‘พินิจ จารุสมบัติ’ จากสนามการเมือง สู่สวนยางพารา

พื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ ใน 8 อำเภอของ “จังหวัดบึงกาฬ” ปกคลุมไปด้วยต้นยางพารา พืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ที่กลายเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวบึงกาฬตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปในวันแรกเมื่อยางพาราถูกนำเข้าสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันนั้นแทบไม่มีใครเชื่อว่าต้นยางที่เคยพบเห็นเฉพาะในเขตภาคใต้ จะสามารถเจริญเติบโตงอกงามบนแผ่นดินภาคอีสานได้

กระทั่งมีสวนยางผุดขึ้น ภายใต้การบุกเบิกของผู้นำท้องถิ่นเป็นผู้นำร่องนำกล้ายางพารามาปลูก หนึ่งในนั้นคือ พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ที่ในวันนั้นเป็น ส.ส.จังหวัดหนองคาย

พินิจเปิดใจถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้โคจรมาพบกับยางพารา เกิดขึ้นเมื่อครั้งเป็น ส.ส.หนองคาย ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้แยกเป็นจังหวัดบึงกาฬ ตอนนั้นมีโครงการส่งเสริมการปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาในพื้นที่แรกๆ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่แน่ใจว่าจะปลูกได้หรือเปล่า ปลูกแล้วจะมีน้ำยางไหม ปลูกแล้วจะไปขายที่ไหน เพราะยังไม่มีโรงงาน ยังไม่มีคนมารับซื้อ

Advertisement

“คนที่ปลูกตอนนั้นก็จะมี ผอ.โรงเรียน ผู้ใหญ่บ้าน อดีตข้าราชการเกษียณ ที่มีความคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ของเกษตรจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่ สกย. อาจเพราะเกรงใจกันเลยทดลองปลูกดู มากสุดไม่เกิน 15 ไร่ ทำให้กล้ายางที่กองทุนเอามาส่งเสริมเหลือเยอะไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เจ้าหน้าที่ สกย.ก็มาพบผม อยากให้ผมเป็นผู้นำในการส่งเสริมการปลูก เพราะถ้า ส.ส. หรือรัฐมนตรี มาปลูกยางชาวบ้านก็จะมีความมั่นใจ แล้วสมัยนั้นผมค่อนข้างมีชื่อเสียงในด้านการเกษตร เพราะมีการส่งเสริมและยกระดับสายพันธุ์พืชทางการเกษตรเสมอ”

ขณะเดียวกัน พินิจยังเล็งเห็นถึงศักยภาพของยางพาราว่า เป็นพืชเศรษฐกิจเป็นประโยชน์เเละอยากจะส่งเสริมการปลูกยางสายพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงแทนไร่มัน ไร่อ้อยที่ผลตอบแทนต่ำ ทั้งยังมองว่าการปลูกพืชยืนต้นน่าจะยั่งยืนกว่าการปลูกพืชฤดูเดียว

นั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นที่ พินิจริเริ่มปลูกยางพารา ซึ่งตัวเขาเองไม่เคยคาดคิดมาก่อนด้วยซ้ำว่าวันหนึ่งจะมาเป็นชาวสวนยาง

Advertisement

“ใช่ ตอนนั้นชีวิตตั้งไว้ว่าอยากจะมีโรงแรมสวยๆ เป็นบูทีคโฮเทลริมทะเล รับนักท่องเที่ยวมาพักอะไรทำนองนี้ แล้วเราก็บริการอาหารเครื่องดื่มดีๆ พร้อมนวดสปาไทย หรือไม่ก็ตั้งโรงงานที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อนมากก็คิดไว้แบบนั้น แต่ชีวิตไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลย ว่าผมจะมาเป็นชาวสวนยางหรือมาปลูกยาง แต่ผมมาทางนี้แล้ว ตอนนี้เราไปทำโรงแรมอีกคงไม่ไหว เลิกคิดแล้วครับ”

พินิจเผยว่า ก่อนมาทำสวนยางคิดว่ามันง่าย แต่จริงๆ แล้วการทำการเกษตรไม่ว่าพืชตัวใด มันมีภูมิปัญญาและวิชาความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ที่ต้องศึกษา ต้องรู้จริงก่อนทำ ตั้งแต่การเตรียมดิน การดูค่าพีเอช (pH) ของดินว่ามีความเหมาะสมกับต้นยางหรือไม่ รู้สายพันธุ์ยางอะไรที่เหมาะสมกับพื้นที่ ยังมีวิธีปลูกต้องทำอย่างไร ต้องหันตายางจะต้องหันไปทางทิศไหน รวมถึงเรื่องการใส่ปุ๋ยก็มีเทคนิคของมันที่เราต้องเรียนรู้เพื่อจะได้ต้นยางพาราที่สมบูรณ์ ผิวยางหนาให้น้ำยางดี

“เรียนรู้จากหลายทาง ทั้งจาก สกย. จากการปลูกด้วยตัวเอง ผมลงไปแบกยาง ทำอะไรทุกอย่างเองไม่กลัวเปรอะ ไม่กลัวเปื้อน ใช้มือผสมปุ๋ย ผสมดิน คลุกมูลวัวและมูลไก่ ลูกน้องผมตอนแรกมองดูผมว่าเป็นรัฐมนตรี เป็น ส.ส.จะมาเฮ็ดได้เหรอ ผมเลยทำให้เขาดูเสร็จแล้วก็มาปั้นข้าวเหนียวกินกับคนงานคนสวน จากนั้นมาเขาก็ยอมรับเราเป็นชาวสวน ชีวิตที่ผ่านมาผมทำอย่างนี้”

หลังสั่งสมประสบการณ์บนเส้นทางน้ำยางมายาวนาน พินิจได้เรียนรู้ว่าการที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้ จะต้องมีการเเปรรูปเพิ่มมูลค่า หรือพัฒนาการผลิตจากต้นน้ำไปสู่กลางน้ำถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ถ้าสำเร็จไปสู่ปลายน้ำเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เช่น หมอนยางพารา ขอบยางต่างๆ หรือพัฒนาไปสู่ล้อยางจักรยาน ล้อยางมอเตอร์ไซค์ จะยิ่งสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก

“แต่วงจรเกษตรไทยวันนี้เกือบทุกตัวมันตายอยู่ที่ต้นน้ำ แล้วก็โดนพ่อค้านายทุนรับซื้อเป็นวัตถุดิบราคาที่ถูกหรืออาจมีการกดราคาเพื่อให้เขามีกำไรเยอะ เเละเเม้จะมีการส่งเสริมจากภาครัฐซึ่งทุกรัฐบาลมียุทธศาสตร์ มีโครงการที่นำวัตถุดิบจากการเกษตรมาแปรรูปซึ่งเป็นนโยบายที่ถูกต้อง แต่วิธีทำและขั้นตอนการส่งเสริมยังไม่ชัดเจน ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการเมืองเราด้วย ผมเป็นรัฐบาลหลายปีต้องยอมรับว่าไม่สามารถทำได้ ระบบราชการเราต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการปฏิวัติ ไม่ใช่แค่ปฏิรูปซึ่งประเทศอื่นเขาทำได้ อย่างประเทศจีนคนของเขาค่อยๆ ร่ำรวย ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยค่อยๆ ลดน้อยลง แต่วันนี้ประเทศไทยช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยค่อยๆ ห่างขึ้น คนจนไม่มีแม้กระทั่งเงินติดบ้าน ขณะที่มีเศรษฐีอยู่แค่ไม่กี่ตระกูลเท่านั้นที่ร่ำรวย ซึ่งเป็นเพราะระบบมันแย่ ผมไม่ได้โทษที่รัฐบาลนี้นะแต่โทษทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ที่แก้ปัญหาบนกระดาษในที่ประชุมได้ถูกต้อง แต่ยังไม่เห็นผลในการปฏิบัติ อย่างเรื่องแปรรูปเป็นแนวทางที่พูดได้ถูกต้อง แต่การปฏิบัติให้เกิดการแปรูปที่เกษตรกรเป็นเจ้าของโรงงานยังไม่เกิดขึ้นจริง”

ด้วยเเนวคิดที่พุ่งเป้าไปที่การ แปรรูปเพิ่มมูลค่า นี้เองทำให้อดีตรองนายกรัฐมนตรีผลักดันเเละส่งเสริมให้เกิดการจัดงาน วันยางพาราบึงกาฬ ขึ้น

“เป้าหมายจริงๆ เราต้องการยกระดับความรู้ของเกษตรกรโดยใช้งานยางพาราบึงกาฬเป็นเวทีให้ชาวสวนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยี และที่สำคัญที่สุดคือการหาช่องทางไปสู่การแปรรูป เป็นการยกระดับเกษตรกรซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เเต่วันนี้เริ่มเกิดขึ้นได้ในหลายกลุ่มเเล้ว อย่าง สหกรณ์กองทุนสวนยางบ่อทอง จำกัด อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี ที่ประสบความสำเร็จเพราะเขาไม่ได้ขายแค่น้ำยางหรือยางถ้วยแต่เขามีการแปรรูป นอกจากนี้ เขามีผู้นำผู้บริหารที่ดีมีความตรงไปตรงมา หรืออย่าง ชุมนุมสหกรณ์ยางบึงกาฬ ที่รวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ตั้งโรงงานทำหมอนยางพารา วันนี้ผลิตแทบไม่ทัน ผมสนับสนุนให้สร้างโรงงานแปรรูปที่เป็นของเกษตรกร อย่างน้อยเป็นโรงงานกลางน้ำก็ทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ เพราะถ้าโรงงานของนายทุนเมื่อไหร่ เกษตรกรก็ไม่มีทางมีกำไร”

นับจากการจัดงานครั้งเเรกจนถึงวันนี้ผ่านมาเเล้ว 7 ปี งานวันยางพาราบึงกาฬได้ยกระดับขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งพินิจคาดไม่ถึงเลยว่าความสำเร็จจะเพิ่มมากขึ้นขนาดนี้

“เรายกระดับจากงานระดับจังหวัดเป็นงานระดับภาค เป็นงานระดับประเทศ วันนี้งานยางพาราบึงกาฬ เป็นงานระดับนานาชาติ ที่มีความคึกคักมีประเทศจีน, สปป.ลาว, เวียดนาม, อินเดีย, มาเลเซีย และอีกหลายประเทศเข้าร่วม เพราะเขาเห็นว่าเวทีนี้เป็นเวทีที่สร้างสรรค์ ทุกคนได้รับประโยชน์หมด เเละเป็นงานที่ดีมาก ผมประทับใจความร่วมมือที่ดีของภาคเกษตร ของชาวสวนยางแล้วก็ความร่วมมือของคนที่อยู่ในวงการยางพารา ทั้งโรงงานต่างๆ เเละต้องขอบคุณมติชนที่เข้ามาช่วยถึงแม้ขาดทุนก็ยังทำเพราะมันเป็นผลประโยชน์กับเกษตรกรและประเทศ”

ย้อนอ่าน : จัดใหญ่ส่งท้ายปี ‘วันยางพาราบึงกาฬ’ อัดแน่นความรู้ ครบรสบันเทิง

ไม่เพียงการจัดงานเท่านั้นที่ยกระดับขึ้นทุกปี พินิจบอกอีกว่า เกษตรกรชาวสวนยางก็มีการพัฒนาด้านความรู้มากขึ้นจากการจัดงานครั้งนี้ด้วย จุดนี้เองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พินิจมุ่งมั่นเดินหน้าผลักดันการจัดงานต่อเนื่อง โดยไม่มีสักครั้งที่รู้สึกท้อ หรืออยากจะเลิกจัด รวมถึงงานวันยางพาราบึงกาฬ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 13-19 ธันวาคมนี้ ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ

พินิจเเย้มว่า “ถ้าไม่จัดภาคเกษตรกรจะเสียใจมาก (หัวเราะ) เพราะเป็นงานที่เขาได้ประโยชน์เเละได้ความรู้”

“วันนี้ไปคุยกับชาวสวนยางพาราบึงกาฬเขามีความรู้ อย่างเรื่องการเลือกพันธุ์ยาง การพัฒนาเรื่องดิน การเซอร์เวย์การปลูก และมีการวิจัย คือชาวสวนตอนนี้ไม่ได้เชื่อแบบเมื่อก่อนแล้ว หรือไม่เชื่อเเค่ในกระดาษ แต่มีการค้นคว้าทดลอง แล้วถ้าเรื่องไหนไม่รู้ก็ไปหานักวิชาการ หาสถาบันผู้รู้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เเล้วเขายังรวมกลุ่มกันทำงาน รวมกลุ่มกันบุกตลาดเดินทางไปถึงประเทศจีน ซึ่งเมื่อก่อนกลัวกันมาก ชาวนา ชาวสวนยาง แค่เข้ากรุงเทพฯยังไม่ค่อยอยากไป แต่วันนี้เขาออกนอกประเทศ ไปทำธุรกิจถึงชิงเต่า ประเทศจีนเเล้ว”

พินิจย้ำอีกว่า อยากให้รัฐบาลหรือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นความสำคัญกับงานแบบนี้และต้องนำพาเกษตรกรรวมกลุ่มทำโรงงาน ซึ่งยังมีผลิตภัณฑ์หลายตัวเป็นที่ต้องการของตลาด อาจจะต้องจับมือหรือร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่รวดเร็วอย่างจีนมีการจับมือกับเยอรมนี ฝรั่งเศส ฯลฯ ซึ่งของเรายังไม่มีการเริ่มอะไรเลย แต่ต้องเห็นใจเพราะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา การเมืองของเรา ระบบประเทศของเรามันเกิดความขัดแย้งทำให้เราต้องเสียเวลา อันนี้ต้องยอมรับและเข้าใจ ผมไม่โทษใครและไม่โทษรัฐบาลไหน เพราะผมเชื่อว่าทุกรัฐบาลมีความตั้งใจแก้ปัญหาและทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ไม่มีรัฐบาลไหนที่ต้องการให้ประชาชนยากจนไม่มีความสุข ดังนั้น ทุกรัฐบาลต้องการให้ประชาชนมีความสุขแต่วิธีที่จะไปนั้นบางทีไม่เหมือนกัน

ถึงตรงนี้อดไม่ได้ที่จะถามว่า คิดจะลงสนามการเมืองเพื่ออาสามาเป็นผู้นำด้านนี้ไหม?

พินิจหัวเราะดังลั่นก่อนตอบว่า “ตอนนี้ขอพัก ยังไม่ล้างมือแต่ขอวางมือ (ยิ้ม)” พร้อมเเย้มถึงงานการเมืองวันนี้ว่า เป็นลักษณะที่ใครมาขอความเห็น ก็คุยกันเท่านั้น แต่ไม่ได้ไปเข้าร่วมกับพรรคไหน

“ถ้าใครอยากชวนคุยก็โอเคมาแลกเปลี่ยนกัน ถ้าอยากให้ช่วยให้ความเห็นหรือให้ข้อเสนอก็ยินดีครับ” พินิจทิ้งท้าย


 

วิเคราะห์ เจาะลึก
ปมปัญหาราคายางตกต่ำ

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวนยางพารา ต้องเผชิญปัญหาราคาตกต่ำเเละผันผวนอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นนี้ พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ผู้บุกเบิกยางพาราภาคอีสาน วิเคราะห์ปัญหาดังกล่าว โดยอันดับแรกต้องยอมรับว่า ราคายางพาราไม่ได้อยู่ที่การบริหารของรัฐบาล แต่มันอยู่ที่ราคาตลาดโลกอย่าง โตคอม (TOCOM ) ไซคอม (SICOM) เซี่ยงไฮ้คอมโพสิต (shanghai composite) และยังขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกด้วย

“เวลานี้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลง มีความขัดแย้งเรื่องภาษี เรื่องการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้แนวโน้มต่างๆ ของโลกได้รับผลกระทบในด้านลบ เเละเมื่อมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจก็มีการคาดการณ์กันว่าความต้องการรถยนต์ของประชาชนน้อยลง ส่งผลถึงล้อรถที่จะมีการใช้งานลดลง ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องลดการผลิตและลดการซื้อยาง ซึ่งส่งผลมาถึงราคาวัตถุดิบ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราคาน้ำมันที่มีผลกระทบต่อยางพาราโดยตรง”

แต่สถานการณ์ครั้งนี้ พินิจต้องยอมรับว่าเเปลกมาก เพราะปกติเมื่อราคาน้ำมันขึ้นมาขนาดนี้ ยางพาราจะมีราคาไม่ต่ำกว่า 70-80 บาท ซึ่งอาจเป็นเพราะการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลง แนวโน้มเป็นตัวแดงเลยกระทบไปหมด ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกที่ราคาน้ำมันขึ้นแล้วราคายางยังตกต่ำอยู่

พินิจวิเคราะห์ต่อว่า ปัจจัยตามมาคือ การเก็งกำไร เพราะยางพาราอยู่ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า เหมือนเล่นหุ้น ตรงนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของการตลาด ขณะเดียวกันประเทศไทยยังขาดการบริหารจัดการยางพาราอย่างเป็นระบบ ประสิทธิภาพของเรายังไม่พอเพียง หน่วยงานของรัฐบาลในเรื่องนี้ยังได้คนที่มีความสามารถไม่ถึงมาทำงาน ทำให้มีปัญหาเรื่องการจัดการและการแก้ปัญหา คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความตั้งใจและรู้ปัญหา แต่ระดับที่รับนโยบายไปปฏิบัติแปลงจากนโยบายไปเป็นโครงการหรือแผนงานต่างๆ ยังไม่ดีเท่าที่ควร

“เรื่องการเกษตรไม่ใช่เฉพาะยางพาราแต่ยังมีอีกหลายตัว ที่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เป็นระบบ มีความซื่อสัตย์มีความรับผิดชอบและมีตลาด อย่างตลาดจีน ยังมีความต้องการสินค้าเกษตรอีกหลายตัว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image