานขันหมาก บายศรี) บ๊อบบี้จะส่งมาให้ พอถึงเวลาก็จะมารับไป แต่ถ้ารับงานแล้วชนกับงานมาลัย ก็จะเลือกงานมาลัยก่อน เพราะเป็นงานที่ต้องเตรียมเยอะ มีรายละเอียดเยอะกว่า

มีคนมาสมัครเป็นลูกศิษย์?

มีคนเคยถาม แต่ให้ลองจริงๆ ก็ไม่ค่อยมีใครสู้งานเท่าไหร่ เพราะอย่างเวลาที่มีงานเยอะ ถ้าพ่อกับแม่งานไม่เยอะก็จะให้ลองตัดดอกพุดดู ก็จะช่วยได้แค่บางอย่างเท่านั้น ถ้าให้ตัดนานกว่านั้น ก็จะบอกว่าไม่ไหวแล้ว เพราะมันเล็กมาก บางอย่างเราจึงต้องเตรียมการเอง วางแผนว่าต้องทำตรงนี้ก่อน เช็กว่าสิ่งไหนสำคัญสุด ต้องทำสิ่งที่ยากที่สุดก่อน คือต้องมีการวางแผนในทุกๆ อย่างก่อน

ต้องบอกว่ามาลัยทุกพวงที่ทำ ยากทุกพวง เพราะเราไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยเรียน ได้รับคำแนะนำจากพี่น้องที่เก่งๆ ผ่านทางเฟซบุ๊ก พอถวายแล้ว สมองก็จะคิดแล้วว่าวันพระหน้าจะทำแบบไหนดี ขี่มอเตอร์ไซค์ไปเชียงใหม่ พอเห็นภาพจะเริ่มดำเนินการ บางทีก็จะมีการสเกตช์ภาพ

ครั้งแรกที่ถวายพวงมาลัยอนุสาวรีย์พระนางจามเทวีได้ไม่ถึงชั่วโมงก็ถูกมือดีปลดลง?

ทีแรกเรามองว่าไม่น่าจะมีคนทำแบบนี้ พอมีคนทำ และมีคนถามว่า เอ๊ะใครทำ คือมีคนปลื้มและคนที่ไม่อยากให้เห็น แต่เราก็จะไม่สนใจ จำได้ว่ามีคนมายืนจ้องมองมาลัย ด้วยความชื่นชมอยู่นาน แล้วถามหาว่ามาจากไหน โดยเฉพาะคนลำพูนที่มาบ่อยๆ จะเห็นว่าทุกวันพระจะมีมาลัยของเราไปถวาย ก็จะมาสะกิดถามหากันว่าน่าจะเอาไว้นานๆ เพราะมันสวย ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะเอามาลัยพวงละ 5 บาท 10 บาท ถวายถมไปเรื่อยๆ พวงเก่าก็ไม่ได้เอาออก มันไม่สวย ก็เลยจะไม่อนุญาต

ทำอย่างไรจึงชนะใจ?

ใช้ใจอย่างเดียวค่ะ ไม่ว่าจะว่าอย่างไร เรายิ้มอย่างเดียว เดี๋ยวถวายใหม่วันพระหน้า เป็นอย่างนี้อยู่นาน 4-5 เดือน จนเขายอมแพ้มั้ง (หัวเราะ) เป็นธรรมดาคนที่ชื่นชอบก็จะปลื้มปริ่ม แต่ก็อาจจะมีคนที่มองแล้วขัดหูขัดตา

มีคนมาคอยเฝ้าดูว่าวันพระหน้าจะเป็นแบบไหน?

ก็จะมีเพื่อนๆ คนที่รู้จักกันผ่านกลุ่มในโซเชียล แต่จะมีเพื่อนคนหนึ่งที่คอยเก็บภาพไว้ตลอดและส่งมาให้ดู บางคนก็บอกว่ายอมใจ เพราะเราทำให้มันต่างกัน จับนู่นผสมนี่ แต่บางทีก็จะทำแตกต่างออกไป มันเหมือนเรากินข้าวทุกวันเรายังเบื่อเลย

มาลัยที่ปลดลงมาแล้วไปอยู่ที่ไหน?

คนที่ศรัทธาจะขอไปเพราะถือเป็นสิริมงคล หลังๆ จะมีนายตำรวจคนหนึ่งไม่ทราบชื่อ มีรูปบูชาพระนางจามเทวีที่บ้าน เห็นว่ามาลัยสวย แต่ไม่มีเงินมากมาย จึงมาขอมาลัยไปถวายต่อที่บ้าน

ได้อะไรจากการร้อยมาลัย?

ได้ความสุข ได้ทำทุกวัน ได้เตรียม มันมีความสุขเหมือนเป็นชีวิตของเราไปแล้ว ไม่เคยรู้สึกว่าเหนื่อย ยิ่งมีคนมาชื่นชมผลงานทำให้เราต้องทำให้เต็มที่ ต้องทำให้สวยที่สุด และนี่เป็นการทำถวาย ต่อให้ไม่มีคนจ้าง เราก็จะทำต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image