‘อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์’ เปลี่ยนความคิดคน-เปลี่ยนสังคมได้ ด้วย Design Thinking

เมื่อพูดถึงอาชีพสถาปนิก หรือคนที่เข้าเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หลายคนคงจะนึกถึงคนออกแบบตึก อาคารบ้านเรือนต่างๆ การคิดแบบนี้ก็ไม่ผิด แต่อาจจะไม่ครอบคลุมและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของแวดวงนักออกแบบน้อยไปหน่อย

เพราะจากยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและไหลเวียนเชิงคุณค่า อย่างรวดเร็วกว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อน แวดวงนักออกแบบก็เช่นกัน ที่ต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงไป ขยายขอบเขตองค์ความรู้ออกไป มีการข้ามสาขา ทั้งไปเรียนรู้เรื่องธุรกิจ หรือแม้แต่เรื่องการเมือง

มาคุยเรื่องนี้กับ ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ รองคณบดีฝ่ายการสื่อสารกลยุทธ์ และผู้อำนวยการโครงการการจัดการออกแบบ ธุรกิจ และเทคโนโลยี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อมาเรียนรู้และทำความเข้าใจ โลกของนักออกแบบ เพื่ออัพเดตคุณค่าและความเป็นไปของชุมชนนักออกแบบ

ผศ.อาสาฬห์เล่าที่มาที่ไปของความสนใจในการเข้าสู่โลกของนักออกแบบว่า เกิดที่จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่เด็กชอบทำอะไรประหลาดๆ ที่บ้านมีสวน ขุดดินเป็นบ่อน้ำเอาน้ำมาใส่ คนเห็นก็คิดว่าโตขึ้นน่าจะเป็นวิศวกร มาถึงจุดหนึ่งเราจึงเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำแบบนี้มันคือการออกแบบ จึงมาเรียนต่อในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มุ่งมั่นที่จะเข้าเรียนด้านสถาปัตย์ โดยส่วนตัวพ่อแม่เป็นคนที่ชอบตามเรื่องเทคโนโลยี ทำให้ตนเองค่อนข้างชอบเทคโนโลยี และก็ชอบเล่นเกม Simcity ซึ่งเป็นเกมที่เน้นการออกแบบเมือง มาตั้งแต่มัธยม ก่อนจะเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

Advertisement

“ที่นี่ก็ให้แง่คิดผมเยอะมาก ที่ชอบมากคือวิชาเลือกนอกคณะ เช่น วิชามนุษย์กับสิ่งแวดล้อม และวิชามนุษย์กับสันติภาพ ที่พูดเรื่องการจัดการความขัดแย้ง เพราะวิชาพวกนี้มาช่วยให้ผมคิดเรื่องการออกแบบได้ดีขึ้น ว่าจะดีไซน์อย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้งในสังคม สมัยก่อนผมอยู่แถวกิ่งเพชรก็จะเห็น Street Life แต่ปัจจุบันมันหายไป สิ่งที่เกิดขึ้นทางคือคอนโดฯที่สร้างรั้วปิด คนนอกเข้าไม่ได้ มากขึ้นเรื่อยๆ เรากำลังพูดถึงการเกิดขึ้นของการแบ่งแยกทางชนชั้น ที่มีมากขึ้น นี่คือปัญหาของการดีไซน์สมัยนี้ มันจึงเป็นคำถามว่าทำอย่างไรที่จะดีไซน์ให้มันดีขึ้น ลดความแบ่งแยกของผู้คนในสังคม”

หลังจากเรียนจบ ผศ.อาสาฬห์ก็ไปทำงานกับบริษัทด้านภูมิสถาปัตย์ที่ประเทศสิงคโปร์ 4 ปี ทำให้เข้าใจแนวคิดเรื่อง Garden City ที่พยายามนำไปใส่ในสิ่งก่อสร้างต่างๆ เช่น สนามบิน ต่อมาก็ย้ายไปเยอรมนีเพื่อเรียนปริญญาโทต่อด้านภูมิสถาปัตย์ โดยศึกษาพื้นที่อ่าวไทย ก.ไก่ ที่ทุกคนส่วนใหญ่มองเรื่องการสร้างเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกัดเซาะ แต่ ผศ.อาสาฬห์ เสนอการมองใหม่ว่ามันเป็นพลวัตการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ

“ถ้าจะเข้าใจธรรมชาติต้องไม่มองโดยยึดมนุษย์เป็นหลัก จะเข้าใจว่าการกัดเซาะของดินเป็นเรื่องปกติ เพราะแม้ตรงนี้ถูกกัดเซาะ มันก็จะไปงอกตรงอื่น ถ้าทุกคนกลัวการกัดเซาะ มันก็จะไม่งอกที่อื่น อันนี้คือการอธิบายแบบปัจจัยตามธรรมชาติ หรือกรณีกรุงเทพฯน้ำท่วม ก็ไม่ได้ผิดปกติ เพราะกรุงเทพฯเป็นเมืองที่อยู่กับน้ำ ตรงนี้คือแนวคิดการมองธรรมชาติกับชีวิตให้อยู่ร่วมกันได้”

ส่วนการเข้าสู่วิชาการเพราะส่วนตัวอยากทำงานที่ท้าทายมากกว่าวิชาชีพปกติ และอยากทำอะไรที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนความคิดคน

“เคยร่วมออกแบบตึกในสิงคโปร์แต่ถูกลูกค้าวิจารณ์ว่าไม่ว้าวเลย ทั้งที่ตึกนั้นได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อม จึงเป็นความแค้นส่วนตัว ว่าเราจะต้องมาเปลี่ยนความคิดคน อยากผลิตนักรบออกไปสู้ ขอหันหน้ามาสร้าง Mindset ให้คนใหม่ดีกว่า”

ทำไมต้องรู้จักการออกแบบ การออกแบบสำคัญอย่างไรกับชีวิต?

คนส่วนใหญ่คิดว่าการออกแบบคือเรื่องสวยๆ งามๆ ไปคิดถึงผลลัพธ์ของมัน แต่จริงๆ แล้วการออกแบบมันคือกระบวนการคิดในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น มันคือทักษะในการคิดสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา ขนาดประชาธิปไตยของประเทศยังต้องมีการออกแบบเลย การออกแบบมันคือการสร้างบางอย่างให้เกิดขึ้นมาในอนาคต คำถามคือจะสร้างอย่างไร ถ้าเราไม่รู้เราอาจจะลองผิดลองถูก ทำไปโดยไม่ได้วางแผน แต่การออกแบบมันคือกระบวนการสร้างสรรค์อย่างมีระบบ อย่างจะสร้างประชาธิปไตย เราก็จะเน้นความร่วมมือ หากจะสร้างตึก เราก็ต้องมาคิดว่าตึกที่ดีที่จะวางอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นมันควรจะเป็นอย่างไร ผู้ใช้เป็นอย่างไร มีการระบายอากาศ มีการใช้พลังงานอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น

การสร้างสรรค์ หรือความคิดสร้างสรรค์มันสอนกันได้

มันเรียนรู้และฝึกฝนกันได้ ความคิดสร้างสรรค์มันเป็น Mindset แบบหนึ่ง มันเหมือนการคิดเชิงวิพากษ์ที่สอนกันได้ หรือจะไม่สอนก็ได้ แต่ความคิดแบบนั้นมันจะเกิดจากบริบทการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่ทำให้เราต้องดิ้นออกไป

แปลว่านักออกแบบที่ดีต้องรู้จักปัญหา

ต้องเข้าใจปัญหา และไม่ใช่เข้าใจอย่างเดียวแต่ต้องรู้จักมองปัญหาในมิติใหม่ หรือ Reframing ซึ่งจริงๆ คณะที่สอนด้านการออกแบบอย่างสถาปัตย์ มันจะมีกระบวนการในการออกแบบ มันมีหลายสูตร บางคนก็เรียกว่า Design Thinking แต่มันจะเริ่มต้นไม่กี่ขั้นตอน หนึ่งคือการทำความเข้าใจกับปัญหา เปลี่ยนกรอบการมองปัญหาในมุมมองที่หลากหลายขึ้น สองคือการค่อยๆ หาความเป็นไปได้ของการแก้ปัญหา เพื่อหาทางในการแก้ให้ได้หลายๆ ทาง เสร็จแล้วก็เลือกแนวทางที่ดีที่สุด มีผลกระทบน้อยที่สุด ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด หรือกำไรเยอะที่สุด

โดยคนทั่วไปเข้าใจว่าสถาปนิกคือคนออกแบบ วิศวกรก็คือคนสร้าง แค่นี้ถูกไหม

มันไม่ครอบคลุม แน่นอนคณะสถาปัตย์มันมีลักษณะความเป็นวิชาชีพ ในเมืองไทยก็มีกรอบความคิดชุดนึงที่จะมองสถาปัตย์โดยไปเน้นตัวอาคารเป็นหลัก ซึ่งไม่ผิด เข้าเรียนในสถาปัตย์จบไปก็เป็นสถาปนิก แต่ว่าในโลกปัจจุบันและบทบาทของสถาบันการศึกษา เรารับผิดชอบกับสังคมที่กว้างขึ้นด้วย หน้าที่ของเราต้องผลิตมากกว่านักวิชาชีพ เราต้องผลิตนักคิดออกไปด้วยเพื่อตอบโจทย์กับสังคมที่มันซับซ้อนขึ้น เราต้องสามารถผลิตผู้นำที่จะออกไปสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยกระบวนการออกแบบ ยกตัวอย่างเด็กผังเมือง เขาก็จะไปทำความเข้าใจกับเรื่องเมือง เข้าใจเรื่องพื้นที่ เด็กรัฐศาสตร์เรียนเรื่องสังคมเยอะ อาจจะขาดเรื่องสิ่งแวดล้อมในแง่ว่ากายภาพของสิ่งแวดล้อมตรงนั้นเป็นอย่างไร แต่เด็กที่เรียนออกแบบจุดแข็งคือการสร้างอะไรใหม่ๆ และการเข้าใจบริบท ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แต่ละอันมันมีบริบท เวลาผ่านไปเทคโนโลยีก็เปลี่ยน เมื่อ 50 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร 50 ปีผ่านมาก็เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นเด็กสถาปัตย์จะเข้าใจบริบทที่เป็นกายภาพ และรู้จักคนที่จะเข้ามาใช้

องค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมของคนไทยอยู่ในระดับไหนเมื่อเทียบกับนานาชาติ

ผมว่าจุดแข็งของแวดวงออกแบบในเมืองไทย ข้อดีคือวัฒนธรรมมันมีรากเหง้าที่ชัดเจน หมายความว่าวัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่ผ่านการออกแบบมาอย่างยาวนาน อย่างละเมียดละไม เราเป็นเมืองที่ไม่ค่อยมีอะไรวุ่นวายเชิงกายภาพ อากาศของเราก็ไม่สุดขั้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศก็ไม่ได้รุนแรงเหมือนต่างประเทศ ดินก็อุดมสมบูรณ์ พวกนี้ล้วนทำให้การออกแบบในทางมีความละเมียดละไมบางอย่าง ตอนผมไปทำงานต่างประเทศ ทุกคนจะชอบเวลาที่เราดีไซน์ เขาชอบมุมมองที่เรามีต่องานมีความละเอียด มีมิติด้านจิตวิญญาณ อะไรแบบนี้แทรกซ้อนเข้าไป ยกตัวอย่างเช่นการออกแบบผ้าไหม แพตเทิร์นของการออกแบบลายผ้า เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่คนอื่นเขาจะไม่คิด อย่างสิงคโปร์ เวลาออกแบบเขาจะคิดถึงประสิทธิภาพสูงสุด เพราะประเทศเขาเล็ก ทรัพยากรจำกัด การออกแบบตึกของเขาจึงต้องใช้ที่ให้น้อยที่สุด ใช้พลังงานน้อยที่สุด ทุกชั้นต้องเก็บน้ำฝนได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้เมืองไทยไม่จำเป็นต้องคิดเพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นของเรา เราจะไปสนใจเรื่องรายละเอียด บรรยากาศมากกว่า

นักออกแบบที่ดีและเก่งต้องเป็นอย่างไร

ในมุมมองผม นักออกแบบที่ดีต้องมีฐานคิด 3 อย่าง คือ 1.ต้องมีความสามารถในการรับรู้ความเปลี่ยนแปลงได้เร็ว รู้ว่าอะไรกำลังจะเปลี่ยนแล้วจะเปลี่ยนไปทางไหน เข้าใจพลวัตของโลก 2.ขอใช้คำว่าต้อง Smart คือในเชิงของการคิดงาน ต้องมีประสิทธิภาพไม่ใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือย นำเทคโนโลยีมามีส่วนเป็นเครื่องมือในการออกแบบ ช่วยเขียนแบบหรือสร้างโมเดล 3 มิติ เป็นต้น จึงโลกปัจจุบันมันไปไกลมันข้ามไปถึง AI แล้ว ตรงนี้ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพหรือไม่วิชาชีพก็ต้องรู้ทัน 3.คือเรื่องของ Co-Creative มันคือ collaboration บวกกับ creative หมายความว่า คือเดิมเรามักจะมองว่านักออกแบบมันจะมีอัตตา มีความปัจเจกบุคคลสูง แต่ในโลกปัจจุบันคนเก่งคนเดียวมันทำงานไม่ได้ มันต้องอาศัยการร่วมมือกันสร้างสรรค์ เพราะมันทำให้เราเห็นปัญหาได้หลากหลายมุมมอง สามารถแก้ปัญหาได้จากหลายมุมมอง

การเรียนเรื่องการออกแบบมีส่วนช่วยประเทศชาติอย่างไร

สำคัญมาก ผมเคยอยู่เยอรมนี ภาพลักษณ์ของคนเยอรมันเวลาจะทำอะไรคือมีการวางแผนตลอดเวลา และมีความตรงเวลา เพื่อนผมอธิบายว่าเพราะประเทศเขาหนาว มีความสุดขั้ว ฤดูร้อนก็ปลูกพืชได้ไม่กี่เดือน เขาเลยต้องวางแผนให้ดีเพราะมันเป็นเรื่องปากท้อง นี่คือ Mindset แบบเยอรมนี แต่ของคนไทยเราอยู่แบบสบายๆ ในอดีตเราจึงไม่ต้องต่อสู้เยอะ แต่ปัจจุบันเราต้องต่อสู้เยอะแล้วเพราะเราไม่ได้อยู่อย่างสบายๆ อย่างในอดีต ตอนนี้เราเป็นสังคมอุตสาหกรรมแล้ว ยิ่งเราพยายามจะก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นสังคมนวัตกรรม เน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม นี่คือการเปลี่ยนแปลงของโลก และมันต้องการการออกแบบ เราจะไปไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างไรมันก็ต้องผ่านการออกแบบ คนก็ต้องมี Mindset ในแง่ที่ว่าจะต้องสร้างอะไรใหม่ๆ ออกมาได้ และการออกแบบมันไม่ใช่แค่วิชาชีพแล้ว พอเดี๋ยวนี้มันมีอาชีพนักออกแบบที่ไม่จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตวิชาชีพ เช่น การออกแบบในลักษณะ Graphic Design การออกแบบเว็บไซต์ Service Designer และอื่นๆ ที่มันไม่ใช่วิชาชีพอีกเยอะ คุณจะเห็นว่าเดี๋ยวนี้มันมี Job Description แปลกๆ เยอะมาก ในเชิงดิจิทัลนี้ไปไกลมาก เราพูดถึงการออกแบบเชิงข้อมูล ที่แม้จะไม่ได้มีความรู้เท่าวิศวะ แต่ก็เริ่มแล้ว จะเห็นว่าองค์ความรู้ด้านสถาปัตย์มันมีทั้งแบบวิชาชีพ ไม่เป็นวิชาชีพ และความรู้สำหรับคนทั่วไป นักข่าวก็ต้องมีการดีไซน์ ในโลกที่สื่อสิ่งพิมพ์เกิดการเปลี่ยนแปลง คนก็ต้องมีการออกแบบยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ในโลกดิจิทัล

การออกแบบมันจะช่วยแก้ปัญหาเชิงลบของสังคมได้อย่างไร เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำ หรือการจราจรในกรุงเทพฯที่รถติดจนติดอันดับโลก

การออกแบบมันมีตั้งแต่ระดับผลิตภัณฑ์จนถึงเมือง อย่างต่างประเทศลักษณะการออกแบบเมืองเขามีคอนเซ็ปต์เยอะมาก ยกตัวอย่างสิงคโปร์ซึ่งใช้ทักษะในการออกแบบในการพัฒนาเมืองสูงมากชัดเจน ลี กวนยิว พูดชัดว่าอยากสร้างสิงคโปร์ด้วยแนวคิด Garden City ที่เป็นคอนเซ็ปต์ ตั้งแต่ตั้งประเทศ เขาเน้นการพัฒนาทรัพยากรคน อยากให้คนมีคุณภาพชีวิตดี ประชากรอยากอยู่ในเมือง เขาเห็นว่าการสร้างเมืองเหมือนรีสอร์ต ทำสวนในเมือง มันจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ถ้าไปสิงคโปร์สังเกตสิ ต้นไม้เต็มไปหมดเลย พื้นที่สีเขียวเยอะมาก สัดส่วนเยอะกว่ากรุงเทพฯอีก คำถามขึ้นเราจะออกแบบกรุงเทพฯอย่างไรในเมืองที่มันมีบริบท เราก็ต้องเข้าใจบริบทของกรุงเทพฯ ว่ามันมีพัฒนาการมาอย่างไร แต่การแก้ปัญหากรุงเทพฯ เราจะคิดเฉพาะเขตการปกครองของกรุงเทพฯไม่ได้ เพราะในความเป็นจริง ขอบเขตของความเป็นเมืองกรุงเทพฯ มันข้ามไปถึงนนทบุรีและปทุมธานี นนทบุรีไม่ใช่ต่างจังหวัดแต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ปัญหาคือแล้วเราจะบริหารอย่างไร พวกนี้มันก็ต้องแก้ในเชิงโครงสร้างเชิงอำนาจ เพราะการแก้ปัญหาเชิงเทคนิค-กายภาพอย่างเดียวมันไม่เพียงพอ ดังนั้น หากจะให้นักผังเมืองแก้ปัญหากรุงเทพฯให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นไปไม่ได้ แต่นักผังเมืองหรือภูมิสถาปัตย์จะมีมุมมองใหม่ๆ ปัญหารถติดมันแก้ด้วยการสร้างถนนเพิ่มไม่ได้ นักออกแบบจะมองว่าอย่างนั้นก็ต้องออกแบบให้คนไม่ต้องเดินทางสิ เช่น ทำงานอยู่บ้าน อย่างนี้เป็นต้น เรื่องนี้เป็นเรื่องของการทำงานที่ต้องทำร่วมกันหลายฝ่าย

การออกแบบหลักสูตรให้เท่าทันโลกปัจจุบัน

ตอนนี้เราการทำหลักสูตรข้ามทางคณะ ไปแล้ว 2 หลักสูตร หรืออย่างในคณะเองก็มีการเปิดให้เรียนข้ามสาขา เช่น เรียนสถาปัตย์ ก็สามารถข้ามไปเรียนวิชาเลือกด้านภูมิสถาปัตย์ได้ คือทำให้เข้าใจเรื่องอะไรที่ซับซ้อนขึ้น หรือในระหว่างคณะเราก็ข้ามไปแล้ว 2 คณะ เราเอา Design ไปบวกกับ Business ตัวนี้ก็จะไปขับเคลื่อนธุรกิจ เราทำกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมาแล้ว 6 ปี และปีนี้ที่เราเอาเรื่องการผังเมืองไปบวกกับคณะรัฐศาสตร์ ที่พูดเรื่องการบริหารจัดการเมือง ต้องเข้าใจความเป็นเมือง สังคม หลักสูตรนะ คนเรียนจะมีมุมมองทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม รับรู้สิ่งที่ขับเคลื่อนความคิดของคน เข้าใจเรื่องชนชั้น ความเหลื่อมล้ำ และเข้าใจมิติทางกายภาพ

เราสามารถใช้การออกแบบเพื่อเปลี่ยนความคิดคนในเมืองให้ดีขึ้นได้ไหม

ใช่สิ มันเปลี่ยนความคิดคนได้ ผมคิดว่าจุดสำคัญของการออกแบบไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาอย่างเดียว แต่สิ่งที่เราออกแบบมานั้นมันสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงอารมณ์ความรู้สึกได้ด้วย คือเราต้องสามารถสร้างพื้นที่หรือออกแบบพื้นที่ ให้คนรู้สึกอยากทำงานร่วมกันได้ เป็นต้น อันนี้เรียกว่า Emotional Value เราเคยได้ยินคำว่า you are what you eat นั่นคือผมคิดว่าเราอยู่ในสภาวะแวดล้อมแบบไหนเราก็อาจเป็นคนแบบนั้นแหละ หมายความว่าถ้าเราอยากจะให้คนเป็นแบบไหนเราก็ควรจะดีไซน์พื้นที่ต่างๆ ให้ดีด้วย ยกตัวอย่างตึกของเรา เป็นตึกที่ค่อนข้างจะรับแดด จะร้อน ก็ดีไซน์ให้ระบายอากาศได้ดี มีช่องตรงกลางเปิดให้ไล่ลมร้อน และขอให้สังเกตไม่ว่าจะเดินอยู่ตรงไหนของตึก ก็จะมองเห็นตรงกลาง คือสามารถมองข้ามกันไปมา ทุกคนในตึกก็จะรู้สึกมีส่วนร่วมในการอยู่ด้วยกัน แต่ว่าตึกนี้ก็สร้างมานานแล้ว กระแสต่างๆ ก็เปลี่ยนไปเยอะ หรือในระดับมหาวิทยาลัย เราเชิดชูคุณค่าของประชาธิปไตย เสรีภาพ และความยุติธรรม นักออกแบบของเราต้องสนใจสังคม เราต้องไม่ออกแบบโดยไม่แคร์คนอีกต่อไป ต่อไปนี้เวลาออกแบบเราต้องถามชาวบ้านได้ว่าเขาจะเอาอย่างไร ต้องดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย ยกตัวอย่างนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม หลังน้ำท่วมก็ทำกำแพงกั้นสูง คำถามคือแล้วชุมชนข้างๆ ทำอย่างไร มหาวิทยาลัยก็ต้องผลักดันแนวคิดการออกแบบร่วมกับชุมชนมากขึ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image