อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ‘สุรชาติ บำรุงสุข’ เปิดมุมมอง “ทหาร” กับ “การเมือง”

เป็นหนึ่งในคน “เดือนตุลา” ที่มีบทบาททางการเมืองในภาควิชาการ เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ การทหารและกองทัพ ยังเป็นนักเขียนผู้มีบทความตีพิมพ์ในมติชนมาถึง 4 ทศวรรษ

ล่าสุดได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) เป็นอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาสังคมศาสตร์

กำลังพูดถึง ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่เพียงเป็น “ครู” ผู้ถ่ายทอดความรู้กับนิสิต ยังมีผลงานวิจัย หนังสือและบทความ ด้านยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากมายที่เป็นเครื่องมือสร้างองค์ความรู้ให้กับสังคม เป็นผลงานตีพิมพ์ประมาณ 80 เล่ม และจุลสารมากกว่า 200 เล่ม

Advertisement

แต่กว่าจะสร้างสรรค์ผลงาน ด้านยุทธศาสตร์และการทหาร จนเป็นผู้เชี่ยวชาญในวันนี้ ต้องผ่านประสบการณ์ครั้งสำคัญหลายครั้ง รวมถึงการสะสมความรู้จากการศึกษาค้นคว้าหลายสิบปี

จุดเปลี่ยนของชีวิต อ.สุรชาติ เริ่มขึ้นหลังเดินทางจากพิษณุโลก เพื่อมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ

Advertisement

“มาอาศัยอยู่กับป้าตอนมัธยมต้น แล้วท่านรับหนังสือพิมพ์สยามรัฐ จน ม.ศ.3 เริ่มอ่านบทความการเมืองและเริ่มสนใจ แต่ตอนที่ต้องเลือกสายเรียน ตัดสินใจเรียนสายวิทย์-คณิต แต่ก่อนสอบเอ็นทรานซ์ เริ่มรู้สึกตัวว่าคงไม่เอาดีทางสายวิทย์แน่ เวลาเดียวกันเริ่มอ่านหนังสือรัฐศาสตร์ การเมืองระหว่างประเทศมากขึ้น เพราะอ่านแล้วรู้สึกว่ามันโดนใจ”

เหตุนี้เองทำให้ อ.สุรชาติเลือกเอ็นทรานซ์เข้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

“มารู้ภายหลังว่าพ่ออยากให้เรียนนิติศาสตร์มากกว่า แต่โชคดีที่บ้านไม่กดดัน ท่านยอมให้ผมเลือกวิชาที่เรียน”

ชีวิตในรั้วจามจุรีของ อ.สุรชาติ เริ่มต้นในเส้นทาง “การเมือง” นับตั้งแต่เป็นนิสิตปี 1 ในปี 2516

“ปี 1 ของคนรุ่นผมมีบริบทการเมืองเข้ามาตั้งแต่เริ่มต้น พอเป็นนิสิตก็เกาะกลุ่มอยู่กับรุ่นพี่ที่สนใจการเมืองและเริ่มทำกิจกรรมกัน เปิดเทอมไม่นาน ผมก็เป็นหนึ่งในคนที่ยืนแจกแถลงการณ์หน้าจุฬาฯ แล้วยังเป็นปี 1 ที่เริ่มกบฏตั้งแต่ช่วงแรกของการเป็นนิสิต”

ยังได้ร่วมชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ของรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร และร่วมกิจกรรมทางการเมืองเรื่อยมา จนสถานการณ์การเมืองมาถึง 14 ตุลา

“มีการรวมตัวที่เสาธงหอประชุมจุฬาฯ แล้วเคลื่อนขบวนไปที่ธรรมศาสตร์ ถ้าภาพเก่ายังเหลืออยู่ ผมคือคนที่แบกป้ายเครื่องหมายกำปั้นเดินออกจากจุฬาฯไปร่วมชุมนุม”

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อ.สุรชาติเล่าว่า เห็นความเปลี่ยนแปลงมากมาย เกิดการล้มล้างระบบโซตัสในคณะ พวกผมก็ประกาศปลดไทและไม่รับกติกาของระบบเดิม เป็นความท้าทายนะ เพราะเชื่อว่ารุ่นพี่ในชุดความคิดเดิมคงรับไม่ได้

“หลายคนพูดถึงพวกผมว่ามีอาการฟีเวอร์ประชาธิปไตย ก็ถือว่าไม่ผิดนะ มองย้อนกลับไปสิ่งที่ผู้ใหญ่มองเราคือ มีความสนใจและพูดถึงประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่อาจจะยังต้องหาความรู้เพิ่มเติม แต่สิ่งที่ได้เห็นคือความกระตือรือร้นของคนหนุ่มสาว ที่เริ่มสนใจการเมืองมากขึ้น การเมืองกลายเป็นประเด็นก่อนเรียนหนังสือทุกเช้า”

“ผมยังได้จับพลัดจับผลูเป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการของโครงการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ขณะที่ยังเป็นน้องปี 1 เหมือนโดดขึ้นมามีความรับผิดชอบงานด้านวิชาการระดับประเทศ”

จากนั้น อ.สุรชาติเริ่มทำกิจกรรม ทั้งการเข้าไปเผยแพร่ประชาธิปไตยในชนบท เข้าสู่การเคลื่อนไหวที่ต้องยอมรับว่า “อยู่ในสภาวะการปลุกระดม” ในกรณีของบริษัทเท็มโก้ รวมถึงการเข้าไปช่วยเหลือและใช้ชีวิตกับพี่น้องกรรมกรที่ประท้วงในพื้นที่อ้อมน้อย และทำข้อมูลเรื่องฐานทัพสหรัฐในไทย หลังการประท้วงของกลุ่มยามรักษาการณ์ชาวไทย

“รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีท่าทีไปด้วยกันกับขบวนการนักศึกษา ผมเป็นหนึ่งในผู้มีโอกาสได้เข้าพบนายกฯที่บ้านสวนพลู เมื่อผู้นำนักศึกษาถามว่าถ้าฐานทัพไม่ออกไป รัฐบาลจะทำอย่างไร คำตอบที่ผมจำได้จนถึงวันนี้คือ “ถ้าถึงกำหนดไม่ออก ผมจะไปเดินขบวนกับพวกคุณ” ซึ่งกลายเป็นหัวข่าวใหญ่ในวันรุ่งขึ้น”

“ภาพข่าวในหนังสือพิมพ์นั้นเป็นจุดเริ่มแรกที่ทำให้พ่อกับแม่เริ่มรู้ว่าผมทำอะไร (หัวเราะ) หลังจากที่ปิดที่บ้านเพราะกลัวท่านเป็นห่วง แต่พ่อกับแม่ก็ไม่ได้รั้ง ทุกครั้งท่านจะพูดอย่างเดียวว่าให้ดูแลตัวเองให้ดี ซึ่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เคยมีคนถามคุณป้าว่าทำไมไม่รั้งผมไว้ ป้าผมตอบว่า รู้ว่าผมไม่ได้ไปทำความผิดอะไร”

จากนั้นช่วงปี 19 การเมืองไทยมีความรวนเรมาก ขณะเดียวกันชีวิตนักศึกษาต้นปีมีการเลือกตั้งภายใน อ.สุรชาติได้รับเลือกเป็นอุปนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ซึ่งนายกสโมสรขณะนั้นคือ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

การฉลองตำแหน่งคือ การเดินขบวนใหญ่ เรื่องฐานทัพและถูกปาระเบิดใส่รถขบวนที่ 4 ที่หน้าสยามสแควร์ จากนั้นเริ่มเห็นสัญญาณเป็นระยะ มาชัดเจนเมื่อจอมพลถนอมกลับเข้ามา

จุดพลิกผันของชีวิต อ.สุรชาติ เกิดขึ้นคืนวันที่ 5 ต.ค. เขาถูกควบคุมตัวพร้อมตัวแทนผู้ชุมนุมรวม 6 คน หลังไปเจรจากับรัฐบาล

“ตอนถูกจับ คิดแบบเด็กๆ ว่าคงจับเราเพื่อลดกระแส เต็มที่ 5-10 วันก็คงปล่อยกลับบ้าน จนเริ่มรู้สึกถึงความไม่ปกติ หลังถูกสอบสวนประมาณ 7 วัน ก็ถูกส่งเข้าเรือนจำกลางบางขวาง แดนพิเศษ ดังนั้นชีวิตผมหลัง 6 ตุลาฯ เริ่มต้นในฐานะนักโทษทางการเมืองชุดแรก”

หลังพ้นโทษจึงได้กลับเข้าเรียนต่อปี 4 จนจบและได้ทำงานด้านวิชาการ เป็นเจ้าหน้าที่ของสถาบันเอเชียศึกษาที่เพิ่งเริ่มก่อตัว โดยการเชื้อเชิญของอาจารย์ในจุฬาฯ หนึ่งในนั้นคือ ดร.เขียน ธีระวิทย์

จากนั้น อ.สุรชาติเข้าศึกษาต่อปริญญาโท M.A. Political Science (Cornell University) และปริญญาเอก Ph.D. Political Science (Columbia University)

ยังได้มีโอกาสเข้าไปทำกิจกรรมในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ไม่ว่าจะเป็นการสอนหนังสือ และเขียนบทความลงวารสาร ตลอดจนทำกิจกรรมสัมมนาร่วมกันระหว่างอาจารย์โรงเรียนทหารกับภาคพลเรือน

ล่าสุดได้รับการคัดเลือกจาก ปอมท. เป็นอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาสังคมศาสตร์

รางวัลนี้มีความหมายต่ออาจารย์หรือคนที่ทำงานวิชาการอย่างไร?

แน่นอนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความดีใจ เพราะเป็นเหมือนรางวัลในวิชาชีพ ซึ่งในสายสังคมศาสตร์ไม่ค่อยเห็นรางวัลนี้ มองย้อนกลับไปจุฬาฯ มักได้รางวัลในสายวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยี ส่วนสายสังคมศาสตร์ยังไม่เห็นรางวัล ต้องขอขอบคุณที่คณะกรรมการ ปอมท.ได้คัดเลือกให้เป็นอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ

ผมจะพูดเสมอว่ารางวัลนี้ผมเป็นตัวแทนของคน 3 ส่วน คือ 1.ตัวแทนของเพื่อนอาจารย์สายสังคมศาสตร์ในจุฬาฯ 2.ตัวแทนของนักเขียนมติชน หลายคนคงเห็นว่าผมเติบโตในมติชนมานาน ผมเริ่มเขียนบทความในมติชนประมาณปี 21 นับเป็นนักเขียนเก่าแก่คนหนึ่งที่ยังเขียนอยู่ 3.ตัวแทนของคนรุ่นผม ชีวิตของผมไม่ว่าจะคิดจากมุมไหนก็ตาม ผมคือหนึ่งในคนเดือนตุลาฯ เพราะฉะนั้นรางวัลนี้ถ้าจะเป็นสัญลักษณ์อะไรสักอย่าง ก็ถือว่าผมเป็นตัวแทนของเพื่อนพ้อง ในการต่อสู้ตั้งแต่ปี 16 ถึงปี 19

ทำไมถึงตัดสินใจเป็นอาจารย์?

คนเรียนรัฐศาสตร์ยุคนั้นมีความฝันคล้ายกันคือ เป็นปลัดอำเภอ แต่พออยู่ในขบวนการนักศึกษา ผมรู้ว่าชีวิตผมไม่ใช่เส้นทางที่จะเป็นปลัดแล้ว จะสมัครทำงานกระทรวงการต่างประเทศคงยาก เนื่องจากผมมีประวัติเป็นผู้ต้องหาคดีทางการเมือง เลยมีความฝันว่าอยากเป็นนักวิจัย และอีกอย่างที่มองอยู่คือ เป็นนักหนังสือพิมพ์ แต่สิ่งที่ไม่กล้าคิดคือ เป็นอาจารย์

แต่พอเรียนจบแล้ว ได้รวมกลุ่มกับอาจารย์และเริ่มมีบทบาททางวิชาการ หลังจบปริญญาโทเป็นจังหวะที่มีตำแหน่งว่าง ผมเลยโอนมาเป็นอาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์ สอนวิชายุทธศาสตร์ศึกษา

การเป็นอาจารย์เป็นโอกาสเรียนรู้เหมือนกัน ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะกลับมาอยู่ในอีกสถานะหนึ่งมาเป็นอาจารย์ ไม่ได้เป็นรุ่นพี่ที่นำขบวนประท้วงแล้ว (หัวเราะ)

การเป็นอาจารย์มีข้อจำกัดในการทำงานด้านวิชาการเกี่ยวกับความมั่นคงหรือเปล่า?

ผมไม่ค่อยมีข้อจำกัดกับตัวเอง ต้องยอมรับว่าเขียนเรื่องทหารเยอะมาก ถ้าย้อนกลับไปดูก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ ถามว่าเป็นที่ถูกใจทั้งหมดหรือไม่ ผมว่าไม่ใช่ มีครั้งหนึ่งผมแปลบทความแล้วผู้นำทหารไทยในขณะนั้นโกรธมาก มารู้ทีหลังว่าถึงขั้นจะปิดมติชน แต่พี่ช้าง ขรรค์ชัย บุนปาน ให้โอกาสผมมาก ผมสร้างปัญหาขนาดนี้ก็ไม่เคยบอกให้ผมหยุดเขียน

ขณะเดียวกันเมื่อมีงานเขียนมาก ก็เริ่มรู้สึกตกเป็นเป้า มีการปลอมตัวเป็นนักข่าว แต่ถามคำถามที่ไม่ใช่นักข่าว จำได้ว่าโทรปรึกษาพี่เสถียร จันทิมาธร พอเล่าให้ฟัง ก็ได้คำตอบกลับมาประโยคหนึ่งว่า “คุณถูกหลอกแล้ว” ก็เป็นสัญญาณว่าผมถูกจับตามองอยู่

สนใจศึกษาเรื่องยุทธศาสตร์ ทหารและกองทัพได้อย่างไร?

ขณะถูกคุมขังในฐานะนักโทษทางการเมือง เกิดเหตุการณ์รัฐประหารของ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ แต่ไม่สำเร็จ จึงมีคณะนายทหารชุดหนึ่งก็เข้ามาอยู่ร่วมกันในเรือนจำ เนื่องจากพี่ทหารมีสิทธิเอาหนังสือเข้ามาอ่าน และทหารบางส่วนที่ถูกจับอยู่ในช่วงเตรียมสอบเข้าโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เขาก็เอาตำราเรียนเข้ามาอ่าน ผมเริ่มขอยืมหนังสือมาอ่าน เป็นจุดเริ่มต้นที่อ่านตำราทหารอย่างจริงจัง จนถึงช่วงที่เตรียมตัวขึ้นศาล เริ่มเขียนบทความโดยไม่ใส่ชื่อส่งให้สื่อข้างนอกผ่านทนายความ

หลังสอนหนังสือได้ 3 ปี ได้ทุนปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Harvard-Yenching ก็ตัดสินใจขอเรียนการทหารที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เนื่องจากดูโครงสร้างแล้วมีวิชาทหารมากกว่า และมหาวิทยาลัยแห่งนี้ส่วนหนึ่งผลิตบุคลากรป้อนกลาโหมของสหรัฐ

มองการขึ้นสู่อำนาจของทหารแต่ละครั้งอย่างไร?

สิ่งที่เหมือนกันคือ คนส่วนหนึ่งของสังคมไทยหรือปีกขวา ที่เป็นอนุรักษนิยมในสังคมไทย เชื่ออย่างเดียวว่าการเมืองเป็นเรื่องเลวร้าย นักการเมืองเป็นคนไม่ดี เวลามีเรื่องจะโทษว่าเป็นเพราะนักการเมือง แล้วพอสถานการณ์แย่ลงก็มีคำตอบเดียวคือ ยึดอำนาจ

ถ้าเอาสถานการณ์มานั่งเรียงการยึดอำนาจทุกครั้ง มีมุมมองว่าเวลาท่อการเมืองตัน ทหารต้องล้างท่อ หรือใช้ภาษาเก่า ทหารคืออัศวินม้าขาว ที่จะเข้ามาเป็นผู้พิทักษ์ ขจัดความไม่ดีทั้งปวง ถึงวันนี้ยังไม่รู้สึกว่าจินตนาการชุดนี้จะหายไป มันอยู่กับสังคมไทยนานกว่าที่ผมคิด ทั้งที่บริบทของเวลาและการเติบโตของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ทำไมวิถีความก้าวหน้าไม่สามารถเปลี่ยนฐานคิดของปีกอนุรักษนิยมในไทย

ผมทำงานกับทหารมานาน แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ ผมเชื่อว่าการรัฐประหารเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดและเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการทำลายขีดความสามารถของกองทัพ

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศได้ไหม?

ผมเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้และอยากเรียกร้องให้ทุกคนอ่าน ด้วยความหวังว่าจะเป็นพลังในการยกเลิก เพราะแผนนี้ถูกบังคับใช้ 20 ปี เป็นการคุมไม่ให้รัฐบาลในอนาคตกำหนดยุทธศาสตร์และเท่ากับว่า คสช.จะอยู่กับการเมืองไทยไปอีก 20 ปีโดยไม่ต้องลงเลือกตั้ง พรรคทหารที่เราพูดกันว่าจะสืบทอดอำนาจ ผมว่าของจริงสืบทอดอำนาจแล้วผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผมเรียกร้องให้ทุกคนอ่านเพราะยุทธศาสตร์มีความสำคัญต่ออนาคต ถ้ายุทธศาสตร์ผิดประเทศก็พัง

ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ข้อเสนอของผมตรงไปตรงมาที่สุด คือ ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถ้าประเทศไทยต้องทำยุทธศาสตร์ ต้องทำในความหมายของแผนและนโยบาย สามารถปรับได้ และไม่ให้เป็นข้อกฎหมาย ซึ่งแบบที่รัฐบาลทหารไทยทำ ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ แต่นี่คือกฎหมาย นี่คือคำสั่ง คสช.ฉบับพิเศษสำหรับผม ที่มีผลบังคับใช้ 20 ปี และอาจจะยกเลิกไม่ได้

โซเชียลมีส่วนสร้างแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของทหารหรือกองทัพได้หรือไม่?

ผมมองว่าสื่อโซเชียลมีทั้งบวกและลบ สิ่งที่เป็นสัญญาณของพลังของสื่อโซเชียล อย่างปรากฏการณ์อาหรับสปริง พูดได้ว่าเป็นชัยชนะของอียิปต์ที่ผ่านการจัดตั้งด้วยทวิตเตอร์ และทำสงครามบนเฟซบุ๊ก เพราะฉะนั้นเราเห็นพลังของสื่อโซเชียลยุคใหม่

แต่ในไทยผมคิดว่าสื่อโซเชียลมีสองปีก ถ้าเราเห็นสื่อโซเชียลที่วิจารณ์ทหาร ก็ต้องยอมรับว่ามีสื่อโซเชียล

ที่เชียร์ทหารด้วย ยังมีกลุ่มชนชั้นกลางปีกขวาที่เชียร์ทหาร รังเกียจนักการเมือง ไม่ชอบการเลือกตั้งและไม่ต้องการประชาธิปไตย ซึ่งสวนทางกับชนชั้นกลางปีกขวาในเวทีโลกปัจจุบัน ที่ยอมรับประชานิยมและเอาประชานิยมเป็นเครื่องมือในการสู้เพื่อให้ได้อำนาจบนการเลือกตั้ง โดยทำงานกับคนชั้นล่าง แต่ต้องยอมรับว่าปีกขวาในไทยล้าหลังเกินไป การเลือกตั้งไม่สู้ บางส่วนรังเกียจชนชั้นล่าง เมื่อปฏิเสธอย่างนี้จึงฐานรองรับอยู่ทางเดียวคือ ทหาร

ถามว่าพลังโซเชียลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ แต่สิ่งที่ผมชื่นชมคืออย่างน้อยทำให้เกิดการตรวจสอบภายในกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดซื้อจัดหา การโพสต์เรื่องการทำไม่ดีกรณีของทหารเกณฑ์หรือได้หลายเรื่องที่เกี่ยวกับฝ่ายทหาร

แต่ความหวังของผมไปไกลกว่านั้น ผมหวังว่าพลังจากโลกโซเชียลจะเป็นจุดที่นำทางไปสู่การปฏิรูปกองทัพ วันนี้เราคงปล่อยให้มีปัญหาการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องเกิดขึ้นกับทหารเกณฑ์อีกไม่ได้ ทหารเกณฑ์มีทั้งคนที่อาสามา มีทั้งคนที่จับใบดำใบแดงมา คนเหล่านี้มาด้วยความรู้สึกอยากรับใช้ชาติ แต่เราเห็นการทำร้าย เห็นใช้ทหารในภารกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ ผมคิดว่ามาถึงจุดที่ต้องหยุดแล้ว

รูปแบบกองทัพในอนาคตควรเป็นอย่างไร?

ประการที่ 1 คือถึงเวลาที่ทหารต้องถอยออกจากการเมือง แต่ไม่ได้บอกว่าทหารจะต้องหมดบทบาททั้งหมด เพราะก็คงไม่ง่ายโดยประวัติศาสตร์การเมืองไทย และโดยสภาวะที่เป็นจริง แต่คำว่าถอยคือการรัฐประหารต้องจบแล้ว ผมไม่กล้าเรียกร้องว่ารัฐประหาร 57 จะเป็นครั้งสุดท้าย เพราะผมเคยผ่านยุคที่ทุกคนเชื่อว่ารัฐประหารจะเป็นครั้งสุดท้ายมาแล้ว

ประการที่ 2 ถึงเวลาที่ทหารไทยต้องเป็นทหารอาชีพ เลิกเป็นทหารธุรกิจและทหารทั้งหลายทั้งปวงที่เราเห็นในภาพลบ

ประการที่ 3 กองทัพจะต้องยอมรับเรื่องของความเป็นนิติรัฐและยอมรับเรื่องสิทธิมนุษยชน

ประการที่ 4 ทหารต้องเลิกคิดว่าตัวเองเป็นรัฐ คือคิดว่าอะไรก็ตามที่เป็นผลประโยชน์ของทหาร คือผลประโยชน์ของชาติ และผลประโยชน์ของชาติ คือผลประโยชน์ของทหาร ถ้าคิดอย่างนี้รัฐประหารก็จะเกิดได้อีกตลอดชีวิต เพราะอะไรที่กระทบต่อผลประโยชน์ทหาร จะถูกนิยามทันทีว่ากระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติ และต้องยอมรับว่ากองทัพเป็นกลไกรัฐ ไม่ใช่รัฐ

องค์ประกอบทั้ง 4 ประการมีโอกาสเป็นจริงได้หรือเปล่า?

ยากครับ เดิมผมเคยคิดว่าชีวิตผมก่อนอายุ 60 ปี จะเห็นแต่วันนี้อายุ 60 กว่าแล้ว ผมเริ่มไม่ค่อยแน่ใจ ยอมรับว่าช่วงหนึ่งผมไม่ต่างกับหลายคนที่ฝันว่าหลังพฤษภา ปี 35 เราน่าจะเดินได้มากกว่าที่เห็นในปัจจุบัน หรืออย่างน้อยกองทัพมีบทเรียนแล้ว สังคมก็เติบโตมากขึ้น เราจะไม่ถอยสู่วัฏจักรของการเมืองไทยแบบเก่าแล้ว แต่เราถอยกลับไปสู่รัฐประหาร

แต่วันนี้ถ้าถามผมว่ามีความหวังไหม ผมตอบว่ามี เพราะผมคิดว่าอยู่ในการเมืองไทยต้องไม่หมดหวัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image