พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ รอ ‘เผด็จการ’ หล่นจากขั้ว ยังไม่ได้ประชาธิปไตย

น่าสนใจที่ประเทศไทยซึ่งวนเวียนอยู่กับการรัฐประหาร เดินเข้าออกระบอบเผด็จการเป็นว่าเล่น แต่กลับไม่มีการศึกษา “เผด็จการ” อย่างเป็นระบบในฐานะการปกครองระบอบหนึ่ง

อาจเพราะจุดหมายของเราคือประชาธิปไตย ความสนใจจึงมุ่งไปที่ “การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย”

อาจเพราะเผด็จการที่เราเผชิญทำอะไรหลายอย่างที่ดูไม่เป็นตรรกะเหตุผล คล้ายตัดสินใจด้วยอารมณ์

อาจเพราะเราคิดว่าอยู่กับเผด็จการมานานเกินพอ จนรู้ว่ามันเป็นยังไง

Advertisement

แต่ “เผด็จการวิทยา” ได้พาคนอ่านมาทำความรู้จักเผด็จการอีกครั้ง ในฐานะระบอบการปกครองหนึ่งที่มีระบบวิธีคิดเบื้องหลังและการปรับตัวเพื่อคงอยู่ในอำนาจต่อ

หนังสือเล่มนี้เรียบเรียงมาจากคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์มติชน ของ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขียนขึ้นในห้วงเวลาที่ประเทศไทยปกครองโดยระบอบเผด็จการนับแต่ปี 2557

หนึ่งปีจากการเป็นนักวิจัยที่สถาบันฮาร์วาร์ด เย็นชิง สหรัฐอเมริกา หลังรัฐประหาร ทำให้เขาได้กลับไปนั่งเรียนหาความรู้อีกครั้ง โดยเฉพาะวิชาการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง และวิชาปรัชญาการเมือง จึงพบว่าความรู้รัฐศาสตร์ที่มีในประเทศไม่เพียงพอ

Advertisement

พิชญ์มองว่าแม้ใครหลายคนจะพูดเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่ไม่มีการอธิบายอย่างเป็นระบบเรื่องการเปลี่ยนออกจากเผด็จการแต่ไม่เข้าสู่ประชาธิปไตย

“คนส่วนใหญ่เชื่อแค่ว่า ‘เผด็จการ’ คือคำที่ใช้วิจารณ์คนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ไม่เข้าใจว่าเผด็จการทำงานได้ยังไง”

หากเผด็จการทำอะไรตามอำเภอใจอย่างไม่มีตรรกะ คงไม่สามารถรักษาอำนาจอยู่ได้ด้วยความกลัวเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะช่วงการปรับตัวเพื่ออยู่ในอำนาจต่อ

“การเขียนไม่ได้อยู่ในโหมดการบอกให้ศรัทธาประชาธิปไตย สิ่งที่ผมต้องการให้คนอ่านเป็น ไม่ใช่การเป็นนักรัฐศาสตร์หรือนักประชาธิปไตย แต่ต้องการให้เป็นนักยุทธศาสตร์ประชาธิปไตย ที่เข้าใจว่าการจะได้มาซึ่งประชาธิปไตยต้องใช้ยุทธศาสตร์อะไร ถ้าจะรบกับสิ่งใดต้องมีความเข้าใจคู่ต่อสู้ ไม่อย่างนั้นจะปิดจุดอ่อนของตัวเองไม่ได้”

เป็นเหตุผลว่าทำไมคนไม่ชอบเผด็จการ จึงต้องอ่านเผด็จการ

คนไทยผ่านเผด็จการหลายยุค มีการศึกษาเรียนรู้ดีพอหรือยัง?

ยัง ที่ผ่านมาไม่มีการพูดเรื่องเผด็จการในลักษณะที่เป็นระบบระเบียบ เป็นการใช้คำว่า “เผด็จการ” เรียกคนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามมากกว่า ไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการทำความเข้าใจเรื่องเผด็จการ ทั้งที่รัฐศาสตร์ไม่ได้มีการศึกษาเฉพาะประชาธิปไตยและการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย ช่วงหลังมีการศึกษาเรื่องการคงอยู่ของเผด็จการที่ไม่เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย และการที่ประชาธิปไตยกลายสภาพเป็นเผด็จการก็มี

เผด็จการมีตรรกะบางอย่าง ไม่ใช่สิ่งซึ่งมีไว้เพื่อให้ด่าอย่างเดียว ที่ผ่านมาอาจมีงานที่ศึกษาเรื่องประวัติของเผด็จการบางคนหรืออธิบายว่าใครเป็นเผด็จการ ไม่ได้อธิบายในระดับแนวคิดหรือทฤษฎีเบื้องหลังพฤติกรรม ทั้งคำจำกัดความ การขึ้นมาของเผด็จการ การรักษาอำนาจของเผด็จการ การถอยออกของเผด็จการกับประชาธิปไตย และไม่ค่อยมีใครพูดว่า ประชาธิปไตยถดถอยหรือกลายเป็นเผด็จการได้อย่างไร ซึ่งเหล่านี้ถูกอธิบายไว้ในหลายส่วนของหนังสือ

เป็นกระแสในวงการวิชาการทั่วโลก?

ใช่ ประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้เป็นกระแสที่อธิบายว่าประชาธิปไตยมีทั้งมาและไป หลังจากนั้นเริ่มอธิบายว่าทำไมบางทีเผด็จการจึงอยู่ต่อได้ และบางครั้งไม่ได้เปลี่ยนจากประชาธิปไตยสู่เผด็จการ เผด็จการสู่ประชาธิปไตย กลายเป็นระบบผสมหรือไฮบริดก็มี

ไม่ได้หมายความว่าผมเขียนหนังสือเพื่อเชิดชูหรือยอมจำนนต่อเผด็จการ แต่เราต้องไปให้พ้นการใช้คำว่าเผด็จการเป็นป้ายหยุดในการวิจารณ์ คุณต้องมีความเข้าใจ การอยู่ร่วมหรือเข้าใจไม่ได้หมายความว่าต้องเห็นด้วย มันเป็นเชื้อโรคแบบหนึ่ง แล้วเชื้อโรคในบางระดับก็มีอยู่ในตัวเรา เป็นสิ่งที่สามารถควบคุมได้ แต่ถ้าร่างกายไม่แข็งแรงมันก็แสดงอาการ การใช้อำนาจเผด็จการไม่ได้เสียหายทั้งหมด เป็นเงื่อนไขยกเว้นบางระดับในการใช้ แม้กระทั่งในสังคมประชาธิปไตย เมื่อมีภัยพิบัติก็ต้องใช้ แต่ต้องเข้าใจ เพื่อจะได้จัดการกำกับอยู่

หนังสือนี้อธิบายว่า 4 ปีที่ผ่านมามีอะไรเกิดขึ้นในประเทศนี้บ้าง อ่านให้รู้เงื่อนไขสำคัญในการพัฒนาการเมือง ไม่ใช่แค่โค่นล้มเผด็จการเฉยๆ แล้วเชื่อว่าประชาธิปไตยจะทำงานได้ แต่ก่อนจะโค่นเผด็จการต้องเข้าใจกระบวนการต่อรอง และการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตยมีข้อจำกัดข้อควรระวังมากมายที่จะไม่ให้ย้อนกลับไปสู่เรื่องเหล่านี้อีก

แวดวงวิชาการสนใจเรื่องนี้เพราะความผันผวนของประชาธิปไตย?

เกิดการถดถอยของประชาธิปไตยในโลก โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของระบอบประชาธิปไตยที่ขาดคุณภาพ ทั้งระบอบประชาธิปไตยที่อ่อนแอลง และระบอบประชาธิปไตยที่พัฒนาตัวเองกลายไปเป็นระบอบเผด็จการ เช่นใช้การเลือกตั้งเป็นข้ออ้างความชอบธรรมในรูปแบบต่างๆ

คนทั่วไปมักมองว่าเผด็จการอยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย และมีอีกกลุ่มพยายามมองทุกอย่างเป็นเผด็จการไปหมด จึงต้องเชียร์เผด็จการแบบหนึ่ง เช่น เผด็จการแบบลุงคนเดียวดีกว่าเผด็จการแบบรัฐสภา เพื่อทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของประชาธิปไตย

ถ้าอยากรู้เรื่องเผด็จการ ลองอ่านดูแล้วจะรู้ว่ามีการศึกษาอย่างจริงจัง ไม่ใช่วาทกรรมที่ใช้ในทางการเมือง แต่ถ้าอยากอยู่ในวิธีคิดแบบสองขั้วตลอดเวลา และเชื่อว่าฝ่ายตัวเองถูก อ่านไปใจไม่เปิดก็ไม่เข้าใจว่าเขาเถียงอะไรกันในโลกวิชาการ แต่ถ้าถามว่าอ่านแล้วทำให้เห็นดีเห็นงามกับเผด็จการไหม ไม่ใช่เลย ไม่มีสักบทเดียว

ไม่ง่ายถ้าเชื่อว่า เผด็จการจะล่มได้ด้วยตัวเองหรือว่ายังไงเผด็จการก็แพ้ มันไม่จริง(หัวเราะ) กระทั่งเผด็จการเองก็มีตรรกะที่ต้องถอยออกจากการเมืองถ้าอยู่นานเกินไป นี่จะเป็นตัวอย่างที่สำคัญมาก ถ้าไม่ถอยออกจากการเมืองเอกภาพของทหารก็จะลดลง เป็นอะไรที่ย้อนแย้งในตัวเอง เพราะในหลายๆประเทศตอนทหารเข้าสู่อำนาจ ส่วนหนึ่งเพราะผลประโยชน์ของทหารถูกกระทบ จึงรวมตัวกันเพื่อยึดอำนาจ แต่ถ้าอยู่นานเกินไป คนที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งในวงการทหารก็จะเป็นพวกที่เอาดีทางการเมือง ไม่ได้เอาดีทางการทหาร ถ้าไม่ถอยจะมีคนที่ไม่มีความสามารถแต่มีอำนาจทางการเมืองอยู่ต่อ แล้วทำให้กองทัพถดถอย

ระบอบเผด็จการมีทั้งเข้าและออก แต่มีราคาที่ต้องจ่าย ถ้าเรียนรัฐศาสตร์เข้าใจทฤษฎีระบบก็คือว่า เผด็จการอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง แต่กลับเชื่อว่าตัวเองถูกต้องอยู่ฝ่ายเดียว เข้ามาแล้วปิดข้อมูลทุกคน แล้วก็บอกว่าข้อมูลของตัวเองถูก พออยู่ไปก็บริหารประเทศไม่ได้เพราะข้อมูลที่มีมันผิด กระอักกระอ่วนใจ รับข้อมูลจริงก็ไม่ได้ แต่ถ้าไม่ได้ข้อมูลจริงเลยก็ทำงานไม่ได้ มีตรรกะบางอย่างที่เราต้องเข้าใจ และถ้าเป็นนักยุทธศาสตร์ประชาธิปไตยก็จะได้ประโยชน์จากการเข้าใจตรรกะเหล่านี้ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ

การเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยไม่ได้มีแต่เรื่องการโค่นล้มเผด็จการ การวิจารณ์เผด็จการ หรือการเลือกตั้ง ยังต้องมีการจัดวางสถาบันอีกจำนวนมากที่ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งและเผด็จการไม่กลับมา

มีความเข้าใจที่ว่ายุคนี้เผด็จการไม่สามารถอยู่ได้นาน?

ไม่จริงเลย อยู่ได้นานแน่เแต่เผด็จการก็ต้องปรับตัว ประชาธิปไตยไม่ใช่รอเผด็จการหล่นจากขั้ว จีนอยู่มากี่ปี มีงานวิจัยด้วยว่าเผด็จการแบบพรรคอยู่ได้นาน ซึ่งมีคณะกรรมการมากมายทำตามอำเภอใจคนเดียวไม่ได้ ส่วนเผด็จการที่อยู่แล้วไปเร็ว แต่อาจไม่นำไปสู่ประชาธิปไตยเสมอไปคือเผด็จการแบบตัวบุคคล เพราะเวลาล้ม สภาพสังคมอาจจะวุ่นวายแล้วมีผู้นำคนใหม่ขึ้นมา

ผมต้องการทำลายมายาคติง่ายๆ ของคนที่เชื่อว่า การล้มเผด็จการเท่ากับการได้ประชาธิปไตย การกดดันให้เผด็จการถอยออกไป ต้องมีความพร้อมระดับหนึ่งที่จะจัดวางหรือมีความฝันในการสร้างประชาธิปไตย ไม่ใช่ยืนยันแค่ว่ามีอำนาจจากประชาชนเท่ากับการบริหารประเทศ คนทั่วไปถูกทำให้คิดง่ายๆ ว่า ประชาธิปไตยจะมาโดยอัติโนมัติเมื่อเผด็จการถอยไป…ไม่ใช่ ประชาธิปไตยที่เข้ามาอาจไม่ยั่งยืนเข้มแข็ง อาจทำให้วงรอบของเผด็จการย้อนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง หรือประชาธิปไตยอาจกลายสภาพเป็นเผด็จการได้ถ้าไม่กำกับตรวจสอบ

สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่า ดังนั้นจงอยู่ในโลกเผด็จการ แต่หมายความว่า เมื่อกำลังจะก้าวสู่ประชาธิปไตยแล้วคาดหวังว่าจะมีใครเอาอะไรมาให้ฟรีๆ นั้นไม่มี คุณต้องมีความเข้มแข็งและพร้อมก้าวสู่สิ่งใหม่ เหมือนที่หลายคนเชื่อว่าวันหนึ่งตัวเองจะกลายเป็นผู้ใหญ่ แต่ไม่เคยเตรียมตัวเลยจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ไง

ความสำคัญก็คืออำนาจที่อยู่ที่ประชาชนต้องมีวินัยของตัวเอง มีสติ มีความเข้าใจในการดูแลตัวเอง คือที่มาของการอดทนอดกลั้นกับคนอื่น อดกลั้นกับตัวเองที่จะไม่ต้องการทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่ฟังเสียงคนอื่น อดกลั้นที่จะไม่ละเมิดคนอื่น และอดทนอดกลั้นที่จะอยู่ร่วมและพูดคุยกับคนอื่น นี่คือพื้นฐานของการมีประชาธิปไตย คือการปกครองตัวเอง ไม่ใช่การปกครองด้วยเสียงข้างมากเท่านั้น

เสียงข้างมากเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ แต่ระบบประชาธิปไตยอยู่ไม่ได้ ถ้าตัดสินใจโดยเสียงข้างมากตลอดเวลา แล้วไม่เปิดให้เสียงข้างน้อยมีส่วนร่วม ไม่เปิดให้มีโอกาสแข่งขันอย่างเสรี เป็นธรรม สม่ำเสมอ และมีความหมาย คนพูดแค่ว่าต้องเลือกตั้งฟรีและแฟร์ แต่ถ้าคนรู้สึกว่ายังไงตัวเองก็ไม่ชนะ ก็ไม่มีความหมาย คนก็พร้อมออกจากเกมประชาธิปไตยได้ตลอดเวลา

ประชาธิปไตยไม่ได้มาง่ายๆ หรือมาจากการการเดินบนท้องถนนเท่านั้น สิ่งสำคัญที่อยู่เบื้องหลังคือการเจรจา หาพันธมิตรที่เป็นสายกลางแต่ละฝ่ายมาคุยกันเพื่อทำข้อตกลง

มองเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการคืนอำนาจหรือการปรับตัวของเผด็จการ?

เป็นการปรับตัวของเผด็จการ ที่สำคัญคือเผด็จการอยู่ได้เพราะมีกองเชียร์ มีคนได้ประโยชน์จากระบบนั้นและจะเข้าไปร่วม

ผมกลัวสถานการณ์จะกลับไปสู่ช่วงพฤษภาทมิฬ แทบไม่ต่างกัน ที่แย่คือโครงสร้างรัฐธรรมนูญนี้เอื้อให้เผด็จการอยู่ต่อได้ง่ายๆ โดยแถมแต้มต่อให้250เสียง ขณะที่รอบนั้นแต้มต่อเดียวที่มีคือนายกฯจากภายนอก พอเปิดให้มีเลือกตั้ง พรรคการเมืองรวมตัวกันเชิญหัวหน้าคณะรัฐประหารเก่า เป็นคนที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมด มีอิทธิพลทางการทหารสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี ทุกอย่างทำตามรัฐธรรมนูญแต่คนรับไม่ได้ เพราะเห็นว่าคือการสืบทอดอำนาจ คนจึงออกมาบนถนน นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กินเวลายาวนานมากตั้งแต่ 2535-2540 กว่าจะได้รัฐธรรมนูญ ที่ก็ไม่ได้มาโดยอัตโนมัติ

วันนี้มีแต่คนอธิบายว่าได้แค่ 126 เสียงก็เป็นนายกฯได้ เพราะมีส.ว.อยู่ แต่แค่ 126 เสียง ไม่ใช่แค่ทำงานในสภาไม่ได้ ถ้าประชาชนไม่เลือกพรรคการเมืองที่มีคนในรัฐบาลลงด้วยเกิน 126 เสียง แปลว่าเขามีประชามติแล้วว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้เป็นที่พอใจ เป็นเหตุผลง่ายมากที่คนจะออกมาบนท้องถนน คนรุ่นผมผ่านพฤษภาทมิฬมาบรรยากาศแทบไม่ต่างกันเลย นี่คือการสืบทอดอำนาจ

แล้วการเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้จะยุ่ง เพราะเป้าหมายเดิมอ้างว่าใช้คะแนนเสียงแบบจัดสรรปันส่วนแล้วนับจากความเป็นจริง ก็ดีที่สะท้อนความเป็นจริงและส่งเสริมให้แต่ละฝ่ายไม่สุดขั้ว ทุกฝ่ายต้องจับมือกับพรรคอื่น เพราะตัวเองไม่น่าจะได้เสียงข้างมาก ทำให้มีสติที่จะต่อรองกับพรรคต่างๆ แต่ปัญหาคือคนที่มีอำนาจอยู่แล้วมีกองกำลังของตัวเองอยู่ 250 คนในสภา เจตจำนงถูกทำลายตั้งแต่ให้ส.ว.เข้ามาวุ่นวายกับการตั้งนายกฯแล้ว

ตัวรัฐูธรรมนูญไม่ได้ขี้เหร่ขนาดนั้น แต่ถ้าภายใต้เงื่อนไขแบบที่เห็นจะยิ่งทำให้ครั้งนี้เป็นการเมืองที่สุดขั้ว ทุกฝ่ายต้องเอาคะแนนของตัวเองมากสุด ต้องโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่ท่าทีการพยายามดึงเสียงจากอีกฝ่ายหนึ่งได้เลย

ดังนั้น 1.คุณกำลังเดินเข้าไปในกติกาที่ก็รู้อยู่แล้วว่าเสียงของคุณไม่มีความหมาย 2.คุณเดินไปในกติกาที่รู้ว่ามีแต่การสุดขั้วการโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งที่ทำให้ได้คะแนนสูงสุดในฝ่ายตัวเอง แล้วยังไม่มีทางชนะในการเลือกตั้ง ก็จะยากเข้าไปอีก ยากมาก

มีโอกาสที่ประชาชนจะลุกฮือ?

ไม่อยากพูดถึงขนาดนั้น แค่บอกว่ามีโอกาสที่ความชอบธรรมของรัฐบาลหน้าจะตกต่ำ เป็นไปได้ว่ารัฐบาลที่ถูกตั้งขึ้นจะไม่ใช่รัฐบาลที่ประชาชนเลือก เขาอ้างว่าเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมคือการสะท้อนความต้องการจริงของประชาชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือถ้าคนที่ได้แค่ 126 เสียงได้จัดตั้งรัฐบาลก็ล้มเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทันที (หัวเราะ) ย้อนแย้งกันเอง

ถ้าพรรคพลังประชารัฐได้ไม่เกิน 251 เสียง แปลว่าคุณแพ้ประชามติถึงผลงานของรัฐบาล การบริหารบ้านเมืองล้มเหลว แล้วยังจะจัดตั้งรัฐบาลได้ ความชอบธรรมหมดตั้งแต่วันแรก

คิดว่าเขาประเมินปัญหาความชอบธรรมในรัฐบาลหน้าไว้ไหม?

แน่นอน แต่ช่วงนี้เข้าตาจนกันหมด ทุกอย่างไม่ได้เปลี่ยนไปโดยปัจจัยของฝ่ายเดียว มีเงื่อนไขร้อยแปดที่ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ไม่อย่างนั้นจะล้มรัฐธรรมนูญทำไมรอบหนึ่ง จะเลื่อนเลือกตั้งทำไมตั้งหลายรอบ อยู่ดีๆ ก็บวกเข้าไปอีก 90 วัน อยู่ดีๆ ไปคลายล็อก ไม่ปลดล็อก ทำทุกอย่างให้ฝ่ายตัวเองได้เปรียบ

มีการพูดว่าถ้าเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยถล่มทลาย จะทำให้เผด็จการหายไปได้

จะหายยังไง คุณได้เท่าไหร่ก็มีอีกฝ่ายหนึ่ง เผด็จการไม่ได้มีเฉพาะคนที่นั่งอยู่ในทำเนียบหรือกองทัพ แต่มีกองเชียร์จำนวนมากที่ได้ประโยชน์จากคนเหล่านั้น คุณจะทำอย่างนั้นได้ต้องเสนอทางออกที่เป็นธรรม แม้กระทั่งกับฝ่ายที่ไม่เลือกคุณ ถึงจะทำให้ฝ่ายนั้นยอมอยู่ในเกม ปัญหาคือคุณกำลังเล่นเกมที่ยืนยันว่าคุณต้องชนะในเกมนี้ให้ได้ โดยไม่ได้บอกว่าอีกฝ่ายจะอยู่ในเกมด้วยได้ยังไง เขาจะได้ประโยชน์อะไรจากเกมนี้ ถ้าหาเสียงโดยพยายามจะบอกแค่ว่าฝ่ายฉันเป็นฝ่ายที่ไม่เอาอีกฝ่ายหนึ่ง

ผลงานที่ผ่านมา เรื่องปฏิรูป-เศรษฐกิจ ทำให้ผู้สนับสนุนรัฐประหารเปลี่ยนใจไหม?

ไม่เลย เศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด แต่ไม่ทำให้คนเหล่านั้นยอมอยู่ในเกมประชาธิปไตยง่ายๆ ต่อให้กลับสู่เกมประชาธิปไตย ก็กลับสู่เกมเดิม เลือกพรรคเดิม ผมไม่เชื่อว่าเขาจะให้โอกาสพรรคเพื่อไทย หรือไม่ได้นำไปสู่การทำให้พรรคเพื่อไทยยอมรับว่าที่ผ่านมามีปัญหา ไม่เห็นว่าพรรคเพื่อไทยพยายามสื่อสารอะไรที่จะดึงคะแนนเสียงจากอีกฝ่าย เป็นสภาพการเมืองแบบเผชิญหน้ากันทุกฝ่าย

ส่วนเรื่องปฏิรูปไม่สำเร็จ ผมคิดว่าไม่ใช่เลยตั้งแต่ต้น การปฏิรูปที่ผ่านมาไม่ได้มีความเข้มข้นหรือเอาจริงเอาจังอยู่แล้ว เป็นเหตุผลหนึ่งที่จะไม่เข้าสู่การเลือกตั้ง และการปฏิรูปในมือของรัฐราชการก็จะออกมาหน้าตาแบบนี้แหละ การปฏิรูปเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการแชร์อำนาจใหม่ๆ การตั้งแม่น้ำห้าสายคือการสร้างเครือข่ายพันธมิตรใหญ่ที่ทำให้ระบอบเผด็จการเดินหน้าต่อได้ เพราะมีพรรคพวกเพิ่มขึ้นจากส่วนแบ่งอำนาจเล็กๆ ให้คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้อำนาจในระบอบประชาธิปไตยรอบที่แล้ว เป็นการต่อสู้กันระหว่างชนชั้นนำหลายกลุ่ม ไม่ทำให้ประชาชนมีอำนาจเพิ่มขึ้น แต่ประชาชนอาจได้ผลประโยชน์ระยะสั้นเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง

การทำให้ประชาธิปไตยตั้งมั่น ส่วนสำคัญที่ต้องปรับเปลี่ยนคือนักการเมือง?

นักการเมืองไม่มีทางปรับเปลี่ยนตัวเองได้ ถ้าประชาชนไม่กดดันวางเงื่อนไขกับเขา ต้องเข้าใจว่านักการเมืองมีพฤติกรรมยังไง แล้วจะสร้างแรงจูงใจให้เขาทำงานในระบอบประชาธิปไตยยังไง จะบอกว่าปัญหาทั้งหมดอยู่ที่นักการเมืองไม่ได้ ถ้าคุณไม่เข้มแข็งพอก็ได้นักการเมืองแบบนี้ แต่ไม่ใช่ว่าความผิดทุกอย่างอยู่ที่เรา มันสร้างกันขึ้นมาแล้วคุณก็อยู่ในเกมแบบนี้

ประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองหนึ่งที่มีคุณค่าบางอย่าง ไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุดหรือเลวน้อยที่สุด แล้วถ้าต้องการโหลดคุณค่าอื่นๆ ใส่เข้าไปก็ต้องรู้ว่ามีเงื่อนไขอะไร ประชาธิปไตยอาจไม่ใช่ระบอบที่ทำให้คนรวย ถ้าอยากให้ประชาธิปไตยทำให้เศรษฐกิจดีต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง แล้วจะปรับปรุงประชาธิปไตยยังไงให้สามารถดึงเอาคุณค่าที่ดีของระบบการปกครองอื่นเข้ามาด้วยได้

ดูเราจะไม่มีทางออกจากวังวนเผด็จการ

โอ้โห เป็นเรื่องธรรมชาติไง ประเทศที่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยังได้ทรัมป์ก็มี เบร็กซิทก็มี แปลว่าคนก็ต้องดูแลตัวเองและอยู่กับมันทุกวัน ประชาธิปไตยไม่ใช่เป้าหมายที่จะไปถึงแล้วจบในตัวเอง เหมือนคนอยากแต่งงาน แต่ชีวิตหลังแต่งงานยาวกว่าชีวิตก่อนแต่งอีก เป็นเรื่องที่ต้องอยู่แบบทำความเข้าใจทั้งกับเผด็จการและประชาธิปไตย

ไม่ใช่ผมเขียนว่าประชาธิปไตยไม่มีข้อดีเลย ไม่งั้นจะเขียนทำไมเยอะแยะ ไปเขียนหนังสือสรรเสริญเผด็จการให้ปกครองดีขึ้นกว่าเดิมไม่ได้เหรอ แต่ผมเขียนให้คนตระหนักว่ามันไม่ง่ายขนาดนี้ แล้วเราถึงเข้าใจว่าทำไมเผด็จการอยู่ได้ แต่มันอยู่ได้นั้นมีเงื่อนไขอะไร


สองคนยลตามช่อง มอง ‘เผด็จการ’

ใครที่ติดตาม พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ย่อมรู้ว่าเขาไม่ได้เขียนหนังสือศึกษาเผด็จการเพื่อเชิดชูปกป้องระบอบเผด็จการ แต่ทำให้เห็นถึงจุดอ่อนของประชาธิปไตยควบคู่กับความซับซ้อนของเผด็จการ ที่จะต้องนำไปสู่การปรับปรุงประชาธิปไตยให้หยัดยืนมั่นคงกว่าที่เป็นอยู่

แต่งานเขียนชุดนี้เป็นการศึกษาในฐานะระบอบการเมืองอย่างรอบด้าน ที่ไม่ได้ตั้งหลักมองเผด็จการหรือประชาธิปไตยในฐานะอุดมการณ์ ความเชื่อ และคุณค่า

ที่น่าสนใจคือมุมมองที่แตกต่างจากการอ่านหนังสือเล่มเดียวกันนี้ อันเห็นได้จาก คำนิยมของ สุรชาติ บำรุงสุข และบทปิดท้ายจาก เอนก เหล่าธรรมทัศน์

เหตุที่พิชญ์ให้ครูทั้งสองเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ เพราะทั้งคู่จบจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย และเป็นผู้บุกเบิกวิชารัฐศาสตร์การเมืองเปรียบเทียบด้านการเปลี่ยนผ่านวิทยาในสังคมไทยนับแต่ปี 2530

ผ่านมากว่า 30 ปี คนหนึ่งต้านเผด็จการ คนหนึ่งทำงานกับเผด็จการ

หนังสือเล่มนี้เป็นการทำงานต่อจากคนทั้งสอง การให้อาจารย์เขียนถึงงานของเขาจึงถือเป็นการพูดคุยกับคนอีกรุ่นหนึ่งที่มาศึกษาเรื่องเดียวกัน

สุรชาติอ่านพร้อมความฝันถึงการสร้างสังคมประชาธิปไตยไทย และความคิดเชิงยุทธศาสตร์ “ถ้าจะทำสงครามต้องรู้จักข้าศึก”

เอนกอ่านพร้อมความคิดคำนึงเรื่องระบบ “ไฮบริด” และชื่นชมที่ผู้เขียนไม่ได้มุ่งต่อต้านเผด็จการอย่างไร้ปัญญา

และยังชี้ให้เห็นจุดอ่อนที่ทำให้เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยไม่สำเร็จ

คำตอบอยู่ใน “เผด็จการวิทยา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image