เมื่อทัพดารากระชากเรตติ้ง ‘เดินหน้าประเทศไทย’ นันทนา นันทวโรภาส ถอดบทเรียน ‘เฌอปราง’ กับดราม่าการเมือง

เป็นประเด็นร้อนตั้งแต่ยังไม่ทันออนแอร์สำหรับรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” ที่มีไอดอลขวัญใจเหล่าโอตะ เฌอปราง อารีย์กุล กัปตันวง BNK48 เป็นผู้ดำเนินรายการพิเศษ นำเสนอเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตามคำเชิญของรัฐบาล ซึ่งออกอากาศไปแล้วเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา

แม้ก่อนหน้านี้จะมีเหล่านักแสดงดังร่วมนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ของประเทศผ่านรายการจำนวนไม่น้อย อาทิ โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ, ณเดชน์ คูกิมิยะ, มิว-นิษฐา จิรยั่งยืน

แต่พอมาถึงคราว “เฌอปราง” ดูเหมือนจะเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

ไม่เพียงการโจมตีของชาวเน็ตและเหล่าโอตะที่ออกมาแสดงความผิดหวังกับศิลปินโปรด จนเกิดการโต้ตอบจากแฟนพันธุ์แท้และกลุ่มคนที่แสดงความเห็นใจ ตลอดจนให้กำลังใจและปกป้องนักร้องสาว

Advertisement

ทั้งหมดยิ่งทำให้ปมดราม่านี้ขยายวงกว้างในสังคม รวมถึงในกลุ่มนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวบางส่วนด้วย

ไม่ว่าจะเป็น “ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์” นักวิชาการชื่อดัง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึง “เฌอปราง” ว่าเป็นผงซักฟอกเผด็จการ แต่หลักการประชาธิปไตยยังไร้เดียงสา ยังมี “รังสิมันต์ โรม” แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่โพสต์วิจารณ์ด้วยเช่นกัน ทั้งยังเรียกร้องไม่ให้เข้าไปเกลือกกลั้วกับอำนาจเผด็จการด้วย

Advertisement

ขณะที่ “มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข” อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ทวิตเตอร์ส่วนตัว ถึงกรณีนี้ทำนองว่าดาราจะร้องเพลงจะรับงานจะช่วยงานใครมันก็วิถีเสรีประชาธิปไตยของเขา

ส่วนฟากรัฐบาลทั้ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ต่างออกมาให้กำลังใจ “เฌอปราง” ด้วยเช่นกัน

แต่ถึงจะเกิดประเด็นดราม่ามากเพียงใด ก็ต้องยอมรับว่าการปรับรูปแบบด้วยการดึงศิลปิน-คนดังมาร่วมรายการครั้งนี้ สามารถปลุกเรตติ้งของเดินหน้าประเทศได้เป็นอย่างดี

แต่ในมุมของผลดีและผลเสียที่เกิดขึ้นกับทั้งรัฐบาลและเหล่าดารา แลกกับเรตติ้งที่ได้มาคุ้มค่ากันหรือไม่ จุดนี้เป็นประเด็นที่น่าขบคิดไม่น้อย

ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ได้วิเคราะห์เรื่องราวครั้งนี้ในมุมของการสื่อสารทางการเมือง

กับปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น กับ “เฌอปราง” และ “รายการเดินหน้าประเทศไทย” ครั้งนี้

พร้อมถอดบทเรียนของ “ศิลปิน” กับ “การเมือง” ใน “สังคมไทย”

มองอย่างไรกับการดึงดารา-คนดัง ร่วมรายการเดินหน้าประเทศไทย?

เข้าใจว่าตัวศิลปินอาจจะปฏิเสธไม่ได้เพราะเป็นการขอความร่วมมือจากภาครัฐ แล้วอาจจะคิดว่าออกรายการเพียงแค่ครั้งสองครั้งคงไม่เป็นอะไรเหมือนกับช่วยชาติ ซึ่งการที่จะปฏิเสธไม่โดยอ้างว่าแนวทางอุดมการณ์ไม่ตรงกันเป็นเรื่องค่อนข้างยาก

ฉะนั้นโดยส่วนตัวไม่คิดว่าเฌอปรางจะผิดอะไร เพราะเธอเป็นศิลปินคนหนึ่งที่โด่งดังแล้วรัฐบาลก็อยากจะใช้ชื่อเสียงของเธอดึงดูดความสนใจให้คนอยากดูรายการเดินหน้าประเทศไทย คนที่จะต้องกลับมาคิดทบทวนน่าจะเป็นภาครัฐมากกว่า ถ้าดึงเอาศิลปินที่มีชื่อเสียงมาทำงานแล้วในอนาคตข้างหน้าไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็จะเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นการช่วยชาติจริงๆ แต่ถ้าในอนาคตคนในรัฐบาลชุดนี้ตั้งพรรคการเมืองแล้วกลับเข้ามามีบทบาทในฐานะรัฐบาลอีก ตัวศิลปินที่เข้าช่วยก็อาจจะถูกกล่าวหาไปว่าสนับสนุนแนวทางของพรรคการเมืองนี้ไป

ทำไมกรณี ‘เฌอปราง’ จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก?

มองในแง่ของการตลาดเป็นดึงดูดความสนใจของผู้คนได้ดี หมายความว่าแต่เดิมรายการอาจนิ่งๆ พิธีกรอาจจะเป็นคนทั่วไปซึ่งไม่ได้มีแรงจูงใจให้คนอยากดู แต่พอเปลี่ยนมาเป็นคนมีชื่อเสียง กำลังอยู่ในความนิยมก็ทำให้คนเริ่มรู้สึกอยากเข้ามาดู รวมถึงเฌอปรางก็ถือว่าเป็นดารายอดนิยมสูงในช่วงนี้

แต่ถ้าดูจากวัยของเฌอปรางกับเนื้อหาที่รัฐบาลต้องการนำเสนอมันแทบจะไปด้วยกันไม่ได้เลย เพราะรัฐบาลต้องการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้แนวทางนโยบายจนถึงผลงานเป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีสาระและจริงจัง ซึ่งดาราหลายคนที่ออกรายการก่อนหน้าเป็นดาราที่ค่อนข้างจะมีอายุ มีอายุมีวุฒิภาวะ หรือบางคนทำหน้าที่เป็นพิธีกรอยู่แล้ว การมาสวมบทบาทตรงนี้จึงดูไม่ขัดเขิน แต่การหยิบเอานักร้องวัยรุ่นอายุน้อย ที่ไม่ได้มีประสบการณ์เป็นพิธีกรหรือมีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน จึงเป็นไปได้ที่จะถูกมองว่ารัฐบาลใช้เด็กเป็นเครื่องมือตามที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กัน

นอกจากคนทั่วไปแล้ว ยังมีนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวออกมาวิพากษ์วิจารณ์ด้วย?

ถ้ามองในแง่ของการตลาด ถือว่าคนที่คิดดึงเฌอปรางมาร่วมประสบความสำเร็จในแง่ของการที่จะทำให้เกิดเป็นวาระของสังคม เป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ เป็นเรื่องราวที่ผู้คนหลายภาคส่วนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และประสบความสำเร็จในแง่ของการกำหนดวาระข่าวสาร คือสร้างประเด็นขึ้นความสนใจขึ้นมา แม้คนจะดูหรือไม่ดูก็ตาม แต่รู้ว่าเฌอปรางมาออกรายการนี้

เป็นความคาดหวังให้ศิลปินแสดงจุดยืนที่ชัดเจนหรือไม่ยุ่งกับการเมืองไปเลยหรือเปล่า?

เป็นคำถามที่ไม่มีทางเลือกเลย ศิลปินนักแสดงมีโอกาสที่จะปฏิเสธน้อยมาก เพราะรัฐบาลในปัจจุบันไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนเป็นรัฐบาลแห่งชาติ การที่จะปฏิเสธก็เหมือนไม่ให้ความร่วมมือไม่รักชาติ เพราะขณะนี้อาจไม่ใช่สถานการณ์ปกติที่ศิลปินวางตัวอยู่ในสถานะที่ลอยตัวเหนือความขัดแย้งได้

แต่ถ้าในอนาคตมีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง ศิลปินสามารถจะปฏิเสธที่จะไปร่วมกิจกรรมที่เป็นของพรรคการเมืองได้เพราะไม่อยากให้คนมองว่าเลือกข้างพรรคไหน ดังนั้น ภาวะอย่างนี้บอกได้เลยว่าอย่าไปวิพากษ์วิจารณ์เด็กเลยเพราะเด็กเองแทบจะไม่มีทางเลือก

ตามหลักสื่อสารการวิพากษ์วิจารณ์ควรอยู่บนพื้นฐานเรื่องใด แม้จะเป็นบุคคลสาธารณะก็ตาม?

อย่างแรกบุคคลสาธารณะต้องยอมรับตัวเองว่า บุคคลสาธารณะย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ถ้าไม่ชอบจะยุ่งกับใครและไม่อยากให้ใครมายุ่งด้วยก็คงไม่มาเป็นบุคคลสาธารณะ ดังนั้น คนที่เป็นศิลปินหรืออาสามาเป็นนักการเมือง ย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของเขาได้

แต่คนที่วิพากษ์วิจารณ์ก็ต้องคำนึงถึงแนวคิดอุดมการณ์ของแต่ละบุคคลด้วย เขาอาจจะมีแนวคิดที่เป็นตัวของเขาเอง การไปวิจารณ์อาจจะเข้าข่ายการไปละเมิดความเป็นตัวตนของเขาได้ นั่นหมายความว่าถ้าเขาจะชอบหรือคิดแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะผิด ต้องเคารพการตัดสินใจของเขา การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องทั่วไปหรือเรื่องความเหมาะสมสามารถทำได้ แต่ไม่ไปบอกว่าเขาคิดถูกหรือคิดผิดเพียงเพราะเขามีอุดมการณ์ที่แตกต่างจากเรา

ขณะเดียวกันต้องมองด้วยว่าเขามีทางเลือกหรือเปล่า ถ้าเขาไม่มีทางเลือกก็ต้องเข้าใจว่าเขาอยู่ในสถานะจำเป็น ไม่ควรไปวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบจนกระทั่งเป็นการด่าทอให้เขาเสียหาย เพราะบางครั้งเขาก็อาจจะไม่มีโอกาสจะเลือก เช่น ศิลปินไม่อยากไปแต่ต้นสังกัด ที่เขาเซ็นสัญญาบอกว่าต้องไป ถ้าไม่ไปก็ถือเป็นการละเมิดสัญญา

ถือเป็นเรื่องปกติหรือเปล่าในการนำดารามาหรือคนมีชื่อเสียงมาใช้กับการเมือง?

สำหรับประเทศไทยเมื่อก่อนใช้เยอะ แต่หลังจากที่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องการเลือกตั้งที่มีความเข้มข้น ไม่ให้ดารานักแสดงเข้าไปเปิดมหรสพหรือแสดงกิจกรรมที่เป็นการสนับสนุนพรรคการเมือง ทำให้มีการใช้ศิลปินนักแสดงน้อยลงเรื่อยๆ รวมทั้งตัวดาราเองเมื่อประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งก็ไม่สามารถไปทำหน้าที่ศิลปินได้

ซึ่งดาราที่เข้าไปอยู่ในกระบวนการทางการเมือง คือมีอุดมการณ์แล้วตัดสินใจลงสมัครการรับเลือกตั้งก็มีจำนวนไม่น้อย แต่ไม่ใช่ว่าเป็นดาราแล้วจะได้เสมอไปต้องดูผลงานอุดมการณ์หรือปัจจัยอื่นด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีที่สอบตกก็เยอะ สอบได้ก็ไม่น้อยเหมือนกัน ดังนั้น ผู้มีอำนาจท่าการเมืองที่คิดว่าจะใช้ศิลปินดารามาโน้มน้าวใจคนให้คล้อยตามเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

กรณีเดินหน้าประเทศไทยหวังใช้ดาราสร้างความนิยมได้ผลมากน้อยแค่ไหน?

มันสร้างจุดสนใจได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนดูกันอย่างเปรี้ยงปร้าง หรือดูแล้วเชื่อ ดูแล้วชอบรัฐบาลขึ้นมาทันที เพราะกระบวนการผลิตเนื้อหาสาระให้โน้นน้าวใจเขาจนกระทั่งไปถึงขั้นตอนที่เขาเชื่อ คล้อยตามแล้วทำตามหรือเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่จะว่าบอกว่าดูแล้วเชื่อ ชอบ ใช่ แล้วทำตามเลยมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

ดังนั้น รัฐบาลต้องทำการบ้านมากกว่าการเอาดาราศิลปินมาดึงดูดใจ เพราะมันเป็นความฉาบฉวย มันเป็นสีสัน สาระสำคัญต่างหากที่จะทำให้คนอยู่กับรายการ ทำให้คนได้ประโยชน์ ได้ปัญญา และมีศรัทธากับรัฐบาล สุดท้ายเขาจะยอมทำตามรัฐบาล

ถ้า คสช.เชิญให้ไปเป็นพิธีกรในรายการ?

โดยความเป็นนักวิชาการ ไม่ใช่ดารานักแสดง เราไม่ควรทำเบบนั้น อาจารย์ควรจะอยู่ตรงกลาง เพื่อให้ปัญญาแก่สังคม ถ้านักวิชาการไปร่วมกับรัฐบาล ก็แปลว่าเราเองมีแนวทางไปทางเดียวกับสิ่งที่รัฐบาลทำเสียแล้ว ต่อไปเราจะพูดอะไรใครจะเชื่อ ซึ่งเป็นคนละสถานะกับนักแสดง ดังนั้นคงจะต้องปฏิเสธ

มองว่าที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะความกังวลเรื่องอิทธิพลของ’เฌอปราง’ต่อคนรุ่นใหม่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งหรือเปล่า?

ก็มีความเป็นไปได้เพราะเราห่างหายจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2554 ประมาณ 7 ปี ตรงนี้จะเกิดคนรุ่นหนึ่งที่เขาไม่เคยมีสิทธิเลือกตั้ง แล้วเขาอายุ 18 ปีกำลังจะได้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกจำนวนเยอะมาก

ฐานเสียงตรงนี้สำหรับกลุ่มคนที่จะเข้ามาเลือกตั้งครั้งใหม่ถือว่ามีนัยยะสำคัญ เพราะคนกลุ่มนี้เป็นคนที่ยังไม่เคยมีสิทธิเลือกตั้ง เขาจะไม่ผูกพันกับพรรคการเมืองไหนหรืออุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง อาจเรียกว่าเป็นนักเลือกตั้งหน้าใหม่ที่เป็นสะวิงโหวตที่ยังไม่ตัดสินใจเลือก หากเขาเทคะแนนเสียงให้ใครอาจเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งจากอดีตที่ผ่านมา ที่เราเคยเชื่อว่าพรรคนั้นพรรคนี้จะได้เสียงข้างมาก จึงเป็นฐานเสียงที่พรรคการเมืองอยากได้มาเป็นของตัวเองร่วมถึงรัฐบาลด้วย

ฉะนั้น เฌอปรางเป็นคนรุ่นใหม่เป็นดารานักร้องที่กำลังโด่งดังและถูกใจคนวัยนี้ จึงอาจจะมีอิทธิพลกับคนกลุ่มนี้ได้ คนที่จัดแผนรายการอาจจะมองถึงจุดนี้เลยเลือกนำคนที่มีชื่อเสียงในยุคนี้เข้ามา

เทียบกับศิลปินตะวันตกกับจุดยืนทางการเมือง?

ต้องยอมรับว่าการเมืองในโลกตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาจบแล้วก็จบตามกติกา อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีที่คนจำนวนหนึ่งอาจจะไม่พอใจออกมาประท้วงแล้วก็จบ ตอนนี้เขาก็บริหารประเทศปกติไม่มีใครออกมาชุมนมกันกลางถนน

การเมืองบ้านเขาเคารพกติกาแล้วก็ทุกคนมีจุดก็ยืนแสดงออกตามอุดมการณ์ที่ตัวเองต้องการ ไม่ได้ถือว่าเป็นการแตกแยกและขัดแย้ง แต่ขณะนี้สังคมไทยมีความปริแตกในแง่ของความคิด มีความแตกแยกในเรื่องของข้าง จึงทำให้ศิลปินไม่ว่าจะทำอะไรก็จะถูกมองว่าสนับสนุนข้างนี้หรือไม่สนับสนุน แต่ในอนาคตสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายกว่านี้ คนก็อาจจะมองศิลปินนักแสดงด้วยความเข้าใจมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image